ธรรม ๓ อันเป็นเบื้องต้นแห่งธรรมอันเป็นกุศล (อีกส่วนของธรรมที่พึงน้อมมาในตน)


ถ้า ....

- มีใครมาทำร้าย มาทำให้เราหรือคนในครอบครัวบาดเจ็บ

- ทรัพย์สินของเราถูกขโมย ถูกอ้างสิทธิ์ ถูกทำให้เสียหาย

- มีใครมาล่อลวงเราด้วยคำพูดหลอกลวง คำพูดว่าร้าย คำนินทา ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ทำให้เราเสียหาย

ทำให้เราเสียใจ

- มีใครมาล่วงเกินสามี ภรรยา ลูกหลาน ญาติทั้งหลายของเรา

- ต้องอยู่ใกล้คนที่เสพของมึนเมาจนอาจขาดสติ

ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ??

เมื่อถามตนเอง เราคงได้คำตอบว่าไม่รู้สึกดีกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้

เมื่อเอาตนเข้าเปรียบ เรารู้สึกอย่างไร ผู้อื่นก็รู้สึกอย่างนั้น เรารักชีวิต อยากอยู่ ไม่อยากตาย คนอื่นก็รักชีวิต อยากอยู่ ไม่อยากตายอย่างนั้น เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับเราอย่างไร ผู้อื่นก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ไม่ดีกับเขาอย่างนั้นเช่นกัน

ความรู้สึกเหล่านี้ คือความรู้สึกที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกพราหมณ์และคหบดีในหมู่บ้านเวฬุทวารคามแคว้นโกศลว่า เป็นสิ่งที่ควรเอาตนเข้าไปเปรียบ เป็นสิ่งหรือ ธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน ในเวฬุทวาเรยยสูตร (สํ.ม.(แปล) ๑๙ / ๑๐๐๓ / ๕๐๐- ๕๐๕) เพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้อื่น เพื่อความเจริญยิ่งๆขึ้นไปของตน และศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เมื่อได้น้อมความรู้สึกเหล่านี้เข้ามาพิจารณาจนเห็นตามและดำเนินชีวิตตามธรรมที่น้อมเข้ามานั้น จะทำให้เราสำรวม เคารพและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ระวังกายวาจา มีมารยาท ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เห็นโทษของความผิดแม้เพียงเล็กๆน้อยๆ เว้นขาดจากการละเมิดผู้อื่น

ซึ่งธรรมที่น้อมเข้ามาในตนนี้ ต้องประกอบกับการอบรมเมตตาอย่างสม่ำเสมอด้วย โดยท่านให้อบรมเมตตาตนขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะเมตตาตน ไม่อยากให้ใจตนคุ้นเคยกับอกุศลธรรม จึงพยายามอบรมตนอยู่เสมอเมื่อรู้ว่าความดำริอันเป็นอกุศลเกิดขึ้นในใจจึงจะสามารถห้ามใจจากอกุศลธรรม แล้วจึงจะสามารถแผ่เมตตานั้นไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งการแผ่เมตตาไปยังผู้อื่นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่จิตคิดแผ่ แต่ต้องอบรมอย่างจริงๆจังๆ ( http://www.gotoknow.org/posts/580165 )และแสดงออกทางกายวาจาด้วยจึงจะเป็นเมตตาที่แท้ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดที่ว่า "น่าเมตตา" เท่านั้น

เพราะเหตุนั้นวิถีชีวิตจึงเป็นปกติ หรือมี ศีล และเพราะการพิจารณา เราจึงรักษาสิกขาบทหรือรักษาศีลด้วยความเข้าใจเหตุผล ไม่ใช่เป็นการรักษาแบบทำตามๆกันไป ไม่ใช่ทำเพราะกลัวภัยการลงโทษ หรือ ทำเพราะอยากให้ผู้อื่นสรรเสริญ

เพราะการเห็นอย่างนี้ เราจึงเว้นขาดจากการละเมิดผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา ละทุจริตทางกายวาจา พร้อมทั้งชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติตาม และกล่าวสรรเสริญการประพฤติดังกล่าว การกระทำครบหมดทุกส่วนนี้ ตรัสเรียกว่าเป็น กายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ส่วน

คุณตุ๊ก รู้ว่าการลักทรัพย์ผิดสิกขาบท แต่เธออยากได้เงินมาใช้จ่ายจึงพูดชี้ช่องและเลียบเคียงกับคุณตาเพื่อให้คุณตาเห็นโอกาส จนคุณตาตัดสินใจขโมยเงินและนำมาแบ่งกันกับคุณตุ๊ก คุณตุ๊กได้ทรัพย์โดยที่ไม่ได้ขโมยเอง ไม่ได้ใช้ให้คนอื่นขโมยให้ คุณตุ๊กอาจคิดว่าเธอไม่ผิดศีล แต่เพราะวจีสมาจารที่บริสุทธิ์ทั้งสามส่วน เราจึงสามารถอธิบายศีลที่ไม่บริสุทธิ์ของคุณตุ๊กได้

และด้วยการเห็นโทษของความผิดแม้เพียงเล็กๆน้อยๆอยู่เสมอ หรือก็คือ การมีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อย จึงคอยตั้งสติกำหนดจับว่าตนคิด พูด ทำ อะไรไปในทางที่ไม่ดีหรือไม่แล้วตามพิจารณาให้คลายจากสิ่งเหล่านั้น การตามจับมาพิจารณาจึงเป็นฝึกสติในระดับต้นๆที่ค่อยๆชำระใจให้ปราศจากทุจริต ความเห็นจึงค่อยๆตรงตามสภาวะ ศีลที่มีจึงค่อยๆเป็นศีลที่ถึงใจ เมื่อละทุจริตทั้งสาม สุจริตสามก็เกิดขึ้นแทนที่

ซึ่งสุจริต ๓ นี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์ (สํ.ม. (แปล) ๑๙ / ๑๘๗ / ๑๒๑)

ตรัสว่า เบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย คือ การมีศีลบริสุทธิ์ มีความเห็นตรง และ การเจริญสติปัฏฐาน

"เธอจงทำเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้หมดจดก่อน อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและความเห็นที่ตรง เมื่อใด ศีลของเธอบริสุทธิ์ดี และความเห็นจักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้ว พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ ...... ภิกษุ เมื่อใด เธออาศัยศีล ดำรงอยู่ในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ โดย ๓ วิธีอย่างนี้ เมื่อนั้น เธอพึงหวังความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือวันที่จักมาถึง ไม่มีความเสื่อมเลย" (สํ.ม. (แปล) ๑๙ / ๓๖๙ / ๒๑๒ – ๒๑๓)

คุณตา สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิทุกเช้า เธอคอยตั้งสติติดตามอิริยาบถให้รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่เสมอๆ ต่อมา เธอพบอดีตคนรักที่ปัจจุบันเขาแต่งงานแล้ว ด้วยความเผลอ ทั้งสองจึงมีใจให้กัน คุณตาจึงทุกข์ใจมากเพราะรู้ว่าการรักคนมีเจ้าของเป็นการเบียดเบียนตนให้ตกต่ำ อาจเบียดเบียนผู้อื่นให้เสียใจ อีกทั้งยังอาจนำเธอไปสู่การประพฤติผิดในกามอันเป็นการเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เธอจึงจมอยู่กับความทุกข์ใจเพราะการที่ไม่สามารถห้ามใจตนเองได้

อันที่จริง หากเธอได้น้อมธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน เอาความรู้สึกของตนเข้าเปรียบอยู่เสมอๆ ว่าหากเธอมีคนรัก เธอไม่อยากให้ใครล่วงละเมิดอย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น เธออาจระลึกถึงความผิดได้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้รู้ใจตนเอง

เพราะเราอาจไม่มีสติรู้ทันอกุศลธรรมอยู่ตลอดเวลา หากเธออบรมเมตตาอยู่เสมอๆ เมื่อเธอรู้ใจตนเอง เธอก็คงเมตตาตนที่กำลังหลงผิด และคงเมตตาผู้อื่นที่อาจต้องเสียใจเพราะการหลงผิดของเธอ

และเมื่อรู้ว่ามีดำริผิดในใจ ด้วยการน้อมตนเข้าเปรียบและด้วยการอบรมเมตตา เธอก็คงตั้งใจสำรวมกาย วาจา ใจ ให้พาใจตนออกจากการเบียดเบียน ไม่ให้ประพฤติผิดไปจากกฎข้อบังคับของสังคม

ธรรมที่น้อมเข้ามาในตนจึงเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติของเราๆที่ยังมีความเห็นว่าเป็นตนอยู่ เมื่อปฏิบัติจนเป็นศีลก็จะก่อให้เกิดศีลที่มาจากใจ ก่อให้เกิด หิริ โอตตัปปะ จาคะ ปัญญา อันทำให้ความเห็นค่อยๆเป็น ความเห็นที่ค่อยๆตรงตามสภาวะ คือ เห็นอกุศลว่าเป็นอกุศล เห็นกุศลว่าเป็นกุศล เห็นเหตุแห่งทุกข์ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่กลับเห็นว่าเป็นเหตุแห่งสุข เป็นการทำให้บุคคลที่ยังยึดมั่นในความเห็นว่าเป็นตน ทำตนให้เป็นตัวตนที่ดี ทำดำริตนให้เป็น วิสิงหาวิตก หรือ ดำริในการไม่เบียดเบียน และอาศัยสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการเจริญสติปัฏฐาน ๔

ส่วนการเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะทำให้ค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตน ให้เห็นว่าตัวตนที่ดีหรือก็คือร่างกายและใจที่ยึดว่าเป็นของเรานี้ เป็นเพียงสภาวะของกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นสภาพเกิดดับที่ปรากฏขึ้นตามธรรมชาติ

ดังนั้นการเจริญสติปัฏฐานจะอาจไม่เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ หากไม่มีการน้อมเอาธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นอันดับแรก

..........................................

(บันทึกนี้ต่อเนื่องมาจากบันทึก "ซ้อมๆ น้อมใส่ตน)

หมายเลขบันทึก: 590451เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท