จิตตปัญญาเวชศึกษา 225: Imagination, Part IV (Finale)


จิตตปัญญาเวชศึกษา 225: Imagination, Part IV (Finale)


เติมจินตนาการแก่ชีวิต เพื่อจิตวิญญาณอันเป็นไท

ทักษะแห่งการจินตนาการ (Mastery of Imagination)

จากนิยามของจินตนาการว่าเป็นการรับรู้ปรากฏการณ์ที่ไม่ได้อยู่เบื้องหน้า ณ ที่นั้น เวลานั้น แต่เป็นการหล่อหลอมอดีต ปัจจุบัน และความหมายแห่งอนาคตของแต่ละคน ดังนั้นเรื่องราวที่ออกมาจึงเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ ทางดีและไม่ดี จินตนาการเป็นไปได้ทั้งสองทาง และเนื่องจากพลานุภาพแห่งจินตนาการนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ก็จะเหมือนเครื่องมือทุกชนิดของมนุษย์ ไฟ ไฟฟ้า พลังงาน ฯลฯ เมื่อมีประโยชน์มากมาย แต่ก็สามารถมีโทษมหันต์ได้ หากใช้อย่างไม่ชำนาญ ผิดที่ผิดทาง และสิ่งที่เพิ่มความยากในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อมนุษย์สามารถ "หลบ" ความจริงลงไปในอาณาจักรแห่งจินตนาการได้ ความทุกข์หรือความยากลำบากจากชีวิตจริงนั้นดูเหมือนจะถูกเยียวยาบรรเทาลงไป หลบมากเข้า หลบนานเข้า ชักจะไม่อยากออกมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ขออาศัยอยู่ในโลกเสมือนนี้ไปเรื่อยๆดีกว่า Virtual social หรือโลกเสมือนกลายเป็นแหล่งหลบลี้หนีภัยจากความจริงในชีวิตไป และถึงแม้ว่าจิตใจเราจะหลบอยู่ในโลกเสมือนก็ตาม ตัวร่างกายเรายังอยู่ในโลกแห่งความจริง ก็จะกลายเป็นเราใช้ชีวิตหรือร่างกายของเราปราศจากการรับรู้ความเป็นจริงรอบๆ ด้าน เพราะเราเองที่เป็นคนขังจิตใจ การรับรู้ ของตัวเราในลักษณะผู้ลี้ภัยความจริงนั่นเอง

พยาธิสภาพอัน นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ ยิ่งละเลยไปเท่าไหร่ จะยิ่งยากมากขึ้นที่จะยอมรับความจริงของชีวิต เนื่องจากคำอธิบายต่างๆในโลกจินตนาการจะ serve เพื่อเยียวยาเป็นหลัก ไม่สนใจข้อเท็จจริง เหมือนคนติดยามอร์ฟีน ยากล่อมประสาท ยาเสพติดต่างๆ ที่ชีวิตที่ถูกยามอมเมานั้นยอมรับง่ายกว่าโลกจริง

เนื่องจากจินตนาการเป็นการ "แปลผล หรือให้ความหมาย" ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างจากการใช้ระบบสัมผัสตามปกติของเรา ผลลัพธ์นั้นน่าทึ่งมาก ยกตัวอย่างเช่น "อิสรภาพ" หรือ freedom นั้น แท้ที่จริงเป็นการ "แปลผลหรือให้ความหมาย" ทางจิตใจ เราสามารถจะจับร่างกายหรือชีวิตมาขังทางกายภาพได้ก็จริง แต่จิตใจนั้นยังคงถูกควบคุมได้อยู่ ต่อเมื่อจิตใจยอม submission ว่าไม่มีอิสรภาพ เมื่อนั้นอิสรภาพก็จะหายไปเป็นความจริงขึ้นมา และในทางตรงกันข้าม แม้ว่าร่างกายเราจะมีอิสระ ไปไหนมาไหนก็ได้ เดินทางไปได้ทุกที่ แต่หากว่าจิตใจของเราตกอยู่ในภาวะจำกัดแล้ว ไม่ว่ากายเราจะอิสระเพียงใด จิตใจของเรายังคง "สภาวะทาส" ได้อย่างน่าประหลาดใจ

สภาวะทาสทางใจนี้ สำแดงออกได้ทางพฤติกรรม คือมีข้อจำกัดเกิดขึ้นในดีกรีต่างๆ ในระบบการครอบงำที่สุดนั้น เราไม่สามารถแม้กระทั่งตั้งสมมติฐานนอกเหนือจากที่ถูกกำหนดเอาไว้ได้เลย เช่น คนๆนี้เป็นคนดี ไม่มีความเป็นไปได้ที่คนๆนี้จะทำเรื่องไม่ดี ผลตามก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่คนๆนี้กระทำต้องเป็นความดีเท่านั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น ปรากฏการณ์สภาวะทาสทางจิตใจนี้มีให้เห็นทั่วไปในพวกลัทธิมอมเมาต่างๆในสังคม

สภาวะจิตแห่งทาสเกิดขึ้นได้แม้ในร่างกายที่มีอิสระสภาวะจิตแห่งทาสเกิดขึ้นได้แม้ในร่างกายที่มีอิสระ

แต่ในสังคมทั่วไปสภาวะจิตแห่งทาสที่เกิดขึ้นโดยสิ่งแวดล้อมก็มี เช่นเมื่อคนเราเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย โรคที่รุมเร้านั้นไม่เพียงกระทบต่อการทำงานของร่างกายเท่านั้น หากแต่จะมีผลกระทบต่อสภาวะจิตมากมายหลายด้าน

  • ทุกข์ suffering
  • เหงา loneliness
  • โดดเดี่ยว isolation
  • หมดหวังท้อแท้ hopelessness
  • รู้สึกไร้ค่า shame

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเจ็บป่วยทางกาย เป็นการโจมตีที่ต้นทุน (resource) ของชีวิตโดยตรง ฉันมี ฉันเป็น ฉันทำ นั้นจะลดน้อยลงในทุกมิติ ยิ่งเมื่อการเจ็บไข้ได้ป่วยทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หน้าที่ของทุกๆอวัยวะที่เสื่อมลง ทุกๆระบบที่หยุดทำงาน ความเจ็บปวดในการมีชีวิต ดำรงชีวิต ใช้ชีวิต ทำให้คุณภาพของ “ฉัน” เสื่อมสลายลงไปเรื่อยๆ จนเกิดสภาวะจิตเสื่อมระยะรุนแรงคือ “ระยะชีวิตไร้ค่า ไร้ความหมาย”


Brene' Brown กล่าวไว้ใน Ted's Talk เรื่องของ Shame หรือชีวิตไร้ค่าไว้ว่า "หากเรานำเอา shame ชีวิตไร้ค่า ไปใส่ไว้ในถาดเพาะเชื้อ จะมีส่วนผสมสำคัญที่จะทำให้ความรู้สึกไร้ค่าในชีวิตนี้เติบโตลุกลามมากขึ้น เรื่อยๆ ได้แก่ การไม่สามารถพูดถึงมัน (silence) การเกิดความลับ (secrecy) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกตัดสินโดยคนรอบข้างและสังคม (judgmental) เมื่อเราไม่สามารถจะพูดออกมาว่าเราทุกข์เพราะอะไร เราพร่องอะไรบ้าง เพราะกลัวการถูกตัดสิน กลัวการถูกตีตราให้คุณค่า (หรือการไร้ค่า) ก็จะไม่มีการเยียวยาเกิดขึ้น มีตัวยาสำคัญตัวเดียวที่สามารถทำลายวงจรอุบาทว์นี้ลงไปได้ นั่นคือ "ความเห็นอกเห็นใจ Empathy" ที่จะหยุดยั้งการลุกลามของพยาธิสภาพชีวิตที่ไร้ค่านี้ลงได้

ปรัชญาวิชาชีพแพทย์จึงเป็น "อตฺตานํ อุปมํ กเร" การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การพยายามรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เป็นส่วนประกอบสำคัญของการพัฒนาความรัก ความเมตตา และความกรุณา

วงการแพทย์เราต้องตัดวงจร อุบาทว์แห่ง Shame หรือชีวิตไร้ค่าลงไปให้หมด มิฉะนั้นแล้ว ต่อให้รักษากายคนไข้ได้ แต่กายที่ไร้จิตไร้ใจ ไร้ความหมายในชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น ทุกวันนี้ สิ่งที่แพทย์ พยาบาล บุคลากรของเราสื่อสารกับผู้ป่วยและญาตินั้น เราจำเป็นอย่างที่สุด ที่จะต้องใส่โอสถสำคัญนี้ลงไปด้วย คือการใส่ใจ การเข้าอกเข้าใจว่าคนกำลังทุกข์ อย่าคิดถึงแต่อารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นใหญ่


Empathy ความรัก ความเมตตา เป็นโอสถสำคัญในการเยียวยาความรู้สึกชีวิตไร้ค่าEmpathy ความรัก ความเมตตา เป็นโอสถสำคัญในการเยียวยาความรู้สึกชีวิตไร้ค่า

การรับรู้ "ความรู้สึกทุกข์สุขของผู้อื่น" นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือผัสสะทั้ง ๕ ของมนุษย์ และต้องใช้ "ใจ" สัมผัส จึงเป็นทักษะทางจินตนาการอีกประการหนึ่ง ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทรมานนั้น แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในคุก แต่จิตใจก็เสมือนถูกคุมขังด้วยกำแพงแห่งทุกข์ เป็นการจำกัดอิสรภาพอย่างแท้จริง เพราะเป็นกักขังที่จิตวิญญาณ มอ พยาบาล สามารถที่จะไขกุญแจให้อิสรภาพแก่คนเหล่านี้ได้ ตนเองจะต้องถือกุญแจแห่งความรัก ความเมตตา มีทักษะที่จะ "รับรู้สิ่งที่ไม่ได้อยู่เบื้องหน้า" คือทักษะแห่งจินตนาการ เพื่อที่ไม่เพียงแต่ให้อิสรภาพแก่จิตวิญญาณของผู้ตกอยู่ในความทุกข์เท่านั้น ในเวลาเดียวกัน เรากำลังให้อิสรภาพแก่จิตวิญญาณของตนเองด้วย

Empathy liberates soulsEmpathy liberates souls



นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๑๓ นาที
วันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย

คำสำคัญ (Tags): #HA forum 16th#imagination#compassion#empathy
หมายเลขบันทึก: 587482เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท