เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เปิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้าง“พลเมืองตื่นรู้”
นักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม จากมหาวิทยาลัย 11 แห่ง 14 คณะ เปิดพื้นที่เรียนรู้ จัดแสดงนิทรรศการสื่อสะท้อน 6 โจทย์สังคม ชูต้นแบบ“นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอนจากโจทย์จริง” สร้าง “พลเมืองตื่นรู้” รับใช้สังคม
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคประชาสังคม จัดเวทีนำเสนอผลงานและจัดแสดงนิทรรศการผลงานโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC ) ขึ้นในวันที่ 21-24 พฤษภาคม 2558 ณ Siam Square One (ทางเชื่อมBTS) ตั้งแต่เวลา 09.30-15.00 น.เพื่อเผยแพร่ผลงานสื่อสร้างสรรค์ของนักศึกษาให้สังคมได้รับรู้ และให้สังคมได้เห็น “ตัวอย่าง” ของมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคม รวมทั้งเห็น “ผลลัพธ์” ต่อนักศึกษาที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งในด้านทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต การมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น เข้าใจสังคม และมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ และศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล น.พ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิสสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมเป็นเกียรติในงานเปิดนิทรรศการดังดังกล่าว
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่ซับซ้อนหลายด้าน แต่วิกฤตที่สำคัญมากของประเทศในขณะนี้ คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพ คนรุ่นใหม่นั้นมีความรู้มาก รู้กว้าง แต่สิ่งที่พวกเขายังไม่รู้ หรือรู้น้อย คือ ประเด็นประเทศไทย
“ดังนั้นสถาบันการศึกษา จึงควรจัดการเรียนการสอนที่สนับสนุนให้ผู้เรียนออกไปสัมผัสกับโจทย์จริง ให้พวกเขาได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ให้เข้าใจประเด็นของประเทศไทย เขาจะสามารถใช้ทักษะ ความสามารถในการสื่อสารสร้างสรรค์สังคมไทยอย่างมีพลัง ดังนั้นการที่โครงการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านนิเทศศิลป์ เรียนรู้ประเด็นปัญหาของประเทศร่วมกับภาคประชาสังคม เป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าคนรุ่นใหม่เข้าในประเทศไทย และคณาจารย์ทางศิลปะทั้งหลายแนะนำให้เขาใช้ศิลปะในการสื่อสาร จะทำให้การสื่อสารมีความน่าสนใจ ผนวกกับความสามารถทางด้านไอที จะทำให้เกิดการนำไปเผยแพร่ต่ออย่างรวดเร็ว กว้างขวาง มีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง”
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล หนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มและสนับสนุนโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) คือ สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของบ้านเมืองจากโจทย์จริงของสังคม เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีสำนึกพลเมือง และใช้ศักยภาพของตัวเองในการร่วมสร้างสรรค์สังคม ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งส่งผลให้อธิการบดี คณบดี ของสถาบันการศึกษาในเครือข่ายสภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย เห็นประโยชน์และเกิดความมั่นใจ สมัครเข้าร่วมโครงการใน ช่วงที่ 2 (มกราคม-มิถุนายน 2558) เพิ่มเติมเป็น อีก 6 แห่ง 7 คณะ รวมเป็น 11 แห่ง 14 คณะ โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของสถาบันการศึกษาได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.ศิลปากร ม.อัสสัมชัญ ม.กรุงเทพ ม.รังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในภูมิภาคอีก 4 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดอีก 4 ม.บูรพา ม. ม.นเรศวร ม.มหาสารคาม สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“ การขับเคลื่อนงานในปีที่สองนี้มีความเข้มข้นขึ้น ผู้บริหาร และอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกิจกรรมในโครงการกับการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป ซึ่งในส่วนนี้จะมีการถอดบทเรียนร่วมกันและค่าดว่าเราจะได้เห็น นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอนที่หลากหลาย สำหรับการขับเคลื่อนงานร่วมกันในปีต่อไปคงรวมกันผลักดันให้มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงเข้าไปรายวิชาปกติให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น การทำงานร่วมกันขององค์กรภาคีครั้งนี้จึงเป็นการทำงานในทิศทางที่เกิดประโยชน์กับมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา และสังคมโดยรวมได้จริงตามแนวทางที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยรับใช้สังคมนั่นเอง”
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในส่วนของการจัดเวทีเผยแพร่ผลงานสื่อสร้างสรรค์ของนักศึกษาในปีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้สังคมเห็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดการเรียน การสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคม ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทั้งในด้านทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต และทักษะการผลิตสื่อ การมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นเข้าใจสังคมและมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในระยะยาว
ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ อ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร กรรมการที่ปรึกษาโครงการ สะท้อนมุมมองถึงประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับจากการเข้าร่วมโครงการว่า “งานดีไซน์คือการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่จริงของสังคม ในสังคมของเรารอให้มีการแก้ไขปัญหาอยู่ นักดีไซน์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ผมคิดว่าการทำงานศิลปะที่น่าสนใจมากที่สุด เรารักษาสมดุลระหว่างข้อมูลที่เรามี วัตถุประสงค์ที่เรากำลังนำเสนอและยุทธศาสตร์และกลยุทธในการที่จะออกแบบเพื่อให้โดนใจผู้ชม น้องๆ วัตถุประสงค์ในงานดีไซน์ครั้งนี้เป็นการทำงานเพื่อที่จะได้ฝึกตัวเองในการที่จะเรียนรู้โลกใบใหญ่ โจทย์จริงของชีวิต ถ้าเราสามารถนำเสนอมุมมองจากนักศึกษาในการแก้ปัญหา ก็ถือว่าเป็นโบนัส เป็นของขวัญ ที่เราเติมให้กับสังคม”
ผศ.อาวิณ อินารังษี ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า “โจทย์จริงหาไม่ได้ในห้องเรียน แต่โครงการนี้ทำให้เขาได้มาเห็นโจทย์จริง ได้เจอปัญหาจริง ได้คลุกคลี ได้ลงพื้นที่จริง ทำงานมาเสร็จมีคนเป็นเจ้าของปัญหาเขามาคอมเม้นท์เด็กก็จะได้ประสบการณ์จริงว่าโลกในชีวิตจริงมันเป็นแบบนี้นะมันก็เป็นการเตรียมตัวให้เขาเร็วขึ้นด้วย”
นางสาวธันย์ชนก เล็กวิริยะกุล นักศึกษา สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการว่า "การเข้าร่วมโครงการเป็นหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่า คนเขามีปัญหา เพราะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เขามาเป็น Case Study มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเขาให้ฟัง แบบเราได้เห็นอะไรที่เราไม่รู้มาก่อนเลยจริงๆ”
นายอิทธิพันธ์ จันทร์เพ็ญ นักศึกษา สาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมสะท้อนว่า "ตอนที่เราได้ข้อมูลจากเอ็นจีโอจากการทำเวิร์คช้อปครั้งแรก ก็คิดว่าพอแล้วที่เราจะเขียน เราสามารถเขียนเป็น A 4 ไม่รู้กี่สิบหน้าได้เลย เราจะต้องมาลงพื้นที่ทำไมอีก แต่พอมาลงพื้นที่ถึงรู้ว่าสำคัญ คือเราแค่มาสัมผัสแค่วันสองวันนี่เราก็อินกับเขามากแล้ว เราเห็นทะเลสวยๆ อยู่มาวันหนึ่งเราคิดว่ามันกำลังจะหายไป มันกำลังจะไม่มี เราก็รู้สึกรับไม่ได้ รู้สึกไม่ไหว ผมแค่มาวันสองวัน แล้วคนที่อยู่ทั้งชีวิตละครับ”
ผลงานของนักศึกษามีดังนี้
ประเด็นผู้พิการ
1. ชื่อผลงาน“Will share” คณะมัฑณศิลป์ ม.ศิลปากร
2.ชื่อผลงาน“My Right ความฝัน ขาฉัน ไดอารี่” คณะนิเทศศาสตร์ ม.อัสสัมชัญ
3.ชื่อผลงาน “ฉัน(ไม่)พิการ” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง นฤมิตศิลป์ม.มหาสารคาม
ประเด็นเด็กและเยาวชน
1.ชื่อผลงาน“Word can kill” คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ชื่อผลงาน “Creative shield” คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
3.ชื่อผลงาน “จับต้นชนปลาย” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
ประเด็นเกษตรกรรม
1.ชื่อผลงาน “Super Market” คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ชื่อผลงาน “ต่างปลูกต่างแปลง”คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็นที่ดินทำกิน
1. ชื่อผลงาน“ที่ดินของใคร” คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.บูรพา
ประเด็นแรงงานและชาติพันธุ์
1.ชื่อผลงาน“คู่มือการใช้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ
2.ชื่อผลงาน “(IM)PORTFOLIO พอร์ทโฟลิโอข้ามชาติ” คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต
ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
1.ชื่อผลงาน“ป่าชายเมือง”คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2.ชื่อผลงาน“ท่าเปลี่ยน” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร
3.ชื่อผลงาน “เพราะมีค่ามากกว่า” คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี
4.ชื่อผลงาน“No Coal Save Krabi” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
5.ชื่อผลงาน“ท่าเทียบเรือปากบารา” คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานเยาวชนได้ที่ โซเชี่ยลมีเดีย
Facebook : ThailandAcitveCitiZen
Facebook : University Network for Change : UNC
Facebook : มูลนิธิสยามกัมมาจล และ www.scbfoundation.com
ชื่นชมผลงานสื่อสร้างสรรค์สังคมดีๆเช่นนี้ค่ะ...