​ชุมชนสัมพันธ์ แต้มฝันปันฮัก... ค่ายเรียนรู้คู่บริการอันง่ายงาม ๓ วัน ๒ คืน


เพียง "๓ วัน ๒ คืน" แต่ก็ชัดเจนว่าภายใต้เวลาอันจำกัดนั้น นิสิตสามารถออกแบบกิจกรรมได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมประเด็นของ "ค่ายเรียนรู้คู่บริการ" ได้อย่างน่าชื่นชม ครอบคลุมระบบและกลไกการจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนานิสิตครบ ๕ ด้าน (๕ In ๑) ที่ประกอบด้วย คุณธรรมจริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ วิชาการ กีฬา ศิลปวัฒนธรรม

โครงการ "ชุมชนสัมพันธ์ แต้มฝันปันฮัก" ภายใต้การขับเคลื่อนจากแกนนำหลักของกลุ่มนิสิต "มอน้ำชี" เมื่อวันที่ ๒๗-๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ บ้านดงหลวง ต.บึงทวาย อ.เต่างอย จ.สกลนครกลายเป็นปรากฎการณ์ชวนค่าต่อการกล่าวถึงไม่แพ้โครงการอื่นๆ ในนิยาม "ค่ายเรียนรู้คู่บริการ" โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อให้นิสิตได้พัฒนาตนเองสู่เป้าประสงค์สำคัญของมหาวิทยาลัย คือ ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน ตลอดจนอัตลักษณ์ของนิสิต คือ นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน ดังรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้



๑.พลังเครือข่าย ๖ องค์กรสู่การเรียนรู้คู่บริการ : ค่ายชุมชนสัมพันธ์ แต้มฝันปันฮัก มีจุดเด่นเชิงเครือข่ายอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการผนึกกำลังองค์กรหลายองค์กรเข้าทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการข้ามพ้นมายาคติความเป็นตัวตนของแต่ละองค์กร เสมือนการผนึกกำลังและบูรณาการศาสตร์ของแต่ละองค์เข้าหากันโดยมีเป้าหมายการเรียนรู้อันเป็นหนึ่งเดียวกัน คือการเรียนรู้ชุมชนและบริการสังคม(เรียนรู้คู่บริการ) ที่ประกอบด้วยกลุ่มนิสิตมอน้ำชี ชมรมรุ่นสัมพันธ์ ชมรมเศรษฐศาสตร์ ชมรมมรดกอีสานใต้ ชมรมถ่ายภาพเพื่องานสื่อสิ่งพิมพ์และชมรมนิติศาสตร์สัมพันธ์



๒.เรียนรู้ชุมชนบนฐานคิด ๔ องค์ประกอบของต้นไม้ : มีการออกแบบกระบวนการ "เรียนรู้บริบทชุมชน" ตามฐานคิด "ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้" ด้วยการจำลองชุมชนเป็นองค์ประกอบของต้นไม้ทั้ง ๔ องค์ประกอบ คือ

  • (๑) ศึกษา (ราก) ประวัติความเป็นมาชุมชนและแผนที่ชุมชน
  • (๒) ศึกษา (ลำต้น) วัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ และภาษา
  • (๓) ศึกษา (ใบ) ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติ
  • (๔) ศึกษา (ผล) การทำมาหากินหรือสัมมาอาชีพ



๓.สหกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้คู่บริการหลากรูปลักษณ์ : นอกจากการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านองค์ประกอบ ๔ ด้านหลักตามข้อ ๒ แล้ว พบว่าโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมในลักษณะ "สหกิจกรรม" ที่ขับเคลื่อนไปบนฐานคิดของการเรียนรู้คู่บริการไปพร้อมๆ กัน เช่น

  • กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก
  • การมอบอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์การเรียนการสอน
  • การปรับปรุงภูมิทัศน์ในโรงเรียน หมู่บ้านและวัด
  • สอนเสริมทักษะด้านดนตรีพื้นเมืองแก่นักเรียน
  • จัดทำป้ายหมู่บ้าน
  • จัดป้ายคำคมสุภาษิตสอนใจ
  • จัดทำป้ายชื่อคุ้มประจำหมู่บ้าน
  • ปลูกต้นไม้
  • ทาสีหอระฆัง
  • ทำบุญตักบาตร ถวายผ้าป่า (ต้นดอกเงิน)
  • พิธีบายศรีสู่ขวัญ
  • กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เป็นต้น



๔.ประเมินความคาดหวังสู่การร่วมวาดหวัง : มีกระบวนการประเมินความคาดหวังก่อนการจัดกิจกรรมอย่างเด่นชัดในเวทีการ "ปฐมนิเทศชาวค่าย" หรือที่เรียกว่า "BAR" ( Before Action Review) เพื่อถามทักถึงหมุดหมายการเรียนรู้ของแต่ละคน และนำความคาดหวังของแต่ละคนยึดโยงเข้ากับหมุดหมาย หรือจุดมุ่งหมายหลักของโครงการร่วมกัน พร้อมๆ กับการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวชุมชนและกิจกรรมที่จะมีขึ้นแก่สมาชิกชาวค่าย รวมถึงการเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้มีส่วนร่วมต่อการกำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกัน

ตลอดจนเมื่อการปฏิบัติจริงในแต่ละวันสิ้นสุดลงก็มีการสรุปงาน หรือ "AAR" (After Action Review) ร่วมกันเพื่อปรับกลยุทธการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง สะท้อนถึงการขับเคลื่อนบนฐานคิดของ PDCA และ KM อันง่ายงาม




๕.จับคู่เรียนรู้และดูแลกัน : ในระบบการบริหารจัดการของค่ายไม่ได้ผูกโยงการเรียนรู้และการดูแลกันและกันให้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกิจกรรม "พ่อฮักและแม่ฮัก" เท่านั้น แต่คณะกรรมการบริหารค่ายได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในระบบ "จับคู่เรียนรู้และดูแลกัน" ในระหว่างนิสิตกับนิสิต (จับบัดดี้) เพื่อให้นิสิตแต่ละคนได้เรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการเรียนรู้ความเป็นเพื่อนไปในตัว เสมือนการเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตกับนิสิต และตอกย้ำถึงการเรียนรู้ หรือการแสวงหาความรู้จากคนใกล้ตัว



ถึงแม้ค่ายครั้งนี้จะใช้เวลาสั้นๆ เพียง "๓ วัน ๒ คืน" แต่ก็ชัดเจนว่าภายใต้เวลาอันจำกัดนั้น นิสิตสามารถออกแบบกิจกรรมได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมประเด็นของ "ค่ายเรียนรู้คู่บริการ" ได้อย่างน่าชื่นชม ครอบคลุมระบบและกลไกการจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนานิสิตครบ ๕ ด้าน (๕ In ๑) ที่ประกอบด้วย คุณธรรมจริยธรรม บำเพ็ญประโยชน์ วิชาการ กีฬา ศิลปวัฒนธรรม



และถึงแม้จะไม่ใช่ค่ายที่มีกิจกรรมอันใหญ่โตมโหฬาร ถึงขั้นเรียกเต็มปากเต็มคำว่าค่ายอาสาพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็เป็นค่ายที่โดดเด่นในแง่ของการให้ความสำคัญต่อการศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชน (บริบท) ที่เป็นเสมือน "คลังความรู้" ได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นอีกหนึ่งในช่องทางแห่งการปลูกสร้างเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะแก่นิสิต หรือกระทั่งเด็กและเยาวชน (เยาวชนจิตอาสา) จึงควรค่าต่อการหยิบยกเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ในระบบและกลไกกิจกรรมนิสิต หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างแท้จริง



หมายเหตุ :

๑.ถอดบทเรียนค่ายย้อนหลังเพื่อค้นหาต้นแบบค่าย
๒.ภาพโดย นิสิต มอน้ำชี

หมายเลขบันทึก: 587416เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2015 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ชอบจังประโยคนี้

_สวัสดีครับ...

_กิจกรรมพ่อฮักแม่ฮัก..อบอุ่นนะครับ

_เคยอยู่มุกดาหารมาหลายปี...มีพ่อฮักแม่ฮัก...

_คึดฮอดเด้....

_ขอบคุณที่กระตุ้นต่อม"ความฮัก"นะครับ

ได้เวลาปิดร้านพอดี...เดี๋ยวจะกลับมาติดตามทุกบันทึกเลยครับอาจารย์...

ขอบคุณล่วงหน้าไว้ก่อนครับ

อยาก..ที่จะ..ลอกเรียน(เลียน) ความคิดนี้..ให้เกิดขึ้น..บ้าง..ใน..ชุมชน..รอบๆ.."ป่า..อภัยทาน"

คุณแผ่นดิน..เจ้าคะ..ไปช่วย..จุดประกาย..ให้หน่อย..เจ้าค่ะ...( S O S...)...

มีการทำงานที่ชัดเจนมากๆครับ

ขอบคุณมากๆ

กิจกรรมดีและมีประโยชน์มากๆๆค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท