หลักความเชื่อต่อสิ่งที่ได้ยินได้เห็นจากภาพหรือสื่อสารมวลชน


หลักความเชื่อต่อสิ่งที่ได้ยินได้เห็น


ถวิลอรัญเวศ

รอง ผอ.สพป. นครราชสีมา เขต 4

เกริ่นนำ

สื่อสารมวลชนจากหนังสือพิมพ์ ตลอดทั้งสื่อสังคมออนไลน์ มีอิทธิพลต่อชีวิตและจิตใจของเรามากในขณะนี้ ถ้าเราเพียงแต่สักว่าได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่านจากสื่อแล้วเชื่อตาม ย่อมอันตรายมากครับ เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาสอนไว้ว่า เราจะเชื่ออะไรก็ตาม ย่อมประกอบด้วยปัญญา ในหลักธรรมที่ว่าด้วยศรัทธา ความเชื่อ มักจะกำกับไว้ด้วยปัญญา ไม่เช่นนั้น จะถือว่าเชื่องมงาย หรือกระต่ายตื่นตูม ไม่ใช่วิถีทางความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา

แล้วจะเชื่ออย่างไรดี

หลักธรรมในพระพุทธศาสนานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาว

กาลามะ ที่อาศัยอยู่ในเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้อวดอ้างตนในคุณวิเศษกันมาก เชิดชูแต่ลัทธิของตัว พูดจากระทบกระเทียบดูหมิ่นลัทธิอื่น พร้อมทั้งชักจูงมิให้เชื่อ ลัทธิอื่น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเกสปุตตนิคมดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้อวดอ้าง

ชาวกาลามะได้ทูลถามด้วยความสงสัยว่าใครพูดจริง ? ใครพูดเท็จ ?

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงกาลามสูตร ว่าด้วยวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย

หรือหลักความเชื่อ 10 ประการเป็นหลักตัดสินให้ไว้ ได้แก่

1. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเพียงแต่ฟังตามๆกันมา

2. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะถือสืบ ๆ กันมา

3. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเพียงคำเล่าลือ

4. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเพียงอ้างว่ามีในตำราหรือคัมภีร์

5. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเข้าหลักตรรกศาสตร์

6. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเพียงการอนุมานเอา

7. อย่าเพิ่งลงใจเชื่อ เพราะเพียงคิดตรองตามแนวเหตุผล

8. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน

9. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นว่าคนพูดคนเขียนน่าเชื่อถือ

10. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

แต่เมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือมีโทษเมื่อนั้นพึงละเสีย และเมื่อใดสอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล หรือไม่มีโทษเมื่อนั้นพึงถือปฏิบัติ ดังนั้น

พระสูตรนี้ท่านมิได้ห้ามมิให้เชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยมีปัญญาประกอบด้วย มิฉะนั้น ความเชื่อต่างๆ จะไม่พ้น "ความงมงาย"และไม่พึงแปลความเลยเถิดไป ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อสิ่งเหล่านี้ และให้เชื่อสิ่งอื่นนอกจากนี้ แต่พึงเข้าใจว่า แม้แต่สิ่งเหล่านี้ซึ่งบางอย่างก็เลือกเอามาแล้วว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อที่สุด ท่านก็ยังเตือนไม่ให้ปลงใจเชื่อ ไม่ให้ด่วนเชื่อ ไม่ให้ถือเป็นเครื่องตัดสินเด็ดขาดยังอาจผิดพลาดได้ ต้องใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้ดีก่อนแล้วสิ่งอื่น คนอื่นเราจะต้องคิดต้องพิจารณาระมัดระวังให้มากสักเพียงไหน

สรุป

ก่อนจะเชื่อ สิ่งใด ให้พิสูจน์

ก่อนจะพูด ให้ยั้งคิด วินิจฉัย

ก่อนจะทำ กิจการ งานใดใด

คิดให้ถ้วนถี่ จึงจะดีเอย



เอกสารอ้างอิง

สุชีพ ปุญญานุภาพ (มปป.) "พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน.
ย่อความจากพระไตรปิฎก ฉบับบาลี 45 เล่ม



หมายเลขบันทึก: 586903เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2015 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2017 01:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท