สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๔. สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาจารย์



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๔ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๓๔ ตีความจาก Appendix : Instructional Support and Resources at Your Institution

สรุปได้ว่า ในมหาวิทยาลัยชั้นดี จะมีระบบและกิจกรรมช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน แก่อาจารย์มากมาย และมีระบบและกิจกรรมช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษามากมายด้วย อาจารย์พึงทำความเข้าใจเครื่องช่วยเหล่านี้ และเลือกใช้ตามความเหมาะสม มหาวิทยาลัยไทยพึงพิจารณา จัดระบบสนับสนุนเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านการเรียนการสอนแนวใหม่ ให้แก่อาจารย์ รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้อาจารย์รวมตัวกันเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนจากการปฏิบัติ ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)

อ่านข้อความใน บทแทรกนี้แล้วผมรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มีสิ่งอำนวยความสะดวก ต่ออาจารย์และนักศึกษามากเหลือเกิน แตกต่างจากตอนที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วลิบลับ มิน่า ค่าเล่าเรียนจึงแพงขึ้นมาก


สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร

ในหนังสือมีรายละเอียดมากมาย แต่ผมเห็นว่าเป็นบริบทอเมริกัน จึงขอนำมาลงเฉพาะหมวดหมู่ และข้อสรุปสั้นๆ เท่านั้น


เพื่อนร่วมงาน/เรียน

โดยเฉพาะผู้อาวุโสกกว่า สามารถให้คำแนะนำ ช่วยความคุ้นเคยได้มากมายหลากหลายด้าน รวมทั้งจะช่วยให้คำแนะนำป้อนกลับเพื่อปรับปรุงงาน


หัวหน้าภาควิชา

ให้คำแนะนำต่อประเด็นที่เป็นทางการได้เป็นอย่างดี


สำนักงานคณบดี

ให้คำแนะนำประเด็นเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งได้ดี รวมทั้งเกี่ยวกับสถิติต่างๆ เกี่ยวกับนักศึกษา


ห้องสมุด

ไม่เป็นที่เก็บหนังสืออีกต่อไป แต่เป็นแหล่งบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ สารพัดด้าน


ศูนย์พัฒนาอาจารย์

มีหลากหลายชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ หรือการเรียนการสอน ทำหน้าที่ทั้งให้บริการ ฝึกอบรม และให้คำปรึกษา


ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษา

อาจมีชื่ออื่น ทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่มักจะไม่ใช่ตัวคอมพิวเตอร์โดยตรง เช่นบริการเชื่อมต่อ การซื้อซอฟท์แวร์ ฝึกอบรมการใช้ซอฟท์แวร์ เป็นต้น


ศูนย์สตรี

ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสตรี การคุกคามทางเพศ การมีโอกาสเท่าเทียม เป็นต้น


ศูนย์วัฒนธรรม

ดูแลกิจการข้ามวัฒนธรรม ข้ามเชื้อชาติ


ศูนย์นานาชาติ

ดูแลนักศึกษาต่างชาติ


ศูนย์โอกาสเท่าเทียม

อาจมีชื่ออื่น ดูแลความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ ความพิการ ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น


ศูนย์ผู้พิการ

ดูแลนักศึกษาที่มีความยากลำบากในการเรียน ความพิการ ในหลากหลายวิธีการ


สิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะนักศึกษา

หากนักศึกษาต้องการความช่วยเหลือด้านการเรียนทั่วๆ ไป ให้ส่งไปหา ที่ปรึกษาวิชาการ (academic advisor) นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือเฉพาะรายวิชา ให้ส่งไปหาอาจารย์ผู้สอน หรือไปที่ภาควิชา อ่านตรงนี้แล้ว ผมสงสัยว่านักศึกษาอเมริกันเขาโง่ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

มีนักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ มหาวิทยาลัยอเมริกันมีศูนย์ช่วยเหลือต่อไปนี้

  • ศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้
  • โปรแกรมพัฒนาทักษะการสื่อสาร และการเขียน
  • ศูนย์ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา
  • ศูนย์ช่วยเหลือสู่อาชีพ ช่วยทดสอบทักษะเฉพาะอาชีพ จัดหางานช่วงฤดูร้อน จัด workshop วิธีเขียน resume



วิจารณ์ พานิช

๙ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 587002เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2015 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2015 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท