ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๖๙. ฝันใกล้เป็นจริง



ผมไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่อง migrant health โดยบังเอิญ จากการไปคบค้ากับ อาจารย์แหวว ตาม บันทึกเหล่านี้

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ อ. แหวว อีเมล์มาว่า


ท่าน อ.หมอวิจารณ์คะ

อ.แหววอยากขอความกรุณาสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์หมอว่า

"ในวันที่ 13/2/2558 ซึ่ง 5 หมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลชายแดน (แม่สอด/แม่ระมาด/อุ้มผาง/ท่าสองยาง/พบพระ) จะนั่งคุยกันและคุยกับมวลมิตรถึง "ความร่วมมือระหว่างห้าโรงพยาบาลเพื่อคนชายแดนที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ" นั้น

ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ซึ่งเป็นหมอคนหนึ่ง อยากเสนอให้ทั้งห้าโรงพยาบาลนี้ทำอะไรเป็นประการแรก ??

และ ทำไม ??"

ขอบคุณค่ะ ขอคำตอบแบบหมอในฝันค่ะ

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ


ผมตอบไปว่า

กำลังคิดถึง อ. แหววอยู่พอดี เพราะในวันที่ ๓๐ ม.ค. ๕๘ ในการประชุม Prince Mahidol Award Conference (PMAC ที่ อ. บุ๋มเป็นแม่งาน) ผมได้ข้อมูลที่อยากแจ้ง อ. แหวว ๒ เรื่อง

๑. มีผลงานวิจัยตามรูปที่แนบ

๒. หมอสุวิทย์ คุยกับคนจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เรื่องรวมพลังกันช่วยแก้ปัญหา migrant health ทาง JICA สนใจมาก ถามว่าจะให้ช่วยเท่าไร หมอสุวิทย์ตอบว่า ขั้นแรกอยากให้ช่วยกันคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร เรื่องเงินมาทีหลัง

จากข้อมูล ๒ ข้อนี้ ผมจึงขอตอบคำถามของ อ. แหววว่า อยากให้ ๕ หมอ + ๑ แหวว ช่วยกันใช้ข้อมูล ๒ ข้อข้างบน + ข้อมูลของ ๕ อำเภอ ทำงานร่วมกับคนตามชื่อในรูป เสนอระบบ migrant health ภาพใหญ่ ที่ใช้ ๕ อำเภอเป็น pilot project ๑ ปี ดำเนินการนำร่อง สำหรับนำไปปรับใช้ทั่ว ๕ ประเทศลุ่มน้ำโขง

ข้อเสนอนี้ ต้องไม่ดำเนินการเฉพาะใน ๕ อำเภอ ต้องทำร่วมกับประเทศต้นทาง และร่วมกับนักวิชาการด้วย เพื่อจะได้ประเมินค่าใช้จ่าย/ระบบการเงิน ภาพใหญ่ ๕ ประเทศได้

เหตุผลคือ ๕ หมอ ๑ แหวว จะได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ตั้งรับอยู่แค่ด้านดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่ตั้งรับอยู่ในอำเภอ แต่ได้ร่วมกันสร้างระบบ ที่ใช้ได้ และปรับตัวต่อไปได้ ยาวนาน และไม่ต้องยากลำบากเป็นหนี้ท่วมหัว อย่างในปัจจุบัน

วิจารณ์


ได้รับคำตอบมาว่า

อรุณสวัสดิ์ค่ะ

อ.แหววขอขอบคุณมากค่ะ สำหรับอีเมลล์ตอบนี้ค่ะ

รู้สึกมีความสุขมากค่ะ

ขออนุญาตส่งต่อให้น้องๆ และลูกๆ นะคะ

อ.แหววค่ะ


อีกไม่กี่นาทีก็มีอีเมล์ที่สอง ดังนี้

มีอีกเรื่องค่ะ

วันที่ 13/2/2558 นั้น ถ้าพอว่าง ไปดูการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เรื่องความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลชายแดนกันไหมคะ นำโดย 5 หมอผู้อำนวยการค่ะ

11-13/2/2558 อยู่กันที่ตากค่ะ

14/2/2558 ไปคุยกับคนไทยพลัดถิ่นที่สิงขรประจวบค่ะ เช้าไปเย็นกลับ แต่หนักหน่อยค่ะ ไปสี่ชั่วโมงกลับสีชั่วโมง ทำงานสี่ชั่วโมง อันนี้ ไม่ชวนไปค่ะ

งานบนพื้นที่ยังหนักหนา ตอนนี้ เตรียม "ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคล" ให้กระทรวงสาธารณสุขด้วยค่ะ คงต้องมีข้อมูลและข้อคิดที่แน่นและเป็นจริงค่ะ

รอนัดจากท่านอาจารย์หมอเพื่อไปเรียนรู้และทานข้าวกลางวันนะคะ เดี๋ยวขาดอาหารสมองค่ะ

แหววค่ะ


ซึ่งคำตอบของผมก็พอคาดเดาได้ คือมีนัดเต็มหมดแล้ว ทั้งวันที่ ๑๓ และ ๑๔ กุมภาพันธ์

เอามาเล่าเพื่อบอกว่า ฝันใกล้เป็นจริงฝันที่จะเห็นเพื่อนมนุษย์ที่ยากลำบาก ตะเกียกตะกายหาชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน ได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม




วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๘



หมายเลขบันทึก: 587470เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2015 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2015 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท