​บันทึกหลักสูตรค่ายอาสาฯ ตอน "คนไร้บ้าน"


บันทึกฉบับนี้ แม้ไม่มีคำตอบใดที่แน่ชัด แต่หากไม่มาเห็นด้วยตา น้อยคนก็คงจะได้รู้ เย็นวันหนึ่งปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักศึกษา จาก 6 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยบูรพา กว่าสิบชีวิต ต่างพบกันที่จุดนัดหมาย ณ สนามหลวงและศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อร่วมทำส่วนหนึ่งในกิจกรรมค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) ที่พวกเขาตั้งใจเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เราได้มีโอกาสลงไปสัมผัสกับน้องๆ ที่ลงพื้นที่เสาชิงช้าซึ่งจะได้ลงไปพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้าน โดยบรรยากาศการทำกิจกรรมถือว่าคึกคัก นั่นเพราะกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนมาก ยืนต่อแถวรอรับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจากมูลนิธิกระจกเงา โดยมีเยาวชนคนค่ายร่วมทำหน้าที่เป็นลูกมือ บ้างก็เตรียมพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านเหล่านั้นเพื่อบันทึกประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่อไป

แล้วค่ายอาสากับคนไร้บ้านเกี่ยวกันอย่างไร?
นอกจากข้อมูลที่เยาวชนจะได้สัมผัสด้วยตาตัวเองแล้ว นางสาวกนกพร อำโพธิ์ศรี (ใหม่) นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลธนบุรี หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง มองว่า วัตถุดิบเหล่านี้ จะสอนให้เยาวชนเข้าใจเหตุการณ์ สอนให้เยาวชนเรียนรู้และพัฒนาตนเอง โดยกิจกรรมค่ายในปีนี้ต่างจากที่ตนเคยเข้าร่วมเพราะมีการเตรียมความพร้อมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายถึง 3 เวที โดยเวทีที่ 1 จะเน้นการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เวทีที่ 2 จะเน้นให้เครื่องมือ เช่น การฝึกทักษะการมองประเด็น การคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการทำงานสื่อสารกับสาธารณะ ซึ่งกิจกรรมลงพื้นที่ในวันนี้จัดอยู่ในเวทีที่ 2 โดยหลังจากนี้จะมีเวทีพัฒนาโครงการเพื่อเสนอขอรับทุนดำเนินการจาก สสส. ต่อไป

“การลงพื้นที่ในวันนี้ถือเป็นเวทีที่สร้างฐานคิด เช่น คนไร้บ้านคือใคร เขาเป็นอย่างไร ตลอดจนการเข้าหาคนไร้บ้านเหล่านี้ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีดีเดินไปคุยเลย เพื่อสบายใจของทั้ง 2 ฝ่ายเรามีการติดต่อกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นเครือข่ายให้พาลงพื้นที่ ซึ่งน้องๆ จะเห็นวิธีการทำงาน ซึ่งโครงการของน้องๆ ที่ส่งเข้ามามีหลายประเด็น อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา การเรียกร้องความยุติธรรม ในพื้นที่ต่างๆ แต่สิ่งที่อยากให้น้องเห็นคือให้เห็นว่าสังคมเป็นยังไง ให้ทำความเข้าใจความหลากหลายของกันและกัน” ใหม่กล่าวสรุปสั้นๆ

ขณะที่หันไปมองเยาชนที่ต่างทำหน้าที่ของตน บ้างก็พูดคุยสอบถามกับคนไร้บ้าน บ้างก็ถ่ายวีดีโอ บางคนตั้งข้อสังเกตแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เมื่อสายฝนเริ่มโปรยปราย และหนักเม็ดขึ้น ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กๆ เพราะกลุ่มคนไร้บ้านเริ่มกระจายตัวพากันหาที่หลบฝนกันจ้าละหวั่น ทันใดนั้นก็มีเสียงของเยาวชนคนค่ายกล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า “ฝนตกแบบนี้พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกัน” ว่าแล้วพวกเราก็วิ่งตามคนไร้บ้านไป...และพบว่าสถานที่พักกายยามฝนตกของพวกเขาคือริมฟุตบาทหน้าร้านขายของที่มีชายคายื่นออกมานิดหน่อยพอให้หลบฝนได้ แน่นอนว่า ณ เวลานี้ ร้านค้าแถวนั้นปิดให้บริการแล้ว

เมื่อเยาวชนคนค่ายกลับมาถึงที่พักก็ได้เวลาที่ทุกคนร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ได้พบเจอในวันนี้ นายณัฐพงษ์ ภูแก้ว (แก้วใส) ผู้ประสานงานภาคกลาง โครงการค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ถือเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เยาวชนมีบทเรียนชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเงื่อนไขบางอย่างอาจต้องปรับตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อความเหมาะสม ซึ่งสาเหตุที่นำเยาวชนมาทำกิจกรรมร่วมกับคนไร้บ้านเพราะต้องการให้เยาวชนมองเห็นถึงสิ่งใกล้ตัวที่เยาวชนอาจมองข้ามไป ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้จะส่งผลให้ได้ทักษะหลากหลาย

“หลักๆ ที่จะได้คือทัศนะคติ จริงๆ เราเชื่อว่าคนก็คือคนเหมือนกัน สังคมส่วนใหญ่อาจจะมองคนเหล่านี้เป็นอีกชนชั้นหนึ่งอาจจะมองว่าเขาน่ากลัว อันตรายอะไรแบบนี้ก็ต้องลองให้มาสัมผัสดูว่ามันใช่หรือเปล่าอะไรแบบนี้ จุดหนึ่งเป้าหลักของภาคกลางปีนี้คงเป็นเรื่องของคุณค่าความเป็นมนุษย์เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่วันนี้จากที่พูดคุยกันเบื้องต้น น้องๆ ยอมรับว่าช่วยเปิดโลกทัศน์ได้ดีและเป็นประโยชน์ต่อโครงการที่จะต้องไปดำเนินการต่อไป” แก้วใสกล่าวทิ้งท้ายก่อนจะไปเรียกรวมน้องๆ มาถอดบทเรียน

ขณะที่นางสาวลลิตพรรณ เชาวนปรีชา (ไข่มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้รับผิดชอบโครงการค่ายส่งเสริมสุขภาพชุมชน ครั้งที่ 12 ซึ่งจะลงพื้นที่ที่ ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยอมรับว่าการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนไร้บ้านเหมือนเป็นการฝึกลงพื้นที่จริงในการทำค่าย อาจมีปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากแผนงานที่วางไว้กับการลงพื้นที่จริงแตกต่างกัน ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่ได้สัมผัสกับคนไร้บ้านส่งผลให้มีมุมมองที่กว้างมากขึ้น และมีมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม

“จากที่ลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้านวันนี้เห็นปัญหาว่าการที่เรามีคนกลางพาไปลงพื้นที่เป็นเรื่องดีทำให้เราเข้าไปพูดคุยกับเขาได้ง่ายขึ้นแต่ปัญหาคือบางทีเราเตรียมแผนการดำเนินงานมาแต่พอมาถึงแผนเปลี่ยนหมดเลย คำถามที่เตรียมมาบางคำถาม ถามไปแล้วไม่ได้คำตอบ เป็นต้น ซึ่งพอเราเริ่มมองย้อนไปที่ตัวโครงการของเราเวลาเราลงชุมชนเราจะไปติดต่อผ่านอาสาสมัครดูแลสุขภาพและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน แต่เราไม่เคยไปถามคนในชุมชนจริงๆ ว่าเขาอยากให้เราช่วยอะไร ซึ่งวันนี้เห็นว่าการที่เราไม่เคยพูดคุยกับชุมชนเองอาจทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงจุด ซึ่งเมื่อช่วยเหลือไม่ตรงจุดการแก้ปัญหาอาจไม่ยั่งยืน ซึ่งตรงนี้จะนำไปปรับใช้ต่อไป นอกจากนี้การได้มาร่วมเวทีในครั้งนี้ยังได้พบกับเพื่อนๆ ร่วมโครงการค่ายซึ่งทำให้เจอเพื่อนๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่มีมุมมองทัศนะคติใหม่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้เป็นประโยชน์ได้ในอนาคต” ไข่มุกพูดปิดท้าย

ถึงแม้การลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้านกลางเมืองหลวงในวันนี้จะเป็นเพียงประสบการณ์สั้นๆ ในชีวิตของน้องๆ แต่ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนเหล่านี้มีประสบการณ์ที่แตกต่างมองเห็นคนอื่นในสังคมรอบตัวมากขึ้น รู้จักคิด วิเคราะห์ ถึงข้อมูล กระทั่งภาพที่เห็นด้วยตายังต้องพิจารณาเชื่อมโยงถึงที่มาที่ไป บันทึกฉบับนี้ แม้ไม่มีคำตอบใดที่แน่ชัด แต่หากไม่เห็นด้วยตา ความทรงจำเกี่ยวกับคนไร้บ้านก็คงไม่รู้จะเริ่มตรงจุดไป

ติดตามผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/krajaisukteam

หมายเลขบันทึก: 591834เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2015 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2015 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท