ทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดี



เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๘ ผมอ่านรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อจะแจ้งข้อแก้ไขไปยังสำนักงานสภามหาวิทยาลัย ภายในวันที่ ๑๗ เมษายน ตามที่ได้รับแจ้ง

ต่อไปนี้เป็นการสะท้อนคิด ระหว่างอ่านรายงานนี้

ผมคิดว่า การทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ว่าในฐานะใด (ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และตัวแทน ฝ่ายต่างๆ) ต้องทำมากกว่าเข้าร่วมประชุม ออกความเห็น และแก้รายงานการประชุม

คือต้องคอยตรวจสอบว่า มหาวิทยาลัยมีการทำหน้าที่ได้ดีตามที่ระบุไว้ตามกฎหมาย และตามที่ควร จะทำ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาตาม positioning ของสถาบันนั้น อย่าง มช. ก็ต้องทำหน้าที่ให้แก่บ้านเมือง ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ คือตรวจสอบความมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย

ต้องหมั่นตรวจสอบว่า มหาวิทยาลัยนั้นมียุทธศาสตร์ ที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ เรื่องนี้ใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัยไทย ที่มีพื้นฐานมาจากการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ติดการทำงาน ตามกฎระเบียบ ที่เรียกว่า bureaucracy และไม่ค่อยเข้มแข็งด้านทักษะด้านการจัดการ แถมด้วยความยึดติด เสรีภาพของอาจารย์และบุคลากร ที่จะปฏิบัติงานตามอำเภอใจของตน ไม่สนใจเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ขององค์กร สนใจวิชาการ มากกว่าความเชื่อมโยงกับสุงคม/ชุมชน

มช. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชน/สังคม ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่ โดยอาศัยวัฒนธรรมล้านนา และดำเนินการตาม พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ซึ่งผมมีความเห็นว่า ทุกมหาวิทยาลัยไทยมีจุดอ่อนที่ความเคยชิน ของอาจารย์ ที่เป็น "ผู้รู้" มุ่งเอาความรู้ของตนไป "ช่วยเหลือ" ชาวบ้านหรือสังคม ซึ่งไม่ตรงกับอุดมการณ์ ของพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาโจทย์ ร่วมกันดำเนินการ ร่วมกันติดตาม ประเมินผล และร่วมกันรับผลลัพธ์และผลกระทบ โดยที่ทางฝั่งมหาวิทยาลัย ต้องมีผลต่อการเรียนรู้ ของนักศึกษาด้วย

ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ๓ ชั่วโมงนั้น มีเรื่องที่สภาใช้เวลาอภอปรายแลกเปลี่ยนและให้ความเห็น เพื่อการสร้างสรรค์ ไม่มากเรื่องนัก ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง "งานประจำ" ที่ต้องผ่านการเห็นชอบหรืออนุมัติ โดยสภามหาวิทยาลัย

แต่งานประจำเหล่านั้น ก็มี "เรื่องระหว่างบรรทัด" อยู่ด้วย ที่สะท้อนจิตวิญญาณบางแบบ ของมหาวิทยาลัย การประชุมอย่างมีสติ และอ่านรายงานการประชุมโดยระแวดระวัง "สาระระหว่างบรรทัด" หากพบสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข ก็แจ้งหรือเสนอแนะต่อนายกสภา หรือฝ่ายบริหาร ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ บอร์ด ที่ถูกต้อง ผมคิดว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดี ต้องทำหน้าที่ในมิตินี้ด้วย

หน่วยงานที่น่าชื่นชมมากหน่วยหนึ่งของ มช. คือศูนย์สัตว์ทดลอง ที่ตำบลแม่เหียะ ทำหน้าที่ให้บริการ เลี้ยง และบริการสถานที่ปฏิบัติการวิจัยด้วยสัตว์ทดลอง โดยมีมาตรฐานสากล มีเป้าหมายให้ได้รับการรับรองจาก AAALAC ซึ่งความท้าทายคือ วิธีการจัดการให้ดึงดูดอาจารย์ไปใช้ เพราะสถานที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย ออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร โดยจริงๆ แล้วหัวใจคือความเข้าใจด้านที่ละเอียดอ่อนของคุณภาพของผลงานวิจัย แบบใช้สัตว์ทดลอง ที่ต้องไม่ก่อความเครียดต่อสัตว์ทดลอง การเคลื่อนย้ายสัตว์ทดลองเป็นการก่อความเครียด อย่างหนึ่ง

ข้อมูลที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือพื้นที่ดินในความครอบครองของ มช. มีถึง ๒๖ แปลง อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ๒๒ แปลง ลำพูน ๓ แปลง และสมุทรสาคร ๑ แปลง รวมพื้นที่กว่า ๘,๙๐๗ ไร่ ที่ผมแปลกใจคือที่ผืนใหญ่ ที่สุดอยู่ที่ลำพูน กว่า ๔,๗๒๖ ไร่ แต่ก็เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้ให้ใช้ชั่วคราวครั้งละ ๓๐ ปี

อีกวาระหนึ่งที่น่าชื่นชมมาก คือ การดำเนินการของ มช. กับการแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ที่มีการศึกษาข้อมูลมาดีมาก สะท้อนความซับซ้อนของปัญหานี้ และผมได้นำมาเขียนบันทึก ที่นี่

รวมทั้งวาระ โครงการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและสมานฉันท์ ในสังกัดสำนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อใช้หลักวิชาและทักษะด้านการไกล่เกลี่ยในการลดความขัดแย้ง ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ผลดีมาก เรื่องนี้กรรมการสภาฯ แนะนำว่า ควรใช้สมรรถนะนี้ช่วยเหลือสังคมภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย

อีกวาระหนึ่งที่อาจถือเป็นนวัตกรรมในการบริหาร คือ การบูรณาการระบบการควบคุมภายใน เข้ากับระบบการบริหารความเสี่ยง ที่ฝ่ายบริหารนำมาเสนอสภาเพื่อขออนุมัติ มีการตรวจสอบ ความเสี่ยงแต่ละด้านใน ๕ ด้าน (ด้านยุทธศาสตร์ ด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติงาน ด้านความปลอดภัย และด้านกฎระเบียบข้อบังคับ) รวมทั้งหมด ๒๑ ประเด็น ว่าประเด็นใดมีโอกาสเกิดและก่อผลเสียหายสูง

เขาเอาเรื่อง reputation risk ไปไว้ในหัวข้อความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน เรื่อง reputation risk ของมหาวิทยาลัยนี้ ผมคิดว่า น่าจะมีการทำความเข้าใจให้ครอบคลุมครบถ้วน กว้างขวางกว่านี้



วิจารณ์ พานิช

๑๓ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590449เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2015 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท