การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ


การมีจำนวน และสัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หมายถึงว่า ประเทศมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น ในการเตรียมรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้น ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ยังมีผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศ ทั้งนี้ เพราะเมื่อโครงสร้างประชากร เริ่มขยับไปสู่การมีประชากรสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ก็จะลดน้อยลง

การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น มีอยู่ 3 ด้าน คือ

1. ด้านร่างกาย ลดภาระหน้าที่ให้น้อยลง ทำงานให้ดีกับสภาพ ไม่หักโหมไม่เร่งร้อนงานที่ทำควรเป็นงานที่ให้ความเพลิดเพลิน และให้ความภาคภูมิใจ ไม่บังคับตนเอง ให้สนอง ความโลภ ในลาภ ยศ สรรเสริญ กระจายงานที่เคยรับผิดชอบ ไปสู่บุตร หลาน บริวาร หรือ จัดหาเครื่องผ่อนแรงไว้ใช้เจ็บไข้เล็กน้อยรีบรักษา อย่าปล่อยไว้นานจนกลายเป็นโรคเรื้อรังจะฟื้อฟูได้ยาก หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนชีวิต ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจต้องมีการปรับดุลอย่างหนัก จนเกิดความเครียดทางกาย และจิตขึ้น สนใจในการสนองความต้องการที่จำเป็นพื้นฐานให้แก่ตนเอง

2. ด้านจิตใจ เข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะของตนเอง ครอบครัว และสังคม ฝึกตน ฝึกจิต ให้อยู่ในหลักธรรม ไม่หลงอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ ทำความดีเพื่อความดี ให้เกิดความภาคภูมิใจ ทำตนให้เป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป ด้วยความเมตตากรุณา ซึ่งสามารถแสดงออกได้ทางกาย วาจา ใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน และความเคารพในความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป จะทำให้เข้ากับคนได้ทุกระดับ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว สังคม และตนเอง เท่าที่กำลังกาย กำลังสมองจะอำนวย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เป็นที่เคารพ รักของคนในครอบครัวและสังคม ใช้จ่ายให้พอดีกับเศรษฐกิจของตน จะทำให้เกิดความสุขใจโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น ทดแทนความเหงา และว้าเหว่ ด้วยการทำกิจกรรมที่ตนชอบ หรือหาความบันเทิงจากสิ่งที่ตนพอใจ

3. ด้านสังคม ต้องมีเพื่อนต่างวัย เพื่อนพูด เพื่อนคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ผู้สูงอายุต้องทำตัวให้เป็นที่รักของคนทุกวัย โดยมีการขัดแย้งให้น้อยที่สุด ทั้งกาย วาจา ใจ ปรับตัวเองให้ทันกับสังคมในปัจจุบัน ไม่ยึดมั่นในความคิดดั้งเดิม ไม่ยึดถือ ในความเป็นตัวตนของตน แต่ต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง จะทำให้อยู่ร่วมกับคนต่างวัยได้ สนใจรับรู้สิ่งใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และปรับตัวให้ เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่รู้จบได้อย่างมีความสุข ออกสังคมเป็นครั้งคราว เพื่อจะได้พูด คุย สังสรรค์กับคนอื่น เช่น ไปวัดปฏิบัติธรรม ไปทัศนศึกษา เพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่ละชมรมมีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กัน คือ ต้องการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อชลอความเสื่อม และป้องกันความเจ็บไข้

การใช้ชีวิตในช่วงวัยสูงอายุไม่ใช่เรื่องยาก หากเรารู้จักทำความเข้าใจ ดังนั้น หากเราอยากที่จะมีชีวิตที่ดีในช่วงหลังเกษียณ ควรที่จะรู้จักวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่ในอนาคตจะได้อยู่อย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน

หมายเลขบันทึก: 588293เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2015 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท