​ฅ.สร้างฝาย ครั้งที่ ๓ ...อีกหนึ่งต้นแบบค่ายอาสาพัฒนาแบบ "เรียนรู้คู่บริการ"


คืนสุดท้ายของการเล่นรอบกองไฟก็จะมีกิจกรรม "เปิดใจ" (จากใจสู่ใจสู่ความเป็นหนึ่งเดียว) ร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยการสรุปงานและสะท้อนความรู้สึกจากใจสู่เพื่อนร่วมค่าย เสมือนการจัดการความรู้และความรักกันอีกรอบ เพื่อก่อให้เกิดพลังของการเรียนรู้อย่างแท้จริง


โครงการ "ค่าย ฅ.สร้างฝาย ครั้งที่ ๓" ที่จัดโดยชมรมสานฝันคนสร้างป่า เมื่อวันที่ วันที่ ๖– ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ บ้านป่าไม้พัฒนา ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เป็นค่ายที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการ "ออกค่ายอาสาพัฒนา" ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้วยแนวคิดค่ายแห่งการ "เรียนรู้คู่บริการ" (service learning) เพราะไม่ได้มุ่งไปยังการทำ "ค่ายสร้าง" (อาสาพัฒนา : (บำเพ็ญประโยชน์) แต่เพียงกิจกรรมเดียว หากแต่มีการบูรณาการกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอย่างหลากหลายกิจกรรม ดังรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้

๑.ตอบโจทย์อัตลักษณ์หรือปรัชญาชมรม : เพราะจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งในช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อน จะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างฝายชะลอน้ำเป็นหัวใจหลักของการออกค่ายอาสาพัฒนา

๒.ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน : เพราะผนังกั้นฝาย หรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างไว้ยัง
ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ในฤดูแล้ง เนื่องจากประตูระบายน้ำออกแบบให้เปิดกว้างจนเกินไป จึงกักเก็บน้ำไว้ได้ไม่เยอะ ส่งผลให้หน้าแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ และการเกษตร ตลอดจนการเป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงผืนป่าและสัตว์ป่า



๓.ตอบโจทย์การมีส่วนร่วม : เพราะในการปรับปรุงซ่อมแซมผนังกั้นฝาย/อ่างเก็บน้ำ ไม่ได้จัดทำขึ้นเพียงลำพังของนิสิตเท่านั้น หากแต่เป็นการพัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมจัดหางบประมาณ และร่วมจัดทำแผนการใช้ประโยชน์แบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับภาครัฐในระดับท้องถิ่นรองรับในระยะยาว

๔.ตอบโจทย์เรียนรู้คู่บริการ : เพราะมีการบูรณาการกิจกรรมอย่างหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมระบบและกลไกกิจกรรมหลายด้าน เช่น

  • ปรับปรุงซ่อมแซมผนังกั้นฝาย/อ่างเก็บน้ำ ปลูกป่าผ่านเมล็ดพันธุ์อันเป็นพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น (มะค่า) ที่ชาวบ้านเพาะพันธุ์เอง รวมถึงได้รับการบริจาคจากอุทยานแห่งชาติภูผายล
  • กิจกรรมบวชป่า เพื่อเรียนรู้และเสริมสร้างกระบวนการอนุรักษ์ป่าผ่านภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน
  • กิจกรรมการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านความเป็น "ลูกฮัก" ด้วยการกำหนดให้นิสิตหยุดงานค่ายและใช้ชีวิตหนึ่งวันเต็มๆ กับพ่อฮักและแม่ฮัก จากนั้นก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องวิถีวัฒนธรรมชุมชน หรือกระทั่งวิถีของการใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชน เสมือนการสำรวจวิถีของชุมชนที่มีต่อการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และแหล่งน้ำในชุมชนไปพร้อมๆ กัน



  • กิจกรรมนันทนาการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับนิสิต และระหว่างนิสิตกับชุมชน ผ่านกิจกรรมกีฬาและนันทนาการต่างๆ หรือกระทั่งกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในภาคกลางคืน (รอบกองไฟ) ที่ทำหน้าที่ทั้งเชื่อมความสัมพันธ์ ปลุกเร้าพลังใจ ผ่อนคลายความเครียด หรือกระทั่งการใช้เป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์กิจกรรมนิสิตสู่ชุมชนไปในตัวอย่างง่ายงาม
  • กิจกรรมการบายศรีสู่ขวัญที่เชื่อมร้อยมิติทางประเพณี ความเชื่อของชุมชนและความรักความผูกพันของชุมชนกับนิสิตเข้าด้วยกัน



  • กิจกรรมสมุดบันทึก โดยนิสิตชาวค่ายแต่ละคนจะมีสมุดบันทึกประจำตัววางไว้ให้เพื่อนชาวค่ายได้เขียนความรู้สึกถึงกัน แต่มีกติกาง่ายๆ คือให้เขียนได้อย่างเดียว (ห้ามอ่าน) จะอนุญาตให้อ่านได้ในวันสุดท้ายของค่ายเท่านั้น เสมือนกุศโลบายของการสื่อสารความรักที่มีต่อกัน สะท้อนให้รู้ว่าแต่ละคนเฝ้ามองกันและกันอย่างอาทรและเต็มไปด้วยมิตรภาพ ซึ่งในอีกมุมก็คือการฝึกคุณธรรมจริยธรรม ฝึกความซื่อสัตย์ ฝึกการให้ความเคารพต่อผู้อื่น หรือฝึกการเคารพกติกาในทางสังคมร่วมกันก็ไม่ผิด




นอกจากนี้แล้ว ด้านกระบวนการขับเคลื่อนอื่นๆ นั้นแกนนำชมรมยังได้ใช้กระบวนคิดแบบ PDCD และการจัดการความรู้ (Knowledge Management-KM) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการค่ายได้เป็นอย่างดี มีการประชุมสรุปงานในแต่ละวัน สรุปปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จ ส่งต่อไปยังการปฏิบัติงานในวันใหม่พร้อมๆ กับการมอบหมายภารกิจหมุนเวียนควบคู่กันไป เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายร่วมกัน

เช่นเดียวกับคืนสุดท้ายของการเล่นรอบกองไฟก็จะมีกิจกรรม "เปิดใจ" (จากใจสู่ใจสู่ความเป็นหนึ่งเดียว) ร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วยการสรุปงานและสะท้อนความรู้สึกจากใจสู่เพื่อนร่วมค่าย เสมือนการจัดการความรู้และความรักกันอีกรอบ เพื่อก่อให้เกิดพลังของการเรียนรู้อย่างแท้จริง หรือกระตุ้นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนกิจกรรมในวาระถัดไปอย่างไม่หยุดนิ่ง



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงนับได้ว่าโครงการ "ค่าย ฅ.สร้างฝาย ครั้งที่ ๓" ของชมรมสานฝันคนสร้างป่าเป็นโครงการที่มีจุดต้นถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของค่ายอาสาพัฒนาในมิติ "เรียนรู้คู่บริการ" ได้อย่างไม่กังขา เป็นค่ายที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดการบริการสังคมควบคู่ไปกับการเรียนรู้ชุมชน เห็นภาพของการทำงานบนโจทย์ หรือความต้องการของชุมชนและขับเคลื่อนไปแบบมีส่วนร่วมด้วยพลังของนิสิตกับชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างน่าชื่นชม

หรือหากจะประเมินจากความเป็น "อัตลักษณ์นิสิต" (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) อันเป็นกระบวนการแห่งการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะ และระบบและกลไกกิจกรรมการพัฒนานิสิตสู่การเป็นพลเมืองที่ดีที่ประกอบด้วยหลักคิดสำคัญๆ ทั้งในด้านบำเพ็ญประโยชน์/สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม นิสิตสัมพันธ์/วิชาการ กีฬาและนันทนาการ ก็ล้วนครอบคลุมและมีพลังในแบบ "บันเทิง เริงปัญญา" อย่างน่าชื่นชม



หมายเหตุ :
๑. เขียนขึ้นจากแรงบันดาลใจของการทบทวนกิจกรรมสร้างสรรค์ของนิสิตที่มีต่อการรับใช้สังคม
๒.ภาพโดย อติรุจ อัคมูล และชมรมสานฝันคนสร้างป่า

หมายเลขบันทึก: 587237เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2015 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

A question: how is this work funded? Donation? Grants from local governments?


...ด้วยความชื่นชมค่ะอาจารย์


การมีส่วนร่วมกิจกรรม ดีมากๆๆ นะคะ

น่าจะเป็นงบของมหาวิทยาลัยในส่วนของงานกิจกรรมนักศึกษาซึ่งมีทุกสถาบัน ใช่ไหมคะ (ตอบคุณ sr ) ระหว่างที่รอคุณ แผ่นดิน เจ้าของบันทึกค่ะ

ปรบมือให้นิสิตทุกๆคนครับ

เป็นโครงการที่ดีมากนะคะอาจารย์

นิสิตคงภูมิใจมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท