การศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นโรงงานผลิตใบปริญญา


ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต

(ที่มาของบทความ http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=41317&Key=news_research)

การศึกษาเป็นกระบวนการของการกล่อมเกลาเรียนรู้ให้ทราบข้อมูล ความรู้ ทฤษฎี รู้วิธีการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์วิจัย เพื่อสร้างความรู้และสร้างทฤษฎี โดยต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ หรือจากการคิดเองโดยสร้างความรู้ใหม่ นอกเหนือจากที่กล่าวมา การศึกษายังเป็นการสร้างทักษะ ความชำนาญเพื่อประกอบอาชีพ เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีวิชาชีพที่มาจากการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อสามารถผลิตสิ่งที่สังคมต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรข่าวสารข้อมูล หรือการบริการ นอกจากนั้น การศึกษายังต้องมีส่วนในการสร้างบุคลิก การวางตัวในสังคม ความสามารถทำงานในองค์กร สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น มีหลักการและปรัชญาแห่งชีวิต ฯลฯ
ในขณะที่การศึกษามีจุดประสงค์ดังกล่าวเบื้องต้นระบบการศึกษาของหลายประเทศกำลังกลายเป็นสถานที่ผลิตปริญญาในลักษณะเป็นสินค้า โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพหรือคุณลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น กล่าวนัยหนึ่ง ระบบการศึกษาถ้าไม่ระมัดระวังจะกลายเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรเช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารกระป๋องโดยออกมาเป็นจำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้เป็นการบ่งบอกถึงความเสื่อมของระบบการศึกษา กล่าวได้ว่า การศึกษาเช่นนี้สิ่งที่ผู้ศึกษาจะได้คือแผ่นกระดาษที่มีการบันทึกที่เรียกว่าปริญญาบัตร หรือถ้าสมัยก่อนปริญญาบัตรจะสลักตัวหนังสือและชื่อผู้ได้รับปริญญาลงบนหนังแกะเป็นแผ่นสวยงามที่เรียกว่า หนังแกะ (sheep skin) ซึ่งแปลว่าปริญญาบัตร ผู้เขียนจำได้ว่ามหาวิทยาลัยมิชิแกนยังแจกปริญญาบัตรเป็นหนังแกะ แต่ทั่วๆ ไปจะเป็นกระดาษธรรมดา
ปัญหาสำคัญก็คือ การศึกษานำมาซึ่งความเชื่อที่ว่าผู้ได้รับปริญญามีความรู้ตามที่บ่งบอกไว้ในแผ่นปริญญา ตั้งแต่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต และในกรณีดุษฎีบัณฑิตจะมีคำว่าดอกเตอร์ (ดร.) ซึ่งเลียนแบบมาจาก Dr.นำหน้า ซึ่งปกติมักจะหมายถึงคนที่เป็นหมอ แต่ในภาษาละตินคำว่า doctor แปลว่าการสอนก็ได้ หรือในแง่ไม่ดีแปลว่าการปลอมแปลงก็ได้ เช่น การปลอมแปลงเอกสารก็ใช้คำว่า doctor แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่าการได้คำนำหน้าว่า ดร. ถือเป็นเกียรติเสมือนหนึ่งสถานะศักดินาในสมัยโบราณซึ่งบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมว่ามีการศึกษาและมีนัยว่าจะต้องเป็นคนที่อยู่ในสังคมผู้ดีมีอาชีพที่ดีมีความรู้ มีรสนิยม แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น ดร. แต่ไม่ได้ร่ำเรียนมา เช่น ได้มาในลักษณะกิตติมศักดิ์ หรือได้มาจากการชำระเงิน กล่าวคือ ซื้อดื้อๆจากมหาวิทยาลัยบางแห่งจากต่างประเทศ
หรือในกรณีในประเทศไทยซึ่งจะเป็นเนื้อหาบทความนี้ก็กลายเป็นการศึกษาที่มีสถาบันการศึกษาบางแห่งใช้วิธีดำเนินการเสมือนหนึ่งการซื้อขาย จนนำไปสู่คำกล่าวที่ว่า "จ่ายครบ จบแน่" รับผู้เข้าศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่คำนึงถึงคุณสมบัติความรู้ และมีการจ้างการทำดุษฎีนิพนธ์เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่จะจบการศึกษา จุดมุ่งหมายเพื่อได้ปริญญาโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ หรือรู้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ขอให้มีคำว่า ดร. นำหน้า จะได้พิมพ์นามบัตรและแนะนำตนเองให้คนในสังคมได้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งๆ ในความเป็นจริงมาตรฐานความรู้ คุณภาพการศึกษา อยู่ในขั้นที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ควรเป็น ในแง่หนึ่งการได้รับเกียรติยศซึ่งไม่เป็นความจริงนี้ทำให้นึกถึงคำพูดของอริสโตเติลที่ว่า"ศักดิ์ศรีมิได้อยู่ที่การได้รับเกียรติ แต่อยู่ที่สมควรได้รับเกียรตินั้นหรือไม่" (Dignity does not consist in having honors but in deserving them)
แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการให้ปริญญาเอกจำนวนไม่น้อยเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะให้ปริญญาเอกโดยกระทำการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎหมาย เช่น จบปริญญาเอก สอนปริญญาเอก ทั้งๆที่ไม่มีงานวิจัย จบปริญญาเอก ดูแลดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกทั้งๆ ที่ขาดคุณสมบัติเพราะไม่มีงานวิจัย หรือไม่มีตำแหน่งทางวิชาการแม้สอนมาเป็นสิบปี หรือดูแลดุษฎีนิพนธ์เกินกว่าที่กำหนดตามกฎหมาย เช่นเกิน 10 คน ให้ผ่านปริญญาเอกทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการว่าจ้างให้ผู้อื่นทำ เพราะเนื้อหาออกมาใกล้เคียงโดยลอกกันมาเป็นทอดๆ แม้การสะกดผิดก็ยังผิดเหมือนกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ 3 บทแรกซึ่งเป็นบทที่เรียกว่าพื้นฐานเหมือนกันหมดทุกเล่ม หรือใกล้เคียงกันทุกเล่มมีความแตกต่างกันเพียงเลกน้อย สลับคำพูด เติมข้อมูลมาให้เห็นเพียงแตกต่าง แต่ในความเป็นจริงเหมือนเดิม เสมือนหนึ่งกับการทำแกงเขียวหวาน วิธีทำเหมือนกันเปลี่ยนแต่เพียงเขียวหวานเนื้อ เขียวหวานปลา เขียวหวานไก่ ฯลฯ ในกรณี 3 บทเหมือนกันนั้นจะต่างกันเฉพาะข้อมูลที่ไปวิจัย วิจัยสถานที่ต่างกัน วิจัยตัวบุคคลต่างกัน วิจัยตัวอย่างต่างกัน สิ่งที่ตามมาก็คือ ดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าวไม่มีอะไรใหม่ในแง่ทฤษฎี หรือกรอบการวิจัย แต่จะมีสิ่งที่ใหม่ก็คือข้อมูลที่หลากหลายออกไป ขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ และตัวอย่างที่สุ่ม
ด้วยเหตุนี้ ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกจึงกลายเป็นงานวิจัยโดยไม่มีข้อถกเถียงที่เป็นแกน (thesis) เช่น โลกกลมหรือโลกแบน โดยมีการวิจัยพิสูจน์ว่าโลกกลมไม่ใช่โลกแบนหรือพิสูจน์ว่าสัณฐานโลกกลมแต่สังคมโลกแบน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกที่เห็นอยู่จึงไม่มี thesis มีแต่งานวิจัย ซึ่งไม่ยากในการเก็บข้อมูล เพราะ 3 บทแรกเป็นพื้นฐานที่ลอกๆ ต่อๆกันจากอาจารย์คนเดียวซึ่งมีความรู้แค่ 3 บทดังกล่าว จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า อาจารย์ที่ดูแลดุษฎีนิพนธ์โดย 3 บทเหมือนกันหมด มีความรู้ในมิติอื่นๆ หรือไม่ หรือความรู้ที่มีอยู่มีเพียงแค่ 3 บทนั้นเป็นฐานเนื่องจากศึกษาและเขียนดุษฎีนิพนธ์โดยมี 3 บทดังกล่าว ผู้ศึกษาซึ่งเป็นนักศึกษาจึงอาศัย 3 บทของอาจารย์เป็นฐานในการวิจัยจนได้รับปริญญาเอกเป็นจำนวนมากโดยเป็นรูปแบบเดียวกันหมด เสมือนหนึ่งการปั๊มสินค้าจากโรงงานซึ่งเป็นแบบเดียวกัน ข้อสังเกตก็คือ
ประการแรก ผู้สอนปริญญาเอกที่มีลักษณะเยี่ยงนี้น่าจะมีความรู้เพียงมิติเดียวคือ 3 บทดังกล่าว เพราะไม่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากที่ได้เล่าเรียนมา
ประการที่สอง การเขียนดุษฎีนิพนธ์โดยมีงานวิจัย มีข้อมูลใหม่แค่ 3 บทเดียวกันนั้นจะไม่สามารถนำไปสู่ความแตกต่างในแง่กรอบความคิด หรือ conceptual framework
ประการที่สาม ผู้กระทำการดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งคัดลอกมาจากแผ่นดิสก์แผ่นเดียวกันนั้น เป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของกฎหมาย และยังเข้าลักษณะ plagiaries หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมสามารถจะพิสูจน์ได้ จึงมีรายการให้มีการทำใหม่และสอบใหม่จากหน่วยงานที่มีอำนาจควบคุมดูแลซึ่งเท่ากับเป็นการถอนดุษฎีนิพนธ์ กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของสถาบันการศึกษาบางสถาบันที่ละเมิดต่อมาตรฐานวิชาการ และต่อจริยธรรมวิชาชีพและเป็นการบ่งบอกถึงการไร้ซึ่งความเป็นบัณฑิตที่บริสุทธิ์ มีเกียรติและศักดิ์ศรี ตามปริญญาบัตรที่แสดงต่อสาธารณชน การซื้อปริญญาจากต่างประเทศ การรับผู้ศึกษาเป็นจำนวนมากและจบโดยง่ายโดยผิดหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็นทำให้ปริญญาเอกที่เกิดขึ้นกลายเป็นเสมือนหนึ่งสินค้าที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ระบบการศึกษาระดับสูงของบางประเทศจึงกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตปริญญาบัตรอย่างดาษดื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปริญญาโหล หรือปริญญาห้องแถว ตามที่ประเทศไทยเคยวิพากษ์วิจารณ์ประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว และประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวอย่างน้อยมี 2 ประเทศก็ยังมีชื่อเสียงในทางไม่ดีตามที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะแก้ปัญหานี้อย่างไรจะต้องดูกันต่อไป สิ่งที่ทราบก็คือได้มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการตรวจสอบมาตรฐาน ตรวจสอบการสอนนอกสถานที่ ฯลฯ แต่เนื่องจากอำนาจที่มีอยู่ตามพ.ร.บ. หรือกฎหมายเดิมนั้นจำกัด ขณะเดียวกันมีการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยไม่ละอายใจด้วยวิธีการหลีกเลี่ยงกฎหมายอย่างแยบยล โดยขาดหิริโอตตัปปะ ศีลธรรมและจริยธรรม ของนักวิชาการหรือผู้ประกอบการบางราย ทำให้ระดับการศึกษาตกต่ำและปริญญาบัตรกลายเป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ ทำให้ผู้ซึ่งศึกษามาอย่างถูกต้องและจบอย่างเต็มภาคภูมิพลอยได้รับความมัวหมองไปด้วย
ค่านิยมที่ต้องการมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยวิธีการที่ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี การดำเนินกิจการมหาวิทยาลัยในลักษณะของการค้ากำไรแบบธุรกิจ เป็นการบ่อนทำลายสังคมอย่างอภัยให้ไม่ได้ ที่สำคัญ เมื่อได้รับปริญญาเอกหรือดุษฎีบัณฑิตและมีคำว่า ดร. นำหน้า จะต้องสมกับความรู้และสถานะเพราะมิฉะนั้นเมื่อมีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่แสดงออกถึงความรู้จะเกิดปัญหา โดยประการแรกคือคำถามที่ว่า "คนนี้จบมาได้อย่างไร พูดจาเหมือนคนไม่มีความรู้สงสัยซื้อมา"เจ้าตัวก็จะเสียหาย ประการที่สองคือคำถามที่ว่า เรียนกับใครพอเอ่ยชื่ออาจารย์ผู้นั้น อาจารย์ผู้นั้นก็จะเสียชื่อเสียงไปด้วยประการที่สามคือคำถามที่ว่า จบจากสถาบันไหน เมื่อเอ่ยชื่อสถาบันย่อมทำความเสียหายแก่สถาบัน ประการที่สี่คือคำถามที่ว่า เมื่อนำไปสอนนักศึกษา ความรู้งูๆ ปลาๆ ครึ่งๆ กลางๆทำความเสียหายแก่นักศึกษาอย่างน่าเป็นห่วงประการสุดท้ายเมื่อพิมพ์นามบัตรแนะนำตนเองให้กับสังคม ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เท่ากับเป็นการหลอกลวงสังคมหรือคนลวงโลก นอกเหนือจากหลอกลวงตนเอง
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องมีการแก้ไขแต่จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้ง่ายนัก คนที่สามารถจะหลอกลวงตนเองได้โดยไม่ละอายใจ ย่อมมีแนวทางในการที่จะกระทำการทุกอย่างเพื่อได้มาซึ่งเกียรติยศจอมปลอม คนที่ต้องการทำมาหากินจากความอ่อนแอของสังคมก็จะฉกฉวยประโยชน์หาผลประโยชน์จากจุดอ่อนของสังคมดังกล่าวโดยไม่ละอายแก่ใจเช่นเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะปกปิดได้ ความรู้เป็นของสูง เป็นของแน่นอน ผู้ซึ่งไม่มีความรู้ เสแสร้งว่ารู้ย่อมไม่สามารถจะกระทำได้ เพราะผู้รู้จะรู้ทันทีว่ามีความรู้ขนาดใดความรู้ไม่ใช่สินค้าที่จะทำของปลอมตบตาคนอื่น ความรู้ต้องเป็นสิ่งที่มีความรู้จริงๆ ผู้ซึ่งอ้างว่าจบวิชาอะไรเมื่อแสดงความคิดเห็นออกมาก็จะเปิดโปงทันทีว่าเป็นของแท้หรือของเทียม ในกรณีดังกล่าวนี้ประยุกต์ได้กับผู้ทำหน้าที่สอนหนังสือเป็นครูบาอาจารย์ด้วยในทำนองเดียวกันว่ามีความรู้ คุณวุฒิที่สามารถเป็นอาจารย์ นักวิชาการระดับสูงได้หรือเป็นคนรู้ครึ่งๆ กลางๆ ผู้สอนที่มีความรู้ครึ่งๆ กลางๆเปรียบได้กับสินค้าปลอมหรือสินค้าคุณภาพต่ำ นักศึกษาที่เรียนและจบการศึกษาจากผู้สอนที่ขาดคุณภาพก็ย่อมไม่มีความภูมิใจ บางคนถึงกลับไม่ยอมเอ่ยว่าจบภายใต้การกำกับการเขียนดุษฎีนิพนธ์กับใคร
อับราฮัม ลินคอล์น กล่าวความว่า ท่านอาจจะหลอกคนบางคน บางกลุ่ม ได้ตลอดเวลา ท่านอาจจะหลอกคนทั้งหมดได้ในบางเวลา แต่ท่านไม่สามารถจะหลอกคนทั้งหมดได้ตลอดเวลา

หมายเลขบันทึก: 589735เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2015 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2015 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท