ใครช่วยใครกัน(แน่)


Win-Win to Happiness, สรุปได้ว่าทุกคนเกิดพลังในการทำงานหมดเลย เกิดความรู้สึกเป็นสุข และมองเห็นว่าปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดจากการทำงานของตนเอง เป็นเรื่องเล็กลงไปอีกมาก ไม่น่าจะทำให้เราทดท้อและต่อสู้กับชีวิตตนเองเลย

     ผมได้รับฟังเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่อดนำมาถ่ายทอดไม่ได้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเจ้าของเรื่องเล่าคงจะได้นำมาเล่าเองหลังจากที่หัดใช้ GotoKnow.Org จนคล่องแคล่วดีแล้ว เชื่อว่าอย่างนั้น ซึ่งคุณดวงใจ คำคง พยาบาลวิชาชีพ ผู้เดินเรื่องเครือข่ายคนพิการเล่าให้ผมฟังอีกที เรื่องมีอยู่ว่า…

     ทีมสหวิชาชีพ เครือข่ายหน่วยบริการ (CUP) เขาชัยสน ซึ่งมี รพ.เขาชัยสน สสอ.และ สอ.ต่าง ๆ ได้บูรณาการงานโดยมีกิจกรรมหนึ่งเป็นการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่เกิดความพิการขึ้น หลังจากแพทย์ให้กลับไปทำกายภาพบำบัดต่อที่บ้าน ผมจำชื่อผู้ป่วยไม่ได้รู้แต่เป็นผู้ป่วยกระดูกหักทำให้ทุพลภาพถาวร เคลื่อนไหวลำบาก ทีมงานได้ทำ BAR (Before Action Review) กันไปโดยไม่รู้ตัว เพราะต้องมีการเตรียมการกันอยู่แล้วในกรณีที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โดยสรุปผมฟังได้ว่าผู้ป่วยอาการไม่ดีนัก เกิดแผลกดทับได้ หากครอบครัวดูแลกันไม่ดีเท่าไหร่ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้น ทางทีมงานก็ได้เตรียมตัวกันไปเพื่อให้คำแนะนำและการพยาบาลที่ดีแก่ญาติและตัวคนพิการเอง

     แต่พอไปถึงกลับพบอีกสภาพหนึ่ง คือคนพิการมีอารมณ์ดี ดีใจที่ทางทีมงานไปเยี่ยม พร้อม ๆ กับโชว์ให้ดูว่าตัวเองทำกายภาพอย่างไรบ้าง ทั้งที่สร้างเครื่องมือขึ้นมาเอง และที่หมอแนะนำมา รายงานผลว่าหมอนวดพื้นบ้านที่ทาง รพ.ให้มานวดให้ (เบิกค่าใช้จ่ายกับ CUP) ก็มาอย่างสม่ำเสมอ ได้เพื่อนคุยด้วย ทีมงานประเมินว่าสุขภาพของลุงดีขึ้นมา ความพิการลดน้อยถอยลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ และที่สำคัญลุงคนพิการยังฝากบอกว่า ไม่ท้อเด็ดขาด ยังหวังว่าจะหายในเร็ววัน และถ้าหายเมื่อไหร่ก็จะไปเยี่ยมหมอกลับบ้าง ฝ่ายภรรยาที่คอยต้อนรับก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ในระหว่างที่เยี่ยมยังคุยหยอกล้อกับสามีที่พิการได้อย่างสบายใจ มีแซวกันตลอด ทีมงานเห็นภาพความสุขของการมีชีวิตในวิถีชาวบ้านที่ดูแลกัน อย่างไม่น่าเชื่อ

     พอเวลาผ่านไปสักพัก ก็มีเพื่อนบ้านในละแวกมาดูว่าหมอมาทำอะไรกัน ก็ได้ตั้งวงสนทนากันอีก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทีมงานเห็นคือ เพื่อนบ้านกันเขารักกันมากละแวกบ้านคนพิการรายนี้ มีการพูดเล่าย้อนเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่แกล้มเจ็บลง ไปอยู่ รพ.และกลับมาบ้านว่าแกดีวันดีคืน ต่างก็บอกว่าแกกลัวตาย (พูดล้อกันเล่น) แกจึงขยันทำกายภาพบำบัด และดูแลตัวเองดี ๆ รวมถึงครอบครัวแกก็ช่วยกันดูแลอย่างดี เหล่านี้เป็นคำชมของเพื่อนบ้านทั้งสิ้น

     พอได้เวลา ทีมงานลากลับ ก็ทำ AAR กันมาในรถ (โดยไม่รู้ตัวอีกครั้ง) และสรุปได้ว่าทุกคนเกิดพลังในการทำงานหมดเลย เกิดความรู้สึกเป็นสุข และมองเห็นว่าปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดจากการทำงานของตนเอง เป็นเรื่องเล็กลงไปอีกมาก ไม่น่าจะทำให้เราทดท้อและต่อสู้กับชีวิตตนเองเลย (พูดคุยกันในรถระหว่างกลับ)

     ผมได้แนะนำให้คุณดวงใจ คำคง ได้เขียนเป็น AAR ไว้ และหากเป็นไปได้เอาไปให้คนอื่นได้อ่านด้วย เพื่อล่อให้เขาได้เขียน AAR ไว้ด้วยในแต่ละคน ก็ได้ทราบว่าหลายคนเขียน ส่วนผมเองนั้นได้อ่านของคุณดวงใจ คำคง แล้ว ในใจนึกอยากจะอ่านของทุกคนที่เขียน เพราะเมื่อผมฟังที่เขาเล่าด้วยความปิติ ยิ่งได้อ่านที่เขียน AAR มาอีกที ผมก็ยังได้รับความสุข เกิดเป็นความปิติไปด้วย ตกลงเลยไม่ทราบว่า ใครช่วยใครกันแน่ ช่วยให้ได้รับความสุขใจ อย่างนี้ไม่เรียก Win-Win to Happiness แล้วจะเรียกอะไรได้อีก

 



ความเห็น (11)

คุณพัชราภา (DSS@MSU) ครับ

     ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมและทิ้งรอยไว้ เพื่อจะได้คิดกันถึงต่อไป ใช่แล้วครับผมว่าไม่เพียงแต่ Win-Win นะครับ พอใส่จิตวิญญาณในการทำงานเข้าไปด้วยก็เป็น Happiness ไปเลย
     ผมเพิ่งได้กลับมา และตามไปดูประวัติ พบว่าเครือข่ายคนพิการ จว.พัทลุง ได้แนวร่วมและพี่เลี้ยงผู้ให้คำปรึกษาคนสำคัญเข้าให้แล้ว อย่างไรก็ตามขอ(บังคับ)ให้รับเครือข่ายฯ ที่นี่เป็นเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมทาง ม.มหาสารคาม ด้วยนะครับ
     จริง ๆ แล้วผมรู้จักและประสานงานกันกับทีมงานที่ลงเยี่ยมทุกท่าน แต่เอ่ยได้เป็นชื่อเล่นและเกรงว่าจะไม่ครบถ้วน ไว้พรุ่งนี้จะขอเพิ่มเติมในส่วนนี้อีกครั้งครับ

  • ดีใจที่ทุกท่าน
  • เกิดพลังในการทำงานหมดเลย เกิดความรู้สึกเป็นสุข
  • ขอบคุณมากครับผม
  • ดีใจครับที่เครือข่ายแตกหน่อต่อยอดออกไปเรื่อยๆ
  • ขอบพระคุณมากครับที่บันทึกมาแบ่งปัน

น้องชายขอบ น้องบ่าวที่นับถือ

               พี่ว่าปิติหรือปีตินั่นแหละหรือจะเรียกอะไรก็ได้ที่เรียกแล้วมันรู้สึกว่าขนพอง.........เห็นเทคนิคนำภาพไปใส่ในหน้ารายการบันทึก อดใจไม่ได้ที่จะถามอีกว่าทำพรือ.....อย่ารำราญเด็ดขาดเชี่ยวแหละ

น้องชายขอบ น้องบ่าวที่นับถือ

          ทุย ๆ ๆ.....ทุย ไม่ถามแล้ว น่าจะเป็นที่ระบบของ gotoknow เขามากกว่า เพราะของพี่บางทีก็ขึ้นเหมือนกัน......หรือจะตอบหรือจะให้  คห หรือจะบอกอะไรก็ได้นะครับ

น้องชายขอบ น้องบ่าวที่นับถือ

            ระบบของเขาเองครับ (เหอ) พบแล้วเฉพาะหน้าที่เป็นรายการบันทึกในแพลนเน็ต......หรือไม่อย่างไร.......เห็นอะไรมาปรากฏตรงหน้าแล้วตกใจก็ทำท่าเอะไปอย่างนี้...บ้านเราว่า...ลาต้า...(อิอิ)

ชื่นใจจังที่ได้อ่านเรื่องแบบนี้ มีความสุขแต่เช้าเลย

มุมคลิ๊กของเรื่องคือ

เมื่อหยุดคิดว่า โรงพยาบาลและหมอพยาบาลคือผู้ให้(ที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้รับ)

แต่เปลี่ยนขั้วอำนาจ ทางความคิด สุขภาพไม่ใช่ของโรงพยาบาล และก้ไม่ใช่ของเฉพาะคนป่วยอีกต่อไป

สุขภาพก็จะเป็นของทุกคน ...คือของผู้ที่เจ็บป่วย ของผู้ที่เกี่ยวข้อง และของผู้ที่มีหน้าที่

แบบนี้ ไม่เรียกว่า คุณลุงนั้นพิการ disable แต่คือคนที่หน้าที่การทำงานยังไม่เท่าที่เคยมีและเป็นแต่ physical functional capacity เท่านั้น

แหม..อยากเขียนเรื่องคนพิการในมุมมองนี้จังเลย...

เขียนปนเปอังกฤษเพราะว่าเนตหลุดไปรอบ ขี้เกียจเปิดดิกอีก....ไม่ว่ากันนะคุณชายขอบ

 

อ่านเรื่องเล่านี้แล้วมีความสุขจริงๆ.

.เห็นด้วยกับความเห็นของคุณไร้นามที่ว่าสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนค่ะ .

..แพทย์กับพยาบาลหรือจนท.รพ.เราเป็นแต่ผู้ช่วยยามเบื้องต้นแต่กระบวนการสำคัญอยู่ที่ตัวผู้ป่วยและสังคมแวดล้อมที่จะช่วยกันสร้างคุณภาพชีวิตและการปรับตัวเมื่อประสบปัญหายามเจ็บไข้ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างไร.

.ถึงไม่ได้อยู่ในทีมที่ไปเยี่ยมบ้านลุงแต่ก็รู้สึกมีความสุขไปกับภาพในใจที่มองเห็นค่ะ..

  • ดีใจนะคะ ที่เห็นงานเขียนใหม่ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท