การศึกษาเพื่อผลิตครู



บทความ How teacher education can provide quality learning โดย ดร. ปริยากร ปุสวิโร แห่ง มจธ. ลงใน นสพ. เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ อ้างถึงรายงานผลการวิจัย Enhancement-Led Evaluation of Quality and Leadership of Teacher Education in Thailand โดยศาสตราจารย์ Hannele Niemi มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ น่าอ่านมาก

Prof. Niemi บอกว่า การศึกษาของครูทั่วโลก มีความยากสำคัญๆ ๕ ประการ

  • ๑.ศึกษาศาสตร์แยกตัวจากระบบการศึกษาภาพใหญ่ จึงไม่เข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ในระบบการศึกษา
  • ๒.การศึกษาของครูแยกตัวจากส่วนอื่นของมหาวิทยาลัย จึงขาดความสามารถในการทำงาน วิจัยที่มีคุณภาพ
  • ๓.อาจารย์ด้านศึกษาศาสตร์ไม่มีกระบวนทัศน์ด้านการเปลี่ยนแปลง
  • ๔.การศึกษาของครูแยกตัวจากโรงเรียนและครูประจำการ
  • ๕.เข้าใจกันว่าการศึกษาของครู เป็นเรื่องของการผลิตครูก่อนเข้าประจำการเท่านั้น ไม่รวมการเตรียมครูใหม่ (induction) เข้าสู่การทำงาน และไม่รวมการพัฒนาวิชาชีพ ของครูประจำการ

เสียดายที่หารายงานผลงานวิจัยที่อ้างถึงข้างต้นไม่พบในอินเทอร์เน็ต แต่มีข่าวการบรรยายของท่าน เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่นี่

บทความบอกว่า Prof. Niemi ได้มาจัด Enhancement-Led Evaluation workshop ให้แก่อาจารย์ไทย ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อให้เป็นผู้นำด้านการศึกษา (education leader)

จากการเข้ามาศึกษาประเมินสถาบัน เน้นให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประเมินตนเอง ดำเนินการประเมินเชิงสื่อสาร (communicative evaluation) ที่เน้นการคิดและการลงมือทำโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเปิดเผย ว่าต้องการแลกเปลี่ยนกรอบความคิดความเข้าใจระหว่างกัน ท่านเสนอมรรค ๘ ในการพัฒนา การศึกษาของครู ของไทย

  • ๑.ส่งเสริมการวิจัยด้านการศึกษาของครูไทย และการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้ เพื่อผลิตครูไทย ซึ่งหมายความว่า คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต้องทำวิจัยต่อการผลิตครู ของตน อยู่ตลอดเวลา คือต้องบูรณาการการวิจัยกับการศึกษา เพื่อการผลิตครู

ด้านการพัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้เพื่อผลิตครูไทย ต้องวิจัยตอบโจทย์ด้านคุณภาพ และประสิทธิผล เช่น ในเรื่อง วิธีพัฒนานักศึกษาครู บทบาทของอาจารย์ การให้งานเพื่อการเรียนรู้ วิธี mentoring แก่นักศึกษาครู เป็นต้น

ด้านการศึกษาของครู ต้องให้มีความเข้าใจความรู้ใหม่ว่า นักเรียนเรียนความรู้ต่างวิชา อย่างไร ในโรงเรียน นักเรียนควรได้รับการสอนแบบไหน นักเรียนมีปัญหาด้านแรงจูงใจ ต่างกันอย่างไร และครูจะมีวิธีสนับสนุนเด็กที่มีความแตกต่างกันอย่างไร

  • ๒.ยุทธศาสตร์ระยะยาว ต่อการศึกษาของครูไทย ต้องมีวิธีทำให้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เข้าไปรับผิดชอบ
  • ๓.ระบบประกันคุณภาพการผลิตครู
  • ๔.ความร่วมมือกับครูประจำการในพื้นที่
  • ๕.การใช้ ICT ในการผลิตครู และในโรงเรียน
  • ๖.พัฒนาวิธีสอนและเรียนจากการไตร่ตรองสะท้อนคิดต่อประสบการณ์ เน้นที่การคิดไตร่ตรองด้านศาสตร์ว่าด้วยการเรียนการสอน
  • ๗.สมรรถนะของครูที่ต้องเปลี่ยนไปในอนาคต นี่คือทักษะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของครู
  • ๘.ความร่วมมือกับหลายฝ่าย ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ในการผลิตครู

สรุปได้ว่า การศึกษาเพื่อผลิตครูไทยต้องเปลี่ยนแบบ "ยกเครื่อง"



วิจารณ์ พานิช

๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘

บนเครื่องบินการบินไทย ไปเชียงใหม่


หมายเลขบันทึก: 589843เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท