เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๘. Mentoring



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ตอนที่ ๘ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 7 Mentoring เขียนโดย Alan Mandell (ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่และ mentoring ณ State University of New York, Empire State College), และ Lee Herman (ทำหน้าที่เป็น mentor ที่ State University of New York, Empire State College)

สรุปได้ว่า ในการศึกษาผู้ใหญ่แบบสมัยใหม่ ครู/อาจารย์ ไม่ทำตัวเป็นผู้สอน แต่ทำตัวเป็น "พี่เลี้ยง" (mentor) เรียนรู้ไปด้วยกันกับนักศึกษา ยึดความต้องการของนักศึกษาเป็นหลัก โดยต้องเคารพ ต่อประสบการณ์ชีวิต และความคิดความเชื่อของนักศึกษา นำมาร่วมกันตั้งคำถาม เพื่อสะกิดใจนักศึกษา ไปสู่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

บทนี้ว่าด้วยเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ ที่นักศึกษาเป็นคนที่ทำงานแล้ว มีประสบการณ์ชีวิต หรือความรู้ที่มาจากการทำมาหากิน การดำรงชีวิต ซึ่งเป็นความรู้เชิงวัฒนธรรม สำหรับใช้เป็นพื้นความรู้เดิม นำมาต่อยอดความรู้ใหม่ในมหาวิทยาลัย

ในการศึกษาสมัยใหม่ ครู/อาจารย์ไม่สอน แต่ทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ สำหรับการศึกษาผู้ใหญ่ อาจารย์ยิ่งไม่สอน แต่ทำหน้าที่ "พี่เลี้ยง" (mentor) ร่วมเดินทางแห่งการเรียนรู้ ไปด้วยกันกับนักศึกษา ที่เรียกว่า mentee โดย mentor แสดงบทบาท facilitator และ provocateur

ผู้เขียนได้ระบุหลักการสำคัญ ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ไว้อย่างน่าฟังมาก ได้แก่

  • ตามนิยาม การเรียนรู้ทั้งหมด หมายถึงการเปลี่ยนแปลง
  • สำหรับมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเรียนรู้ เกิดขึ้นในทุกย่างก้าวของชีวิต
  • ในการศึกษาโดยทั่วไป เนื้อหาและวิธีการเรียนกำหนดโดยอาจารย์ แต่ในการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดร่วมกับ mentor
  • เมื่อทุกคนเป็น "ผู้เรียนรู้" สถาบันการศึกษาก็เป็นประชาธิปไตย และเป็นสถาบันแห่งการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ไม่แยกออกจากชีวิตจริง และหลักสูตรก็ไม่ตายตัว เมื่อผู้เรียนดำเนินการเรียนรู้ การเรียนรู้มีลักษณะสร้างสรรค์และเป็นอิสระอย่างมหัศจรรย์
  • ประสบการณ์ของนักศึกษา ในงาน ในชุมชน และในครอบครัว เป็นความรู้เดิม ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพิ่มเติม
  • นักศึกษามีหน้าที่เสนอความคิดบนฐานของประสบการณ์และเป้าหมายของตน mentor ช่วยให้นักศึกษาจัดความคิดเหล่านั้นไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ได้หน่วยกิต โดยนัยยะนี้ mentor กลายเป็นผู้เรียน และนักศึกษากลายเป็นผู้สอน ในที่สุดแล้ว คนทุกคนเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน
  • กิจกรรม mentoring เปลี่ยนโฉมบทบาทและโครงสร้างของสถาบัน มีความสัมพันธ์กันระหว่าง transformational learning กับ mentoring
  • หัวใจของ transformative learning และ mentoring คือ การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection)
  • คุณสมบัติสำคัญของ mentoring คือความเป็นสิ่งชั่วคราว (provisionality) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ความรู้เป็นสิ่งชั่วคราว


หลักการทำหน้าที่พี่เลี้ยง

mentoring หมายถึงการที่อาจารย์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษา เป็นการเข้าสู่กิจกรรมสานเสวนา (dialogue) กัน เน้นคำถามและเป้าหมายที่มาจากนักศึกษา โดยมีหลักการชุดหนึ่ง ได้แก่

  • ความเชื่อมีธรรมชาติเฉพาะกาล การใช้สานเสวนาเป็นเครื่องมือหลัก หมายถึง การยอมรับความไม่แน่นอน และยอมรับว่าสิ่งที่คุณคิดว่า "รู้" นั้น เป็นการรู้แบบที่ เป็นจริงเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ในอนาคตความหมายอาจเปลี่ยนไป
  • ความร่วมมือระหว่างเสรีชน ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเคารพซึ่งกันและกัน อาจารย์ เปลี่ยนท่าทีจากผู้เชี่ยวชาญ ไปเป็นผู้เรียน และนักศึกษาเปลี่ยนจากมือใหม่เป็น ผู้ร่วมกิจกรรมที่มีความสามารถ
  • หลักสูตรเปิดกว้าง สานเสวนากันในประเด็นที่มาจากนักศึกษา จากความใคร่รู้ ของนักศึกษา เพราะจะทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษามีพลัง โดย "พี่เลี้ยง" แสดงบทบาท "รับรู้อย่างตื่นรู้" (receptive presence) ซึ่งจะทำให้ประเด็นการเรียนรู้เคลื่อนไหว อยู่ตลอดเวลา และมีความแตกต่างกว้างขวาง
  • ศูนย์กลางอยู่ที่โลกของนักศึกษา เน้นประเด็นการเรียนรู้ที่มาจากชีวิตประจำวัน (ไม่ใช่มาจากวิชา) เช่น เกี่ยวกับครอบครัว อาชีพ ชุมชน ความเชื่อ มิตรภาพ ฯลฯ
  • ประเมินแบบร่วมมือกัน การประเมินผลลัพธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาจารย์และสถาบันเท่านั้น แต่ต้องรับฟังความเห็นของนักศึกษา ว่าตนได้เรียนรู้อะไรบ้าง
  • เชื่อมระหว่างความอยากรู้เฉพาะตน กับความรู้ที่มีคุณค่า ใช้หลักการ "ความเป็นชุมชน" ที่สรรพสิ่งเชื่อมโยงกัน มีความเคารพต่อกัน เคารพความใคร่รู้ของนักศึกษา แต่ในที่สุดต้องเชื่อมโยงสู่ข้อกำหนดในหลักสูตรในภาพกว้าง


ตัวอย่างของ mentoring

เคธี : เบนระบบ

เคธีเป็นนักศึกษาปีสุดท้ายที่เหลือผ่านวิชาเดียวก็จะจบ อนาคตของเธอแขวนอยู่ กับการเรียนจบหรือไม่จบวิชาประวัติศาสตร์ขั้นสูงเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนา (คริสต์) ที่เธอไม่มีพื้นความรู้ ยิ่งเรียนยิ่งสับสน และผลการเรียนต่ำ มีแนวโน้มว่าจะสอบไม่ผ่าน

mentor ผู้เล่า บอกว่าการลงทะเบียนเรียนวิชานี้เป็นความผิดพลาดของ เคธี และเกิดจากความ ไม่เอาใจใส่ของอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้ผมได้ตระหนักว่า ในการศึกษาผู้ใหญ่เขาถืออาจารย์ผู้สอนเป็น mentor ไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษา

อาจารย์พี่เลี้ยงถามว่า ในวิชาประวัติศาสตร์การปฏิรูปศาสนา มีส่วนไหนที่กระตุกความสนใจบ้าง เธอตอบว่า มาร์ติน ลูเธอร์ เรื่องราวความกล้าหาญในการกล้าเสี่ยงดำเนินการเปลี่ยนแปลงศาสนาของมาร์ติน ลูเธอร์ ทำให้เธอหวนกลับไปคิดถึงความพยายามต่อสู้เพื่อพัฒนาระบบพัฒนากำลังคนภายในบริษัทของเธอ

การเสวนาดำเนินไปจนเคธีเห็นโอกาสรับโจทย์ชิ้นงาน อธิบายปรากฏการณ์ปฏิรูปศาสนา จากมุมมองด้านการเมืองภายในองค์กร ที่หากเธอทำผลงานได้ดี ก็ช่วยให้สอบผ่านได้


บาบาร่า : เชื่อมโยงวิชาเข้ากับชีวิตส่วนตัว

ในวิชา independent study ว่าด้วยชนชั้นทางสังคมในสหรัฐอเมริกา อาจารย์พี่เลี้ยงรู้เพียงว่า เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกชาย ๒ คน และกำลังลิงโลดที่จะได้รับปริญญา

บาบาร่าเขียนเรียงความใจความจากหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้สองเล่ม ในการสนทนาทางโทรศัพท์ อาจารย์พี่เลี้ยงขอให้เธอขยายความประโยคที่เธอเขียนว่า "ผู้ที่การคุ้มครองสุขภาพหดเข้าไปอยู่แค่ห้องฉุกเฉิน" ว่ามีคนอยู่ในสภาพนี้จำนวนเท่าไร เป็นสภาพที่ไม่ปกติเพียงไร

มีผลให้บาบาร่าเล่าเรื่องส่วนตัว ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพให้แก่ตนเองและลูกชายทั้งสอง เพราะคิดว่าทั้งสามคนสุขภาพดี คงจะไม่ป่วย และตนเองมีรายได้ไม่มาก ใช้เงินเบี้ยประกันพาลูก ไปกินอาหารนอกบ้านเดือนละสองสามครั้งจะดีกว่า

อาจารย์พี่เลี้ยงจึงได้โอกาสแนะนำให้นำเรื่องชีวิตของตนเอง มาเป็นประเด็นเรียนรู้เชิงวิชาการ


บิลล์ การประเมินผลการเรียนต่อชีวิต

บิลล์เป็นคนระดับวิชาชีพ อายุกลางคน ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ต้องการให้ชีวิต มีความสุขมากขึ้น และเชื่อว่าการเรียนวรรณกรรมคลาสสิกจะช่วยได้ จึงเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย

นี่คือเรื่องราวความท้าทายต่ออาจารย์พี่เลี้ยง ว่าจะวัดผลการเรียนอย่างไร เพื่อให้ปริญญา โดยที่นักศึกษาระบุชัดเจนว่าเป้าหมายของตนคือมีความสุขในชีวิตมากขึ้น และเข้าใจดีว่าการมาเรียนนี้ เป็นกิจกรรมวิชาการ ไม่ใช่การเยียวยา ไม่ใช่กระบวนการทางศาสนา หรือทางจิตวิญญาณ

ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าในที่สุดแล้วเรื่องนี้คลี่คลายไปอย่างไร แค่บอกว่าความท้าทายต่ออาจารย์พี่เลี้ยง ในการศึกษาผู้ใหญ่แบบนี้ก็มีด้วย


คาร์ล : ความแตกต่างหลากหลายของหลักสูตร

คาร์ล เคยเรียนมาแล้ว ๓ มหาวิทยาลัย (แต่ไม่ได้ปริญญา) ในสาขา เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีประสบการณ์ทำงาน ๑๐ ปีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทำงานด้านซอฟท์แวร์ และฐานข้อมูล

เขาสนใจเรียนความเชื่อมโยงระหว่าง อินเทอร์เน็ตกับความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ซึ่งเป็นศาสตร์ด้าน Humanistic Psychology และแสดงความกระตือรือร้นอย่างมาก แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และท้าทายว่าจะทำหน้าที่อาจารย์พี่เลี้ยงให้แก่คนแบบนี้อย่างไร


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

ผู้เขียนสะท้อนคิดเรื่องราวของกรณีตัวอย่างทั้ง ๔ คน และสรุปว่า ชีวิตจริงของ mentoring นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการ คือ transformation of learning ที่ผู้กำหนดกรอบและกติกา ของการเรียนรู้ไม่ใช่ผูกขาดโดยสถาบันอีกต่อไป ผู้เรียนต้องมีบทบาทสำคัญด้วย

และการเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ ผู้เรียนไม่ใช่เรียนเพื่อสนองข้อกำหนดในหลักสูตรเป็นหลัก แต่เพื่อสนองความอยากรู้และความต้องการในชีวิตของตนเป็นหลัก

อ่านหนังสือบทนี้แล้ว ผมยังไม่จุใจต่อเรื่อง mentoring โดยเฉพาะต่อตัวอย่าง ๔ ตัวอย่างที่ยกมา ที่เป็นเรื่องความสัมพันธ์สั้นๆ เฉพาะตอนเท่านั้น ผมเชื่อว่า mentoring เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ยาวกว่านั้น อย่างน้อยก็ตลอดรายวิชา ซึ่งผู้เขียนบอกตั้งแต่ต้นว่าเขาหลีกเลี่ยงที่จะเล่าเรื่องให้ตลอด เพราะจะนำไปสู่ผลที่ชัดเจน ที่จะชักจูงผู้อ่านว่าวิธีการ mentoring มีวิธีที่ผู้เขียนใช้วิธีเดียว เขาต้องการเน้นหลักการทั้ง ๖ ข้อของ mentoring ที่ระบุไว้ข้างบน


วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 589839เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท