ในวันที่ชีวิตกำลังรู้สึกใส่ใจ


วันนี้มี ชีวิตจิต คิดตื่นรู้ ดูใจตน สนใจไป ให้ดูแล แคร์ครอบครัว ตัวนำพา หางานทำ บำบัดยาย คลายแรงแม่ แลช่วยพ่อ รองานตน คนสุดท้าย ปลายก่อนเที่ยง เรียงลำดับ สำคัญจิต คิดเรียนรู้ สู้ชีวิต จิตเบิกบาน การใส่ใจ

วันหยุดที่บ้าน ปกติผมก็จะตื่นสายๆ ให้ร่างกายได้นอนพักเต็มที่แล้วก็หาอะไรทานรองท้อง ก่อนทานยาละลายลิ่มเลือด ยาไทรอยด์ และยาความดัน ก่อน 9.30 น. เสมอ แต่วันนี้จิตของผมมีความพิเศษ เนื่องจากผมรู้สึกสงสารถึง "ความเหนื่อยล้าของผู้สูงอายุสามมุมที่ดูแลกันเองที่บ้าน แม่ดูแลยาย พ่อดูแลยาย พ่อกับแม่ดูแลกัน เพราะลูกๆทำงานและจะกลับมาอยู่บ้านแค่วัยหยุด" อีกทั้งพอแม่มาป่วยกระดูกคอทรุดทับเส้นประสาทแขนข้างถนัด...ทำให้ผมที่ป่วยฟื้นคืนสุขภาวะหลังโรคหลอดเลือดสมองตีบต้องคิดช่วยเหลือครอบครัวหลังจากดูแลตนเองทานยาเช้าขึ้นและพร้อมที่จะทำงานบ้านแทนแม่กับพ่อ เริ่มจากเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าอ้อมยาย (การใส่ผ้าอ้อมแบบนานๆจะลองใส่ทีนี้ไม่ง่าย) กับเลื่อนตัวยายให้พร้อมต่อการป้อนอาหารโดยพ่อ จากนั้นก็นำผ้ามาซักด้วยมือกับเครื่อง ก็ใช้เวลาตั้งแต่ 8.00-10.00 น. ตามต่อด้วยการคิดเมนูทำกับข้าวทานเป็นเต้าหู้ทรงเครื่อง (ใส่เต้าหู้ แครอท ไส้กรอก หัวหอม ไข่ ปรุงรสด้วยซอสเห็ดหอม) กับข้าวต้ม-ข้าวสวย ให้แม่กับพ่อทานเป็นครั้งแรกจริงๆ สำหรับเมนูนี้ ก่อนหน้าทำเพียงไข่เจียวทรงเครื่องก็ไม่ง่ายสำหรับผม ใช้เวลานอนพักบนเตียงเล็กน้อย ก็มาถอดบทเรียนให้กับความรู้สึกของตัวเองในวันนี้

ขอบพระคุณภาพถ่ายจากพี่ก๋วย ผู้สอนผมให้ใส่ใจกับความรู้สึกต่างๆ รวมทั้งปล่อยให้ร่างกายได้สื่อสารกับจิตตระหนักรู้ก่อนที่จะผุดความคิดดีมีปัญญาออกมาผ่านการเปลี่ยนแปลงภายในด้วยกระบวนการละคร

ขอบพระคุณภาพถ่ายจากพี่เหมียว ผู้สอนผมให้ใส่ใจในคุณค่าและความงามของธรรมชาติแห่งการเรียนรู้ผู้คนด้วยอารมณ์บวกเสมอ

ผมขออนุญาตนำภาพถ่ายจากพี่ทั้งสองท่านผ่านเฟสบุ๊คเพราะสะดุดตากับสะกิดใจในมิติของการสื่อสารอารมณ์บวกลบผ่านภาพถ่าย ทำให้ผมรู้สึก "สงบ นิ่ง ผ่อนคลาย" และนำมาสู่การสื่อสารกับร่างกายตัวเองว่า "ตื่นรู้ๆๆๆ สู้ชีวิตกันหน่อย" แล้วชวนให้ตัวเองเกิดพลังความคิดที่พิเศษว่า "ไปช่วยดูแลยาย แม่กำลังป่วย ไปทำงานบ้าน แต่ต้องดูแลตัวเองทานยาให้พร้อม แล้วลุยให้ดีที่สุด"

ขณะนี้ถ้าผมคิดน้อยๆ ผมก็จะบอกว่า "ทำไม ชีวิตของทุกคนในบ้านดูเหนื่อย เศร้า และต้องดูแลตัวเองตามประสาผู้สูงวัยกันแบบนี้"

ถ้าผมคิดมากๆ ผมก็จะบอกว่า "เรามัวแต่ทำงานให้กับคนอื่น มุ่งงานหลักสูตรแบบลุยๆ ภาระงานอาจารย์ที่มากมายจนต้องก่ายหน้าผากเพราะไม่มีวันจบสิ้น ทำไปก็มีอาจารย์กับนักศึกษาไม่กี่คนที่เข้าใจกระบวนการกิจกรรมบำบัดศึกษา ทำไปก็ใช้เวลาอีกนานกว่าจะสำเร็จตามเป้า ไหนจะงานวิจัย ไหนจะงานคลินิกดูแลคนป่วยแบบทำได้ไม่เต็มที่ ด้วยกรอบเวลาแบบนี้ ไม่มีความสุขเลย"

ถ้าผมไม่คิดแล้วปล่อยให้ร่างกายสื่อสารกับจิตตื่นรู้ของผม ใจของผมก็จะตอบสนองว่า "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด" ผมรู้สึกใส่ใจให้ความสุขกับตัวเองหลังช่วยคนอื่นๆ ...หลังดูรูปทั้งสองที่มีเงาไม้อันมืดสลัว น่ากลัวบ้าง แต่ท้องฟ้าที่มีแสงส่องล่องลู่กับเงาไม้สะท้อนให้ผมเห็นว่า "ทุกการดำเนินชีวิตย่อมมีความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่พอสะสมพลังให้เรากำลังรู้สึกเข้าใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ"

หมายเลขบันทึก: 590276เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

มีดอกไม้มาฝาก..มีกำลังใจ..มามอบให้..เจ้าค่ะ

เข้าถึง..ความว่าง..พบ..ความสงบ..และ..พลัง บวก...

อนิจัง วัฏรสังขารา..ทุกอย่างคือความไม่เที่ยง..ไม่(ควร)..ยึดมั่น..ถือมั่น..นั้นเป็น ธรรมชาติธรรม...

เป็นกำลังใจให้ค่ะ คิดถึงนะคะ หวังว่าคงได้เจอกันอีกที่ กทม. ไม่รู้เมื่อไร :)

ขอให้ผ่านพ้นภาวะการณ์แบบนี้ไปด้วยดีนะครับ ชื่นชมความเข้มแข็งของอาจารย์ที่มีสติตื่นรู้ในภาวะแบบนี้

เป็นกำลังใจให้เช่นกันครับ

ขอบพระคุณมากครับคุณยายธี ดร.จันทวรรณ คุณพ.แจ่มจำรัส และอ.ต้น

ขอบพระคุณมากครับคุณถาวรและคุณครูเพ็ญศรี

สู้ๆนะค่ะ เวลาท้อๆฟ้าชอบคิดถึงเพลงนี้

ขอเป็นหนึ่งกำลังใจนะคะ น้องDr.S.K.

สวัสดีค่คุณหมอ Dr S.K. มาให้กำลังใจคุณหมอค่ะ

อยากเจออาจารย์มากครับ ไม่รู้เมื่อไหร่เหมือนอาจารย์จันครับ...น่าจะได้เจอกัน ขอให้อาจารย์มีความสุข มากๆ นะครับ

บางวัน บางเวลา คนเราก็เหนื่อย และล้า แต่การมีจิตตื่นรู้ของอาจารย์เป็นพลังที่เข้มแข็งนะคะ

การดูแลกันและกันยามสูงวัยนี่เป็นความสุขมากนะคะ พี่รู้สึกเช่นนั้นค่ะ

ยอดอ่อนสีม่วงที่พยายามงอกจากกิ่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ที่พี่ตัดมันทิ้ง เมื่อโดนแสงยามสาย สวยงามมากแบบนี้ เดินไปเห็นเขาเมื่อไปเปลี่ยนน้ำในอ่างน้ำสำหรับนก

ขอบพระคุณมากครับสำหรับกำลังใจจากคุณบุญญฤทธิ์ คุณทิมดาบ (อยากเจอมากๆเหมือนกันครับ) คุณครูทิพย์ คุณวิราวรรณ และพี่ดร.พจนา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท