ยอดเพชร(ยอดฉัตร"มหาวิทยะเจดีย์ เจดีย์ไทย-พม่า) อลังการงานบุญ(2)


ภาพถ่าย : นางมู ผู้บริจาคยอดฉัตรเจดีย์ ผู้หญิงพม่าที่เข้ามาทำกินในเมืองไทย ในค่ำคืนหนึ่งของงานบุญหาเงินสร้างมหาวิทยะเจดีย์ (เจดีย์ไทย-พม่า) วัดโมกขธรรมาราม ตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

..

นางมู ผู้หญิงพม่าวัยกลางคนนี้ เธอมิใช่แค่บริจาคเงินสร้างยอดฉัตรเจดีย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เธอยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของคณะกรรมการสร้างเจดีย์ในชุดนี้ด้วย เธอเคยพูดกับผู้เขียนว่า... เธอตั้งใจมาก อยากทำสิ่งที่เคยฝันไว้มาทั้งชีวิต และสุดท้ายก็ได้สร้างเจดีย์แห่งนี้ไว้ที่เมืองไทยบ้านหลังที่สองของเธอ

ในส่วนตัวของผู้เขียนแล้วผู้เขียนรับรู้ถึงการทุ่มเทสุดใจโดยฟังจากน้ำเสียงของเธอ ที่พูดภาษาไทยได้รัวและเร็วจนทำให้ผู้เขียนต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เมื่อเธอพูดเสร็จ เธอก็ยิ้ม...ด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งบอกถึงความสุขจากใจของเธอ (ผู้เขียนรับรู้ได้ทันที่ว่า...นี่แหละ!!..คือความสุขลึกๆที่อยู่ในใจเธอ)

..

วันนั้น วันที่ผู้เขียนได้รับอนุญาตจับต้องยอดเพชร ผู้เขียนนั่งฟังคำบอกเล่าเรื่องยอดเพชร ยอดฉัตรเจดีย์นี้ จากพระสงฆ์พม่าและคนพม่าที่นั่งอยู่ ณ ที่แห่งนั้น เป็นผู้แปลให้ผู้เขียนฟัง

..

าพถ่าย : ยอดเพชร และพลอยสีประดับรายรอบ ถูกแกะออกจากยอดเพื่อให้ผู้เขียนสัมผัสและเพ่งพิศอย่างใกล้ชิด

..

จากการพิจารณายอดเพชร ซึ่่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นเพชรเนื้องามเม็ดหนึ่งเลยที่เดียว เพชรสีขาวทรัพยากรมีค่าอย่างหนึ่งของเมืองพม่า เพชรที่มีเนื้องามไม่เป็นสองรองใคร

..

ภาพถ่าย : ยอดเพชร ยอดฉัตรเจดีย์ ที่ถูกดูผ่านมือผู้เขียน และนำไปรับเงินบริจาคสร้างเจดีย์ ตามสถานที่ต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียง

..

ผู้เขียนฟังความที่พระสงฆ์พม่า ท่านเล่าให้ฟัง ...ท่านบอกว่า ส่วนยอดของฉัตรเจดีย์นั้น ณ ตรงบริเวณส่วนปลายสุดเป็นเพชรแท้สีขาว เม็ดงาม ซึ่งมีราคาค่างวดสูงค่าที่สุด รายรอบไปด้วยพลอยแท้สีต่าง ๆประดับอยู่กว่า 10 เม็ด

ส่วนเพชรเม็ดใหญ่ที่เป็นฐานของยอดเพชรนั้น มิได้เป็นเพชรแท้อย่างที่ผู้เขียนคิดไว้ หากแต่เป็นพลอยเม็ดใหญ่สีขาว ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับยอดเพชรเม็ดงามเม็ดนั้น และโดยรอบพลอยเม็ดใหญ่เม็ดนี้ยังมีพลอยสีขาวเม็ดเล็ก ๆ ประดับอยู่เป็นแถวยาวขึ้นไปเป็นเส้นตรงเข้าหายอดเพชรแท้ทั้งสี่มุม...

..


ภาพถ่าย : ยอดเพชร พลอยเม็ดใหญ่ และส่วนผอบที่ล้อมรอบไปด้วยพลอย 9 สี

..

ถัดจากฐานของยอดเพชรลงมานั้น จะเป็นส่วนของผอบที่สามารถหมุนเปิด-ปิดผอบออกมาได้ ซึ่งตัวผู้เขียนเองมีโอกาสได้เห็นสิ่งของมีค่าบางส่วนที่อยู่ในผอบนั้น สิ่งของมีค่าเหล่านี้ ได้รับบริจาคมาจากผู้มีฐานะจากเมืองพม่า ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสจับต้อง ก่อนจะนำไว้ภายในผอบดังเดิม

และจากการพิจารณาภายนอกโดยรอบของผอบ พบว่ามีเม็ดพลอยสีต่าง ๆ ได้ถูกติดผลึกไว้อย่างมั่นคง นับจำนวนเม็ดได้ทั้งหมด 9 เม็ด ซึ่งพระพม่าท่านบอกว่า พลอย 9 สี นี้ ภาษาพม่าเรียกว่า "แส็งเจระนา" ประกอบไปด้วยพลอยสี 9 สี ดังนี้

1. พลอยสีแดง

2. พลอยสีม่วง

3. พลอยสีเขียว

4. พลอยสีฟ้า

5. พลอยสีเหลือง

6. พลอยสีเทา

7. พลอยสีขาว

8. พลอยสีเงิน

9. พลอยสีน้ำเงิน

คนพม่าบอกว่า พลอย 9 สีนี้ เป็นพลอยศิริมงคลของพม่า ซึ่งกอปรไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองและความดีงามทั้งปวง พวกเขากล่าวเช่นนั้น

..

ภาพถ่าย : ยอดฉัตรเจดีย์ ที่ถูกประกอบจนสมบูรณ์ ก่อนนำออกรับเงินบริจาคสร้างมหาวิทยะเจดีย์

..

และส่วนที่อยู่ถัดลงมาจากผอบพลอย 9 สี จะเห็นเป็นรูปตัวนกสีทอง สวมครอบยอดเจดีย์อยู่ ซึ่งตัวนกสีทองนี้ พระสงฆ์พม่าเรียกตัวนกนี้ว่า "แวะมานา" ซึ่งแปลตรงตัวว่า "นก"นั้นเอง ผู้เขียนนั่งฟังและจับใจความได้ว่า..ตัวนกสีทองหางยาวแบนตั้งโต้ลมตัวนี้ ถูกแกะสลักด้วยลวดลายวิจิตรบรรจง ตามแบบสถาปัตยกรรมของพม่า มองดูสวยงามมาก(ผู้เขียน หมายเหตุ!!ไว้ นกสีทองตัวนี้ เป็นนกตัวเดียวกันกับที่ผู้เขียนอัญเชิญขึ้นสู่ยอดเจดีย์ในวันทำพิธีขึ้นยอดฉัตรมหาวิทยะเจดีย์ ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าในโอกาสต่อไป)

คนพม่าบอกกับผู้เขียนว่า ตัวนกนี้เป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อประดิษฐานบนยอดฉัตรเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่ากระแสลมจะพัดไปในทิศทางไหนก็ตาม ตัวนกนี้ จะหมุนกลับมายังทิศตะวันออกเสมอ คนพม่าบอกกับผู้เขียนเช่นนั้น พวกเขาบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านอยู่ทางทิศตะวันออก และหากเป็นเช่นนั้นจริง จึงเป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างประหลาด

หมายเหตุ ตัวนกสีทองนี้ ถูกติดตั้งครอบไว้บนยอดฉัตรเจดีย์อย่างหลวม ๆ คล้ายกับกังหันลมบ้านเรา และจะคล้อยตามกระแสลมที่พัดโดนหางของนกสีทองนี้เสมอ ๆ

ส่วนสุดท้ายจบลงที่ชั้นยอดฉัตรเจดีย์ ซึึ่งชั้นยอดฉัตรเจดีย์นี้มีทั้งหมด 11 ชิ้น ถูกประกอบสวมทับซ้อนลงไป โดยมีจำนวนชั้นยอดฉัตรเจดีย์ทั้งสิ้นรวมทั้งสิ้น 11 ชั้น พระสงฆ์พม่าท่านบอกว่า ชั้นยอดฉัตรเจดีย์ทั้ง 11 ชั้นนี้ เปรียบได้ดั่งความทุกข์ 11 ประการของคนเราที่มีอยู่จะสามารถดับลงไปได้

ความทุกข์ 11 ประการนี้ พวกเค้าบอกว่า ได้แก่ ความเกิด -แก่ -เจ็บ - ตาย ความเศร้่าโศรก ความพร่ำเพ้อ ความลำบากใจ -ลำบากกาย ความคับแค้นใจ ความพลัดพราก ความผิดหวัง และการพบเจอแต่ในสิ่งที่ชัง

จากการสืบค้นเพื่อตอบข้อสงสัยของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเป็นความทุกข์เหล่านี้ สุดท้ายแล้วผู้เขียนก็ได้คำตอบว่า ความทุกข์ทั้ง 11 ประการนี้ คือทุกข์ในอริยสัจ 4 พระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงตรัสรู้นั้นเอง

ผู้เขียนนึกทึ่งในความเชื่อของคนพม่าเหล่านี้จริง ๆ ครับว่า..พวกเค้ามีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขา ซึ่งมิต่างกันกับเราชาวไทยเลยจริง ๆ ...ผู้เขียนระลึกอยู่ในใจเสมอว่า...การที่เรามีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเราเนี่ย!! การสื่อความหมายสุดท้ายก็จบลงตรงที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง มิได้แปลความเป็นอื่นใดไม่....

ทุกข์ทั้ง 11 ประการนี้คือ ทุกข์หนึ่งในอริยสัจ 4 ที่ประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในความเป็นทุกข์นั้นที่คนเราจะต้องพบเจอมีดังนี้

1. ความเกิด
2. ความแก่
3. ความตาย
4. ความเศร้าโศก
5. ความพร่ำเพ้อรำพัน
6. ความลำบากกาย
7. ความลำบากใจ
8. ความคับแค้นใจ
9. ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ
10. ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ
11. ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการ

และทุกข์ทั้ง 11 ประการนี้เองที่คนเราทุกคนจะต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติดตามใจของเราไป ตามอำนาจของกิเลสทั้งปวง เมื่อแหงนคอมองดูยอดฉัตรเจดีย์แห่งนี้แล้ว เราจะได้ตระหนักซ้ำว่า... ความทุกข์ที่เราจะต้องละและดับลงไปให้ได้นั้น คือสิ่งใดบ้าง ยอดฉัตรเจดีย์แห่งนี้จะเตือนสติของเราเสมอ

..

ภาพถ่าย : การบูชา ยอดฉัตรเจดีย์ และทำพิธีสวดมนต์ทุกครั้ง ก่อนนำออกรับเงินบริจาคยังสถานที่ต่าง ๆ

..

ยอดฉัตรเจดีย์แห่งนี้สื่อสารความหมายให้เราทราบ ถึงความทุกข์ ที่เราจะต้องก้าวข้ามผ่านไปให้จงได้ ซึ่งความหมายที่ว่านี้ดีเหลือเกิน ในความรู้สึกของผู้เขียน

สุดท้ายนี้ผู้เขียน ต้องขอบคุณ นางมู พระสงฆ์พม่า และคนพม่าส่วนหนึ่งในวันนั้น ที่ทำให้ผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแห่งนี้ว่า... ครั้งหนึ่งได้มีกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย และชาวพม่า ได้ร่วมใจกันสร้างเจดีย์ไทย-พม่า ไว้บนผืนแผ่นดินไทยผืนนี้


หมายเลขบันทึก: 590094เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ

สาธุๆๆ

งดงามอลังการจริง ๆ อนุโมทนาสาธุค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยครับ พลอยสวยและมีความหมายมากครับ

คนพม่าชอบทำบุญมากค่ะ ทั้งหนุมสาวแก่เฒ่า

อนุโมทนาบุญกับคุณมูและคุณแสงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท