สู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลังจากที่มาอยู่วัดอ้อน้อยได้ ๓ วัน ในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒ ได้มีพิธีปลงผม โดยมี หลวงปู่พุทธะอิสระ เป็นผู้ปลงผมให้นาคทั้งหมด ๙๓ คนซึ่งจะบวชที่ศาลาธรรม แล้วจากนั้นพวกเราก็ไปปลงผมต่อกันเอง โดยมีพระพี่เลี้ยงและญาติของแต่ละคน คอยช่วยปลงผมให้อีกที พอถึงตอนเย็นๆ มีพิธีอาบน้ำนาค โดยมีหลวงปู่ เป็นผู้นำอาบน้ำให้นาค และเณรจาก ภปร.ราชวิทยาลัย ที่บวชพร้อมกันอีก ๑๖๐ รูป กว่าจะเสร็จพิธี เล่นเอาหนาวเหมือนกัน เพราะญาติของนาค และลูกหลานหลวงปู่ มากันเยอะ อีกอย่างช่วงนั้นอากาศเริ่มที่จะหนาวแล้ว
ตกกลางคืน พวกเราไปพักอยู่ที่กลดของแต่ละคน ความที่เป็นนาคเพิ่งปลงผมใหม่ๆ ยังไม่ชินกับการที่ไม่มีผม แล้วต้องมาอยู่กลดมุ้งใส ทีนี้หละ! เวลาจะมุดมุ้งในกลด หรือออกจากกลด หัวจะต้องโดนมุ้งกระชากทุกที และอากาศก็เริ่มเย็นแล้ว ผมพักอยู่ริมทุ่ง ลมโชยดีเหลือเกิน จนรู้สึกหนาว บางครั้งลมแรงดีเกินไป พัดเอามุ้งมาฉุดกระชากหัวเราที่ยังโล้นๆ อยู่ ทำให้ต้องตื่นเป็นระยะๆ
พอรุ่งเช้าจึงมีอาการหวัดนิดหน่อย เพราะเมื่อคืนอากาศเย็น บรรยากาศของวันนี้ เป็นเรื่องของพิธีการรับผ้าไตรพระราชทาน และพิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งจัดขึ้นในตอนเย็น พิธีการเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน แฝงไปด้วยกลิ่นอายของประเพณี วัฒนธรรม มรดก ของบรรพบุรุษเรา ที่ต้องการให้ผู้ที่จะบวช หรือนาค ได้ระลึกรู้ถึงบุญคุณ บิดา มารดา ว่าท่านเลี้ยงดูเรามาด้วยความยากลำบาก วันนี้แล้วหนาพ่อนาคก็จะได้กระทำหนทางหนึ่งในการตอบแทนบุญคุณท่าน ด้วยการมาบวชในพระศาสนา สืบทอดเผ่าพันธุ์แห่งชาวศากยะต่อไป
อีกทั้งพิธีนี้ยังเป็นการเตรียมการให้นาค ได้มีจิตใจที่พร้อมต่อการเดินเข้าสู่หนทางใหม่ มีสภาวะสถานะใหม่ ชนชั้นใหม่ วิถีอันใหม่ ในทางธรรมที่เรียกว่า "โลกุตระ" (โลกุดร, โลกุตตระ, โลกุตระ- พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้งสาม คู่กับ โลกิยะ) เมื่อเสร็จพิธีบายศรีสู่ขวัญแล้ว ก็กลับมาพักผ่อนเตรียมตัวที่จะบวชเป็นภิกษุในวันรุ่งขึ้น
เช้าวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ วันนี้เป็นวันที่ผมรอคอยมานานแล้ว รู้สึกอิ่มเอิบใจ เป็นสุขใจมาก ซึ่งตามกำหนดการต้องตื่นกันตีสี่ เพื่อมาทำวัตรเช้า พอถึงตีสี่ฝนก็เทลงมาพอประมาณ เลยทำให้นาคทุกคนต้องตื่น รีบแต่งตัวสวมชุดนาคอย่างรวดเร็ว เหมือนกับฝนจะรู้ว่านี่เป็นวันสำคัญเลยต้องมาปลุก พอนาคมาพร้อมกันที่ศาลา ฝนก็หยุด จึงเป็นที่น่าประหลาดใจ จากนั้นเป็นพิธีการขอขมาญาติ ตอนสายจึงเริ่มพิธีบวชเป็นเณรก่อน โดยมีเจ้าคณะจังหวัดมาเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ที่โบสถ์
จากนั้นพระทั้งหมด ๙๓ รูป ต้องแบ่งไปทำพิธีบวชที่โบสถ์วัดอื่นอีก ๒ วัดคือ วัดทัพหลวงกับวัดวังตะกู เพราะมีผู้บวชมาก และการบวชชุดละ ๓ รูปนั้น แต่ละชุดใช้เวลาหลายสิบนาทีแล้ว ดังนั้นถ้าทำพิธีที่เดียวคงจะช้า พอดีผมได้บวชที่โบสถ์วัดอ้อน้อย แต่เป็นคนสุดท้ายของชุดสุดท้ายด้วย จึงต้องนั่งรอฟังเขาสวดตั้งแต่เช้าถึงบ่าย กว่าจะได้ทำพิธีเกือบเย็น
ภายหลังจากทำพิธีบวชเปลี่ยนจากนาคเป็นภิกษุ ผมได้ฉายาทางธรรมว่า "อนาลโย" ความรู้สึกครั้งแรกที่ออกจากโบสถ์มีความสุข ปีติมาก อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ไม่มีครั้งใดในชีวิตที่จะมีความรู้สึกที่ยิ่งกว่าความสุขอย่างนี้ เพราะว่ากว่าที่เราจะเกิดเป็นคนก็ยากแล้ว ยิ่งได้เกิดเป็นชายแล้วได้มาบวชอีกยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ที่สำคัญบวชแล้วได้มาเจอ คุรุ ผู้นำทางวิญญาณที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคนี้ก็ยิ่งยากลำบาก จึงรู้สึกว่าได้เกิดเป็นมนุษย์ชาตินี้ ไม่เสียชาติเกิดแล้ว บุญอันใดหนอที่ชักพาเรามา แล้วจะทำบุญกุศลอย่างไรหนอ จึงจะได้มีโอกาสอย่างนี้ทุกชาติไป
จากนั้นผมก็อุ้มบาตรออกจากโบสถ์ เห็นโยมพ่อ โยมแม่ และคนอื่นๆ มาคอยใส่บาตร มาถวายข้าวของเงินทองมากมาย ผมจึงนำไปถวายวัดหมด รู้สึกปลื้มใจ พวกเขาคงอยากได้บุญจากพระใหม่ที่มีศีลบริสุทธิ์ซึ่งเพิ่งออกจากโบสถ์ ผมได้แต่อนุโมทนาบุญกับเขาเหล่านั้นด้วย วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันที่ ๕ ธันวาคม มีผู้คนมาใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งกันมากมาย และช่วงบ่ายได้มีการหล่อพระโพธิสัตว์ทั้ง ๔ องค์
หลังจากการบวชเสร็จสิ้น ช่วงแรกที่อยู่วัดก็เรียนธรรมศึกษา หลักสูตรนักธรรมตรี เรียนพระวินัย เรียนศาสนพิธี และเรียนพุทธประวัติ โดยมีพระพี่เลี้ยงในวัดอ้อน้อยคอยชี้แจง อบรมสั่งสอน เพราะช่วงแรกนั้นหลวงปู่ไม่ค่อยว่าง ท่านต้องคอยอบรมเณร จนผ่านไปอาทิตย์กว่าๆ หลังจากที่ท่านสอนเณร พาเณรไปธุดงค์กลับมา และเณรสึกออกไปหมดแล้ว ท่านจึงมาอบรมสั่งสอนพวกเราต่อ
ปุยเมฆ
มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่ให้หนังสือเรื่อง "อุดมการณ์การดำรงพันธุ์" แก่พวกเรา เพื่อมาอ่าน แล้วท่านก็ออกข้อสอบให้พวกเราเขียนคำตอบส่ง โดยเป็นการถามเกี่ยวกับความหมายของภิกษุ นักบวช สมณะ พระ แตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้พระใหม่ได้ตระหนัก สำนึกในหน้าที่ ซึ่งความหมายที่หลวงปู่เคยอธิบายไว้คือ
วิถีชีวิตของ "ภิกษุ" ต้องเป็นผู้สำรวมระวังกิริยาอาการแห่งตน มีการตั้งมั่นของจิต อยู่ผู้เดียว สันโดษ รู้จักพอดีในสิ่งที่มีที่ได้ ทำลายความถือตัวถือตน สกัดความจองหอง อวดดี หลุดจากความโง่ โลภ โกรธ ไม่ข้องแวะต่อเครื่องผูก มีชีวิตประดุจปุยเมฆท่องไปในอากาศ เพราะว่าปุยเมฆนั้นล่องลอยไปยังสถานที่ต่างๆ มิได้เกาะเกี่ยว ยึดเหนี่ยวสิ่งใด อยู่เฉพาะที่ใดๆ และที่สำคัญปุยเมฆยังความร่มเย็น เป็นฝนที่ชุ่มช่ำ ให้แก่สรรพสัตว์ สรรพสิ่ง เปรียบได้ดั่งชีวิตของภิกษุ ที่ต้องเดินทางแสวงหาธรรม ไม่อยู่ยึดติดในที่ใดๆ กับใคร หรือสิ่งไหน และยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์
มีธรรมวิธีที่เรียกว่า "มรรคาวิถี ๘ ประการ" คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ เป็นเครื่องอยู่ ไม่ประมาทในการรักษาศีล ดำรงสติมั่น หวงแหนระวังรักษาพรหมจรรย์ยิ่งกว่าชีวิตของตน เพียรปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญ ชำระบาป ต้องไม่ยึดติด แม้ในบุญและบาปนั้น
วิถีชีวิตของนักบวช ก็คือ มีความเพียรเพ่งอยู่ ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด ปราศจากอาสวะกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง นั้นจึงชื่อว่า "นักบวช"
ส่วน "สมณะ" นั้น หลวงปู่ได้เขียนบทโศลกอธิบายไว้ว่า
"ลูกรัก...ขอเพียงเจ้าบรรเทา ละวาง ความยินดีที่มีในสรรพชีวิต สรรพวัตถุ และของเล่นทั้งหลายได้เด็ดขาด ละเว้นจากการคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ไม่ปล่อยตนเองให้หลงใหลได้ปลื้มไปกับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจมิได้ปรุงแต่ง ให้เกิดอารมณ์ใดๆ ความสงบระงับทางกาย วาจา ใจ ก็เกิดขึ้น เช่นนี้ต่างหาก จึงเรียกว่า สมณะ"
สำหรับวิถีชีวิตของ "พระ" ไม่มักมากในทาน ไม่ติดในตระกูล ไม่ให้ความสนิทสนมกับผู้ใดผู้หนึ่งในบ้านหรือนอกบ้าน ไม่ติดในที่อยู่ ไม่ติดในที่อาศัย ไม่ติดทั้งภายในกายและนอกกาย เปรียบดังหยดน้ำ ที่ไม่ติดบนใบบัวฉันนั้น วิถีชีวิตของพระต้องไม่สร้างกรรมอันเป็นเหตุปัจจัย ของภพ ชาติ ชรา มรณะ พยาธิ เป็นผู้สำรอกแล้วซึ่งเหตุปัจจัยนั้นๆ มีปัญญา ทำ พูด คิด ไม่โอ้อวด พ้นแล้วจากเครื่องกังวลทั้งปวง มีความเพียรเพ่งอยู่ในการปฏิบัติธรรม เพื่อวิถีแห่งความดับและเย็น นั่นคือ นิพพาน
วินัยบัญญัติ
ในตอนบ่ายวันหนึ่งของอากาศที่หนาวเหน็บในเดือนธันวาคม ใต้ลานโพธ์หน้าหอกรรมฐาน หลวงปู่บอกให้พวกเรามารวมกัน แล้วท่านได้แนะนำสั่งสอน วินัยบัญญัติ เป็นการทบทวนให้พวกเราอีกครั้ง หลังจากที่เรียนจากพระพี่เลี้ยงมาแล้ว เพื่อความเข้าใจที่กระจ่างชัดขึ้นหลังจากที่บวชมาได้หลายอาทิตย์แล้ว หลวงปู่ได้สอนพระธรรมวินัยไว้ พอสรุปได้คือ
ความหมายของระเบียบวินัย
ความจำเป็นของระเบียบวินัยมีเอาไว้ให้เราได้อยู่ร่วมกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว เป็นปึกแผ่นแน่นหนาเดียวกัน อันลงรอยกันได้ มีการกระทำ คำพูด ที่เป็นข้อ วิธี วิถีทางเดียวกัน และไม่ทำให้ต้องแตกแยกกัน ออกจากกันและกัน ในสังคมก็ตาม ในชีวิตประจำวันก็ตาม
ความหมายของระเบียบวินัยและกติกาที่มีอยู่ในสังคมสิ่งรอบตัว หลวงปู่ได้อธิบายว่าเป็นความหมายของการสร้างดุลยภาพ ดุลถ่วงให้แก่ชีวิตเราและการอยู่ร่วมกัน เพราะถ้าเมื่อใด สังคมใดปฏิเสธระเบียบวินัย ปฏิเสธกฏเกณฑ์ กติกา สังคมนั้นก็ขาดดุลถ่วง ใครพอใจจะทำอะไรก็ทำ ถือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีระเบียบวินัย แล้วก็เกิดความร้าวฉาน เกิดความรู้สึก อึดอัด ขัดเคือง ต่อกันและกัน ใครพอใจที่จะพูดอย่างไรก็พูด ทำอย่างไรก็ทำ คิดอย่างไรก็คิด แสดงอย่างไรก็แสดง โดยไม่คำนึงว่าการ ทำ พูด คิด แสดงนั้น ทำลาย ก้าวก่าย สิทธิของใคร นี่เป็นความหมายของการขาดระเบียบวินัยในบ้าน ในเมือง
ส่วนในพระศาสนานั้นหลวงปู่บอกว่า ถ้าผู้คนมาอยู่ร่วมกัน โดยมาจากเผ่าพันธุ์ต่างกัน จากหลายที่ หลายถิ่น หลายสกุลวงศ์ แล้วไม่มีกติกา กฎเกณฑ์ ข้อตกลงกันเป็นพื้นฐานว่าจะทำอะไรเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน มันก็กลายเป็นตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ แล้วความหมายของความเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ความสามัคคี กลมเกลียว ก็จะหายไป ดังนั้นคนที่อยู่ในบ้านเมืองใด ตำบลท้องถิ่นใด สังคมใดๆ ต้องอยู่ด้วยความสมัครใจ
พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ผู้ที่จะเข้ามาบวช จึงต้องมี "ศรัทธา" มีความเชื่อ เชื่อว่าเราจะปฏิบัติตามกฎ กติกา ของบ้านเมืองนั้นได้ แล้วเราจะเอาตัวเอง น้อมเข้าไปอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นความลำบากใจรู้สึกอึดอัดใจ ยินดีที่จะทำตามกติกาของบ้านเมืองนั้น ท้องถิ่นนั้น เมื่อเราเข้าไปแล้วยอมรับมันได้ ก็จะเป็นเรื่องเป็นราวที่เราจะมีความสุขได้ในการเป็นอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าไม่ศรัทธา ไม่เชื่อ และเข้าไปอยู่ แล้วยอมรับไม่ได้ ก็จะสร้างความทุกข์เดือดร้อนขึ้นมา
การปฏิบัติตามธรรมวินัยหัวใจสำคัญ คือ "ความเชื่อ ความศรัทธา" ถ้าเราไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา เราจะปฏิบัติพระธรรมวินัยไม่ดี จะขาด บกพร่องไปหมด กฎเกณฑ์ กติกาของศาสนา นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันและกันในส่วนตนและส่วนตัวแล้ว ยังต้องมีสัมพันธภาพอันดีต่อสรรพสิ่ง สภาวะแวดล้อม ธรรมชาติ หรือแม้แต่จิตวิญญาณสำนึกของเราเอง ทุกส่วนของเรา เซลล์ต่างๆในร่างกายเรา พลังงาน ปราณ ลมหายใจ และความรู้นึกคิดของเรา รวมทั้งสารอาหารที่ได้จากการสกัดอาหารที่กินเข้าไปแห่งเรา เลือดเนื้อทุกหยาดหยดแห่งเรา กติกา กฎเกณฑ์แห่งพระศาสนายังเอื้ออำนวยสุขให้แก่มัน ให้สรรพสิ่งที่อยู่ในตัวเรา เป็นไปด้วยความพร้อมเพรียง สมัครสมานฉันท์ กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน และผู้ที่มีกฎเกณฑ์กติกาอย่างนี้เท่านั้น จึงจะเป็นคนที่แกร่งกล้า องอาจ และสง่างาม สามารถที่จะคงทนต่อทุกสภาวะ
อานิสงส์
พระธรรมวินัยนอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างเรากับคนอื่นๆ แล้ว ยังให้สัมพันธภาพอันดีระหว่างเรากับตัวเราเอง อวัยวะทุกส่วนในร่างกายเรา เซลล์ทุกส่วนในร่างกายเรา ช่วยประคับประคองให้มันอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรู้สึกพึงพิง อิงแอบอาศัย ถ้อยทีถ้อยอาศัย และอาทรการุณต่อกันและกัน
อย่างเช่น พระธรรมวินัยบอกเราว่า การไม่กินอาหารเย็น สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ คนที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจริงๆ จะไม่เป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด จะไม่เป็นโรคเบาหวาน ไม่เป็นโรคความจำเสื่อม ไม่เป็นโรคความดันในกระแสเลือดสูง ไม่เป็นโรคแคลเซียมเกาะกระดูกมาก และไม่เป็นโรคเครียด ไม่เป็นโรคปลายประสาทฟ่อ เพราะโดยปกติอาหารมื้อเย็นไม่ได้เป็นมื้อที่สำคัญต่อร่างกาย เป็นมื้อที่เกินความจำเป็น มื้อที่สำคัญที่สุดคือมื้อเช้า รองลงมาคือมื้อกลางวัน อาจเป็นเพราะว่าเราเคยชินกับการได้กิน ถ้าไม่ได้กิน ทำให้รู้สึกว่า เราขาดอะไรไปสักอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้วมันขาดได้ มีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องสิ้นเปลือง สุขภาพก็จะดีขึ้น
หลวงปู่ยังบอกอีกว่า หากเราได้ทำการปรับธาตุในร่างกายให้เข้าที่ได้แล้ว ท้องที่ว่างๆ ในตอนเย็นนั้น มันจะทำให้ลำไส้ และกระเพาะอาหารได้พักผ่อน เป็นการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อลำไส้ การย่อยอาหารจะดีขึ้น การที่เรากินหลายมื้อตลอดเวลา เรียกว่าเป็น การบั่นทอนสุขภาพ
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจึงให้ประโยชน์ต่อเราได้ มันทำให้เราสร้างสัมพันธภาพอันดีต่อกายนี้ และมีสัมพันธภาพต่อผู้อื่นด้วย และยังสามารถช่วยเหลือประคับประคอง กาย วาจา ของเราให้สงบ ตั้งมั่น มีขันติธรรม มีความอดทน อดกลั้น ต่อสภาวะแวดล้อมที่บีบคั้นได้ เพราะเรามีขันติธรรม มีพระธรรมวินัย
ขันติธรรม
คนที่ปฏิบัติตามตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จริงจัง จะเกิดขันติธรรมโดยปริยาย คือ ทนต่อความหิวที่บีบคั้นในกายตน ทนต่อการยั่วยวนทางกาย วาจา หรือ ตาดู หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส ดังนั้นผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจึงกลายเป็นผู้มีขันติโดยปริยาย
จริงๆ อานิสงส์ที่บอกไว้ในตำรา คือ ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติไม่เกิดวิปฏิสาร คือ ไม่เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ แต่เกิดความรื่นเริงในขณะที่เข้าไปอยู่ในหมู่คณะ มีความตั้งมั่น มีสติตั้งมั่นได้ง่าย มีความแช่มชื่นใจ และทำให้ผู้ที่มาจากนานาๆ สกุล เผ่าพันธุ์ อายุขัย มาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และมีระเบียบวินัย
การปฏิบัติตามธรรมวินัย
หลวงปู่เปรียบพระธรรมวินัย ดังเข็มกับด้าย ที่ร้อยบุปผาชาตินานาพันธุ์ ต่างสีต่างกลิ่น ให้รวมกัน และกลายเป็นพวงอุบะ อันสวยงามได้ เป็นพวงมาลัยอันสง่างามได้ นี่คือคุณสมบัติของพระธรรมวินัย ในเรื่องของความหมายของการจะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น สำหรับพระนวกะ (พระใหม่) จะต้องได้เรียนจากหนังสือ "นวโกวาท" ซึ่งจะมีอนุศาสน์ ๘ อย่าง โดยแบ่งออกเป็น ๒ หัวข้อใหญ่คืออกรณียกิจ หรือกิจที่ทำไม่ได้ กับ นิสัย ๔
นิสัย คือสิ่งที่มีอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ จิตวิญญาณของนักบวช ซึ่งนักบวชที่บวชเข้ามาแล้วต้องทำจนเป็นนิสัย ใน ๔ ข้อนี้ ไม่ใช่ทำด้วยการจำ แต่ทำจนเป็นนิสัย เรียกว่า ทำมันจนเป็นจิตวิญญาณ และชีวิตของภิกษุ นิสัยทั้ง ๔ ข้อนี้ ก็คือ ๑. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๒. อยู่โคนไม้ ๓. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๔. บิณฑบาตเป็นวัตร
นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
สมัยก่อนนั้น ไม่มีผ้าขาย คนที่จะบวชต้องไปดึงเอาผ้าที่เขาหุ้มศพมา เพราะในประเทศอินเดียสมัยก่อน ไม่นิยมที่จะฝัง หรือเผา พอคนตายจะเอาผ้ามาพันศพแล้วปล่อยทิ้งไว้ เมื่อพระที่บวชในพระศาสนาปรารถนาที่จะมีเครื่องนุ่งห่ม เครื่องทรงของนักบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ว่า นั่นผ้าบังสุกุล นั่นผ้าห่อศพ ท่านจงไปเก็บมาย้อม และเย็บ ให้เป็นเครื่องนุ่งห่มของท่าน พระจึงมีหน้าที่ไปเก็บเอาผ้าเหล่านี้ มาซัก มาย้อม และมาเย็บ จนกลายเป็นเครื่องนุ่ง เครื่องห่ม พระเก่าจะนุ่งห่มผ้าที่ไม่บังสุกุลไม่ได้ และผ้าที่เป็นของคฤหัสถ์ก็ไม่ได้ ต้องนุ่งห่มผ้าของนักบวช คือ ผ้าบังสุกุลเท่านั้น ต่อมาก็มีอนุบัญญัติ ให้ภิกษุรับคหบดีจีวรได้ อย่างเช่นที่ภิกษุนุ่งห่มในปัจจุบัน ที่เรียกว่า คหบดีจีวร
อยู่โคนไม้
หลวงปู่บอกว่าไม่อยากให้ภิกษุที่บวชน้อยวันแล้วจะละเลยความหมายของพระศาสนา ละเลยความหมายข้อใหญ่ของนิสัย ๔ ที่พระอุปัชฌาย์สอนเอาไว้ อยากให้สัมผัส หรือสำเหนียก พิสูจน์ ทราบถึงวิถีชีวิตของนักบวชโบราณว่า มีชีวิตแบบใดบ้าง แล้วจะได้รู้สึกภาคภูมิ ศรัทธาในวิถีของนักบวชที่พวกเรากำลังเป็นอยู่ เพราะว่าสมัยก่อนไม่ค่อยมีวัด เย็นๆ ก็จะไปอาศัยตามสุมทุมพุ่มไม้ หัวไร่ปลายนา เรือนว่าง ป่าช้า ชะง่อนผา จอมปลวก ถ้ำ คูหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของพระ ที่จัดอยู่ในประเภทของการอยู่โคนไม้ตามพระธรรมวินัย
ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
น้ำมูตรเน่าคืออะไร? หลวงปู่ได้อธิบายให้เข้าใจว่ามันคือ น้ำเยี่ยวของโคดำ แต่เดี๋ยวนี้หาน้ำเยี่ยวของโคดำไม่ได้ ซึ่งทางวิชาการแพทย์ เยี่ยวที่ทิ้งออกมาจากร่างกายเรา เมื่อตกตะกอนแล้ว มันจะมีสารที่เป็นยาและมีฮอร์โมน ไขมัน เกลือแร่ มีสิ่งที่ร่างกายสกัดไม่ได้ และเป็นสารตกค้างขับถ่ายออกมา สามารถเอามาประกอบเป็นตัวกษัยยาได้ นี่คือความรู้แพทย์สมัยสองพันกว่าปีก่อน เขาเอามาดองกับรากไม้ ว่านยา ใบไม้ เปลือกไม้ หรือ แก่นไม้บางชนิด จนทำให้เกิดการตกผลึก นอนก้น ผสมผสานกันระหว่างสารที่มีอยู่ใน ยี่ยวกับสารที่มีอยู่ในรากไม้ แก่นไม้ ใบไม้ เหล่านั้น เป็นสูตรสำเร็จทางเคมีที่ประกอบเป็นยารักษาโรคได้ นั่นคือที่มาของ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
บิณฑบาตเป็นวัตร
บิณฑบาตเป็นวัตร รวมถึงการฉันอาหาร คือต้องไม่เป็นผู้ที่รวนเรในการบิณฑบาต คือไปทางใดก็ไปทางนั้น รับแล้วต้องไปทางนั้น บิณฑบาตเป็นวัตร มันเป็นความหมายของการซื่อตรงของตน ว่าเราจะรับบาตรด้วยความซื่อตรง รับบาตรด้วยความเมตตา อาทร ด้วยคิดจะอนุเคราะห์ รับบาตรด้วยความไม่ละโมบ นี่คือวิถีทางของการรับบาตร
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Kittipong ใน ประสบการณ์ทางวิญญาณของศิษย์พุทธะ และอยู่กับปู่
คำสำคัญ (Tags)#จิตวิญญาณ#ประสบการณ์
หมายเลขบันทึก: 58880, เขียน: 12 Nov 2006 @ 15:40 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 16:19 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 5, อ่าน: คลิก
อกรณียกิจ
"อกรณียกิจ" คือ กิจที่ภิกษุไม่ควรทำมีอยู่ ๔ อย่างคือ เสพเมถุน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ อวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งหลวงปู่ได้อธิบายให้แจ่มชัดลงไปว่า ข้อว่าด้วย "เสพเมถุน" คือการเสพเมถุน กับสัตว์ มนุษย์ ซากศพ และกับบุคคลทั่วไป ข้อว่า "ฆ่าสัตว์" ก็คือห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด (แต่ในปาราชิก ๔ หมายถึง สัตว์ที่เป็นมนุษย์) เพราะเป็นภิกษุต้องมีเมตตา ข้อ "ลักทรัพย์" คือห้ามลักทรัพย์ทุกชนิดโดยไม่จำเป็นว่ามีราคาเท่าไร ส่วนการพูด "อวดอุตริมนุสธรรม" พูดโดยเจตนาที่อยากอวด ต้องการให้ผู้ฟังเชื่อเราว่าเรามี อวดด้วยความคิดว่า เราเป็นผู้วิเศษในสายตาของผู้ฟัง หรือก็คืออย่าพูดโกหกนั่นเอง เจตนาเหล่านี้ถือว่าเป็นอกรณียกิจ อกรณียกิจเป็นข้อที่ห้ามไว้กว้าง ไม่มีโทษตายตัว เด็ดขาด แต่อย่าทำ
ไตรสิกขา
เมื่อรู้อนุศาสน์ ๘ แล้ว ต่อไปคือ สิ่งที่ภิกษุจะต้องศึกษามีอยู่ด้วยกัน ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
"ศีล" เมื่อศึกษาแล้วจะ "รักษา" กาย วาจาใจ ให้ตั้งมั่น
"สมาธิ" ศึกษาแล้ว "ทำให้" ใจตั้งมั่นได้
"ปัญญา" ศึกษาแล้วทำให้รอบรู้เท่าทันกระบวนการของกองสังขาร กองสังขารที่รวมทั้งร่างกายของเรา ร่างกายของผู้อื่น สัตว์อื่น บุคคลอื่น และสิ่งอื่นๆ รอบๆ ตัวเรา ซึ่งประกอบด้วย ธาตุ ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่คือ การศึกษาโดยปัญญา
อาบัติ
อาบัติ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาสิต
"อาบัติ" คือ กิริยาที่ล่วงละเมิดพระบัญญัติมาตราหนึ่งๆ และมีโทษเหนือตนอยู่ พระบัญญัติ ก็คือ ข้อห้าม และข้ออนุญาตที่พระศาสดาทรงตั้งขึ้น เมื่อผิดพระบัญญัติถือว่าเป็นอาบัติ
ความหมายแห่งนักบวช
พระธรรมวินัย ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่ศึกษา ไม่จัดว่า เป็นการครบองค์ประกอบของนักบวช ไม่ครบความหมายแห่งนักบวช ไม่ใชสูตรสำเร็จของนักบวช และเมื่อผิดจะมาอ้างว่าไม่รู้ก็ไม่ได้ เหมือนคนที่ทำผิดกฎหมาย จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมายก็ไม่ได้ ถึงจะรู้หรือไม่รู้ ก็ยังมีความผิด เพราะฉะนั้นกิริยาล่วงละเมิดที่ทำให้เกิดอาบัติ จะมาอ้างไม่รู้ก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พระอุปัชฌาย์ บอกแก่ผู้บวชตั้งแต่วันแรกให้รู้เรื่อง กติกา และนิสัยของนักบวช กติกาหรืออกณียกิจมี ๔ นิสัยมี ๔ เรียกว่า อนุศาสน์ ๘ แล้วก็สอนให้เรียนรู้เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญาตั้งแต่อยู่ในโบสถ์ บวชครั้งแรกสอนให้เรียนรู้เรื่องสัจจะปัญจะกัมมัฏฐาน (คำศัพท์บาลีอาจจะไม่ตรง : ผู้เขียน) คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ และ พระพุทธเจ้าก็สอนให้เรามีสติ ในการรักษาศีล มีสติในการรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย มีสติในการพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจสอบ พิสูจน์ทราบในการกระบวนการคิด พูด ทำ จะได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด หลวงปู่ท่านจึงบอกว่า การอยู่ในพระธรรมวินัยนั้น ต้องรู้ให้ชัด รู้ให้จริง รู้แล้วต้องทำได้ และต้องมีกระบวนการในจิตวิญญาณ
ความตระหนักสำนึก
เช้าวันหนึ่งที่อากาศหนาวเหน็บมาก ทำให้พระนวกะหลายรูปไม่ได้มาร่วมทำวัตรเช้า สวดมนต์ ซึ่งปกติจะมีพระนวกะบางรูป บางกลุ่ม ไม่มาร่วมทำสังฆกรรมคือขี้เกียจ เริ่มทำตัวตามใจกิเลสตน แต่วันนี้อากาศหนาวมาก ยิ่งทำให้พระน้อยลงไปอีก ตอนเช้าและตอนสายของวันนั้นหลวงปู่จึงได้สอนว่า ที่หลายท่านไม่มาร่วมทำสังฆกรรมเหมือนกันนั้น เพราะไม่มีความตระหนักสำนึก ไม่มีความสำนึกในหน้าที่ของนักบวช ทำตัวเป็นดักแด้ หลวงปู่บอกว่า วิถีพุทธ ที่พวกเรากำลังดำเนินอยู่นี้ เป็นวิถีทางที่จะต้องฝืนกับกระแสของโลก การที่เราเพียรพยามจะกระทำดีนั้น บางครั้งก็ต้องฝืนกับชีวิตของผู้คนในทางโลก
เหมือนดั่งพระโพธิสัตว์ ที่พยายามจะว่ายทวนกระแส ไม่ให้ตกอยู่ในวังวนแห่งกระแส สรรพชีวิตทั้งหลายยังรู้จักที่จะเอาตัวรอด รู้จักที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่รอด ชีวิตของคนก็เหมือนกัน เป็นวิถีชีวิตที่ประเสริฐ ดังนั้นจึงต้องฝึกหัด ปฏิบัติเรียนรู้ ทำให้คนกลายเป็นมนุษย์ เป็นการทำชีวิตให้ทวนกระแส เหมือนดังปลาว่ายน้ำทวนกระแสเพื่อจะไปวางไข่ ให้เผ่าพันธุ์ของตนได้ดำรงต่อไป น้ำที่อยู่รอบๆ ตัวปลา ก็คืออารมณ์รอบๆ ตัวเรา ซึ่งมีทั้งน้ำแห่งอารมณ์ชอบ ชัง ยอมรับ ปฏิเสธ ลากถูเราไปสู่น้ำที่สกปรก เชี่ยวกราก วกวน รุนแรง ดังนั้นมนุษย์ ถ้าไม่ฝึกหัด ปฏิบัติ เรียนรู้ ก็จะทำให้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำ
แล้วหลวงปู่ก็ได้พูดถึงความหมายของคำว่า "ตบะ" ว่าการสร้างสมบุญ บารมี สะสมปัญญา นำมาซึ่งคำว่าบุญ และการจะเป็นคนแกร่ง คนกล้าได้นั้นต้องได้มาจากคำว่า อดทน อดกลั้น เมื่ออะไรเกิดขึ้นกับใจ จะเกิดโดยชอบธรรมหรือชอบใจก็ตาม ต้องอดทนอดกลั้นได้ และต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตน ไม่ทำร้าย ทำลายประโยชน์คนอื่น ทำลายดุลยภาพ ประโยชน์ส่วนรวม
ดังนั้น ทุกคนจึงต้องมีความตระหนัก ต้องมีความสำนึกถึงสถานภาพว่า ตอนนี้เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ ทำแล้วได้บุญมากน้อยแค่ไหน มีบารมีไปแล้วเท่าไร อย่าปล่อยให้ตกอยู่ในความอยาก ต้องปลดปล่อยเครื่องร้อยรัด พันธนาการต่างๆ ในคุกขังของสมอง การบวชเพื่อสั่งสมเนกขัมมะบารมี ต้องไม่บวชแต่ซาก หากบวชแต่ซากเป็นการซื้อนรก เราต้องมีความเพียร มานะ เราต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความอดทน มานะ บากบั่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการดูถูกข้าว น้ำของชาวบ้าน เมื่อมาบำเพ็ญบารมี มาสร้างตบะ ต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองหลงใหลไปกับอารมณ์แห่งความชอบ ยอมรับ ปฏิเสธ น้ำดีนั้นย่อมที่จะไม่ยุ่งกับน้ำครำ น้ำคลอง เทียนย่อมไม่เปียกน้ำ บุรุษแกร่งจึงย่อมไม่หมักหมมในสิ่งโสโครก ความผิดถูกนั้นมีอยู่กับทุกคน ไม่ต้องคิดที่จะเปลี่ยนคนอื่น ให้เปลี่ยนตัวเองให้เข้าสู่สังคม มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม ต้องไม่ปฏิเสธสังคม อย่าไปเปลี่ยนคนอื่นต้องเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับคนอื่น
จงทำวิถีชีวิตให้เหมือนน้ำ เพราะน้ำสามารถจะอยู่ได้ในทุกที่ ทุกถิ่น แล้วเราจะได้เป็นคนยิ่งใหญ่ในโลก หัดที่จะใช้สิ่งแวดล้อมเป็นครูสอน หลวงปู่ท่านได้พูดไว้ว่าอยากให้ทุกคนเหมือนกันในการเรียนรู้พระธรรม ดังคำโบราณที่ว่าน้ำหยดบนหินทุกวัน หินยังกร่อน สำคัญคือหิน (ตัวเรา) จะยอมให้น้ำ (พระธรรม) หยดหรือเปล่า ขยันที่จะทำดีให้แก่ชีวิตตัวเอง แล้วการบวชจะได้เป็นการบำเพ็ญบารมีที่แท้
อบรมพระวิปัสสนาจารย์ ณ วัดปลักไม้ลาย
เมื่อได้อบรมศึกษาธรรมที่วัดอ้อน้อยได้ประมาณครึ่งเดือน ความสงบแห่งชีวิตสมณะก็มาสู่พวกเรามากขึ้น จนวันหนึ่ง หลวงปู่ได้แจ้งให้พวกเราทราบว่า จะพาพวกเราไปร่วมอยู่ธุดงค์กับพระในจังหวัดนครปฐม เพื่ออบรมพระวิปัสสนาจารย์ (รุ่นที่ ๑ ครั้งที่ ๒) ที่วัดปลักไม้ลาย เป็นเวลาทั้งหมด ๗ วัน
การได้ธุดงค์ครั้งแรกหลังจากบวชนั้น พระนวกะทุกคนตื่นเต้นที่จะได้ใช้ชีวิตของพระที่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเตรียมตัวกันอย่างไร ในเช้าวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ หลังจากตื่นนอนทุกคนก็เก็บสัมภาระที่เห็นว่าจำเป็น โดยเฉพาะกลดสามฤดูใหม่ที่ทุกคนนำไปด้วย แต่ผมไม่ได้เอาไปเพราะเห็นว่ามันหนัก จึงใช้กลดมุ้งใสธรรมดา พอฉันเช้ากันเสร็จ ทุกคนมารวมตัวที่ศาลา เพื่อแบ่งกลุ่มและทำความเข้าใจว่าเราต้องไปทำอะไร ไปในฐานะอะไร ลูกศิษย์ใคร
พวกเราเริ่มเดินจากวัดอ้อน้อย ไปวัดปลักไม้ลายซึ่งก็มีระยะทางประมาณ ๕-๖ กม. โดยมีของติดตัวไปไม่มากทั้งผ้าครองสามผืน บาตร กลด ผ้ายาง และของใช้ส่วนตัว ดูพระแต่ละองค์ท่าทางทะมัดทะแมง โดยทยอยกันเดินไปเป็นกลุ่ม การเดินทางในครั้งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกองทัพธรรม ออกไปเผยแผ่ธรรม แสวงบุญ แต่ดูแล้วกองทัพยังขาดระเบียบไปหน่อย ยังเล่นๆ กัน เดินไปคุยไป เมื่อถึงวัดปลักไม้ลายก็ฉันเพลที่นั่น บริเวณรอบวัดดูร่มรื่นดี มีต้นไม้เยอะ แล้วเคยเป็นป่าช้าเก่าด้วย ความเก่าแก่จะเห็นได้จากมีต้นไม้เก่าแก่เช่น ต้นโพยพาย อายุกว่า ๑๐๐ ปี จากนั้นพวกเราก็หาสถานที่ปักกลด โดยผมเลือกที่ใต้ต้นไม้หน้าสุสาน บริเวณรอบๆ วัดเป็นป่า มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกต้นไม้ สมุนไพรต่างๆ สภาพป่าก็เป็นป่าจริงๆ ไม่ค่อยได้ดูแลกันมาก ผมเห็นมีการตั้งเตาสำหรับกระทะใบใหญ่ เพื่อต้มยาสมุนไพร ทั้งยาแก้กษัย ยาบำรุงธาตุต่างๆ ซึ่งยาบางชนิดเมื่อฉันแล้วเป็นยาระบายดี
การได้มาร่วมอบรมครั้งนี้ทำให้เห็นว่า วิถีของการปฏิบัตินั้นมีความสำคัญอย่างไร ดังคำโอวาทของพระเทพคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดที่กล่าวไว้ว่า "...การเรียนธรรมะนั้นต้องฝึกทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ การได้มาอบรม ฝึกฝนนั้น เป็นการแสดงออกซึ่งความตั้งใจมั่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องตั้งใจ เรียนรู้ปฏิบัติให้เต็มความสามารถ ให้เต็มกำลัง เพื่อทำความเจริญงอกงามแก่ตนและพระศาสนา โดยมีพระธรรมเป็นที่หมาย เพื่อเป็นสัตบุรุษ และจะได้เจริญในธรรมยิ่งๆ เพราะว่าพระภิกษุในจังหวัดนครปฐมนี้มีความเจริญ มีความสามารถทางด้านปริยัติก็มาก เปรียญธรรม ๙ ประโยคก็มาก หรือไม่ก็มีพระเกจิอาจารย์ที่มุ่งเป่า ปลุกเสก เอาวัตถุมาเป็นศรัทธาสร้างวัด เป็นการสร้างความเจริญเฉพาะบุคคลคนหนึ่ง ในสมัยหนึ่ง ไม่ได้ยั่งยืน มิได้ก่อให้เกิดความเจริญแก่พระศาสนาในระยะยาว ดังนั้นเรื่องการปฏิบัติธรรม จึงเป็นของยั่งยืน มั่นคง ไม่มีกาล ไม่มีสมัย ทุกคนสามารถทำได้ สามารถดึงดูดศรัทธาผู้คน ให้เข้ามาปฏิบัติ ตรงกับคำสอนอย่างแท้จริง เราอาจจะเห็นได้จากพระป่า ที่มักจะมีผู้คนนิยม ชื่นชม เพราะท่านอยู่แต่ป่าดง ปฏิบัติ ปล่อยวาง ละเว้น ไม่มีอะไรเป็นเครื่องห่วง ดังนั้นเราต้องส่งเสริมให้ครบสูตรตามหลักธรรมทั้ง ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ ในเรื่องของการศึกษาปริยัตินั้นเป็นการศึกษาวิชาการใดๆ ในโลก ที่ต้องทำการค้นคว้า ทำการศึกษา ออกไปจากตัว แต่การปฏิบัติเป็นการเรียนเข้ามาหาตัวเอง เรียนตัวเอง พิจารณาให้เกิดปัญญา พิจารณาตัวเองเป็นหลัก..."
ก่อนที่จะมีการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ก็มีการ สมาทานธุดงค์ (สมาทาน-การถือเอารับเอาเป็นข้อปฏิบัติ, การถือปฏิบัติ เช่น สมาทานศีล คือรับเอาศีลมาปฏิบัติ) โดยมีหลวงปู่เป็นผู้นำ ซึ่งมีรายละเอียดคือ
๑. ถือจีวร ผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร
๒. งดเว้นการเที่ยวโลเล เพื่อบิณฑบาตร เดินเป็นแถว
๓. งดเว้นภาชนะที่สอง ฉันแต่ในบาตร
๔. งดเว้นเสนาสนะของชาวบ้าน อยู่แต่ในป่า
๕. งดเว้นที่มุง ที่บัง อยู่โคนไม้เป็นวัตร
จากนั้นหลวงปู่ก็พูดเสริมว่า มันเป็นภาระหน้าที่ของชาวสมณะ ตามความหมายแห่งพระอริยวินัย สิ่งที่ต้องเรียนรู้และต้องทำความเข้าใจในเรื่องผลแห่งการกระทำ กฎของกรรม เน้นเรื่องการทำดีได้ดี การจะทำดีนั้นมันต้องค่อยๆ ทำ ทำไปเรื่อยๆ ดังน้ำที่หยดลงตุ่ม สักวันหนึ่งมันก็จะเต็มตุ่มขึ้นมาเอง!
จากการที่ได้มาอยู่ร่วมฝึกอบรมกับพระวิปัสสนาจารย์หลายวันนั้น พอที่จะสรุปถึงสิ่งที่ผมรับรู้ เข้าใจ สัมผัส ได้ดังนี้
ศิลปะในการหายใจ (พื้นฐานวิชาลมเจ็ดฐาน)
หลวงปู่ได้กล่าวแก่พวกเราระหว่างที่อบรมว่า ต้องพยายามหาโอกาสฝึกปรือสรรพวิชาให้แกร่งกล้า โดยการมีสติที่ตั้งมั่น เมื่อมีสติก็เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็เกิดปัญญา สติที่พูดถึงนี้คือ สติที่ไม่จำกัดเวลา และรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต เป็นมหาสติคือระลึกรู้ทุกอิริยาบถว่ากายนี้มีความตั้งมั่น ที่สำคัญคือใจ เราต้องเอาชนะด้วยวิถีทางของผู้นำ ผู้กล้า
เมื่อจะเริ่มต้นเจริญสติทุกครั้งนั้น ท่านจะสอนให้พวกเราสูดลมหายใจเข้าลึกๆ กลั้นลมหายใจไว้สักพัก แล้วปล่อย เราจะกลายเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ ไม่เหลวไหล เราต้องมีวิธีชาญฉลาดที่จะเอาชนะ ถ้าง่วงก็บิดตัว หมุนตัว จากนั้นจึงหลับตา นั่งตัวตั้งตรง โครงสร้างของกระดูกต้องไม่งอ หายใจเข้าลึกๆ ผ่อนลมออกยาวๆ หายใจเข้าทางจมูก ผ่านลำคอ อก ช่องท้อง เมื่อจะหายใจออก ก็ให้ลมนั้นผ่านมาทางกระดูกสันหลัง คือศีรษะ และพ่นออกมาทางปาก เมื่อหายใจได้อย่างนี้จนเป็นปกติแล้วจึงเอาจิตนั้นมาจับที่โครงกระดูก ที่กะโหลกศีรษะ ให้ไล่จากบนลงมาทางหน้าผาก เบ้าตา สันจมูก บริเวณปาก ฟัน คาง แล้วย้อนขึ้นทางด้านข้าง จนถึงช่องใบหูทั้งสองข้างแล้วก็ย้อนกลับมาที่กระหม่อมอีกครั้ง โดยเอามือคลำที่กะโหลกศีรษะ แล้วเอาจิตจับที่การจับกะโหลกนั้นไปด้วย
หลวงปู่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเกิดจิตฟุ้งซ่าน ให้กลั้นลมหายใจเอาไว้ การที่เราฝึกอย่างนี้บ่อยๆ พยายามที่จะข่มใจเอาไว้ เมื่อปฏิบัติได้ถึงจุดจุดหนึ่งแล้วจะสามารถสัมผัส รับรู้ รับทราบถึงสิ่งต่างๆที่ปราณีตขึ้น มีการสัมผัสที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น จะรู้รสสิ่งอันเลิศ จะมีการสัมผัสอันละเอียด แต่ถ้าไปหลงใหล ไปยึดติดกับมัน จะทำให้หลงได้
อานาปานสติ
อานาปานสติ คือ การพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก รู้อารมณ์ขณะหายใจ หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ต้องรู้ว่าเราหายใจเข้าสั้นหรือยาว อย่างนี้เป็นการพิจารณาแบบอานาปานสติ การพิจารณาอานาปานสติถือได้ว่า เป็นชีวิต เป็นเครื่องอยู่ เป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นลมหายใจ ผู้ที่เจริญอานาปานสติ อย่างสม่ำเสมอ สามารถทำให้กระดูกเป็นผลึกได้ อานาปานสติเป็นการใช้สติ พิจารณาภายในลมหายใจ พิจารณาระลึกอยู่แค่ปลายจมูก ให้รู้ว่าเข้ายาว ออกยาว ให้ "รู้" อยู่แค่นั้นแต่ไม่ได้ให้ตามกองลม (ถ้าฝึกแบบลมเจ็ดฐาน ต้องตามกองลมไปตามจุดต่างๆ) ซึ่งตาม "คัมภีร์วิสุทธิมรรค" ได้บอกไว้ว่า ถ้าตามกองลมนั้น จะทำให้งานมากขึ้น ดังนั้นขอเพียงแค่มีสติ รับรู้กองลมที่เข้า-ออก
แต่หลวงปู่บอกว่า ชอบที่จะทำงานมากๆ ให้กับจิต เพราะจิตมันว่องไว รวดเร็ว โดยที่เราตามรู้ลมเข้า เข้าไปตามจุดต่างๆ กระทบตรงปลายจมูก รูจมูก หลอดลม คอ หน้าอก ช่องท้อง โดยให้เป็นการหายใจเข้าที่สูดกลิ่นอาย ชีวิต พลัง ความสามารถ สิ่งดีๆ เข้าไป แล้วผ่อนลมออก ก็รู้ว่าลมออกมาไปกระทบโครงสร้างของตน โดยผ่านโครงกระดูกสันหลัง หัวไหล่ ต้นคอ ขึ้นมาถึงจอมประสาท แล้วผ่อนลมออก (เคล็ดการเดินลมแบบตัว "จ") อย่างผ่อนคลาย ยาว สบาย การที่จะกำหนดลมหายใจได้สั้นยาว แค่ไหนนั้น ต้องดูที่ศักยภาพของกายเราด้วย ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ได้แนะวิธีการฝึกให้เป็น ๔ ระยะคือ
ระยะที่ ๑ - รับรู้ เพียงแค่ลมหายใจเข้า-ออก ให้มีแต่เพียงการรับรู้
ระยะที่ ๒ - หายใจเข้า-ออก แล้วนับเป็นคู่ โดยนับเป็นคู่ๆ ไป
ระยะที่ ๓ - หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว โดยต้องผ่อนคลาย
ระยะที่ ๔ - อาสติจับอยู่แต่ที่ลมหายใจ
เมื่อเราฝึกฝนไปถึงขั้นหนึ่งตามแบบอานาปานสติ ก็จะถึงขั้นปฐมฌาน จะทำให้ดูเหมือนว่า ลมหายใจนั้นหายไป แต่จริงๆ แล้วยังหายใจอยู่ แต่เบา สบาย จนไม่ได้รับรู้ความรู้สึกนั้น สิ่งที่สำคัญต้องมีสติ ระลึกอยู่ว่าเรากำลังหายใจอยู่ เมื่อทำได้อย่างนี้ จะเป็นการเอาชนะตัวเอง เอาชนะความง่วงได้ ซึ่งขึ้นอยู่ที่การฝึก และสรรหาวิธีอันชาญฉลาดมาใช้ฝึกตน
การโยกโคนรับรู้น้ำหนัก (พื้นฐานวิชาเท้านารี)
ระหว่างที่อยู่วัดปลักไม้ลาย บางครั้งหลวงปู่ได้มาแนะนำวิธีฝึกสติแบบการโยกโคนรับรู้น้ำหนัก โดยมีวิธีการดังนี้คือ ให้ยืนอย่างผ่อนคลาย ตั้งตัวตรง เท้าห่างกันเล็กน้อยประมาณฝ่ามือหนึ่ง ปลายเท้าขนานกัน สายตาทอดลงต่ำ ขั้นแรกให้พยายามจับน้ำหนักสมดุลของร่างกาย โดยน้ำหนักทั้งหมดต้องลงมาที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างเสมอกัน เมื่อรับรู้ว่าเรากำลังยืนอยู่และน้ำหนักที่ฝ่าเท้าสมดุลแล้ว ก็ค่อยๆ ถ่ายเทน้ำหนักไปทางซ้าย โดยค่อยๆ โน้มตัวไปตามน้ำหนัก เท้าขวาลอยยกส้นเท้าขึ้นแต่ปลายเท้ายังแตะพื้น แล้วค่อยๆ ถ่ายเทน้ำหนักมาทางขวา โดยจับที่น้ำหนักของร่างกาย ความสมดุลของน้ำหนักในร่างกาย คล้ายๆ กับการเอียงถุงน้ำ ที่น้ำหนักถ่ายเทไปข้างใดข้างหนึ่ง โดยเอาสติจับที่น้ำหนักทางขวา เท้าซ้ายยกส้นลอย ปลายเท้าแตะพื้น (พื้นฐานวิชาเท้านารี) จากนั้นก็ถ่ายเทน้ำหนักไปมาซ้าย ขวา โดยเอาสติจับที่น้ำหนัก รับรู้ว่าเท้าด้านหนึ่งน้ำหนักมากขึ้น เท้าอีกด้านหนึ่งน้ำหนักค่อยๆ น้อยลง ดูความเป็นไปของน้ำหนัก และความสมดุลของร่างกายไปเรื่อยๆ หากทำไปเรื่อยๆ เราจะรับรู้ถึงไออุ่นบางอย่าง เกิดที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้าง โดยไออุ่นชนิดนี้เป็นปราณอย่างหนึ่ง การฝึกอย่างนี้ เป็นการทำให้ลำไส้ ระบบขับถ่ายดี โดยที่หากฝึกประจำ จะทำให้การเดินรวดเร็วขึ้น เบาขึ้น ยาวขึ้น เหนื่อยน้อย เพราะเป็นการเดินตามหลักฟิสิกส์ (PHYSICS) การที่ถ่ายเทน้ำหนักไปมานั้น จะทำให้เกิดความสมดุลในการก้าวเดินได้อย่างดี
อบรมพระวิปัสสนาจารย์ ณ วัดวังตะกู
ประสบการณ์อันล้ำค่าที่ได้รับจากหลวงปู่อย่างหนึ่งก็คือการได้มาร่วมอบรมพระวิปัสสนาจารย์ของพระในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นการอบรมครั้งที่ ๓ ของพระรุ่นที่ ๑ จากจำนวนทั้งหมด ๗ ครั้ง ใช้เวลาอบรมทั้งหมด ๑๕ วัน หลักสูตรที่ใช้ในการอบรมพระครั้งนี้คือหลักสูตร "มหาสติปัฏฐาน" ซึ่งเรื่องราว ความรู้ วิชาต่างๆ มากมาย หลวงปู่ได้ถ่ายทอด บอกกล่าวเล่าสอนให้พระทั้งหมดได้รับรู้ ซึ่งผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในการอบรมครั้งนี้ โดยผมจะพยายามรวบรวมองค์ความรู้ หลักธรรมต่างๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ประโยชน์สูงสุด เท่าที่จะทำได้
มูลกำเนิดมหาสติปัฏฐานสูตร
(จาก พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ ๑๔ ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า ๒๕๘-๒๙๐)
เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสพระสูตรนี้ว่า
"...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางเดียว ก็เพราะชนชาวแคว้นกุรุสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งได้..."
เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจด้วยเสพปัจจัย คือฤดูที่สบาย เพราะแคว้นนั้น สมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะ เป็นต้น ชาวกุรุนั้น มีกำลังปัญญา อันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ จึงทรงยกกัมมัฏฐาน ๒๑ ฐานะ ใส่ลงในพระอรหัต ตรัสมหาสติปัฏฐานสูตร ที่มีอรรถลึกซึ้งนี้ แก่ชาวกุรุเหล่านั้น เปรียบเสมือนบุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม้นานาชนิดลงในผอบทองนั้น หรือว่าบุรุษได้**บทองแล้ว พึงใส่รัตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้แล ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงสูตรอื่นๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้งในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้ ก็คือมหานิทานสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ก็คือ สติปัฏฐานสูตร รุกโขปมสูตร มาคัณฑิยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร
อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้น ต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติโดยที่สุด คนรับใช้และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้าย เป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า "แม่จ๊ะ แม่ใส่ใจสติปัฏฐานข้อไหน" ถ้านางไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนนางว่า "น่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว" จากนั้นก็จะสอนว่า อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ แล้วให้เรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง แต่ถ้าสตรีใดพูดว่า "ฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นเจ้าค่ะ" ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า "สาธุ สาธุ" แก่นาง สรรเสริญด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตดีสมกับที่เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าแท้ๆ ในข้อนี้ มิใช่ชาวกุรุที่เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยการใส่ใจสติปัฏฐานแต่พวกเดียวเท่านั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่อาศัยชาวกุรุอยู่ ก็ใส่ใจเจริญสติปัฏฐานด้วยเหมือนกัน
มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นสูตรที่ยิ่งใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญของการเจริญกัมมัฏฐาน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ซึ่งจะต้องแยกในการพิจารณาทีละข้อ หัวข้อที่หลวงปู่ได้อบรมครั้งนี้เป็นเรื่องหมวด "กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน" ซึ่งมีหัวข้อย่อยสำหรับการพิจารณา แยกย่อยออกอีก ๖ บรรพ (อ่านว่า บัพพะ , บรรพ-ข้อ, เล่ม, หมวด, ตอน, กัณฑ์) ดังนี้คือ
- อานาปานบรรพ
- อิริยาบถบรรพ
- สัมปชัญญบรรพ
- ปฏิกูลบรรพ
- ธาตุบรรพ
- นวสีวถิกาบรรพ
จากพระไตรปิฎก (ฉบับซีดีรอม มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่ ๒๗๓ หน้าที่ ๒๙๘ ได้บันทึกเกี่ยวกับ มหาสติปัฏฐาน หมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไว้ว่า
มหาสติปัฏฐานสูตร (๒๒)
[๒๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกุรุชนบท มีนิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า "พระพุทธเจ้าข้า" พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อ ความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ ๑ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑ ฯ
จบอุทเทสวารกถา
[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นภายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อ หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเรา หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้า สั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอด กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกอง ลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า