การดำเนินการตามโครงการตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติไทย


การดำเนินการตามโครงการตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติไทย

9 มีนาคม 2558

กระบวนการเพื่อให้มาซึ่งสัญชาติไทยของบุคคล มีความยุ่งยากในการหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีพยานเอกสารใด หรือ ไม่มีพยานบุคคลใด หรือมีพยานบุคคลรับรองยืนยัน แต่พยานบุคคลไม่น่าเชื่อถือ หรือ เหตุอื่นใด ที่ไม่ปรากฏพยานหลักฐานยืนยันพิสูจน์ถึงตัวบุคคลได้ชัดเจนแน่นอน เช่น กลุ่มบุคคลที่ไม่ปรากฏบุพการี หรือ บุพการีทิ้งไปตั้งแต่เด็ก ซึ่งเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า "กลุ่มบุคคลไร้รากเหง้า"

ลองมาตรวจสอบผลการดำเนินการ การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติไทยดังกล่าว

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2542 รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร นักวิชาการอาจารย์และนักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความสนใจเข้ามาช่วยเหลือชาวไทยภูเขาและบุคคลบนที่สูงในการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งประสบกับปัญหา เช่น ขาดพยานบุคคลที่สามารถยืนยันได้ถึงการเข้ามาในประเทศไทย หรือการเกิดในประเทศไทย ขาดพยานหลักฐาน ใบสูติบัตร ทะเบียนบ้าน รวมทั้งหลักฐานทางราชการในการแสดงความเป็นพ่อ แม่ ลูก พี่น้องกัน จึงได้มีการเสนอแนะแนวทางตามกระบวนการค้นหาความจริงในแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการพิสูจน์สัญชาติ โดยการตรวจ ดี.เอ็น.เอ. เพื่อพิสูจน์ในความเป็นพ่อ แม่ พี่น้องกัน เพื่อผลในการได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต โดยเริ่มในกรณีของชาวบ้านที่ห้วยน้ำอุ่น จนกระทั่งได้สัญชาติไทย นอกจากนี้ยังมีกรณี "การถอนสัญชาติไทย" ของชาวบ้านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,243 คนที่ถูกกรมการปกครองสั่งจำหน่ายรายชื่อออกจากทะเบียนบ้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ก็ได้นำกระบวนการพิสูจน์ความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมาใช้เช่นกัน ซึ่งหน่วยงานสำคัญคือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมเพื่อนำผลการตรวจสารพันธุกรรมประกอบพิจารณาเรื่องสัญชาติไทยและการแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน [1]

ลองมาดูการดำเนินการตามโครงการที่สำคัญ ๆ

โครงการตรวจ DNA เพื่อคุ้มครองสิทธิคนสัญชาติไทยถวายแด่ในหลวง จังหวัดเชียงราย 2552 [2]

17 ธันวาคม 2552 ที่ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ชาวอาข่า ลาหู่ รวม 98 ราย พากันจูงลูกตัวเล็กตัวน้อยมาเจาะเลือด เพื่อตรวจ DNA (สารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต)

กำลังสำคัญที่ทำให้ความฝันของ 4 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของจังหวัดเชียงราย [3] ที่ต้องการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิผู้มีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต แต่ขาดเอกสารหลักฐานพิสูจน์ตนซึ่งทางการเชื่อถือได้ ให้ได้ฟื้นชีวิตคืนสิทธิและสถานะทางกฎหมายของตนคืนมา โดย "การตรวจ DNA" แบบพอเพียง มีมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยอมรับระดับสากลและราคาถูก เพราะใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในแนวทางที่พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด

จังหวัดเชียงราย โดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการ DNA เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โครงการมีภารกิจ 3 ประการ คือ สำรวจข้อมูลบุคคลที่มีความจำเป็นตามเงื่อนไขการพิสูจน์สถานภาพด้วยการ ตรวจยืนยันความสัมพันธ์เชิงครอบครัว (ตรวจ DNA) โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและสำนักทะเบียนที่ดำเนินงานใน พื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย ดำเนินการตรวจพิสูจน์เพื่อขอผลยืนยันทางสายเลือดจากแพทย์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป้าหมาย เด็ก เยาวชนและบุคคลไร้สัญชาติจำนวน 500 คน

โดยจะเริ่มเจาะเลือดรุ่นแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 2552 เริ่มที่กลุ่มเป้าหมายราษฎรในพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ผลการตรวจเบื้องต้นของรุ่นแรกว่า พบรายที่ไม่พบความสัมพันธ์ทางสายโลหิต 5 % ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจเหตุผลและวิธีการตรวจ หรือความผิดพลาดอื่นๆ

วันที่ 18 มกราคม 2553 คณะทำงานเข้าพื้นที่บ้านแม่ปูนหลวง หมู่ 8 ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า กับบ้านแม่ปูนล่าง หมู่ที่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งเป็นชาวมูเซอแดง

สถิติผลการดำเนินการ พ.ศ. 2552 จังหวัดเชียงรายอนุมัติ 8,340 ราย เป็นที่ 1จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่ 2 จำนวน 4,110 ราย

โครงการพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า ฯ ชาวม้งบ้านไทยสมบูรณ์ อ.เวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 2554 [4]

คณะเจ้าหน้าที่จากบริษัทพาโนราม่าเวิล์ไวด์ จำกัด ผู้ถ่ายทำสารคดีเทิดพระเกียรติ "หนึ่งในพระราชดำริ" 27 มิถุนายน 2554 เป็นวันดีที่ได้เห็นความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกลั่นจากใจของชาวม้ง บ้านไทยสมบูรณ์ (บ้านห้วยหลู้) ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน จากผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ยืนยันความเป็นพ่อหรือแม่กับลูก ทำให้ได้สถานะทางกฎหมายตามพ่อหรือแม่ผู้มีสัญชาติไทย

ซึ่ง 4 องค์กรเอกชน ร่วมกับจังหวัดเชียงราย สำนักทะเบียนทุกอำเภอในจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และ ศ.นพ.ธานินทร์ ภู่พัฒน์ (นักเรียนทุนพระราชทานอานันทมหิดล) แห่งสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลมหาราช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552

ผลจากโครงการตรวจ DNA ฯ ของ จ.เชียงราย มีผู้ได้สัญชาติไทยตามพ่อหรือแม่ 386 คน และจากโครงการตรวจ DNA ฯ โดยวุฒิสภาร่วมกับกรมการปกครอง สถาบันนิติเวช ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลตำรวจ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับจังหวัดเชียงราย ตราด ระนอง อุบลราชธานี กรุงเทพ ฯ กับสมุทรปราการ มีผู้ได้สัญชาติไทยของจังหวัดเชียงรายอีก 393 คน และมีผู้ที่รอผลการตรวจ DNA อีก 188 คน

ศอ.บต.ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมการปกครอง นำร่องตรวจ DNA พิสูจน์สัญชาติไทยแก่ประชาชนในพื้นที่ 2556 [5]

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 ที่เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความช่วยเหลือประชาชนในโครงการพลเมืองไทย สัญชาติไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน ผู้ยากไร้ สู่พลเมืองอาเซียน โดยมีนายแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้บริการพิสูจน์บุคคลทางพันธุกรรม หรือ DNA ที่ขอเพิ่มรายชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน ซึ่งมีประชาชนในจังหวัดยะลามาใช้บริการ จำนวน 400 คน จากการสำรวจข้อมูลของ ศอ.บต.ในพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการ พบว่าทะเบียนราษฎร์ไม่ถูกต้อง สมควรปรับปรุงแก้ไขจำนวนถึง 10,000 ราย

โครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียนตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 2556 (วุฒิสภา) [6]

25 มิถุนายน 2556 นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียน (KICK OFF DAY) ที่อาคารรัฐสภา 1 เพื่อให้สัญชาติคนไทยอย่างเป็นทางการภายใต้โครงการฯ มีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ ครั้งที่ 1 โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 44 คน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะสัญจรไปยัง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 ณ เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายอนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานเปิดโครงการฯ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ภายในงานมีการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 35 รายโดย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองระนอง

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม - 1 กันยายน 2556 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 2,986 คน เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2556 และจำนวน 2,982 คน เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2557

การสำรวจกลุ่มเป้าหมายตามโครงการตรวจสอบสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557[7]

ประชาสัมพันธ์และสำรวจกลุ่มเป้าหมายตามโครงการตรวจสอบสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เริ่มครั้งแรกเดือนธันวาคม 2556 ได้จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2557

กรมการปกครอง ได้จัดทำโครงการตรวจสอบสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 และได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าบุคคลที่จะขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) จะต้องเป็นบุคคลที่อ้างว่ามีสัญชาติไทย แต่ยังไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เนื่องจากไม่ได้แจ้งการเกิดหรือขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านหรือบุคคลที่อ้างว่าเป็นคนไทย แต่มีรายการบุคคลในเอกสารทะเบียนราษฎรระบุสัญชาติอื่นหรือไม่ได้สัญชาติไทย โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ได้ยื่นคำร้องขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดหรือขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) หรือขอลงรายการสัญชาติไทยในเอกสารทะเบียนราษฎรตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ตามกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1. บุคคลที่อ้างว่าเป็นคนไทยที่ยื่นคำร้องขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดและขอเพิ่มชื่อใน ทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

2. ชาวเขาและบุคคลบนพื้นที่สูงที่ยื่นคำร้องของลงรายการสัญชาติไทย ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543

3. บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงสถานะในเอกสารทะเบียนราษฎรจากคนที่ไม่มี สัญชาติไทย เป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เช่น บุคคลที่ขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 เป็นต้น

ทั้งนี้ บุคคลตามข้อ 1 - 3 ควรมีอายุไม่ต่ำกว่าสามปี และมีบิดา มารดา หรือ ญาติร่วมสายโลหิตที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ระบุสัญชาติไทย ซึ่งสามารถตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อการมีสัญชาติไทยได้ โดยสามารถมาแจ้งความประสงค์ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เริ่มครั้งแรกเดือนธันวาคม 2556 ได้จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2557

ข้อมูลปัญหาคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมีความรุนแรงทวีขึ้น ตามสถิติผู้ยากจนคนยากไร้ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคน เป็นบุคคลยังไร้สัญชาติประมาณ 4 แสนคน บุคคลเข้าข่ายได้รับสัญชาติไทยประมาณ 1 แสนคน

ผู้รับผิดชอบในการตรวจหาสารพันธุกรรมคือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ ภู่ภัทร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ตามโครงการฯ มีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือ 2 ช่วง คือช่วงแรกเดือนมกราคม 2556 จำนวน 2,981 คน ช่วงที่สอง เดือนมกราคม-ธันวาคม 2557 จำนวน 2,986 คน

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางกำหนดให้ใช้ผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ.

"ผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของเด็กที่เกิด" ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

ข้อ 56/1 [8] เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิด ในท้องที่สำนักทะเบียนอื่น

(เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 56/1 ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 3)

ข้อ 57 [9] เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนด ของผู้มีสัญชาติไทย (แจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่นที่ไม่ใช่ท้องที่ที่เกิด)

(ยกเลิกความเดิมตามข้อ 57 และให้ใช้ความใหม่แทนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 4)

ข้อ 64/1 [10] เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการตายของคนที่ตายหรือพบศพในท้องที่สำนักทะเบียนอื่น

(เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 64/1 ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 7)

กรณีตัวอย่าง เช่น การจะเพิ่มข้อมูลในสูติบัตร หากไม่มีการลงข้อมูลไว้เบื้องต้น จำเป็นต้องใช้ผลการตรวจ DNAเนื่องจากไม่สามารถใช้หลักฐานอื่นในการยืนยันการเป็นพ่อแม่เด็กได้ ขอให้ผู้ร้องไปติดต่อยังสำนักงานเขตหรืออำเภอที่เด็กมีชื่ออยู่เพื่อยื่นคำร้อง แล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง [11]

ปัจจุบัน (2558) กรมการปกครองได้ขยายโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เพื่อบริการแก่ประชาชนผู้ยากไร้โดยแจ้งให้สำนักทะเบียนฯ ทุกแห่งสำรวจข้อมูล แล้วรายงานกรมการปกครองทราบ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ประชาชนสามารถแจ้งความจำนงต่อสำนักทะเบียนฯ ได้

+++++++++++++++++++++++++++

[1] พงษ์เทพ ยังสมชีพ, "การตรวจ ดี.เอ็น.เอ. (DNA) เพื่อพิสูจน์สัญชาติไทย", 19 สิงหาคม 2547,

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=73&d_id=73

& โครงการพิสูจน์สถานะบุคคลตามกฎหมายโดย DNA ระหว่างกรมการปกครองและ UNICEF : จดไว้กันลืม ?? โดย รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (Archanwell), 8 พฤษภาคม 2553, ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/357116

& วิไลพร ไหลงาม, "การตรวจสารพันธุกรรมเพื่อแก้ปัญหาสัญชาติไทย", กลุ่มนิติเวชคลินิก สำนักนิติเวชศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กันยายน 2557, http://www.cifs.moj.go.th/main2/index.php?option=com_phocadownload&view=category&download=437:2014-09-29-10-43-45&id=21:2011-03-04-12-54-39&Itemid=129&start=20

& ดีเอ็นเอ "โปรคิดส์"เกมรุก...ขบวนการค้ามนุษย์,

http://www.ifm.go.th/th/ifm-information/news-event...

ข้อมูลจาก บล็อก OKNATION, 18 สิงหาคม 2553, http://www.oknation.net/blog/Sp-Report/2010/08/18/...

[2] เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์, "เพื่อความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ", 17 ธันวาคม 2552, ใน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.), "โครงการตรวจ DNA เพื่อคุ้มครองสิทธิคนสัญชาติไทยถวายแด่ในหลวง",http://www.hadf1985.org/english-version/33-โครงการตรวจ-dna-เพื่อคุ้มครองสิทธิคนสัญชาติไทยถวายแด่ในหลวง

[3] มูลนิธิ พัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.), มูลนิธิกระจกเงา, องค์การแพลน (PLAN), หน่วยพัฒนาและบรรเทาทุกข์มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดแวนตีสแห่ง ประเทศไทย (ADRA)

[4] "พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า ฯ ชาวม้งบ้านไทยสมบูรณ์ จังหวัดเชียงราย", 27 มิถุนายน 2554, http://tribalcenter.blogspot.com/2011/07/blog-post_27.html & โครงการพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) เฉลิมพระเกียรติคืนความเป็นไปไทยคนยากไร้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2554 (จำนวน 984 ราย), http://112.121.139.211/king/article.php?aid=40

[5] "ศอ.บต.ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมการปกครอง นำร่องตรวจ DNA พิสูจน์สัญชาติไทยแก่ประชาชนในพื้นที่", 10 พฤศจิกายน 2556, https://www.facebook.com/io.yala/posts/444734255637236

[6] "วุฒิสภา ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA)ให้แก่ผู้ยากไร้อย่างต่อเนื่อง โดยกระจายสู่ภูมิภาค จากภาคเหนือสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...จังหวัดอุบลราชธานี", 17 สิงหาคม 2556, http://www.senate.go.th/w3c/senate/pictures/comm/56/file_1382600465.doc

& วุฒิสภา ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ให้แก่ผู้ยากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ...จังหวัดอุบลราชธานี, 17 สิงหาคม 2556, http://www.naewna.com/lady/columnist/8151

[7] สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย, "ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์และสำรวจกลุ่มเป้าหมายตามโครงการตรวจสอบสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557", 28 พฤศจิกายน 2556, http://www.wpkms.com/33/uploadfile/806.pdf

& หนังสือกรมการปกครองที่ มท 0309.1/ว 18467 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 เรื่อง การสำรวจกลุ่มเป้าหมายเพื่อตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA), http://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/str/book/560813/mt03091_v18467.pdf

& กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (นายชวน ศิรินันท์พร (อปค.)) และคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียนของวุฒิสภากระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติปกป้องสิทธิผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจน และคนยากไร้สู่พลเมืองอาเซียนของวุฒิสภา จัดโครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์สถานะบุคคล ฟรี ให้กับบุคคลที่อ้างว่ามีสัญชาติไทย แต่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) และมีฐานะยากจน โดยยื่นคำร้อง ณสำนักทะเบียนอำเภอ/สำนักทะเบียนท้องถิ่น ทุกแห่ง ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ดังนี้ (1) เป็นคนไทยแต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (2) เป็นบุคคลที่ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย (ชาวเขา, บุคคลพื้นที่สูง, บุคคลตามมาตรา 23) (3) ผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนแล้ว และนายทะเบียนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตรวจDNA ดู http://www.dopa.go.th/index.php/information/knowlege/773-dna & http://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/str/book/job/DNA.pdf & เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, "สิทธิมนุษยชนคนไทยตกสำรวจ", มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2556, http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/news_detail.php?nid=1852&parent_id=1&type=new

[8] "ข้อ 56/1 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิด ในท้องที่สำนักทะเบียนอื่น ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวของบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง โดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิด (ถ้ามี) หรือบัตรประจำตัวของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กที่เกิด หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี) และหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) หรือผลการตรวจ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของเด็กที่เกิด

(2) สอบสวนผู้แจ้ง บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กที่เกิดให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่แจ้งการเกิด ณ สำนักทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด ประวัติของเด็กที่เกิด และสถานที่อยู่ปัจจุบันของเด็กและบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง

(3) เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าเด็กที่เกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักร โดยยังไม่ได้แจ้งการเกิดและมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่กับบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตท้องที่สำนักทะเบียนที่แจ้งเกิด ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตร ท.ร. 1 หรือ ท.ร. 3 แล้วแต่กรณี และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(4) เพิ่มชื่อเด็กที่เกิดในทะเบียนบ้าน และมอบสูติบัตร ตอนที่ 1 พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง"

[9] "ข้อ 57 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการเกิดเกินกำหนด ของผู้มีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวของบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน ของบ้านที่มีการเกิด (ถ้ามี) หรือบัตรประจำตัวของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบิดา มารดา หรือเจ้าบ้าน (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) หนังสือมอบหมาย (ถ้ามี) หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี)

(2) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของคนที่เกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่

(3) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. 100) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

(4) พิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของคนที่เกิดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็ก ที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

(5) เมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากนายอำเภอว่าคนที่เกิดนั้นเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการเปรียบเทียบคดีความผิด และออกสูติบัตร (ท.ร. 2) ให้แก่ผู้แจ้ง

(6) เพิ่มชื่อคนที่เกิดเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) หรือทะเบียนบ้านกลาง (ท.ร. 14) แล้วแต่กรณี

(7) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าคนที่เกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้ รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของบุคคลดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่บุคคลนั้นตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางที่เกี่ยวด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ถ้าการแจ้งการเกิดเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่นที่ไม่ใช่ท้องที่ที่เกิด ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้งการเกิด ได้แก่หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) หรือผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการตรวจ สารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. ที่ตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงความสัมพันธ์การเป็นบิดาหรือมารดาของคนที่เกิด สำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อบิดามารดาหรือผู้ปกครองของคนที่เกิดซึ่งต้องเป็นทะเบียนบ้านในเขตท้องที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่แจ้งการเกิด ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิดหรือ การตายต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่อื่น แล้วดำเนินการตาม (2) ถึง (7) รวมทั้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กรณีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นการแจ้งการเกิดสำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นรับผิดชอบการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่เกิดแทนนายอำเภอ โดยดำเนินการตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง โดยอนุโลม"

[10] "ข้อ 64/1 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งการตายของคนที่ตายหรือพบศพในท้องที่สำนักทะเบียนอื่น ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้ง ได้แก่ บัตรประจำตัวของผู้แจ้งซึ่งได้แก่เจ้าบ้านของบ้าน ที่มีการตาย บุคคลที่ไปกับผู้ตายขณะตาย ผู้พบศพ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนบ้านที่ปรากฏชื่อและรายการบุคคลของคนตาย (ถ้ามี) หนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) หรือผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจพิสูจน์โดยหน่วยงาน ของรัฐหรือสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งแสดงรายการเกี่ยวกับคนตาย เช่น ผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือ ดี.เอ็น.เอ. เป็นต้น และพยานหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่น รูปถ่ายงานศพของคนตาย เป็นต้น

(2) สอบสวนผู้แจ้ง และพยานบุคคลไม่น้อยกว่าสองคนที่สามารถยืนยันตัวบุคคลของ คนตายให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ไม่แจ้งการตาย ณ สำนักทะเบียนท้องที่ที่คนตายหรือพบศพ ประวัติและภูมิลำเนาของคนตาย การจัดการศพและสถานที่จัดการศพ

(3) เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานแล้วเห็นว่าคนตายโดยยังไม่ได้แจ้งการตายและ มีการเคลื่อนย้ายศพเข้ามาอยู่หรือจัดการศพโดยการเผา ฝัง หรือทำลายในเขตท้องที่สำนักทะเบียน ที่แจ้งตาย ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกมรณบัตร ท.ร. 4 หรือ ท.ร. 5 แล้วแต่กรณี และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(4) กรณีคนตายมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนที่แจ้ง การตาย ให้นายทะเบียนจำหน่ายชื่อคนตายในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง และมอบมรณบัตร ตอนที่ 1 พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้ง

(5) กรณีคนตายมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนอื่น เมื่อนายทะเบียนมอบมรณบัตร ตอนที่ 1 และหลักฐานประกอบการแจ้งคืนให้ผู้แจ้งแล้ว ให้ส่งมรณบัตร ตอนที่ 2ไปยังสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องเพื่อจำหน่ายชื่อคนตายในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนบ้านกลาง"

[11] คำตอบของเจ้าหน้าที่เขตราชเทวี, 19 สิงหาคม 2554, http://portal.bangkok.go.th/subsite/index.php?strOrgID=001058&strSection=webboard_view&intPostID=13440


+++++++++++++++++++++

(1) ขั้นตอนและค่าบริการการตรวจ DNA, 17 กันยายน 2556,

http://med.mahidol.ac.th/patho/th/announcement/17-9-2013

(2) ตรวจ DNA คำตอบสุดท้ายของการพิสูจน์พ่อลูก, 22 กันยายน 2553, https://health.kapook.com/view17162.html

(3) ราคา ตรวจDNA ระหว่างพ่อ-ลูก สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมแล้วประมาณเท่าไหร่ค่ะ?, 2 กรกฎาคม 2556,

https://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20130702024506AAHu40D

(4) รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน, ตรวจดีเอ็นเอรวดเร็วราคาถูก, บทความวิชาการ, 23 มกราคม 2557, http://www.halalscience.org/archives/36839


++++++++++++++++++++++++++++++++++

หน่วยตรวจ DNA

ราชการ (ใน กทม.) :

(1) สถาบันนิติเวชวิทยา (Institute of Forensic Medicine) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, บริการของเรา,

http://www.ifm.go.th/index.php/contact-ifm/35-our-...

& https://www.facebook.com/ifm.nitivej/

(2) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (หน่วยมนุษย์พันธุศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา : Patho.mahidol.ac.th, https://www.facebook.com/PathoRama-219714631384864... ),

(3) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

(4) ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

(5) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ราชการ (ใน ตจว.) :

(1) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง


เอกชน :

(1) บริษัท ดีเอ็นเอ เทสติ้ง แล็บบอราทอรี่ จำกัด (DTL : DNA Testing Laboratory Co.,Ltd.) เป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดดำเนินธุรกิจด้านการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา,

http://dnathailand.com/

หมายเลขบันทึก: 587234เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2015 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2018 00:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วเมื่อไหร่ จะมีที่แม่สอด อีก

แล้วถ้าไม่มีเอกสาร อะไรเลย

จะขอตรวจ ดีเอ็นเอ ได้มั้ย

ผมมีพี่น้องสองคน ผมเป็นน้อง

พี่สาวมี บัตร สัญชาติไทย

แต่ผมไม่มี เพราะ พ่อเสีย ตอนท้อง

แล้วแม่ก็ไปมีคนใหม่ ผมเลยไม่ได้ถึงสัญชาติอะไรเลย ไม่มีเอกสารอะไรเลย จะขอตรวจได้มั้ยครับ แล้วถ้าตรวจได้ จะตอนเสียค่าใช้จ่ายเยอะมั้ยครับ

เป็นคนแม่สอด จ.ตาก ครับ

ยังไงก็ขอความช่วยเหลือหน่อยนะครับ

  1. ขอบคุณครับ

ตอบคุณ ดำ หมูมา... คุณต้องไปหาอ่านระเบียบฯ ให้มาก ๆ... คุณไม่บอกว่า ตอนนี้คุณถือเลข 13 หลัก เลขใด... เพราะ เลขบุคคล มันสามารถอธิบายได้หลายอย่าง...

กรณีของคุณดำ หาก "ไม่มีพ่อหรือมีแม่ที่ตรวจสอบเอกสารและตัวตนได้" อาจเป็นประเภท "บุคคลไร้รากเหง้า" ที่หาพยานหลักฐาน และ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้น... ลองไปศึกษาดู ตามแนวทางนี้ ...

(1) คุณแม่คุณดำยังอยู่หรือไม่ ให้ลองติดตามตัวได้ไหม คุณแม่ได้สัญชาติไทยหรือยัง หากแม่ได้ไทยแล้ว ก็สามารถตรวจ DNA กับแม่ได้ หาก ตามหาแม่ไม่ได้ หรือ ตามแล้วไม่พบ ก็จะยากมากขึ้น... ควรไปหาสืบว่ามีพยานบุคคลใดที่รู้เห็นการเกิด หรือ มีเอกสารใด ๆ ที่แสดงการเกิดว่า คุณดำเกิดในประเทศไทย ก็สามารถขอไป ทร. 20/1 (หนังสือรับรองการเกิด) ได้ เพื่อเป็นเอกสารประกอบ การขอลงรายการสัญชาติไทย... ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง หรือ ตาม มาตรา 23 แล้วแต่ข้อเท็จจริงตามหลักฐานของ "พ่อแม่" และ "สถานที่เกิด" (ต้องเกิดในประเทศไทยเท่านั้น)

(2) คุณดำอาจขอตรวจ DNA กับพี่สาว เพื่อยืนยันเป็นพยานบุคคลได้ ... ไปดูตาราง การตรวจ DNA ว่า จะตรวจกับใครได้บ้าง ตามตารางข้างล่างนี้ และ

(3) หากจะตรวจ DNA "ฟรี" ไม่เสียตังค์ ก็ลองติดต่อสำนักทะเบียนฯ เพราะค่าใช้จ่ายแพง หากคุณดำไม่มีเงิน มันแพงมาก และ การจะตรวจ DNA ก็ต้องมีคำรับรองยืนยันจากนายทะเบียนฯ ให้ไปตรวจได้ ... หาก ไปตรวจมาก่อน โดยไม่ถามนายทะเบียนฯ อาจมีปัญหาว่า นายทะเบียนฯ จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนี้ ในกรณีที่ไม่ได้ตรวจกับพ่อหรือแม่ เช่น ไปตรวจ DNA กับคนอื่น ๆ ซึ่ง มันมายืนยันเพิ่มชื่อโดยตรงไม่ได้...

และ ไปอ่านเรื่องต่าง ๆ ในเฟซกลุ่ม ..."การทะเบียนราษฎรและงานทะเบียนกรมการปกครอง

https://www.facebook.com/groups/326473924224367/ " ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท