ค่ายอาสาพัฒนา : เสียงจาก "คนค่าย"



ผมเชื่อและศรัทธามายาวนานว่า "ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้ และการเรียนรู้" เว้นเสียแต่ตัวเราเอง จะไม่เปิดใจ หรือกระหายที่จะเรียนรู้ หรือกระทั่งไม่มีทักษะในการเรียนรู้

เมื่อไม่เปิดใจ ไม่กระหาย -ไม่มีทักษะ โดยปราศจากแรงใจในการที่จะเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ การเติบโตก็ดูเหมือนจะตีบตันไปอย่างไม่ต้องสงสัย

สมัยที่ผมเป็นคนหนุ่มสาวแสวงฝันในรั้วมหาวิทยาลัยฯ ผมไม่เคยเรียกตนเองว่าเป็น "นักกิจกรรม" ถึงกระนั้นผู้คนจำนวนไม่น้อยก็มักขนานนามผมเสมอว่านักกิจกรรม-หรือไม่ก็มาเฟียกิจกรรม เพราะวันๆ ผมมักชอบ "ทำกิจกรรม" มากกว่า "การเรียนในชั้นเรียน"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการออกค่ายอาสาพัฒนานั้น ถือว่าเป็นมนต์เสน่ห์ตราตรึงหัวใจผมเป็นที่สุด เพราะนั่นคือห้องเรียนอันท้าทายของชีวิต เป็นห้องเรียนที่มีชีวิต มิใช่ห้องเรียนเสมือนจริงในรั้วมหาวิทยาลัยฯ





แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การหลงรักสิ่งใดก็หาใช่จะได้ทำในสิ่อันหลงรักเสมอไป สำหรับผมแล้ว งานค่ายอาสาพัฒนาก็เป็นหนึ่งในกระบวนความที่ผมกำลังพูดถึง เนื่องเพราะตลอดระยะเวลาสี่ปีของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยฯ ผมออกค่ายไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก ไม่ใช่เพราะการไม่เข้าสังกัดองค์กรค่ายใดค่ายหนึ่งเป็นพิเศษ หรือไม่ใช่เพราะปรับตัวเข้ากับระบบและวิธีการอันเป็นวัฒนธรรมของแต่ละค่ายไม่ได้ และอื่นๆ อีกจิปาถะ

เหตุผลหลักๆ ที่ผมไม่ค่อยได้ไปใช้ชีวิตในค่ายอาสาพัฒนาอย่างเสร็จสรรพ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ก็ไม่มีอะไรมาก เนื่องเพราะผมมีภารกิจสำคัญเป็นคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิต นั่นเอง เป็นองค์การนิสิตต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๗ ภารกิจที่ต้องรับผิดชอบจึงจ่อมจมอยู่กับงานขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัยฯ เสียมากกว่า นอกจากนั้นก็เป็นงานขับเคลื่อนเชิงประเด็นสังคมร่วมกับภาคีอื่นๆ เป็นระยะๆ

แต่ถึงแม้จะไม่ค่อยได้เป็นฝังตัวในค่ายเหมือนชาวค่ายทั่วไป และเมื่อมีโอกาสผมก็มักแวะเวียนเข้าไปพบปะ ร่วมประชุม หรือกระทั่งท่องทะยานไปเยี่ยมค่ายบ้างตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวนให้ ---




ผมเชื่อและศรัทธาว่างานค่ายอาสาพัฒนา มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงผู้คนในเชิงสร้างสรรค์หลากมิติอย่างไม่ต้องสงสัย งานค่ายไม่เพียงเป็นงานสร้างสรรค์ชุมชนเท่านั้น ทว่างานค่ายอาสาพัฒนา เปรียบเสมือนโรงเรียนแห่งการบ่มเพาะผู้นำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้นำที่มีจิตอาสา-จิตสาธารณะ หรือกระทั่งความเป็นเยาวชนจิตอาสา



ทุกวันนี้ผมยังหลงรักงานค่ายอาสาพัฒนาเฉกเช่นวันก่อนเก่า....

นี่คือส่วนหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องๆ นิสิตที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานค่ายอาสาพัฒนา ทั้งค่ายเล็กค่ายใหญ่ตามครรลองปรัชญาการทำงานขององค์กรนั้นๆ ...

ซึ่งผมเองก็เห็นถึงความเชื่อมโยงว่า การทำงานค่ายอาสาพัฒนา คือหนึ่งในกระบวนการสร้างคน-สร้างสังคมได้เป็นอย่างดี แต่นั่นต้องหมายถึงว่าชาวค่ายต้องเข้าใจกระบวนการพัฒนาโจทย์ (ความต้องการของชุมชนและความสันทัดของชาวค่าย) กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และเข้าใจหลักของการบริหารจัดการคน จัดการงาน ฯลฯ ...

ไม่รู้สินะ... จะอะไรก็ช่างเถอะ แต่สำหรับผมแล้ว งานค่ายอาสาพัฒนา ยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์เสมอ รูปแบบค่ายในแต่ละยุคสมัยคือกระจกสะท้อนให้เห็นต้นทุนทางความคิดและกระแสสังคมที่ผ่านพัดหลอมเข้าไปในตัวตนของคนทำค่าย

แต่ถึงกระนั้น ค่ายอาสาพัฒนายังไงเสียก็ยังเป็นโรงเรียนที่ดีของการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาที่ว่าด้วยจิตอาสา -....

และสำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้องยอมรับว่าวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน) ในแบบฉบับของค่ายอาสาพัฒนาในทุกรูปแบบ ล้วนเป็นกระบวนการต้นน้ำอันดีในการบ่มเพาะความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือกระทั่งค่านิยมของการ "พึ่งได้" อันหมายถึง พึ่งพาตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่น โดยมีปลายทางแห่งการศึกษาเล่าเรียนที่สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั่นก็คือ "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"


ใช่-ตราบวันนั้น ถึงวันนี้ ผมก็ยังเชื่อและศรัทธาต่อวิถีค่ายอาสาพัฒนาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง



หมายเลขบันทึก: 590270เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นิสิตหน้าตาสดใส ความคิดความอ่านน่าชื่นชม

เป็นผลผลิตของกิจกรรมค่ายอาสา

สมัยสี่สิบกว่าปีโน้นไม่เคยรู้จักค่ายเลย ไม่มีโอกาสดีๆ แบบน้องๆ สมัยนี้


ตอนเป็น นักเรียนที่ถูกเขยิบมาเป็น นิสิต(ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร)..กิจกรรมที่ทำพัฒนาในสมัย.หนึ่ง..ขนดิน..ถม.เพื่อสร้าง สังคีตศาลา บริเวณ พิพิทธภัณฑ์สถานแห่งชาติ..อ้ะะ..เรารู้สึกภาคภูมิใจกันมากเวลานั้น..เพราะ "ห้องเรียนนั้น..ไม่มี ครู..เป็นผู้..กำกับ"....สุดยอดแห่งความรู้สึก..ที่ติดใจ.มาจนบัดนี้...

เห็นแล้ว น่าสนุกจังครับอาจารย์


เก่งมากค่ะ นี่แหละของจริง จิตอาสาอย่าให้เกิดจากบังคับเพื่อเก็บจำนวนชั่วโมงค่ะ ต้องมีกลยุทธ์อย่างอื่นค่ะ

ขอบคุณ คุณแผ่นดิน ที่ให้การต้อนรับคนจากคณะและนักศึกษาผมนะครับ ;)...

เห็นพลังของจิตอาสามากครับ

ผมเคยได้ยินจากเพื่อนที่เรียนต่างประเทศ ถ้านักศึกษาได้ทุนเรียนจะต้องทำงานหรือจิตอาสา ให้คิดแต้มเท่ากับจำนวนให้ทุน เพื่อให้เด็กรู้คุณค่าของเงิน และมีทำงานแล้วก็มีระบบตอบแทนทุนที่เคยได้ คือ ให้ทุนน้องๆ ต่อครับ

แต่การทำให้เด็กมีจิตอาสา โดยไม่เห็นแก่เงิน เห็นประโยชน์ของสังคมมากที่สุด และลึกๆ น้องๆ มีคุณค่า เป็นสิ่งที่อยากเห็นมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท