วิชาการพัฒนานิสิต (๒๔) : กระบวนการทบทวนความรู้ (สะท้อนการเรียนรู้โดยผู้เรียน)


เมื่อถึงขั้นตอนของการต้องจัดทำเป็นผังมโนทัศน์ แน่นอนว่านิสิตต้องระดมสมองกันในกลุ่ม เสมือนการทบทวน หรือสรุปบทเรียนร่วมกัน เช่น ได้เรียนรู้อะไรบ้าง จะจัดหมวดหมู่อย่างไร จะออกแบบเป็นสื่ออย่างไร

ในวิชาการพัฒนานิสิต - ผมนำเสนอให้ผู้สอนและทีมกระบวนกรนำกระบวนการสะท้อนผลการเรียนรู้มาใช้ในชั้นเรียน โดยต้นชั่วโมงก่อนการเรียนรู้ นิสิตจะต้องนำเสนอผลการเรียนรู้ในชั่วโมงที่ผ่านมาหน้าชั้นเรียน เสมือนการฝึกให้นิสิตได้ทำการทบทวน หรือรายงานความรู้ด้วยตนเอง (Self Reflection) ทว่าไม่ใช่การทบทวน หรือรายงานความรู้ในแบบเชิงเดี่ยว (บุคคล) แต่เป็นกระบวนการของกลุ่ม/ทีม




จะว่าไปแล้ว กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมเจตนาชัดเจนให้เป็นกระบวนการหนึ่งของการ “นำเข้าสู่บทเรียน” กล่าวคือเป็นการนำเข้าสู่บทเรียนผ่านการบททวนความรู้ (ที่ได้รู้) ในชั่วโมงที่ผ่านมาว่า “เรียนอะไร...ได้เรียนรู้อะไร”


การทบทวนดังกล่าว ไม่ใช่ “ครู” ทำหน้าที่ทบทวนให้นิสิตได้รับฟัง หากแต่เป็นการทบทวนผ่านตัวตนของนิสิต (ผู้เรียน) ซึ่งเป็นการทบทวนผ่านสื่อ อันหมายถึง “ผังมโนทัศน์” และผังมโนทัศน์ที่ว่านี้ก็กำหนดให้ “ทำมือ” มิใช่ใช้โปรแกรมอันเป็นเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาจัดทำ



โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่านี่คือกระบวนการเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยให้มิติ “ผู้เรียนคือศูนย์กลาง” และครูผู้สอนก็มีสถานะของการเป็นเสมือนครูฝึก (Coach) เพราะแทนที่ครูผู้สอนจะสรุปประเด็นการเรียนรู้ หรือทบทวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็ยกเวทีให้นิสิตได้สะท้อนผลการเรียนรู้ตามสไตล์ของนิสิต

กระบวนการเช่นนี้ ผมไม่ได้สร้างสัญญะการเรียนรู้แค่ว่า “นิสิตเรียนอะไร...ได้เรียนรู้อะไร” แต่มีความหมายมากกว่านั้น ทั้งการฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learning by Self-studying) ฝึกการเรียนรู้จากผู้อื่น (Learning by Others) และฝึกการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Learning by Doing) เนื่องเพราะกว่าจะออกมาเป็นผังมโนทัศน์ นิสิตต้องผ่านการทบทวนเนื้อหาที่ตนเองได้จดบันทึก (Lecture) ในชั้นเรียน หรืออ่านทวนซ้ำในหนังสือ-เอกสารการสอน รวมถึงการค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการทำด้วยตนเองและทำกันเป็นกลุ่มทีม




นอกจากนั้น เมื่อถึงขั้นตอนของการต้องจัดทำเป็นผังมโนทัศน์ แน่นอนว่านิสิตต้องระดมสมองกันในกลุ่ม เสมือนการทบทวน หรือสรุปบทเรียนร่วมกัน เช่น ได้เรียนรู้อะไรบ้าง จะจัดหมวดหมู่อย่างไร จะออกแบบเป็นสื่ออย่างไร รวมถึงจะระบายสีให้ดูสวยสด มีชีวิต-น่าสนอกสนใจอย่างไร ฯลฯ

นั่นยังรวมถึงการบริหารจัดการการงานในทีมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ เป็นการฝึกทักษะของการบริหารคน บริหารทีม ฝึกทักษะอันเป็นสุนทรียะการสนทนา (Dialogue) และอื่นๆ ตลอดจนการกำหนดวิธีการของการนำเสนอว่าจะใช้กระบวนการแบบบรรยาย หรือการเล่าเรื่อง ฯลฯ - สิ่งเหล่านี้นิสิตมีเสรีภาพในการบริหารจัดการและออกแบบกระบวนการด้วยตนเองล้วนๆ




ทั้งปวงนี้คือการฝึกทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นทีมแก่นิสิต (Team Learning) อีกทั้งยังซ่อนสัญญะของการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นกระบวนกร (Facilitator) และการนำเสนอ (Presentation) อย่างสร้างสรรค์แก่นิสิตไปในตัวด้วยเช่นกัน

สำหรับผมแล้ว ผมถือว่ากระบวนการดังกล่าว คือการฝึกฝนให้นิสิตเกิดทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) ในอีกช่องทางหนึ่งที่ไม่ได้จ่อมจมอยู่แต่เฉพาะทักษะการเรียนรู้ในความเป็นวิชาการอันเป็นสาระการเรียนรู้ในชั้นเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ชีวิตและสังคมไปพร้อมๆ กัน

หากจะมีใครบ่นให้บ้างว่าเป็นกระบวนการเฉิ่มเชย หรือมองว่าเป็นการเพิ่มภาระให้แก่นิสิต รวมถึงการมองว่าครูผู้สอนจะสุขสบายเกินเหตุ เพราะไม่ต้องออกแรงทบทวน หรือสะท้อนผลการเรียนรู้เพื่อนำเข้าสู่บทเรียนด้วยตนเอง -สารภาพกันตรงๆ ผมก็ยังพึงใจที่จะ “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” หรือไม่ก็ทำตัวเป็น “คนนอนนา” ไปอีกสักพักใหญ่ๆ



ใช่ครับ- จวบจนบัดนี้ผมยังไม่มีความคิดที่จะล้มเลิกกระบวนการเหล่านี้เป็นแน่ ตรงกันข้ามกลับรอเวลาที่จะประเมินคุณภาพเนื้อหาที่นิสิตได้สะท้อน รวมถึงการประเมินว่านิสิตชอบ หรือไม่ชอบ ตลอดจนนิสิตได้เรียนรู้อะไรจากกระบวนการที่ว่านี้ -

ผมคิดเช่นนี้จริงๆ



หมายเหตุ : ภาพโดย ทีมกระบวนกรวิชาการพัฒนานิสิต


หมายเลขบันทึก: 592200เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2015 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2015 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท