วิปัสสนาภาวนา (ตอนที่ ๗)


สติ สมาธิ และปัญญา

สติ และสมาธิ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับฝึกจิต หรือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาจิต

ในการฝึกหรือพัฒนาจิต หากเริ่มต้นด้วยการฝึกให้เกิดสติและสมาธิไปด้วยกันหรือพร้อมกัน จะได้ผลรวดเร็วที่สุด

แต่ในการฝึก จะต้องใช้สติเป็นตัวนำ คือ ฝึกให้เกิดสติ หรือเจริญสติก่อน

สติจำเป็นจะต้องมีอยู่ตลอดมเวลา จะละทิ้งสติไม่ได้เลย หากฝึกทำสมาธิหรือเจริญสมาธิก่อน ก็จะต้องดึงจิตที่มีสมาธิมาให้มีสติหรือเกิดสติด้วย เพราะหากแต่ทำสมาธิอย่างเดียว (เรียกว่าทำสมถกรรมฐานอย่างเดียว) จะเกิดแต่สมาธิและมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความหลงติดยึด และมีพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนต่างๆ เป็นมิจฉาสมาธิได้

สติ คือ ความระลึกรู้ในอารมณ์

สมาธิ คือ ความจดจ่อแนบแน่นในอารมณ์

อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรับรู้

สติและสมาธิ ในวิปัสสนาภาวนาเป็นสติและสมาธิที่ระลึกรู้และจดจ่อในอารมณ์ปัจจุบัน ซึ่งอารมณ์ปัจจุบันมีธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เพราะตกอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา)

เมื่อสติเกิดขึ้น สมาธิจะเกิดขึ้นด้วยเสมอเป็นอัตโนมัติ (อาจจะเป็นสมาธิชั่วขณะ -ขณิกสมาธิ สมาธิแนบแน่นเฉียดฌาน -อุปจารสมาธิ หรือสมาธิลึกขั้นฌาน - อัปปนาสมาธิ)

สติจึงเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดสมาธิและในเบื้องต้น อาจจะกล่าวได้ว่า สติสามารถใช้เป็นเครื่องในการช่วยฝึกสมาธิได้ด้วย

แต่สมาธิสามารถจะแยกจากสติ และเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยสติได้ด้วย (เช่น ในการทำสมถกรรมฐานแต่อย่างเดียว)

สมาธิที่ประกอบด้วยสติ จะเป็นสัมมาสมาธิ แต่สมาธิที่ไม่ประกอบด้วยสติ อาจจะพัฒนาไม่สู่มิจฉาสมาธิ (คือสมาธิที่ผิดเพี้ยน) ได้

ปัญญา คือ การเห็นความจริง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นผล คือ เมื่อเจริญสติและสมาธิอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน จนมีกำลังแก่กล้าแล้ว จึงจะเกิดปัญญาขึ้น

แต่ก่อนจะเกิดปัญญา จะมีสัมปชัญญะ (คือความรู้ตัวทั่วพร้อม) เกิดขึ้นก่อน จึงพัฒนาต่อไปเป็นปัญญา (เรียกว่าภาวนามยปัญญา หรือวิปัสสนาปัญญา)

วิปัสสนาปัญญาในขั้นต้น คือ ปัญญาที่เห็นความจริงของชีวิต ว่าประกอบด้วยกายและจิต หรือประกอบด้วยรูปและนาม หรือขันธ์ห้า คือ รูป (รูปขันธ์) นาม (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์)

วิปัสสนาปัญญาในขั้นต่อไป คือ ปัญญาที่เห็นว่ารูปและนามเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ในขั้นต่อไป คือ ปัญญาที่เห็นว่ารูปและนามอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ ในขั้นต่อไป คือ ปัญญาที่เห็นการเกิดดับของรูปและนาม และยังมีขั้นต่อๆ ไปอีก จนถึงปัญญาที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน

หมายเลขบันทึก: 591991เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2015 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2015 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท