ไฉน
นาย ประกาศิต ปอ ประกอบผล

พระมหาเจดีย์พุทธคยา (๓)



ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ที่ประชุมพรรคอินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส อันมีมหาตมะคานธี เป็นผู้นำ และท่านยวาหระลาล เนห์รู เป็นผู้ช่วย ได้พิจารณาว่า บริเวณพุทธคยาควรจะเป็นของชาวพุทธโดยชอบธรรม ทั้งนี้พรรคมีมติให้ตั้งกรรมการพิจารณาปัญหาพุทธคยาขึ้นมาคณะหนึ่ง มี ดร.ราเชนทระประสาท เป็นประธาน

๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๖ ท่านธรรมปาละได้ตัดสินใจขอรับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ที่มหาโพธิวิหาร สารนาถ เมืองพาราณสี และในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ นักต่อสู้สิทธิชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนามว่าธรรมปาละ ก็ถึงแก่มรณภาพที่สารนาถ เมืองพาราณสี และมีอนุสาวรีย์ อนาคาริก ธรรมปาละ ที่สารนาถ ใกล้บริเวณแสดงปฐมเทศนา

๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ อินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ และอินเดียมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก คือท่านยวาหระลาล เนห์รู ผู้กล่าววาจาต่อชาวฮินดูทั่วประเทศว่า "พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย พอๆ กับพระราม ดังนั้น ข้าพเจ้าจะมิขอนับถือศาสนาใดเลย หากมีการบังคับให้เลือกนับถือ ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา" นั่นจึงเป็นการจุดประกายในการเรียกร้องพุทธคยาให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง หลังจากท่านพระธรรมปาละมรณภาพไปแล้ว

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๒ สภาแห่งรัฐพิหารได้ออก พรบ.พุทธคยา โดยมีเนื้อหาสาระว่า "ให้มีคณะกรรมการจัดการพระวิหารพุทธคยา ประกอบด้วย กรรมการฝ่ายพุทธ จำนวน ๔ คน กรรมการฝ่ายฮินดู จำนวน ๔ คน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่ง รวมเป็น ๙ คนด้วยกัน ส่วนฝ่ายมหันต์นั้นได้สัดส่วนเป็นหนึ่งในกรรมการ ๔ ท่านทางฝ่ายฮินดู "

พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลอินเดีย โดยท่านศรียวาหระลาล เนห์รู ได้จัดกิจกรรมพุทธชยันตี เฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ขึ้น โดยได้ออกแคมเปญ เชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจากทั่วโลกให้เข้าไปจับจองพื้นที่บริเวณโดยรอบพระมหาเจดีย์พุทธคยา สร้างเป็นเมืองพุทธนานาชาติขึ้นมา และรัฐบาลไทยได้ตอบรับคำเชิญ โดยได้เช่าที่ดินจำนวน 5 เอเคอร์ (๑๒ ไร่) เป็นเวลา ๙๙ ปี และได้สร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้น มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก ป.ธ.๙) วัดจักรวรรดิราชาวาส ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นรูปแรก และรูปปัจจุบันคือ พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ วีรยุทฺโธ Ph.D) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ปัจจุบันวัดไทยในเมืองคยาเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และกระจายไปตามสถานที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในอินเดียและเนปาล

วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องให้พระมหาเจดีย์พุทธคยา เป็นมรดกโลก (World heritage) ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโกจากการเสนอขององค์กรชาวพุทธ

หมายเลขบันทึก: 592111เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2015 07:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2015 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท