วิชาการพัฒนานิสิต (๒๓) : ว่าด้วยการประเมินโครงการฯ


การประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หัวใจหลักไม่ได้อยู่ที่การใช้เครื่องมือ (Means) เพียงไม่กี่อย่างที่คุ้นชิน ซึ่งหมายถึงแบบสอบถาม (Questionnaire) แบบสัมภาษณ์ แบบสำรวจ (Inventory) ภาพนิ่ง VDO Clip หรือ PDCA (Deming’s cycle) เท่านั้น ทว่ามีเครื่องมือ หรือกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับการจัดการความรู้ เป็นต้นว่า สุนทรียะการสนทนา (Dialogue) เรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling) ถอดบทเรียน (lesson learned) ความคาดหวังก่อนดำเนินงาน (Before Action Review : BAR) สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ (After Action Review : AAR)

การเรียนการสอนรายวิชาการพัฒนานิสิตเมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน 2558 หลักๆ แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต ซึ่งต่อยอดจากประเด็นการเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต โดยผู้สอนเป็นอาจารย์ท่านเดียวกัน คือ ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย


ผู้สอนวิชาการพัฒนานิสิต ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระบบและกลไกการพัฒนานิสิตนอกชั้นเรียน หรือนอกหลักสูตรแทบทั้งสิ้น กรณีผศ.ดร.สมชาย แก้งวังชัย เองก็เช่นกัน ดีตคือนายกองค์การนิสิต อดีตคือรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เรียกได้ว่าเกี่ยวพันและเกี่ยวโยงกับการพัฒนานิสิตโดยแท้จริง หรือเรียกว่าแฟนพันธุ์แท้ของ “คนกิจกรรม” ดีๆ นั่นเอง




แจกใบงาน : ตรวจทานการแต่งกายก่อนเข้าชั้นเรียน


กระบวนการเรียนการสอนวันนี้ ไม่ได้แตกต่างไปจากทุกครั้งมากนัก ทีมกระบวนกรแจกใบงานแก่นิสิตก่อนเข้าชั้นเรียน หากแต่เน้นย้ำเรื่องการแต่งกายให้ถูกระเบียบอย่างจริงจัง หรือเพิ่มความเข้มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อย้ำหมุดหมายว่าการแต่งกาย คือตัวชี้วัดหนึ่งของการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิต เพราะคำว่า “พัฒนานิสิต” จำเป็นต้องพัฒนาทั้งกายและใจ จำเป็นต้องมีทั้งเชิญชวนให้เรียนรู้และบังคับใช้มาตรการ -




คลิป : เยี่ยมค่าย (เชื่อมโยงการประเมินโครงการผ่านสื่อสร้างสรรค์)

ช่วงรอเข้าสู่การเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องการประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต โดยนำเอาคลิปว่าด้วยการ “เยี่ยมค่าย” ที่ตัดต่อสดๆ ร้อนๆ มาเปิดให้นิสิตได้ดูได้ชมรอเวลาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้อย่างจริงๆ จังๆ โดยหมายใจว่าคลิปดังกล่าว จะเป็นแรงบันดาลใจ หรือการเปิดมุมมองให้นิสิตได้มีทางเลือกอันหลากหลายในการประเมินโครงการอย่างสร้างสรรค์ และมีพลัง

(แต่ตอนนี้คลิปยังไม่ปล่อยยูทูปนะครับ เพราะรอการปรับแก้อีกเล็กร้อย)




ประเมินโครงการ : ภาพสะท้อนความสำเร็จและล้มเหลวของการเรียนรู้

การเรียนการสอนในประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย เปิดตัวอย่างง่ายๆ และเป็นกันเอง ทักทายหลากเรื่องราวและนำเข้าสู่ประเด็นของการประเมินโครงการฯ โดยเริ่มต้นจากการกระตุ้นให้นิสิตได้ร่วมกัน
วิเคราะห์ (KM ธรรมชาติ) ว่าด้วยเรื่องความสำคัญ หรือลักษณะสำคัญของโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต ว่าคืออะไร หรือมีอะไรบ้าง

ประเด็นดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถูกกล่าวซ้ำมาแล้วในชั่วโมงแรกๆ ผ่าน ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต : ผู้ประสานงานวิชาการพัฒนานิสิต) ตลอดจนทีมกระบวนกรก็ได้สื่อสารเรื่องเหล่านี้ผ่านกิจกรรม หรือกระบวนการเรียนรู้มาเป็นระยะๆ ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ คือ

  • ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered)
  • เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing)
  • เรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning)
  • เรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)



เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงให้เห็นถึงกรอบแนวคิดการประเมินโครงการฯ ที่มีวาทกรรมให้รับรู้ในวงวิชาการ คือ ผลสัมฤทธิ์(Results) ผลผลิต (Outputs) ผลลัพธ์(Outcomes) หรือกระทั่งการเน้นย้ำให้ผู้เรียนได้เข้าใจ หรือให้ความสำคัญ “หัวใจ” ของการประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต นั่นก็คือ การประเมินวัตถุประสงค์ (Evaluation Objects) และเป้าหมาย (Goal) เพราะทั้งสองส่วนจะทำให้เราเห็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่สัมพันธ์อยู่กับ “สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ” (ผลที่คาดว่าจะได้รับ) ของโครงการไปโดยปริยาย




เครื่องมือการประเมินโครงการฯ : ความหลากหลายในแบบบันเทิงเริงปัญญา

การประเมินผลโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หัวใจหลักไม่ได้อยู่ที่การใช้เครื่องมือ (Means) เพียงไม่กี่อย่างที่คุ้นชิน ซึ่งหมายถึงแบบสอบถาม (Questionnaire) แบบสัมภาษณ์ แบบสำรวจ (Inventory) ภาพนิ่ง VDO Clip หรือ PDCA (Deming’s cycle) เท่านั้น ทว่า ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย ได้สื่อให้เห็นถึงเครื่องมือ หรือกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับการจัดการความรู้ เป็นต้นว่า

  • สุนทรียะการสนทนา (Dialogue)
  • เรื่องเล่าเร้าพลัง (Story Telling)
  • ถอดบทเรียน (lesson learned)
  • ความคาดหวังก่อนดำเนินงาน (Before Action Review : BAR)
  • สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ (After Action Review : AAR)



และกระบวนการ หรือเครื่องมือเหล่านี้ก็ถูกสร้างเป็นกระบวนการเรียนรู้มาเป็นระยะๆ ผ่านการรังสรรค์ของทีมกระบวนกร ยกตัวอย่างเช่น การละลายพฤติกรรม กิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอ กิจกรรมคำถาม 9 ช่อง ฯลฯ ทั้งปวงได้สร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในแบบ “กระบวนการ” อัน “บันเทิงเริงปัญญา” มาอย่างไม่ต้องกังขา ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเปิดใจเรียนรู้อย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหน หรือกระทั่งกลับไปทำความเข้าใจ- อ่านทวนหรือไม่เท่านั้นเอง




ภาพถ่าย : การจัดการความรู้ผ่านภาพถ่าย

ดังที่แจ้งว่ากระบวนการเรียนรู้ในวิชาการพัฒนานิสิต เน้นการเรียนรู้อย่างหลากหลาย แม้กระทั่งการประเมินโครงการฯ ก็มิได้จ่อมจมอยู่แต่เฉพาะเครื่องมือ หรือกระบวนการเพียงไม่กี่อย่าง แต่มุ่งให้นิสิตได้รู้หลากหลาย –เป็นการรู้เพื่อให้มี “ต้นทุน” ในการนำไปประยุกต์ใช้กับวิถีอื่นๆ

เรื่องของ “ภาพถ่าย” หรือ “การถ่ายภาพ” เป็นอีกเรื่องที่วิชาการพัฒนานิสิตให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะถือเป็นเรื่องที่นิสิตมีพื้นฐาน (ความรัก-ความชอบ) อยู่แล้ว โดยเฉพาะการถ่ายภาพผ่าน “มือถือ” ทั้งที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว



ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการเรียนรู้จึงมุ่งทำความเข้าใจกับนิสิตประมาณว่า

  • ภาพถ่าย เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ประกอบการประเมินผลโครงการฯ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการดำเนินการจริง แต่ภาพถ่ายเพื่อการประเมินผลโครงการ ต้องครอบคลุมทั้ง 3 ขั้นตอน (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) เพื่อสะท้อนให้เห็น “สภาพก่อนการจัดกิจกรรม (BAR) และความเปลี่ยนแปลงหลังการจัดกิจกรรม (AAR)”




นอกจากนี้ยังได้ผนวกความรู้ที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์การถ่ายภาพมาให้นิสิตได้เรียนรู้ไปด้วย เช่น ภาพแบบสมมาตร (Symmetry Balance) จุดตัด 9 ช่อง กฎสามส่วน ซึ่งมีการหยิบยกภาพถ่ายหลากหลายมาให้นิสิตได้ดู (ชื่นชม) รวมถึงภาพที่เกี่ยวกับนิสิต หรือกิจกรรม-สถานที่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อสะกิดเตือนการเรียนรู้ให้นิสิตได้ทบทวนเรื่องราวของตนเองไปแบบเนียนๆ




ปิดท้าย : ทวนซ้ำความเข้าใจและย้ำเน้นงาน

เหมือนเช่นทุกครั้งของการเรียนรู้ ทีมกระบวนกรจะกลับออกมาทวนซ้ำเนื้อหาอย่างง่ายๆ ผ่านใบงาน หรือไม่ก็ให้นิสิตได้พูดเล็กๆ น้อย-พร้อมๆ กับการทวนย้ำเรื่องงานต่างๆ ผูกโยงไปยังการนัดหมายเพื่อเตรียมการเรียนรู้ในชั่วโมงถัดไป


หมายเหตุ : ภาพ โดย ทีมระบวนกรวิาการพัฒนานิสิต

หมายเลขบันทึก: 591993เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2015 01:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้เรียนรู้เครื่องมือประเมินผลไปด้วย ขอบคุณค่ะ

หน้าตานิสิตภาพท้าย ๆ บ่งบอกความสุขมากนะคะ ^_,^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท