วิชาพัฒนานิสิต (๑๓) : ง่ายงามตามความต้องการชุมชน (คิดอะไรไม่ออกบอกสี)


ด้วยหลักคิดของการเชื่อมั่นว่า "ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า-ความรู้และตำนาน" การขับเคลื่อนกิจกรรมครั้งนี้จึงออกแบบบนฐานคิดที่เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติๆ เนียนนุ่มอยู่ในกิจกรรม เสมือนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ-ทำไปเรียนรู้ไป

หัวใจของการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิต คือการเรียนเพื่อการรับใช้สังคมแบบง่ายๆ ประกอบด้วย ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ผู้เรียน คือ ศูนย์กลาง (Learner-centered) ชุมชน คือ ห้องเรียน : (Community-based learning) และเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project base learning)


หรือในอีกมิติก็คือ มุ่งเน้นการเรียนรู้ในลักษณะของการนำความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อก่อให้เกิด "ปัญญาปฏิบัติ" หรือ "ประสบการณ์ชีวิต" ที่เป็นรูปธรรม เรียนรู้โดยการบูรณาการกิจกรรมในชั้นเรียนเข้ากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนอย่างเป็นทีม หรือการเรียนรู้ที่มุ่งกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process) ทั้งในมิตินิสิตกับนิสิต (ผู้เรียนกับผู้เรียน) นิสิตกับอาจารย์ และนิสิตกับชุมชน รวมถึงอาจารย์กับชุมชน




ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำโครงการในรายวิชาพัฒนานิสิต จึงเป็นการขยับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ มีกระบวนการเคี่ยวความรู้ภาคทฤษฎีเป็นระยะๆ ผ่านแนวคิดเรื่องต่างๆ อาทิ ผู้นำ การเขียนโครงการ การบริหารโครงการ การบริหารคนบริหารทีม การถอดรหัสความรู้ การจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนในแบบฉบับ"เรียนรู้คู่บริการ" (Service learning) บนโจทย์ หรือความต้องการของชุมชน

และโครงการบำรุงพุทธศาสนาวัดเจริญผล ก็เป็นหนึ่งภาพสะท้อนการเรียนรู้ที่สื่อให้เห็นแนวคิดดังกล่าวข้างต้นของการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิต



โครงการบำรุงพุทธศาสนาวัดเจริญผล จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2558 ณ วัดเจริญผล ต.ท่าขอนยาง
อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งก่อนการลงมือปฏิบัติการภาคสนามนั้น ก็ผ่านกระบวนการเคี่ยวกรำเป็นระยะๆ ทั้งในชั้นเรียน และชุมชนที่หมายถึงการลงชุมชนเพื่อศึกษาบริบท สถานการณ์ ปัญหา ความต้องการของชุมชน จากนั้นก็กลับเข้ามาพัฒนาเป็นโครงการร่วมกันในชั้นเรียน มีอาจารย์ให้คำปรึกษา ยกระดับขึ้นเป็นโครงการเพื่ออนุมัติและขยับสู่การลงชุมชน นับตั้งแต่เตรียมชุมชนไปสู่การปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และสรุปบทเรียน ฯลฯ




๑.เลือกพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยฯ (เสมือนบ้าน) : เหตุผลหลักของนิสิตที่มุ่งไปยังวัดเจริญผลคือเป็นพื้นที่ใกล้ๆ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตอาศัยอยู่ในชุมชนนี้จำนวนมาก การได้ทำประโยชน์ต่อชุมชนใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเสมือการได้ดุแลบ้าน-ครัวเรือนตนเอง และนั่นยังหมายถึงการประหยัดงบประมาณ และห้วงเวลาของการขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องท่องสัญจรไปไกลๆ




๒.ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า (คลังความรู้) : หนึ่งในเหตุผลของการเลือกพื้นที่ดังกล่าวคือการรับรู้โดยสังเขปว่าชุมชนวัดเจริญผล หรือชุมชนท่าขอนยางมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ ทั้งการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทญ้อ ตำนานจระเข้กับลูกเจ้าเมือง เป็นชุมชนบริการวิชาการ (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) เป็นชุมชนที่มีศาลาภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นชุมชนที่ติดกับลำนำชี –แม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชาวมหาสารคาม



๓.ง่ายงามตามความต้องการของชุมชน (สำรวจความต้องการ-ออกแบบกิจกรรม) : นิสิตได้จัด "เวทีอย่างไม่เป็นทางการ" ด้วยการประชุม "โสเหล่ๆ" แบบ "อีสานๆ" ร่วมระหว่างนิสิต ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชนและเจ้าอาวาส เพื่อสำรวจความต้องการ หรือปรับความคาดหวังร่วมกัน โดยหลักแล้วเป็นการพูดคุยในทำนองว่า "ชุมชนกำลังมีกิจกรรมใดบ้างในขณะนี้ที่นิสิตสามารถเข้าไปขอเรียนรู้และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ ได้บ้าง" ซึ่งชุมชนต้องการให้นิสิตได้เข้ามาช่วยบำเพ็ญประโยชน์ภายในวัดเพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึง นับตั้งแต่การทาสีสถานที่และวัตถุสถานสำคัญๆ ในวัดเจริญผล




๔.ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม : การ "ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ" บนฐานความต้องการชุมชนและศักยภาพความพร้อมของนิสิตในเบื้องต้น นำพามาซึ่งรูปแบบกิจกรรมและห้วงเวลาของการทำงานแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือเมื่อถึงวันปฏิบัติงาน หรือจัดกิจกรรมทั้งนิสิตกับชุมชนที่ประกอบด้วยแกนนำชาวบ้าน และพระภิกษุสงฆ์และสามเณรก็มาร่วมด้วยช่วยกัน ดังเช่นการช่วยเคลียร์สถานที่ก่อนการทาสี มีการทำความสะอาดสถานที่รองรับกิจกรรม รวมถึงสวัสดิการ หรืองบประมาณต่างๆ ตลอดจนคำแนะนำของการทาสี

หรือกระทั่งกลุ่มแม่บ้าน และเด็กๆ ในชุมชนส่วนหนึ่งก็ออกมาช่วยจับโน่นนี่...ผมถือว่าเป็นหลักฐานของการมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าภาพที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ตรงนั้นจะก่อตัวและรอเวลาผลิบานในหัวใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็กๆ ในหมู่บ้าน หรือชุมชน... (ไม่วันใดก็วันหนึ่ง)

และโดยส่วนตัวผมแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนความง่ายงามของการมีส่วนร่วมในระยะอันสั้นๆ นี้ (บวร : บ้าน วัด มหาวิทยาลัยฯ)




๕.ทำไปเรียนรู้ไป (เรียนรู้คู่บริการ) :ด้วยหลักคิดของการเชื่อมั่นว่า "ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า-ความรู้และตำนาน" การขับเคลื่อนกิจกรรมครั้งนี้จึงออกแบบบนฐานคิดที่เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติๆ เนียนนุ่มอยู่ในกิจกรรม เสมือนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ-ทำไปเรียนรู้ไป ยกตัวอย่างเช่น การทาสีไปก็สัมภาษณ์ ชวนคิดชวนคุยให้ชาวบ้านได้เล่าเรื่องราวตำนานชุมชนให้นิสิตฟังไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นตำนานของ "พระแม่สองนาง" ลูกเจ้าเมืองในอดีต รวมถึง "ฮีตฮอตประเพณีในชุมชน" ซึ่งล้วนเป็นสาระของการเรียนรู้ที่ถูกกำหนดเป็นหัวใจหลักของวิชาพัฒนานิสิต เพราะจะช่วยให้นิสิตได้เกิดการตระหนักถึงบริบทและสถานการณ์ของชุมชน เพื่อผลักให้นิสิตได้ทบทวน "รากเหง้าตนเอง" หรือกระทั่งการกระตุกให้ชุมชนได้ตระหนักถึง "คุณค่าของตัวเอง" ด้วยเช่นกัน ทั้งปวงนั้นยึดโยงกับวาทกรรมแห่งการเป็นจิตอาสา –เยาวชนจิตอาสา –ชุมชนจิตอาสาทั้งสิ้น เพราะหากต้องพัฒนาชุมชนย่อมต้องเข้าใจที่มาที่ไป (ประวัติศาสตร์ชุมชน) เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน หาใช่พัฒนาตามกระแสหลักโดยไม่รู้เลยว่า "ตนเองเป็นมาอย่างไร มีอะไรดี และไม่ดี" ....

หรือกระทั่งจะจบจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามยังไม่รู้เลยว่า มหาสารคาม คืออะไร และอย่างไร ...



เช่นเดียวกับการกับปัญหาว่าด้วยความรู้เรื่องสีที่นิสิตซื้อมาไม่ตรงกับการงานที่แพลนไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจหมายถึงพูดคุยกันน้อยว่า "ควรใช้สีอะไร" ซึ่งชุมชนเองก็บอกกับนิสิตแต่เพียงว่า "เบิ่งเอาโลดลูกหลาน สีหยังงามกะทาโลด..."

แต่พอถึงวันทำงานจริง เมื่อนำมาเทียบในสถานการณ์จริงกลับไม่เหมาะสม จึงจำต้องผสมสีกันอย่างระห่ำเพื่อให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสิ่งที่จะ "ทา"




บทส่งท้าย

นี่คือความง่ายงามของการเรียนรู้ที่ผมคิดว่าต้องกล่าวชม – เรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านชั้นเรียนที่ยังอัดแน่นด้วยชั่วโมงการบรรยาย....

นี่คือความง่ายงามของการเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากชั้นเรียนสู่นอกชั้นเรียน และจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม

ผมได้แต่หมายใจว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะเติบโตในวิถีอื่นๆ อย่างมีปัญญา




หมายเหตุ :

๑.ภาพ : สิตวิชาการการพัฒนานิสิต
กลุ่ม 2/2รายวิชาพัฒนานิสิต
๒.ข้อมูล : อนุตตรา อินทร์เพชร ชั้นปีที่2 สาขา การตลาด คณะบัญชีและการจัดการ

หมายเลขบันทึก: 589673เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ชื่นชมการทำงานของอาจารย์และนักศึกษาค่ะ

ชอบใจการทำงานในชุมชนของนิสิต

ได้ทำความดี ได้เรียนรู้เรื่องชุมชน

ถึงเล็กน้อยแต่งดงามมากๆ

ผมคิดว่า กระบวนการเรียนรู้ของรายวิชาพัฒนานิสิต น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่รายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" นิสิตทุกคนควรจะได้เรียนรู้ที่จะ " อยู่ ดัง ฟัง" และเรียนรูและตระหนักถึงความสำคัญที่จะ "เป็น" พลังของชุมชน เพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ...

จะพยายามเรียนรู้จากข้อเขียนเหล่านี้ให้มากที่สุดครับ

  • ผมว่า เป็นการเรียนรู้ นำสู่ปัญญา พัฒนาตนอยู่เสมอ

ขอบพระคุณ อ.อร วรรณดา มากๆ ครับ

ความดีงามทั้งหมดยกให้นิสิตทุกคนครับ
กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเล็กๆ ในรายวิชาพัฒนานิสิต มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้คู่บริการแบบง่ายๆ ผ่านกิจกรรมที่เป็นโจทย์ของนิสิตและชุมชน...

ฝึกทักษะหลายๆ เรื่องครับ หนึ่งในนั้นก็คือ PBL ทั้งหมดแหละครับ


สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ถ้าไม่ชี้วัดกันด้วยการทาสี (อะไรก็สี)
อย่างน้อยนิสิตกลุ่มนี้ก็ได้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชนว่าด้วยลูกเจ้าเมือง และตำนานจระเข้แหละครับ

ครับ ดร.ฤทธิไกร มหาสารคาม

เราบอกกับนิสิตเสมอว่า การงานเล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของพลังอันยิ่งใหญ่ โครงการเล็กๆ ในรายวิชาพัฒนานิสิต ก็เป็นในทำนองเดียวกัน และบอกกับเขาเสมอว่า นิสิต คือฟันเฟืองเล็กๆ ในสังคม คือองค์ประกอบเล้กๆ ในสังคม เราจะไม่ค่อยบอกนิสิตว่าเขาคือพลังอันยิ่งใหญ่ใดๆ...

เรื่องใหญ่ๆ มักเปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็กๆ เสมอ นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อและศรทธา เสมอมา


ขอบพระคุณครับ

ใช่ครับ อ. สามสัก(samsuk)

ผมเองศรัทธาต่อปัญญาปฏิบัติ เพราะเกิดจากการรู้จริง และการรู้จริงก็คือการมาจากการทำจริง...
การเรียนรู้ในทำนองนี้ คือการเดินทางสู่ปลายทางเช่นนั้นครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท