หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : กู่กาสิงห์ : การเรียนรู้สู่การผลิตสื่อสองภาษา (สาขาภาษาจีน)


“สื่อ” ที่มีในชุมชนและสถานที่สำคัญๆ หลงเหลืออยู่น้อยมาก และเท่าที่มีอยู่ก็ไม่สมบูรณ์-ไม่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งยังจำกัดอยู่แค่ภาษาไทยเท่านั้น รวมถึงสื่อที่มีอยู่ก็มีรูปแบบที่ไม่โดดเด่น และชวนสนใจเท่าที่ควร ที่สุดแล้วจึงลงมติเห็นพ้องร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนงานในลักษณะของการเรียนรู้และผลิตสื่อสองภาษาทั้งที่เป็น “ภาษาไทยและภาษาจีน” ในรูปของแผ่นพับและหนังสือ เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ชุมชนสู่สาธารณะ หรือกลุ่มคนชาติอื่นๆ ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น

โครงการผลิตสื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ชุมชนการเรียนรู้บ้านกู่กาสิงห์ (ฉบับภาษาจีน) เป็นอีกหลักสูตรในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สัมผัสได้ถึงความสำเร็จเล็กๆ ต่อการบริการวิชาการบนปรัชญาการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมและการเรียนรู้คู่บริการในชื่อ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”




๓ In ๑ : เรียนรู้ศักยภาพชุมชนสู่การผลิตสื่อสร้างสรรค์

โครงการดังกล่าว มีอาจารย์วราลักษณ์ แซ่อึ้ง เป็นผู้รับผิดชอบหลัก บูรณาการผ่านรายวิชาหลักการแปล (0162 318) รายวิชาการแปลแบบล่ามภาษาจีน (0162 415) ประกอบด้วยนิสิต 40 คน อาจารย์ 5 คน และแกนนำชุมชนหลักๆ 16 คน แต่ยังไม่รวมมัคคุเทศก์น้อยและประชาชนทั่วไปในหมู่บ้าน ซึ่งมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้คู่บริการ ดังนี้

  • อนุรักษ์และเผยแพร่ชุมชนการเรียนรู้บ้านกู่กาสิงห์สู่สากล
  • เสริมสร้างทักษะและประสบการณ์การแปลไทยจีนแก่ผู้เรียน
  • สร้างเครือข่ายการดำเนินงานวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน




ในทางกระบวนการเรียนรู้คู่บริการ มุ่งบูรณาการกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมผ่านวิธีการอันหลากหลาย เช่น วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ PDCA หรือกระทั่งแนวคิดการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) ผ่านรูปแบบสำคัญๆ คือการสอบถาม-สัมภาษณ์ สังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้จากในบางกิจกรรมนิสิตและอาจารย์ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำในฐานการเรียนรู้ต่างๆ โดยมีชาวบ้าน (ปราชญ์ชาวบ้าน) ทำหน้าที่เป็น “ครูผู้สอน”


\


เป็นที่ทราบกันดีว่าบ้านกู่กาสิงห์ (ต.กู่กาสิงห์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด) เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยคลังความรู้ มีประวัติศาสตร์ยาวนานผูกพันกับอารยธรรมขอม เป็นดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นทำเลทองข้าวหอมมะลิ เป็นชุมชนที่คร่ำหวอดกับวิถีของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง มีประเพณีและเทศกาลท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อ (กินข้าวทุ่งฯ นุ่งผ้าไหม) หรือกระทั่งมีความเป็นปึกแผ่น สามัคคีปรองดอง พึ่งพาตนเองและอย่างจัดการความรู้ด้วยตนเองอย่างน่าทึ่ง



ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเรียนรู้คู่บริการในชุมชนที่หลากล้นด้วยศักยภาพ ส่งผลให้การ “พัฒนาโจทย์”ระหว่างหลักสูตรภาษาจีนกับชุมชนเป็นไปอย่างท้าทาย ต่อเมื่อมีการประชุมระดมสมองร่วมกัน จึงพบว่าระบบข้อมูลในเรื่อง “สื่อ” ที่มีในชุมชนและสถานที่สำคัญๆ หลงเหลืออยู่น้อยมาก และเท่าที่มีอยู่ก็ไม่สมบูรณ์-ไม่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งยังจำกัดอยู่แค่ภาษาไทยเท่านั้น รวมถึงสื่อที่มีอยู่ก็มีรูปแบบที่ไม่โดดเด่น และชวนสนใจเท่าที่ควร

ที่สุดแล้วจึงลงมติเห็นพ้องร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนงานในลักษณะของการเรียนรู้และผลิตสื่อสองภาษาทั้งที่เป็น “ภาษาไทยและภาษาจีน” ในรูปของแผ่นพับและหนังสือ เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ชุมชนสู่สาธารณะ หรือกลุ่มคนชาติอื่นๆ ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น




คู่มือการ
ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม : ผลพวงการเรียนรู้คู่บริการ

ก่อนการลงสู่ชุมชน คณะอาจารย์ที่ดูแลโครงการฯ มอบหมายภารกิจให้นิสิตค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชุมชนกู่กาสิงห์จากแหล่งต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เสมือนการปฐมนิเทศโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในอีกมิติหนึ่ง รวมถึงการมอบหมายให้นิสิตออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง นับตั้งแต่แบ่งกลุ่ม แบ่งภารกิจในแต่ละกิจกรรม

การปฏิบัติการจริงในชุมชนเป็นกิจกรรมบูรณาการผ่านโครงสร้างสำคัญๆ เช่น เทศบาลตำบลกู่กาสิงห์และสภาวัฒนธรรมในสังกัดเทศบาลตำบลกู่กาสิงห์ กลุ่มมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนบ้านกู่กาสิงห์ ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ โดยเน้นการสัมภาษณ์ ศึกษาดูงาน และการลงมือปฏิบัติจริงในฐานการเรียนรู้ต่างๆ เป็นระยะๆ



จากนั้นจึงนำข้อมูลอันเป็น “ปากคำชุมชน” กลับมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตรวจทานและเทียบเคียงกับข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าจากสารสนเทศต่างๆ เพื่อปรับแปลงข้อมูลไปผลิตเป็นคู่มือการท่องเที่ยวฯ ในรูปของแผ่นพับและหนังสือสองภาษา เน้นรูปแบบที่มีสีสันสวยงาม (สี่สี) มีทั้งภาพลายเส้นและภาพถ่ายสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน 6 เส้นทาง ดังนี้

  • ฐานการเรียนรู้โบราณสถานขอม
  • พิพิธภัณฑ์มรดกภูมิปัญญา
  • สวนเกษตรทฤษฎีใหม่
  • ศูนย์ผ้าไหมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
  • วรรณกรรมชาวบ้าน
  • การตัดลวดลายกระดาษพื้นบ้าน




ข้อพึงปฏิบัติของนักท่องเที่ยว : หลักการและหลักคิดแบบมีส่วนร่วมของนิสิตกับชุมชน

การเรียนรู้คู่บริการครั้งนี้ ไม่เพียงชำระข้อมูลชุมชนและผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ชุมชนเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการระดมความคิดระหว่างนิสิตกับชุมชนออกมาเป็นข้อพึงปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวอีก 5 ประเด็น คือ

  • ให้ความเคารพประเพณีพิธีกรรมของชุมชน
  • ให้ความเคารพต่อโบราณสถาน ไม่เคลื่อนย้าย ขีดเขียน หยิบฉวยโบราณวัตถุ
  • แต่งกายสุภาพ
  • ไม่ดื่มสุรา หรือคุยเสียงดัง
  • เมื่อพบพระสงฆ์ควรหลีกทางให้พระสงฆ์ สำหรับสุภาพสตรีห้ามสัมผัสพระสงฆ์ หากต้องประเคนของให้ผู้ชายประเคนแทน หรือวางของไว้บนโต๊ะ




สื่อสองภาษา : การเดินทางของสื่อที่ยังไม่รู้จบ


ปัจจุบันแผ่นพับและหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนการเรียนรู้ “บ้านกู่กาสิงห์” ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีน ได้ถูกส่งมอบไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่) และศูนย์ภูมิภาค (จังหวัดขอนแก่น) รวมถึงการส่งมอบให้กับชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ

กระนั้นก็ยังชวนขบคิดตามอยู่ไม่ใช่ย่อยว่าสื่อที่ถูกผลิตขึ้นนั้น จะถูกนำไปใช้ต่ออย่างจริงจังแค่ไหน จะมีกระบวนการพัฒนาข้อมูลให้เป็นปัจจุบันกี่มากน้อย หรืออื่นๆ เป็นต้นว่า –

  • เทศบาลกำหนดแผนยุทศาสตร์พัฒนาหมู่บ้านและโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ชุมชน
  • โรงเรียนจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้หมู่บ้านกู่กาสิงห์เป็นสาระการเรียนรู้ หรือฐานเรียนรู้
  • เทศบาลและโรงเรียนจับมือกันพัฒนา “มัคคุเทศก์น้อย” และชาวบ้านให้มีศักยภาพเป็น “วิทยากรชุมชน” อย่างไม่รู้จบ โดยไม่จำเป็นต้องติดยึดอยู่แต่เฉพาะผู้นำเพียงไม่กี่คน
  • ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการเรียนรู้และการท่องเที่ยวอย่างหลากรูปแบบที่สามารถเผยแพร่
    ในวงกว้างได้ โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะสื่อที่เป็น “เอกสาร” หรือ “หนังสือ”



หรือแม้กระทั่งหลักสูตรภาษาจีนเองก็ตาม คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่ระยะต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำอีกสักครั้ง เพื่อให้เห็นถึงความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนผ่านการบริการสังคม หรือกระทั่งในระดับคณะมนุษยศาสตร์ฯ เองก็เกี่ยวโยงกับการประเมินผลดังกล่าว เนื่องเพราะปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา พื้นที่อันเป็นอาณาบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ที่รวมถึงชุมชนกู่กาสิงห์ มีหลักสูตรในสังกัดคณะฯ ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรอยู่หลายหลักสูตร จึงจำต้องถอดรหัสความรู้ให้เห็นระบบและกลไกภายในคณะ ทั้งในแบบแยกส่วนและการบูรณาการศาสตร์ รวมถึงความสำเร็จของการ “สร้างความรู้และใช้ความรู้” ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน



เช่นเดียวกับการประเมินนิสิตในบทบาทของการเรียนรู้คู่บริการก็จำต้องประเมินผลเชิงลึกว่าก่อเกิดมรรคผลความรู้และทักษะทางวิชาชีพขึ้นกี่มากน้อยแล้ว หรืออื่นๆ อาทิเช่น

  • นิสิตมีทักษะการทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร
  • นิสิตมีทักษะในการถ่ายทอดความรู้และการผลิตสื่อแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตสื่อนั้น มีการประสานความร่วมมือจากสาขาใดๆ มาร่วมด้วยช่วยกันหรือไม่ เพราะนั่นคือการบูรณาการศาสตร์ที่สามารถทำได้ ทั้งภายในคณะ และข้ามคณะ
  • นิสิตเข้าใจหลักการแสดงหาความรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้คู่บริการในระดับใด
  • นิสิตตระหนักถึงภารกิจของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมแล้วหรือยัง –

หรือกระทั่งนิสิตและอาจารย์ เข้าใจกระบวนการของการได้มาซึ่งข้อมูลแล้วสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและคืนข้อมูลสู่กันและกันก่อนแปรรูปไปสู่การเป็นสื่อเผยแพร่ ฯ แค่ไหน -

ทั้งปวงนี้โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าหลายสิ่งอย่างเกิดเป็นดอกผลแห่งการเรียนรู้คู่บริการบ้างแล้ว เพียงแต่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ “ตูมเดียวและจากหาย”



หมายเหตุ ภาพ : สาขาจีน และบุคลากรกองกิจการนิสิต


หมายเลขบันทึก: 591546เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2015 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เช่นกันนะครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ที่นี่ ก็ยังคงต้องทำไปเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ครับ ดอกผลการเรียนรู้ ส่วนหนึ่งก็ตั้งเป้าไว้ที่นอกเหลือจากวิชาชีพและทักษะชีวิต ก็หนีไม่พ้นเรื่องจิตสาธารณะนี่แหละครับ




น่าสนใจมาก

นักเรียนและชุมชนได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรม

ได้อนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งดีเอาไว้ได้วยครับ

ครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

เป็นการเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม
หนุนการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
รวมถึงการเปิดช่องทางการสื่อสารที่เป็นสาธารณะมากยิ่งขึ้น



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท