บริหารเวลาจากการตั้งคำถามสามวันสุดท้าย


หลังจากที่ลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท เสียเวลาไปนับสิบปี นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แม้เพียงแค่ ๑ นาที เพราะฉะนั้น จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราขนเอาสิ่งที่อยากทำในช่วง ๓ วันสุดท้ายมาทำเสียแต่ "วันนี้" คือห้วงเวลาที่เราเป็นเจ้าของ ส่วน "พรุ่งนี้" ไม่มีใครรู้ตัวว่าจะได้เห็นหรือไม่ ที่แน่ๆก็คือ หากเราเริ่มเสียแต่วันนี้ เราอาจมีเวลามากกว่า ๓ วันที่จะทำสิ่งต่างๆที่อยากทำ

ถ้าอีก ๓ วันโลกจะแตก จะทำอย่างไรดีกับเวลาที่เหลืออยู่ ไหนๆก็ลือกันให้แซ่ดแล้วว่าโลกจะแตกภายในปีนั้นปีนี้ ถ้าแตกจริงๆจะได้รู้ว่าควรทำอะไรบ้าง ไม่ต้องแตกตื่นลนลานจนลืมตัว โจทย์ข้อนี้จะตอบเล่นๆดูก็ได้ แต่ถ้าใส่ใจใคร่ครวญก่อนตอบ ก็จะได้ประโยชน์กับตัวเองไม่มากก็น้อย

คำถามนี้เคยเอาไปถามหนุ่มสาวหลายคน เป็นจำนวนมากบอกว่าจะเร่งทำบุญ กลับไปหาพ่อแม่ ล่ำลาญาติมิตร ขอขมาลาโทษ ที่ตอบว่าจะเสพสุขให้เต็มที่ รีบหาคู่อยู่กับคนรักก็มีไม่น้อย แม้จะแตกต่างกันไปบ้างแต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกคนอยากจะทำอะไรต่ออะไรตั้งหลายอย่างจนไม่มีทางทำให้ครบหรือเสร็จได้ภายใน๓วัน บางคนก็เลือกทำไม่กี่อย่างแต่ขัดแย้งกันเอง เช่นอยากเข้าวัดปฏิบัติธรรมด้วย อยากหาเมียด้วย ขืนทำทั้งสองอย่างไม่ว่าจะทำพร้อมๆกันหรือสลับคนละวันคงจะได้ผลคือ "เบลอร์" อันที่จริงเวลาแค่๓วัน อย่าว่าแต่ทำ๒อย่างที่ว่าเลย แค่อย่างเดียวก้ทำได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งคู่

คุณล่ะ ตอบได้หรือยังว่าจะทำอะไรบ้าง ลองเขียนสิ่งที่อยากทำภายใน๕-๑๐นาที คุณอาจจะพบว่าสิ่งที่อยากทำในวาระสุดท้ายของโลก(และชีวิตของคุณ) นั้นมีมากมายไม่ต่างจากหนุ่มสาวข้างบน และถึงแม้ในที่สุดคุณตัดสินใจเลือกทำสิ่งที่สำคัญที่สุดเพียง ๒-๓ อย่างเวลา ๓ วันก็อาจไม่พอ สำหรับการทำทุกอย่างให้เสร็จดังใจ

สรุปก็คือ เวลา ๓ วันนั้นน้อยเกินไปที่จะทำอะไรให้ครบถ้วนได้

แต่จริงหรือที่ว่าเวลา ๓ วันนั้นน้อยเกินไป ในชีวิตจริงเวลา ๓ วันต้องถือว่ามากทีเดียว มีกี่คนในโลกนี้ที่รู้ตัวล่วงหน้าถึง ๓ วันว่าวาระสุดท้ายของตนกำลังจะมาถึง ยิ่งคนที่รู้ และมีโอกาสใช้เวลาที่เหลือน้อยนั้นให้คุ้มค่า ยิ่งมีน้อยลงไปอีก นักโทษประหารอาจเดาได้ว่าตัวเองมีเวลาหลงเหลืออยู่ในโลกนี้นานเท่าใด แต่ก็ไม่มีเสรีภาพจะทำสิ่งที่ต้องการแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งระดับ๓ อาจรู้ว่าตนจะต้องตายในเร็ววันแต่ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไรได้ ทุกคนก็ได้แต่คาดเดา

ถึงที่สุดแล้วไม่มีใครในโลกนี้ที่รู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะตายเมื่อไร อย่าว่าแต่ ๓ วันเลย หากรู้ล่วงหน้าแค่ ๑ ชั่วโมงก็นับว่าโชคดีอย่างยิ่งแล้ว มีหลายคนขอเวลาน้อยกว่านั้นอีกแต่ก็ยังถูกปฏิเสธ

หลังจากที่ลงทุนไปหลายหมื่นล้านบาท เสียเวลาไปนับสิบปี นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แม้เพียงแค่ ๑ นาที เพราะฉะนั้น จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราขนเอาสิ่งที่อยากทำในช่วง ๓ วันสุดท้ายมาทำเสียแต่ "วันนี้" คือห้วงเวลาที่เราเป็นเจ้าของ ส่วน "พรุ่งนี้" ไม่มีใครรู้ตัวว่าจะได้เห็นหรือไม่ ที่แน่ๆก็คือ หากเราเริ่มเสียแต่วันนี้ เราอาจมีเวลามากกว่า ๓ วันที่จะทำสิ่งต่างๆที่อยากทำ

ปัญหาก็คือจะเอาสิ่งที่อยากทำในช่วง๓วันสุดท้ายมาทำเสียแต่วันนี้ได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ก็มีอะไรต่อมิอะไรต้องทำมากมายจนแทบหาเวลาว่างไม่ได้อยู่แล้ว มาถึงตรงนี้หลายคนก็พบว่า ที่ตัวเองมีภารกิจที่จะต้องทำมากมายในช่วง๓วันสุดท้าย ก็เพราะไม่มีเวลาว่างพอที่จะทำในขณะนี้นั่นเอง

น่าคิดว่าเวลาของเราวุ่นวายขนาดนั้นเชียวหรือ ใครก็ตามที่ตัดสินใจเลือกทำอะไรในช่วง๓วันสุดท้ายของชีวิตสิ่งนั้นจะต้องสำคัญมากๆต่อเขา ยิ่งตัดให้เหลือเพียงแค่ ๒-๓อย่าง มันก็ยิ่งสำคัญเหลือจะกล่าว ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้อย่างไรว่าเราจะไม่มีเวลากับสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราเลย

เราเคยลองเทียบเคียงหรือไม่ว่าสิ่งที่เราอยากทำในช่วง ๓ วันสุดท้าย กับสิ่งที่เรากำลังทำอย่างวุ่นวายในเวลานี้ อะไรสำคัญกว่ากัน หลายคนคงพบว่า "งาน" อย่างแรกนั้นสำคัญกว่า "งาน" อย่างหลังมาก จนบางทีเทียบกันไม่ได้ คำถามก็คือ อะไรทำให้เราละเลย "งาน" อย่างแรกไป คำตอบที่มักจะได้ก็คือ งานอย่างหลังนั้น "เร่งด่วน" กว่า หาไม่ก็ถูกปัจจัยภายในและภายนอกพัดพาไป

ในชีวิตของเรานั้น มีงานหรือกิจกรรมอยู่ ๔ ประเภทใหญ่

ประเภทแรกคือ งานด่วนและสำคัญ

ประเภทที่ ๒ งานด่วนและไม่สำคัญ

ประเภทที่ ๓ งานไม่ด่วนและไม่สำคัญ

และประเภทสุดท้าย งานไม่ด่วนแต่สำคัญ

คนจำนวนไม่น้อย วันๆหมดไปกับงานประเภทแรก และก็มีมากทีเดียวที่สิ้นเปลืองเวลาไปกับงานประเภทที่ ๒ และ ๓ คนสองกลุ่มที่ว่า แม้จะมีบุคลิกนิสัยและจุดมุ่งหมายในชีวิตต่างกัน แต่ก็เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ ชีวิตไม่มีเวลาให้กับงานประเภทที่ ๔ คืองานไม่ด่วนแต่สำคัญ

งานด่วนและสำคัญหมายถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเพื่อนร่วมงานขัดแย้งกันต้องเข้าไปไกล่เกลี่ย เส้นตายกำลังจะมาถึงต้องรีบปั่นงานให้ทัน สุขภาพทรุดโทรมจนล้มป่วยต้องพักงานไปหาหมอ คอมพิวเตอร์เกิดเสียต้องพักงานเอาไปซ่อม มิฉะนั้นทำงานต่อไม่ได้ รวมถึงการทำงานเลี้ยงตัวและครอบครัว

งานด่วนไม่สำคัญเช่นต้องรีบเลิกงานเพื่อไปดูฟุตบอลโลกให้ทัน รีบไปซื้อของราคาถูกก่อนหมดเขต ค่ำนี้ต้องไปงานเลี้ยงรุ่นประจำปี

งานไม่ด่วนและไม่สำคัญเช่น โทรศัพท์คุยเล่นกับเพื่อน ดูโทรทัศน์คลายเครียด ตอบจดหมายเพื่อนที่เพิ่งมาถึงเมื่อวาน

งานไม่ด่วนแต่สำคัญเช่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ การวางแผนงานแต่เนิ่นๆ การให้เวลากับครอบครัว การฝึกสมาธิภาวนา

เบื้องต้นเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน คำว่า "สำคัญ" ในที่นี้หมายถึงสำคัญต่อชีวิต โดยมุ่ง "คุณค่าแท้" ยิ่งกว่า "คุณค่าเทียม" สำหรับสาวรุ่น การได้เป็นเจ้าของกระเป๋าหลุยส์วิตตองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต

ลองพิจารณาดูจะพบว่างานประเภทสุดท้ายนั้น มักจะถูกละเลยไป ทั้งๆที่สำคัญ แต่เนื่องจาก "ไม่ด่วน" ก็เลยถูกผลัดไปเป็นวันพรุ่งนี้ ครั้นวันพรุ่งนี้มาถึงก็มีงานด่วน(ทั้งสำคัญและไม่สำคัญ)โผล่เข้ามา จึงต้องผลักไปเป็นวันมะรืน มีนัดกับรายการชิงชนะเลิศฟุตบอลพรีเมียร์ลีกหน้าจอโทรทัศน์ เป็นอันต้องเลื่อนต่อไปอีก เป็นเช่นนี้วันแล้ววันเล่า จนลืมไปก็มี มานึกขึ้นได้ก็ตอนมันกลายเป็นปัญหาที่ต้องรีบสะสาง เช่นล้มป่วยเพราะไม่ยอมออกกำลังกายสักที หรือไม่ก็ลูกติดคุกเพราะเสพยาบ้าไปแล้ว เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเลย

อะไรต่ออะไรที่เราอยากทำในช่วง ๓ วันสุดท้ายก่อนโลกจะแตก มันอยู่ในงานประเภทที่ ๔ นี่แหละ งานประเภทนี้แหละที่ใครๆมักจะนึกถึงยามท้ายๆของชีวิต เช่นเป็นโรคหัวใจแล้วถึงค่อยนึกเสียดายที่ไม่ยอมวิ่งจ็อกกิ้งตอนเป็นหนุ่มสาว เป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้วจึงค่อยนึกถึงการทำสมาธิภาวนา แต่บ่อยครั้งแม้ยังไม่ทันแก่ แต่ก็สายไปแล้ว ผู้เป็นลูกบ่อยครั้งมานั่งเสียใจที่ไม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ยามท่านมีชีวิตอยู่ เนื่องจากเอาแต่ทำมาหากิน จนช่วงเวลาสำคัญได้ผ่านเลยไปไม่หวนกลับ

เราแต่ละคนมีเวลาสำหรับสำคัญสำหรับชีวิต (หรืองานประเภทที่ ๔)เสมอ แต่มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราได้ ต่อเมื่อเราต้องยอมทิ้งบางอย่างไป หรือทำบางอย่างให้น้อยลง บางอย่างที่ว่าก็คือ งานด่วนและไม่สำคัญ กับงานไม่ด่วนและไม่สำคัญ อย่าให้ความด่วนของงานอย่างแรก (ที่ไม่สำคัญ) มาหลอกล่อเราจนเกินไป ทำใจแข็ง เมินมันไปเสียบ้าง ชีวิตไม่สึกกร่อนหรอก

แม้แต่งานด่วนและสำคัญก็เช่นกัน ลดลงเสียบ้าง ชีวิตจะได้เป็นสุขมากขึ้น ขืนเอาแต่งานประเภทนี้ทั้งวันทั้งคืนไม่นานคงเป็นโรคเครียด ความดันสูง ท้องผูก กระเพาะเป็นแผล งานประเภทนี้ทำให้คนตายมาเยอะแล้ว แต่จะลดมันได้อย่างไร คุณคงถามในใจเมื่อมันทั้งด่วนทั้งสำคัญ ลดได้หากเราหันมาให้ความสำคัญกับงานที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ ลองสืบสาวดูจะพบว่า ที่งานด่วนและสำคัญรุมเร้าเรารอบตัวก็เพราะเราละเลยงานประเภทที่ ๔ งานประเภทหลังนี้ ในแง่หนึ่งก็คือการป้องกันปัญหา ถ้าเราให้เวลากับการป้องกันปัญหาแล้วปัญหาก็มีให้แก้น้อยลง งานประเภทแรกล้วนเป็นงานประเภทแก้ปัญหาเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ได้ใส่ใจกับการป้องกันมาตั้งแต่แรก การหมั่นออกกำลังกาย ทำสมาธิภาวนา ให้เวลากับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน สิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำวันละนิดละหน่อยแต่ต่อเนื่อง จะช่วยลดปัญหาต่างๆได้มากมาย ทำให้งานด่วนและสำคัญพลอยลดลงด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต คุณภาพคน และคุณภาพความสำพันธ์ ซึ่งต้องอาศัยเวลา เช่นเดียวกับการเติบโตของต้นไม้

หากเราลำดับความสำคัญของงานต่างๆในชีวิตได้อย่างถูกต้อง และให้เวลากับงานเหล่านั้นอย่างสอดคล้องกับความสำคัญของมัน เราก็จะไม่วิตกกังวลกับอนาคต เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำครบถ้วนแล้ว เรียกว่าเป็นผู้พร้อมทุกขณะ โลกจะแตกหรือไม่ กลายเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลย

ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามนักพรตผู้หนึ่งด้วยคำถามคล้ายกันนี้ว่า "ท่านครับ ท่านคิดว่าท่านจะทำอะไรบ้าง หากจะต้องตายภายใน ๓ วัน"

"เราก็ทำอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนั่นแหละ" ท่านตอบ

คุณล่ะ พร้อมจะตอบอย่างนักพรตท่านนี้แล้วหรือยัง

บทความนี้คัดจากหนังสือ เปลี่ยนใจ โดยพระอาจารย์ ไพศาล วิสาโล

ผู้เขียนอ่านงานเขียนของท่านเรื่องนี้มานานแล้ว เห็นว่างานเขียนเรื่องนี้เหมาะสมที่จะนำเสนอให้หลายๆท่านได้มีวิธีบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลก็ทำให้เรายอมรับความจริงว่า ชีวิตนั้นไม่แน่นอนจริงๆ ดังนั้น "คำถาม ๓ วันสุดท้าย" นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคน

หมายเลขบันทึก: 589672เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2015 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท