ออกพื้นที่สังเกตการทำแผนแม่บทชุมชน


ผมเข้าที่ทำงานก่อนเจ็ดโมงเช้า เพื่อรีบไปจัดการงานบางอย่างก่อนที่จะออกพื้นที่ แต่งานยังไม่เสร็จ ต้องรีบเดินลงจากชั้นสามไปตามนัดคือ แปดโมงครึ่ง นักศึกษาพร้อม อาจารย์ที่ดูแลนักศึกษาพร้อม รถตู้ ๓ คัน พร้อม แต่ละคนค่อยๆก้าวย่างขึ้นรถ รถตู้เคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัย มุ่งไปทางอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แต่เราไม่ได้ไปอำเภอเสนา เราไปอำเภอลาดบัวหลวง บ้านหัวคู ตำบลพระยาบันลือ แต่กว่าจะเข้าถึงหมู่บ้านก็ทะลักทุเลพอสมควร ดีหน่อยตรงที่ เราไม่หลงทาง ต้องขอบคุณไลน์ ที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา ถ่ายรูปลงให้เห็นได้ด้วย

เก้าโมงกว่าๆ รถมาถึงส่วนกลางของหมู่บ้าน คือส่วนของสหกรณ์ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน เป็นศาลาแปดเหลี่ยม

เห็นศาลานี้แล้ว นึกถึงศาลามรรค ๘ ที่พุทธมณฑล แต่ศาลาที่พุทธมณฑลนั้นดูมีราคามากกว่าศาลาหลังที่เห็นนี้ แต่ศาลาหลังนี้ก็ดูสร้างแล้วคุ้มค่า เพราะเป็นที่ใช้สอยของชาวบ้าน ทั้งงานแต่ง งานบวช และงานอื่นๆ...นักศึกษาลงจากรถค่อยทยอยเดินเข้าสุ่ศาลาแปดเหลี่ยมทีละคนสองคน

จากนั้นก็ช่วยกันจัดสถานที่ จัดเตรียมเก้าอี้ ติดป้ายประกาศ ขณะที่ชาวบ้านและวิทยากรจำนวนหนึ่งมารออยู่ก่อนแล้ว

วิทยากรหลัก ๒ ท่านคือ ลุงสำรวย กับพี่คำจันท์ เมื่อนักศึกษาและอาจารย์นั่งประจำที่แล้ว อาจารย์เจ้าของโครงการคืออาจารย์ ดร.สามารถ จันทร์สูรย์จึงแนะนำนักศึกษาให้คณะกรรมการและชาวบ้านได้ทราบ ขณะที่ลุงสำรวยแนะนำตัวชาวบ้านและกรรมการให้นักศึกษารับทราบเช่นกัน

บรรยากาศประกอบด้วยมิตรภาพ ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมากมาย เมื่อถึงเวลาก็ดำเนินการกันเลย ไม่ต้องเชิญใครต่อใครทอดผ้าบังสุกุลใดๆ หลังจาก วิทยากรให้ความรู้พักใหญ่ จากนั้น ให้นักศึกษาไปเรียนรู้จากชาวบ้าน โดยชาวบ้านหนึ่งคน จะมีนักศึกษาจำนวน ๒-๓ คนเดินตามไปเก็บข้อมูลจากปากคำของชาวบ้าน อาจารย์ประกาศิต กับอาจารย์มนูญ ไปคุยรายละเอียดเพิ่มเติมจากพี่คำจันท์

พี่คำจันท์ให้ข้อมูลอย่างพรั่งพรู จากนั้นจึงแยกย้ายไปดูนักศึกษาที่ไปเก็บขอมูลจากชาวบ้านแต่ละบ้าน พื้นที่ของหมู่บ้านนี้ มีความเป็นมาน่าศึกษา และน่าจะเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของการสร้างเศรษฐพอเพียงได้ เดิมทีชาวบ้านต้องเช่าที่คนอื่นอยู่อาศัย ต่อมามีการรวมกลุ่มสหกรณ์ขึ้น ทำโครงการแผนแม่บทชุมชน จัดการซื้อที่ดินของเจ้าของที่ดินต่างๆในพื้นที่เดียวกัน แล้วแบ่งที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านครอบครัวละหนึ่งไร่ (บางครอบครัวที่มาอยู่ใหม่ แบ่งให้สองงาน เพราะที่ดินมีจำกัด) ทุกวันนี้บางครอบครัวยังไม่สามารถย้ายบ้านมาในพื้นที่ที่ตนได้รับการจัดสรรได้ เพราะยังไม่มีเงินพอที่ย้ายบ้าน ดังนั้น สิ่งที่ทำคือการปลูกพืชต่างๆ เช่น กล้วย มะม่วง ฯลฯ และผักสวนครัวโดยไม่ต้องซื้อจากตลาด ชาวบ้านบอกว่า กำลังรอในหลวงเสด็จ ทำเอาผมคิดในใจว่า คำนี้กลายเป็นคำทั่วไปแล้วหรือ จำได้ว่า เป็นคำที่ผมมักใช้เป็นประจำเมื่อคุยกับพี่ๆ เพื่อจะบอกว่า เบี้ยน้อยหอยน้อย และเพิ่งได้ยินจากปากชาวบ้านในคราวนี้เอง นั่นหมายถึง รอธนบัตรที่มีรูปในหลวงนั้นมาอยู่ในครอบครองที่เพียงพอแล้ว จะทำการย้ายบ้าน อย่างไรก็ตาม ถ้าในหลวงเสด็จมาจริง เข้าใจว่าทุกอย่างจะได้รับการดำเนินการจากภาครัฐเป็นอย่างดีแน่นอน

ขอย้อนไปถึงตอนที่นั่งฟังวิทยากรกำลังบรรยาย มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นกับผมเช่น เดี๋ยวนี้ชาวนาบางคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะนำเอาพันธุ์ข้าวที่นายทุนจดลิขสิทธิ์ไว้ไปเพาะขาย ทำให้ผมคิดว่า เมืองไทยทุกวันนี้ช่างก้าวหน้าขนาดนี้ไปแล้วหรือ ช่องว่างระหว่างคนกับคนค่อยๆขยายออกไปเรื่อยๆ โดยมีเงินเป็นตัวกลางเพื่อฆ่าฟันกันและกัน ชาวนาทุกวันนี้ต้องซื้อน้ำทำนา การทำแผนแม่บทจะเริ่มต้อนจากปัญหาของชาวบ้านก่อน ฯลฯ

แหงนมองดูหลังคาของศาลาแปดเหลี่ยม ที่ผมมักจะนึกถึงศาลามรรคแปดอยู่บ่อยๆ ศาลาหลังนี้ช่างเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเสียเหลือเกิน แตกต่างจากคนบางคน หาประโยชน์สุขให้ชาวบ้านไม่ได้เลย

ทางเดินระหว่างหมู่บ้านนั้น ยังเป็นดินไม่ได้มีการราดยางหรือเทปูนใดๆทั้งสิ้น แต่มีร่องรอยของหินที่ถมทำถนน

ถึงอย่างนั้น รถสามารถที่จะเข้าถึงได้ทุกบ้าน กลุ่มของเราเดินผ่านไปบ้านหนึ่ง เห็นตอไม้ ทราบจากชาวบ้านว่าเป็นตอไม้สัก ที่เคยปลูกไว้ก่อนน้ำท่วม หลังจากน้ำท่วมแล้ว ไม้สักก็ตายลง จากนั้น จึงปลูกต้นยางนาแทน

ผ่านไปหน่อยหนึ่งเป็นสวนกล้วยน้ำว้าของเจ้าของหนึ่ง แต่เขายังไม่สามารถย้ายบ้านเข้ามาอยู่ได้ เหตุปัจจัยสำคัญในยุคนี้คือเงินตรานั่นเอง อาจารย์ท่านหนึ่งเห็นกล้วยเครือหนึ่งถูกปล่อยทิ้งให้เป็นอาหารของนก จึงลองไปปลิดกิน ปรากฎว่า หวานมาก นั้นคือคำพูดของอาจารย์ ส่วนชาวบ้านก็บอกว่า สามารถที่หยิบกินได้สบายๆครับ ไม่ต้องเกรงใจใดๆ ทำให้ผมคิดว่า นี่หากเป็นสังคมเมืองบางสังคมมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องเอาได้

ออกจากบ้านหลังนี้ ไปบ้านหลังโน้น แดดร้อนๆ แต่ก็เดินได้สบายๆ ผ่านไปบ้านอีกหลังหนึ่งเห็นต้นมะขาม เดี๋ยวนี้หลายคนได้ตัดต้นมะขามทิ้งหมดแล้ว ช่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

มะม่วงที่ชาวบ้านชอบปลูกเห็นจะเป็นมะม่วงที่มีลูกคล้ายแอปเปิ้ล แต่ทราบจากเพื่อนที่เป็นชาวสวนว่า มะม่วงพันธุ์นี้ไม่อร่อย

ผมเดินไปบ้านลุงท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนแรกที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยปลูกกระต๊อบเล็กๆ พอได้อาศัย ท่านมาตัดรกถางพง แต่ปัจจุบันนี้ท่านสบายขึ้น เพราะลูกๆออกไปทำงานข้างนอกมีรายได้ บ้านช่องสบายมาก

ผมเห็นศาลที่หน้าบ้านแล้วประทับใจ เพราะตั้งได้อย่างสง่างามอย่างยิ่ง แต่ก็เคยถามหลายคนว่า ทำไมต้องมี ๒ ศาล ทราบว่า เป็นศาลเจ้าที่กับศาลพระภูมิ แต่ผมก็คิดในใจว่า น่าจะอันเดียวกัน เพราะ "ภูมิ" หมายถึง "แผ่นดิน" สมัยก่อนผมเห็นแต่ละบ้านมีเพียงศาลเดียวเท่านั้น

จึงขยับเก้าอี้ไปหาลุง และถามท่านว่า "ลุงเคยเห็นเจ้าที่ไหม" ลุงมองหน้าเล็กน้อย เข้าใจว่าคงไม่มีคนถามคำถามนี้แน่ๆ แต่ลุงก็เล่าให้ฟังว่า ไม่เคยเห็นเจ้าที่ แต่เคยเห็นสิ่งที่รู้สึกประหลาดใจอยู่ครั้งหนึ่คือ ตอนที่มาอยู่คนเดียวนั้น คืนหนึ่งขณะที่นอนอยู่ในกระต๊อบนั้น ดึกมากแล้ว เหลือบไปเห็นแสงไฟผุดขึ้นจากดินจำนวน ๘ จุด แบ่งเป็นคู่ๆ จำนวน ๔ คู่ มันขยับเลื่อนไปบนพื้นดิน ลุงคิดว่าอะไร จึงลุกขึ้นดู ปรากฏว่า แสงดังกล่าวพรึบหายไปเลย ลุงขนพองสยองเกล้า ทุกวันนี้เมื่อนึกถึงสิ่งนั้นก็ยังขนพองอยู่

ลุงท่านหลังโก่งงอ สิ่งนี้น่าจะเกิดจากการตรากตรำทำงานหนัก ก้มลงถางหญ้าถางพงเป็นแน่แท้ ขนำของลุงยังคงได้รับการปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัยอยู่ หลังคามุงจาก ผมแปลกใจว่า พื้นที่ปทุมธานีมีจากขายด้วยหรือ จึงถามลุงว่า ซื้อจากมาจากไหน ลุงบอกว่า "จากลาดบัวหลวงโน่นแหละ ทุกวันนี้แพงนะ" ผมก็เสริมว่า "หลังคาจากนั้นน่าอยู่อาศัย เพราะไม่ร้อน" ลุงเห็นด้วยว่า หลังคาจากไม่ร้อนจริง ผมจึงเสริม ว่า "บางที่แค่ที่นอนให้หลับได้ก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแล้วมั้งครับลุง ไม่ต้องผ่อนหรือนอนไม่หลับว่าจะเอาเงินที่ไหนไปผ่อนบ้านเหมือนค่านิยมของคนในเมือง" ลุงเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่จริงๆแล้ว ขนำนี้ลุงไว้พักเล่นเท่านั้น เพราะไม่ร้อน ติดกับขนำเป็นบ้านราคาไม่น้อย ซึ่งลูกหลานของลุงปลูกไว้ ในเนื้อที่ที่ได้รับการจัดสรรให้ทำกินนั่นเอง เดิมทีลุงก็เช่าเขาอยู่ตรงหน้าหมู่บ้านเหมือนบ้านอื่นๆเขา

ข้างหลังบ้านลุงซึ่งติดกับขนำนั้น มีดอกไม้สีสดสวยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้ที่ทำกินดังกล่าวนี้มา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้ต่อสู้ ดิ้นรน ด้วยเวลายาวนาน ทำให้เห็นว่า การได้สิ่งใดมาโดยง่ายอาจไม่มีความหมายเท่ากับการได้สิ่งนั้นมาอย่างยากเย็น เพราะสิ่งยากเย็นจะหมายถึงชีวิตของเราเอง เราจะเก็บความทรงจำถึงสิ่งนั้นอย่างยั่งยืนกว่าสิ่งที่ได้มาแบบง่ายๆ หมู่บ้านและที่ทำกินดังกล่าวนี้คือชีวิตของชาวบ้านหมู่บ้านนี้ เพราะมันคือดอกไม้แห่งชีวิตของเขา ที่เขาได้มาด้วยความยากลำบาก

หมายเลขบันทึก: 588296เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2015 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

I like this picture story. Especially these :

โดยชาวบ้านหนึ่งคน จะมีนักศึกษาจำนวน ๒-๓ คนที่คอยเก็บข้อมูลจากปากคำของชาวบ้าน...(we would prefer the ratio the other way around ;-)


เดี๋ยวนี้ชาวนาบางคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะนำเอาพันธุ์พื้นที่นายทุนจดลิขสิทธิ์ไว้ไปเพาะขาย ทำให้ผมคิดว่า เมืองไทยทุกวันนี้ช่างก้าวหน้าขนาดนี้ไปแล้วหรือ...(Where are our seed banks?)


ดอกไม้แห่งชีวิตของเขา ที่เขาได้มาด้วยความยากลำบาก...(The fruits of our labour are always sweeter ;-)

ชอบใจการลงชุมชนแบบนี้

ได้เรียนรู้เรื่องชุมชนรอบๆด้วย

รออ่านอีกครับ

- ข้อความนี้ฟังจากวิทยากรครับ คือ ชาวนาไปซื้อพันธุ์ข้าวมา แล้วมาทำอะไรบางอย่าง แล้วเอาพันธุ์ข้าวนั้นขาย คล้ายกับว่า ถ้าจะปลูกหรือขายนั้น ต้องซื้อจากผู้ผลิตเท่านั้นครับ ท่าน sr

- ปกติแล้วผมไม่อยากลงชุมชนเลยครับท่านอาจารย์ขจิต เพราะว่า ลงชุมชนแล้วเห็นน้ำตาของชาวบ้านที่ทุกยากเร้นแค้นแล้วรู้สึกสลดใจแทนครับ รอบนี้ก็เห็นอีก นอกเหนือจากนี้ก็มองเห็นความดีงามเยอะครับท่านอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท