ครูต้องสอนและวิจัยไปพร้อมๆ กัน



บันทึกนี้ต่อจากบันทึกเมื่อวานนี้ คือเเกี่ยวกับบทความเรื่อง Generating Improvement Through Research and Development in Education Systems ในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๑๙ เมษายน๒๕๕๖

ผมติดใจที่ผู้เขียนตั้งคำถามว่า "ในการวิจัยการศึกษา หากตั้งคำถามวิจัยถูกต้อง จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่" คำตอบคือไม่

คำอธิบายคือ เพราะในการวิจัยตามปกติ เราจะควบคุมตัวแปร ไม่ให้การผันแปรที่เกิดขึ้นตามปกติ ในระบบการศึกษา เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ reproducible

แต่การวิจัยเพื่อแก้ปัญหา ต้องทำภายใต้บริบทจริงของระบบการศึกษา แม้จะมีพฤติกรรมในระบบ ที่พยายามปฏิเสธ หรือขัดขวางวิธีการแก้ปัญหานั้น การวิจัยก็ต้องเผชิญความจริง และถือพฤติกรรมเหล่านั้น เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขด้วย

ที่น่าสนใจคือ บทความยกตัวอย่างงานวิจัยด้านการแพทย์ขึ้นมาเปรียบเทียบเป็นระยะๆ สะท้อนว่า งานวิจัยทางการศึกษาน่าจะหยิบเอางานวิจัยทางการแพทย์มาเป็นข้อเรียนรู้ลึกๆ ได้ และตรงกับสถานการณ์ ในประเทศไทยในขณะนี้ ที่การปฏิรูประบบการศึกษา หยิบเอาโครงสร้างและวิธีการด้านระบบสุขภาพ ของไทย เอามาใช้มาก เช่นสถาบันวิจัยระบบการศึกษา สมัชชาการศึกษา และอื่นๆ

ผู้เขียนบทความตั้งอีกคำถามหนึ่ง "หากค้นพบวิธีการแก้ปัญหาในระบบการทำงานตามปกติ จะมั่นใจได้ไหมว่าวิธีการนั้นจะแพร่ไปสู่ระบบอื่นๆ หรือจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงในระบบนั้น"

คำตอบคือ ไม่

เหตุที่ผลการวิจัยสร้างนวัตกรรมในการทำงาน หรือสร้างวิธีแก้ปัญหาในระบบไม่สามารถแพร่กระจาย ออกไป และไม่ยั่งยืน เป็นเพราะ "ความแข็งขืนของระบบ" (system rigidity) ที่มีแนวโน้มกลับสู่ความเคยชิน เดิมๆ นี่คือสัจธรรมของโลก และของระบบการศึกษา

มีการศึกษาและเสนอวิธีเอาชนะแรงเฉื่อยนี้ มาจากหลากหลายวิชาชีพ ต่างศาสตร์ ที่ต่างก็สวมแว่นต่างสี

  • นักเศรษฐศาสตร์ เสนอให้แก้ที่ระบบแรงจูงใจ หรือผลประโยชน์
  • นักสังคมศาสตร์ เน้นทำความเข้าใจวัฒนธรรมและระบบคุณค่าภายในวงการการศึกษา
  • นักจิตวิทยา เน้นที่ระดับบุคคล ที่วิธีคิดและอารมณ์
  • นักวิชาการด้าน implementation science ศึกษาแบบบูรณาการทุกศาสตร์ เพื่อหาปัจจัยที่มี "ค่าทำนาย" (predictive value) สูง ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายในระบบงาน การวิจัยนี้ทำในระบบงานด้านสุขภาพ และพบว่าค่าทำนายต่ำ

ระบบการศึกษาเป็นระบบที่ซับซ้อนยิ่ง การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษามาถึงจุดที่ตระหนักกันว่า R&D เพื่อหาทางออกหรือวิธีแก้ปัญหาโดยทำกันในหมู่นักวิชาการการศึกษา เมื่อพบวิธีที่ได้ผลดี จึงเผยแพร่ ให้วงนักปฏิบัติเอาไปใช้ สู้พัฒนาวิธีการร่วมกับนักปฏิบัติ (คือครูผู้สอน) โดยตรงไม่ได้ เพราะ (๑) ช่วงเวลา รอยต่อสั้น ระหว่างการวิจัยกับการปฏิบัติ (๒) บริบทด้านแรงจูงใจ/ผลประโยชน์ ด้านวัฒนธรรม/ระบบคุณค่า และด้านความคิดและอารมณ์ ฯลฯ เป็นบริบทเดียวกัน

จึงมีข้อสรุปว่า ต้องวิจัยเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ณ จุดปฏิบัติการ คือที่ห้องเรียนและโรงเรียน ภายใต้บริบทที่ซับซ้อนตามความเป็นจริง นักวิชาการ/วิจัยการศึกษาต้องเข้าไปทำวิจัยร่วมกับครู

และครูต้องเป็นทั้งนักปฏิบัติและนักวิจัย


วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 587657เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2015 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท