เพิ่มหรือลดอำนาจของประชาชน



บทความเรื่อง Charter ‘will empower state over people’ ใน นสพ. เดอะเนชั่น วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้ ความเห็นในบทความมาจากคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ มีสาระที่ให้อำนาจรัฐเหนือประชาชนมาก ขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ให้สิทธิแก่ประชาชนมากขึ้นอย่างที่มีผู้อ้าง

เท็จจริงอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมชอบที่มีการนำประเด็นดังกล่าวมาถกเถียงทำความเข้าใจกัน และผมเสียดาย ที่ไม่เห็นมีนักวิชาการทำวิจัยเอามาบอกชาวบ้าน

ประเด็นเรื่องอำนาจรัฐ กับสิทธิมนุษยชนนี้ เราต้องการความพอดี และต้องการให้กฎหมายคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐทำผิด ทำให้ประชาชนคนหนึ่งคนใด เสียหาย ผู้เสียหายต้องได้รับการชดเชย

เมื่อเย็นวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ผมนั่งแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิกลับบ้าน และทักโชเฟอร์ ว่าชื่อ “เทย” ของเขาเป็นชื่อที่ไม่เคยได้ยิน เป็นชื่อที่แปลกดี ผมบอกเขาว่า “อย่าไปเปลี่ยนเสียนะ” เขาหัวเราะ และบอกว่ากำลังจะไปเปลี่ยนอยู่พอดี เพราะชื่อแปลกอย่างนี้ยังมีคนมาสวมรอยเอาชื่อและหมายเลขบัตร ประชาชนไปใช้ สวมให้คนต่างชาติชาวลาว แล้วคนนั้นไปข่มขืนเด็กสาวอายุ ๑๓ ปี เมื่อ ๖ ปีก่อน จนในที่สุดตำรวจมาจับคุณเทยตัวจริง เพราะชื่อและบัตรประชาชนตรงกัน แต่รูปต่างกัน

คุณเทยบอกว่า ต้องขายรถแท็กซี่ เอาไปประกันตัวและสู้คดี ที่ตนไม่ได้ก่อ เขาถูกจับเมื่อปีที่แล้ว และเรื่องไปถึงศาล เป็นคดีอาญาระบุข้อกล่าวหาถึง ๓ กระทง เพราะผู้เสียหายเป็นเด็กอายุ ๑๓ ปี ไปถึงศาล มีการเรียกร้องให้เอาตัวอย่างเชื้ออสุจิที่เก็บจากช่องคลอดผู้เสียหาย มาเทียบ กับดีเอ็นเอ ของคุณเทย ตำรวจบอกว่าตัวอย่างที่เก็บไว้หาย คุณเทยไปตามตัวผู้เสียหายจนพบและขอให้ไปเป็นพยานในศาล เธอก็ไปบอกศาลว่าผู้ทำชำเราไม่ใช่คนนี้ แต่ทนายของคุณเทยบอกว่า ศาลอาจเชื่อว่าเป็นการว่าจ้างให้พยานมา ให้การเป็นประโยชน์แก่จำเลย

คุณเทยบอกว่าศาลนัดตัดสินสัปดาห์หน้า ผมให้คำแนะนำว่า หากศาลตัดสินว่าคุณเทยไม่ผิด และในความเป็นจริงคุณเทยก็ไม่ได้ทำความผิดนั้น คุณเทยน่าจะมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายจากรัฐได้ ไม่ทราบว่าผมแนะนำถูกต้องไหม และจะมีวิธีเรียกร้อง ค่าชดเชยอย่างไร ไปขอความช่วยเหลือหน่วยงานไหน ผู้รู้โปรดแนะนำด้วย เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชน พลเมือง ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำตามใจชอบ หรือทำอย่างไม่ระมัดระวัง



วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ค. ๕๘

บนเครื่องบินการบินไทยไปไทเป


หมายเลขบันทึก: 591510เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2015 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ติดต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม รายละเอียดตามนี้ครับ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ตราขึ้นตามบทบัญญัติ มาตรา 245,246 และ247 แห่งรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เพื่อรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้ง การรับรองสิทธิในการรับค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย ในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุด ในคดีนั้น ว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลย ไม่เป็นความผิด ดังนั้น เพื่อให้การรับรองสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติฉบับนี้คุ้มครองบุคคล 2 ประเภท คือ

1.ผู้เสียหาย หมายถึงบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น และต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น เช่น

- ถูกข่มขืนกระทำชำเรา อนาจาร

- ถูกทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ หรือ ถึงแก่ความตาย

- ถูกลูกหลง ได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย

- การกระทำโดยประมาทของบุคคลอื่น โดยพิสูจน์แล้วมีข้อยุติว่าผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนประมาทด้วย

2.จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญาซึ่งถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการและถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีและปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด และมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดีหรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือของผู้เสียหาย

กรณีทั่วไป

1.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท

2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

4.ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรไม่เกิน 30,000 บาท

กรณีเสียชีวิต

1.ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2.ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท

3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000 บาท

4.ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

สิทธิการได้รับเงินช่วยเหลือของจำเลย

กรณีทั่วไป

1.ค่าทดแทนการถูกคุมขังตามจำนวนวันที่ถูกคุมขัง ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล อัตราวันละ 200 บาท

2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท ความเจ็บป่วยต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

3.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ความเจ็บป่วยต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

5.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

-ค่าทนายความเท่าที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด

-ค่าใช้จ่ายอื่นเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท

กรณีเสียชีวิต

1.ค่าทดแทน จำนวน 100,000 บาท

2.ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท

3.ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท

4.ค่าความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ไม่เกิน 30,000 บาท

ดุลพินิจของกรรมการ

คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายหรือจำเลยได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายเพียงใด หรือไม่ จะคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด สภาพความเสียหาย พฤติการณ์ของคดี ความเดือดร้อนที่ได้รับ และให้พิจารณาถึงโอกาสที่ผู้เสียหายและจำเลยจะได้รับการชดเชยจากทางอื่นด้วย

ท่านสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่

สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา

ส่วนกลาง

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เลขที่ 120 หมู่ 3 ชั้น 2ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ฯ อาคาร ราชบุรีดิเรกฤทธิ์

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210

โทรศัพท์ 0 2141 2838-99 โทรสาร 0-2143-9665-8

ส่วนภูมิภาค

ที่ “คลินิกยุติธรรม”ตั้งอยู่ ณ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท