สศพ. _ ๐๖ : รูปแบบการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โรงเรียนชุมชนห้วยค้อมิตรภาพ ที่ ๒๐๖ (๒)


บันทึกที่ ๑

จากที่ผมเล่าไว้ในบันทึกแรก ท่านจะเห็นจุดเด่นสำคัญ ๒ ประการที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนชุมชนห้วยค้อฯ ๑ คือ เด็กหญิงเบญจมาศ สิงห์น้อย ที่เติบโตมาด้วยความรักและภูมิใจในโรงเรียนและท้องถิ่น พอกลับมาเป็นครูจึงเป็นครูที่ "รู้ รัก" และนำความ "สามัคคี" มาสู่นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นประเด็นที่ ๒ คือ ความเข้มแข็งของชุมชน โดยเฉพาะเป็นชุมชนที่สนใจและใส่ใจในคุณภาพการศึกษา ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อให้ได้คนมีอุดมการณ์ที่มีความมุ่งมั่นและต้องการสร้างสรรค์และพัฒนาโรงเรียนอย่างจริงจัง


ผอ. สวัสดิ์ มะลาหอม

ปี ๒๕๕๐ ผอ.สวัสดิ์ มะลาหอม ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนด้วยจิตอาสาและความมุ่งมั่นจะพัฒนาโรงเรียนอย่างจริงจัง ตรงกับความต้องการของชุมชนและเป็นคนที่กรรมการสถานศึกษาพึงพอใจมาก บุคลิกและวิธีการทำงานของท่านก็เน้นความร่วมมืออย่างเข้าใจ โดยสิ่งแรกที่ทำคือจัดประชุมทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายร่วมกับชุมชนว่า นักเรียนทุกคนที่จบจากที่นี่ต้องเป็นคนดี และร่วมกันอาสาพัฒนาโดยยึดเกณฑ์มาตรฐานของโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน ความสำเร็จจากการระดดมทุนในโครงการผ้าป่าสามัคคีในครั้งนั้น สะท้อนถึงความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อโรงเรียนอย่างชัดเจน เพียง ๒ ปี โรงเรียนก็สามารถบรรลุเป้าหมายในใจของ ผอ.สวัสดิ์ ในขณะนั้น คือ โรงเรียนมีสื่อการเรียนการสอนที่เพียงพอ มีอุปกรณ์ที่ครบครัน มีครูดีๆ เก่งๆ ครบทุกกลุ่มสาระ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงทุกประการ ผ่านการประเมินเป็น "โรงเรียนในฝัน" ตามโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๒) ด้วยความเชื่อว่า หากทุกอย่างครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด เด็กๆ จะเก่งและดีตามที่ตั้งใจไว้ ทุกคนภูมิใจในความสำเร็จครั้งนี้มาก เพราะการบริจาคของทุกคนเป็นผลให้โรงเรียนไม่มีหนี้สินแม้สักบาทเดียว ท่านผอ. บอกว่า "ไม่มีคุรุภัณฑ์ช่วยราชการสักรายการเดียว"

อย่างไรก็ดี นักเรียนทุกคนไม่ได้เป็นคนดีอย่างที่เข้าใจ นักเรียนยังมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ดึกดื่นค่อนคืน ผอ. และครู และผู้ใหญ่บ้าน มักได้รับโทรศัพท์ให้ไปไกล่เกลี่ยปัญหาการทะเลาะวิวาทตามงานบุญของนักเรียนชาย หลายรายหายไป ไม่มาเรียน ตามถามได้ความว่าไม่มาเพราะเมาสุรา นักเรียนหญิงบางคนก็ไม่มาเรียน ถามเพื่อนบอกว่าไปกับแฟน ผอ.สวัสดิ์ สรุปเรื่องนี้ว่า เด็กนักเรียนขณะนั้นเก่งแต่ยังไม่ดี กลยุทธการพัฒนาโรงเรียนขณะนั้นยังไม่ดีพอ จึงต้องหาวิธีเพื่อปลูกฝังความดีให้นักเรียน และนี่คือปฐมเหตุที่มาของการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้านการศึกษาในโรงเรียนชุมชนห้วยค้อฯ

เริ่มขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง

กระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่โรงเรียนชุมชนห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖ เริ่มต้นอย่างจริงจังหลังปี ๒๕๕๒ ผอ. สวัสดิ์ มะลาหอม พาครูพัฒนาโรงเรียนสู่การเป็นสถานศึกษาพอเพียง โดยช่วงแรกเน้นการพัฒนาคนด้วยการพาตนและครูเข้าร่วมเรียนรู้กับโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจลและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วค่อยๆ นำมาปรับใช้และทำความเข้าใจกับกิจกรรมเน้นความอบอุ่นในครอบครัวที่ทำอยู่ตลอดปีดังรูป และน้อมนำมาใช้ในการสอนแบบบูรณาการกับกิจกรรมประจำปีเหล่านี้ ในขณะครูแต่ละคนต่างสร้างกิจกรรมประจำวันเปิดเป็นเวทีให้เด็กนักเรียนได้แสดงความสามารถ พร้อมทั้งสร้างกิจวัตรประจำวันให้นักเรียนทุกชั้นเรียนได้ฝึกฝนสมาธิและความเพียรก่อนเรียนและหลังเลิกเรียน… ซึ่งจะได้กล่าวถึงรูปแบบการขับเคลื่อนฯ และรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมในบันทึกต่อๆ ไป


(ขออภัยก่อนนะครับ ที่ยังไม่ได้วาดใหม่ให้เป็นรูปที่เผยแพร่ได้ จะมาปรับรูปนี้ใหม่ภายในสัปดาห์นี้ครับ)


ความภาคภูมิใจก่อกำลังใจในการขับเคลื่อนสู่โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ

หลังการขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจังเพียง ๒ ปี ผอ.สวัสดิ์และครูเริ่มมั่นใจในแนวทางการพัฒนานักเรียนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ท่านสะท้อนว่า "...นักเรียนของเราดีขึ้นมากๆ ไม่มีเด็กเกเรที่นี่ ไม่มีปัญหาวัยรุ่นทะเลาะวิวาท..." ผู้บังคับบัญชาให้การยอมรับและชื่นชมบ่อยๆ ผอ.สมพงษ์ โรจน์ภัทรพงศ์ ผอ.สพป.ขอนแก่น เขต ๓ กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียนว่า “...อยากให้ในเขต เรามีโรงเรียนดีๆ แบบโรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖ เยอะๆ ทำโรงเรียนได้น่าอยู่ นักเรียนเป็นเด็กเรียบร้อย ไปเยี่ยมเมื่อไหร่ก็ยังเรียบร้อยเหมือนเดิม..." โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เป็น ASEAN Learning School ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๓ เป็นหนึ่งเดียวของเขต

ทุกคนสรุปร่วมกันว่า สาเหตุที่โรงเรียนประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายที่ได้ตั้งไว้แต่แรก นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่ง เพราะนักเรียนได้นำหลักปรัชญาฯ มาใช้กับตนเองบ่อยๆ เป็นกิจวัตร เกิดความคุ้นชินจนก่อเป็นอุปนิสัย "พอเพียง" เมื่อทุกคนเห็นว่าดี จึงพร้อมใจกันอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขยายผลลัพธ์ที่เกิดกับโรงเรียนของตนออกไปสู่เพื่อนครูในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป และลุล่วงสำเร็จในไม่ช้านาน โรงเรียนผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕ และยังยั่งยืนและมั่นคง สม่ำเสมอ ในการขับเคลื่อนขยายผลสู่คนอื่นๆ โรงเรียนอื่นๆ ตลอดมาจนปัจจุบัน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

การน้อมนำมาใช้กับตนเองกับทุกๆ กิจวัตรประจำวันในการดำเนินชีวิต ของ ผอ.สวัสดิ์ คือคุณลักษณะที่เห็นชัดเจน และเห็นได้ง่ายๆ ผ่านการสนทนากับท่านทุกๆ ครั้ง การเข้าถึงได้ง่าย เปิดเผย และจริงใจ ทำให้วิธีการบริหารจัดการที่เน้นการมีส่วนร่วมที่ ผอ. สวัสดิ์ ใช้เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนฯ แบบครอบครัวนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและอบอุ่น

การบริหารเชิงราบหรือการเน้นการมีส่วนร่วมของ ผอ.สวัสดิ์ สามารถผสานจุดเด่นของบุคลากรและครูแกนนำทุกคนในโรงเรียนเข้าด้วยกัน เกิดกระบวนการขับเคลื่อนผ่านการเรียนรู้แบบครอบครัว (Family - based Learning : FBL) ในลักษณะเฉพาะตัวขึ้นในโรงเรียน สิ่งที่ครูเบญจมาศและเพื่อนครูทำไว้ ได้รับการต่อยอดและเสริมหนุนอด้วยการบริหารจัดการที่ยึดธรรมมาภิบาล

อีกปัจจัยที่ทำให้การขับเคลื่อนฯ แบบ FBL ก่อผลสำเร็จที่ยั่งยืนคือ การทำงานวิชาการของครูมณีรัตน์ มะลาหอม ความพร้อมด้านงานวิชาการ ทำให้การบูรณาการสู่การเรียนการสอน และการสอดแทรกหลักปรัชญาผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จได้อย่างฉลาดและมีประสิทธิภาพ มีร่องรอยให้ติดตามเรียนรู้ได้ง่าย

รูปแบบการขับเคลื่อนแบบ FBL ของโรงเรียนชุมชนห้วยค้อฯ เน้นการมีส่วนร่วม จึงทำให้ครูแต่ละคนเข้าใจและนำไปใช้ในหน้าที่อย่างทั่วถึง ต่างคนต่างมีแนวปฏิบัติที่ดีในการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ผ่านกิจกรรมที่คิดทำหรือได้รับมอบหมาย ... ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้จากเรื่องเล่าที่จะนำมาเสนอต่อไป

บันทึกต่อไป จะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ FBL ของโรงเรียนชุมชนห้วยค้อฯ ครับ

ดูรูปทั้งหมดที่นี่



หมายเลขบันทึก: 589241เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2015 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2015 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท