สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ติดอาวุธเด็กจิตอาสา...รักษาสิ่งแวดล้อม


มาค่ายครั้งนี้ทำให้หนูชัดเจนมากขึ้น ในด้านการเก็บข้อมูล เราจะต้องเตรียมตัวก่อนว่าเรามีเป้าหมายอะไร คำถามที่เราจะถามก็ต้องตรงกับเป้าหมายที่เราวางไว้ ส่วนเรื่องการสื่อสาร เราต้องสื่อสารให้ตรงกับผู้ฟัง เวลาเราจะพูดให้เขาฟัง เราต้องเรียงลำดับเนื้อหาให้เขาฟังว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม ถ้าไม่เตรียมตัวแล้วพูดกลับไปกลับมาแบบที่เป็นอยู่ เราก็จะไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจเราได้


ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชน “ข้อมูล” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ และ “การสื่อสาร” ก็เปรียบได้กับ “อาวุธ” ชิ้นเอกที่จะส่งผลให้งานสำเร็จหรือไม่…การทำงานจิตอาสาเพื่อบ้านเกิดของน้องๆ 21 กลุ่มเยาวชนหัวใจสีเขียวจากทั่วประเทศในโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” ปี 3 ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทย ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็เช่นกัน ที่ด้วยประสบการณ์ยังน้อยทำให้พวกเขาขาดความรู้ความชำนาญในด้านนี้ และเป็นที่มาของค่ายอบรมเสริมทักษะครั้งล่าสุด เพื่อช่วยเติมทักษะให้น้องๆ นำกลับไปทำงานกับชุมชนอย่างได้ผล



รัตนติกา เพชรทองมา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ โครงการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน มูลนิธิกองทุนไทย ในฐานะแม่งานเล่าว่า ในปีที่ 3 นี้ โครงการฯ ได้เลือกประเด็นการเสริมทักษะจากข้อค้นพบการติดตามลงพื้นที่ พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการเก็บข้อมูล ถามคำถามอย่างไรไม่ให้เป็นการชี้นำ ถามอย่างไรให้ได้ข้อมูลถูกต้อง เพียงพอ และสามารถมองเห็นวิธีการทำงานต่อไปได้ เพื่อให้การทำงานของเยาวชนตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชนได้จริง ส่วนการเติมทักษะการสื่อสารก็จะเป็นตัวช่วยให้เยาวชนสื่อสารความเป็นไปของปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ และดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น


สำหรับไฮไลต์สำคัญของเวิร์คช็อปครั้งนี้อยู่ที่การลงชุมชนต้นแบบเพื่อเป็น “แบบฝึกหัด” การเก็บข้อมูลในสถานการณ์จริง พร้อมๆ กับการพาไปเห็นตัวอย่างและรับแรงบันดาลใจจากชุมชนต้นแบบ โดยมีพี่เลี้ยงโครงการฯ ช่วยเติมความรู้เรื่องการเก็บข้อมูล การวางแผน การตั้งคำถาม และการแบ่งบทบาทหน้าที่กันไว้ล่วงหน้า



ชุมชนต้นแบบที่เยาวชนแบ่งกลุ่มเข้าไปเรียนรู้ มี 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กับการจัดการขยะโดยชุมชนเพื่อชุมชน มองขยะเป็นเงินที่ร้านศูนย์บาท ชุมชนคลองจินดา กับการปรับตัวสู่การทำการเกษตรปลอดภัย ไร้สารเคมี รับมือโลกร้อน ของชุมชนชาวสวนอำเภอสามพราน จ.นครปฐม และ HiP Incy Farm (ฮิพ อินซี ฟาร์ม) สวนผักพอเพียงใจกลางกรุงของอดีตนักร้องนำวง P2Warship (พีทูวอร์ชิพ) ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนสนามฟุตบอลขนาดหนึ่งไร่ให้กลายเป็นสวนผักนานาชนิด



เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว พอถึงเวลาลงชุมชน น้องๆ แต่ละกลุ่มที่มีการแบ่งหน้าที่กันไว้แล้วจึงกุลีกุจอเก็บข้อมูลกันอย่างตั้งใจ แม้อากาศจะร้อนไปบ้าง แต่ทุกคนก็สู้ไม่ถอย ทั้งจดลงสมุด บันทึกเสียง ถ่ายภาพและอัดคลิปวิดีโอ เมื่อเสร็จสิ้นจากการลงชุมชนต้นแบบ ทั้งหมดจึงนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ชม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าวิธีการสื่อสารของน้องๆ ยังเป็นการเล่าประกอบฟลิบชาร์ต ข้อมูลที่สื่อสารยังสะเปะสะปะ กระจัดกระจาย ขาดพลังดูไม่น่าสนใจ พี่เลี้ยงโครงการฯ ซึ่งคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าจึงเติมทักษะ “การสื่อสาร” ให้น้องๆ ทันที ได้แก่ การทำโปสเตอร์/อินโฟกราฟิก การละคร และการพูดในที่สาธารณะ จากนั้นจึงมอบหมายให้น้องๆ นำทักษะใหม่เหล่านี้กลับไปสร้างสรรค์สื่อแล้วกลับมานำเสนอข้อมูลใหม่อีกรอบภายใต้โจทย์ “จำลอง” การจัดเวทีหมู่บ้านเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่ชาวชุมชน ทำให้เกิดเป็นมหกรรมขนาดย่อมภายในค่ายที่น้องๆ ได้ฝึกคิด ฝึกสื่อสาร มีสาระและความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน



ภายหลังเวิร์คช็อปตลอด 4 วัน น้องป๊อป นายสิงหรัตน์ ใจดา กลุ่มเยาวชนแม่พริกฮักดี โรงเรียนแม่พริกวิทยา จ.ลำปาง บอกว่ามาค่ายครั้งนี้ทำให้เขาได้รับความรู้และทักษะการเก็บข้อมูลกลับไปหลายอย่าง จากเดิมจะเก็บข้อมูลเรื่องไหนก็เตรียมคำถามแล้วไปถามเจาะเรื่องนั้นเลย หากเจอคนพูดไม่เก่ง ถามคำตอบคำ พอหมดคำถามที่เตรียมไว้ก็ไปต่อไม่ได้ ไม่รู้จะถามอย่างไรให้ได้คำตอบเชิงลึก มาค่ายนี้พี่ๆ จึงได้สอนวิธีตั้งคำถาม ถามอย่างไรให้ได้คำตอบที่ต้องการ บางเรื่องไม่ควรถามตรงๆ ก็อาจใช้คำถามอ้อมๆ คำถามบางอย่างถามครั้งเดียวแต่เราได้คำตอบหลายอย่าง ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักสังเกต ทำอย่างไรคนถูกถามจะรู้สึกสบายใจที่จะตอบ ที่สำคัญเมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้เลย แต่ต้องวิเคราะห์ประมวลผล หากพบว่ามีจุดไหนยังไม่ชัดก็ต้องกลับไปถามใหม่



น้องมิ้นท์ นางสาวอมรรัตน์ สิงห์สา กลุ่มเยาวชนกล้าดีตำบลโสกนกเต็น จ.ขอนแก่น บอกว่า จากบทบาทในกลุ่มที่เป็นพี่โตก็จะเป็นคนพูดคนสื่อสารกับชุมชนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางจุดที่ทำได้ไม่ดีนัก เช่นแต่เดิมเวลาเข้าไปขอข้อมูลชุมชนก็จะเริ่มด้วยการแนะนำตัว แนะนำกลุ่มว่าเราเป็นใคร แต่ไม่ได้บอกวัตถุประสงค์ว่าเรากำลังทำอะไร มาเก็บข้อมูลไปแล้วจะเอาไปทำอะไร จุดนี้อาจจะทำให้เขาไม่เข้าใจ เป็นอุปสรรคทำให้เราได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน การเสริมทักษะครั้งนี้ทำให้เห็นจุดบกพร่องที่สามารถนำกลับไปแก้ไขได้


"มาค่ายครั้งนี้ทำให้หนูชัดเจนมากขึ้น ในด้านการเก็บข้อมูล เราจะต้องเตรียมตัวก่อนว่าเรามีเป้าหมายอะไร คำถามที่เราจะถามก็ต้องตรงกับเป้าหมายที่เราวางไว้ ส่วนเรื่องการสื่อสาร เราต้องสื่อสารให้ตรงกับผู้ฟัง เวลาเราจะพูดให้เขาฟัง เราต้องเรียงลำดับเนื้อหาให้เขาฟังว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทำไม ถ้าไม่เตรียมตัวแล้วพูดกลับไปกลับมาแบบที่เป็นอยู่ เราก็จะไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจเราได้" น้องมิ้นท์สะท้อน



ส่วน น้องคอมพ์ ชัชวาล ขนาดขจี กลุ่มเยาวชนละอ่อนอาสาพัฒนาสังคม โรงเรียนทาขุมเงินวิทยาคาร จ.ลำพูน เสริมว่านอกจากได้ความรู้จากพี่เลี้ยงโครงการฯ และได้ฝึกฝนทักษะกับชุมชนต้นแบบแล้ว ส่วนตัวยังได้ข้อคิดดีๆ จากการจำลองการจัดเวทีหมู่บ้านเพื่อคืนข้อมูลให้ชุมชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเรามักลืมถามคนในชุมชนว่าข้อมูลที่เรานำไปให้เป็นข้อมูลที่ตรงตามความต้องการของเขาหรือไม่ และข้อมูลที่เราให้มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า


"มันเหมือนกับที่พี่คนหนึ่งที่สมมติตัวเองเป็นชาวบ้านเขาสะท้อนว่าเราอัดข้อมูลให้เขามากเกินไปนะ เราน่าจะถามเขา และน่าจะแลกเปลี่ยนกับเขาว่าชุมชนของเขาทำอะไร ธงของชุมชนของเขาคืออะไร เราจะได้นำมาปรับกับของเรา จุดนี้ผมก็จะนำไปปรับกับการทำโครงการของตัวเองที่ชุมชนด้วย" น้องคอมพ์สะท้อนปิดท้าย


เชื่อว่าเมื่อน้องๆ ได้ความรู้ เครื่องมือ และวิธีการทำงานเก็บข้อมูลและการสื่อสารในครั้งนี้แล้ว น้องๆ จะนำกลับไปปรับใช้กับการทำโครงการให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่วางเป้าหมายไว้ ก่อนที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในค่ายเวิร์คช็อปครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย.2558 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการครั้งสุดท้ายก่อนปิดโครงการในราวเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ นี่คือระหว่างทางการพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพในการลุกขึ้นมาดูแลบ้านตนเอง #


ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารโครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล ลิงก์ https://www.scbfoundation.com/project/ปลูกใจรักษ์โลก

หมายเลขบันทึก: 591297เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2015 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท