อาจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : การสอนแบบเน้นกระบวนการ (Active Learning) (๒) "สิ่งที่สำคัญคือการสร้างเงื่อนไข โดยการใช้คำถาม"


บันทึกที่ ๑

สืบเนื่องจากบันทึกแรก ผม "จับ" ได้ว่า เทคนิคกระบวนการของอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คือ ท่านจะไม่บรรยาย แต่จะใช้วิธี "ตั้งคำถาม ตาม(ด้วย)คำตอบ และสรุปมอบความรู้" เป็นแบบนี้เกือบตลอดวัน ต่างกันก็เพียงแต่ท่านจะยกเอาเหตุการณ์จริงๆ หรือข้อมูลผลการวิจัยที่เป็นข้อยุติแล้วมาเล่าให้ฟังก่อน หรือยกเอาคำสอนของปราชญระดับโลกมาช่วยสรุป

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจ และถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับตนเองคือตอนที่ท่านเล่าถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ( Albert Einstein) บุคคลแห่งศตวรรษที่ ๒๐ ว่า ความจริงไอน์สไตน์เป็นสุดยอดครู เป็นศาสตราจารย์ด้านการสอนที่มหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตัน (Princeton University) ไอน์สไตน์เคยเขียนไว้เป็นภาษาเยอรมัน ท่านนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ (ดังสไลด์ของท่าน) ว่า "ฉันไม่เคยสอนนักเรียนของฉัน ฉันเพียงแต่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง" และอีกตอนหนึ่งว่า "ครูส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการตั้งคำถามที่นักเรียนตอบไม่ได้ ถามในสิ่งที่นักเรียนไม่รู้ แท้ที่จริงแล้ว ศิลปะในการตั้งคำถามคือการถามให้นักเรียนตอบได้ต่างหาก" ...

ผมตกผลึกหลังจากที่กลับมานั่งฟังเทปบันทึกเสียงการฝึกอบรมของอาจารย์ปริญญากลับไปกลับมาหลายรอบว่า หากผมจะเก่งเรื่องการสอนแบบ Active Learning เหมือนท่าน ผมต้องฝึกฝนตนเอง ๓ ประการ ได้แก่

๑) การตั้งคำถาม ... ใช่แล้ว ตอนนี้ผม "บรรยาย" มากไป ต้องทำให้มันน้อยลงเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ "ฟัง" และ "เรียน" มากขึ้น

๒) คือ การใช้ข้อมูล/ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เป็น "ความรู้ใหม่" ให้ผู้เข้าอบรมได้ "ความรู้ใหม่" ที่นำไปใช้ได้ อ.ปริญญา มักใช้คำว่า "...เป็นข้อยุติแล้วว่า...." ข้อนี้บอกว่า ผมต้องอ่านหนังสือให้มากขึ้น หรือสืบค้นผลงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์และได้รับความน่าเชื่อถือให้มากที่... ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไม ศ.นพ.วิจารณ์ ท่านถึงอ่านหนังสือมากมายเหลือเกิน

๓) ต้องยกตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์จริงเสมอ โดยเฉพาะประสบการณ์ของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม ข้อนี้หมายถึง ผมต้องลงมือตลุยสอนแบบ Active Learning ให้มากที่สุด


บันทึกนี้ มาเรียนรู้วิธี "ตั้งคำถาม" ของอาจารย์ปริญญา แม้ท่านจะสาธิตตามสไลด์ของท่านเพียง ๓ วิธี แต่หากนับรวมกิจกรรมที่ท่านใช้ จะได้นับได้ถึง ๕ วิธี ดังนี้

ตั้งคำถามแบบ "หักมุม พาออกจากกรอบคิดของคนตอบ"

ท่านใช้ประสบการณ์การศึกษาดูงานการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) ที่ประสบความสำเร็จ สามารถก้าวจากมหาวิทยาลัย No Name เป็น Top Ten ของมหาวิทยาลัยในเอเซีย ภายใน ๑๐ ปี ท่านเล่าว่า ได้สนทนากับศาสตราจารย์เบอร์นาร์ด ซีบาย แทร์ (ขอภัยหากพิมพ์ผิดนะครับ) คณบดีของ NUS ถึงสาเหตุและปัจจัยในความสำเร็จว่า อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัย NUS ก้าวไปติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก?... แล้วโยนคำถามนี้มาทางผู้เข้าร่วมอบรมทันทีว่า..ท่านคิดว่า ข้อใดต่อไปนี้คือคำตอบของศาสตราจารย์เบอร์นาร์ดระหว่าง

...(ก) เปลี่ยนหลักสูตร หลักสูตรเราเป็นเลิศมาก

...(ข) เพราะเราไปจ้างอาจารย์เก่งๆ จากอเมริกามาสอน ใครเก่งอยู่ที่ไหน เราทุ่มทุนไปจ้างมาสอน

.. (ค) ยอมทุ่มเทให้กับอาจารย์ ในเรื่องของการวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ในการสอน

มีเสียงผู้เข้าร่วมอบรมตอบข้อ (ก) บ้าง ข้อ (ข) บ้าง บ้างก็ตอบข้อ (ค) .... หลังจากสิ้นเสียงตอบ และความสงสัยในคำตอบเกิดขึ้นทั่วห้อง อ.ปริญญา ท่านพูดต่อว่า....

... ท่านเชื่อไหมครับว่า ตลอดสองชั่วโมงที่ผมคุยกับศาสตราจารย์แทร์ ไม่มีการพูดถึง ๓ เรื่องนี้เลยครับ....

...ฮา... ผมก็โดนหลอกครับ... ใช่เลยครับ ...การสอนแบบเน้นข้อสอบแบบตัวเลือก ทำให้เราชินกับว่าต้องเลือก จนลืมคิดไปว่า ชีวิตนั้นมีทางเลือกมากกว่าที่ คนอื่นให้ทางเลือกมา ... เพียงแค่ต้องคิดหาทางเลือกด้วยตนเองเท่านั้น...

ท่านเฉลยว่า คำตอบที่ถูกคือข้อ (ง) .... ที่เรากลายเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้คือ การเปลี่ยนวิธีสอน...และเล่าต่อว่า ที่ต้องเปลี่ยนวิธีสอนนั้น เพราะทุุกๆ ๑๘ เดือนนั้น ความเริ่มเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยยกตัวอย่างต่างๆ และที่เด็ดสุดคือ ท่านบอกว่า... อาจารย์ครับ ผมเป็นอาจารย์สอนรัฐธรรมนูญครับ เทอมที่แล้วเนี่ย ผมสอนรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ครับ....ฮา..(เพราะทุกคนรู้ว่ามันถูกยกเลิกไปแล้ว)..เรียนฟรีครับ... แล้ว "มอบความรู้ใหม่" ต่อเนื่อง ...สนช.น่ะครับ เดือนที่แล้วเขาออกกฎหมายมา ๖๐ ฉบับ อัตราการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ... ผมไม่ได้สอนให้ท่องจำมาตราแล้วครับ... แต่อาจารย์ส่วนใหญ่ยังสอนแบบเลคเซอร์อยู่เลยครับ... ที่ NUS เขาตั้งเป้าว่า เขาจะสร้างนักแก้ปัญหาครับ Problem solver ไม่ใช่นักสร้างปัญหา..ฮา...

ตั้งคำถามแบบ "๒ ทางคิด ไม่มีถูกผิด"

ท่านบอกว่า คนที่ "ตั้งคำถาม" แบบนี้ได้สุดยอดที่สุดคือ Michael J Sandel ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ผู้สอนวิชา Justice ผู้โด่งดัง ที่แม้จะเป็นวิชาเลือกแต่ก็มีคนจองที่นั่งครั้งละสองพันคน จนไม่มีห้องต้องใช้หอประชุมแทน ... ตรงนี้พิสูจน์ว่า การสอนแบบ Active Learning สามารถทำได้ในห้องเรียนขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้ ...ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์แซนเดล มาเมืองไทย อ.ปริญญา ท่านไปได้ร่วมฟังด้วย และนำมาเล่าแบบ Active หรือนำมาใช้ในห้องฝึกอบรม ...

ช่วงนั้นน้ำท่วมพอดี น้ำดื่มขาดแคลน และขึ้นราคา จากขวดละ ๗ บาท กลายเป็น ๒๕ บาท ศ.แซนเดลถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่น้ำขึ้นราคาขนาดนั้น แล้วท่านก็ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วยการยกมือ แล้วสุ่มให้แต่ละฝ่ายแสดงเหตุผลของตน ...

อ.โต คณะมนุษย์ฯ บอกว่า ... ง่ายๆ เลยครับ ข้าวของหายาก ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากขายขาดทุน แล้วใครจะนำมาขาย... อ.สมศักดิ์ จากเภสัช บอกว่า ... เรื่องน้ำดื่มเป็นเรื่องจำเป็น คนต้องมีน้ดื่ม ดังนั้นรัฐบาลต้องให้การเยียวยา ... อาจหาคูปองส่วนลดมาแจก..ฮา...อาจารย์ปริญญาสรุปเชิงเห็นด้วยทั้งสองฝ่ายว่า เราจะต้องดูทางอุปสงค์ อุปทาน และความถูกต้องทางจริยธรรมด้วย หากร้านรับสินค้ามาก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมด้วยต้นทุนปกติ แล้วขายแพงก็ถือว่าใช้ไม่ได้ เราจะปล่อยให้ demand-supply ทำงานอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเกิดระบบปลาใหญ่-กินปลาน้อย ดังนั้นต้องสร้างระบบและกลไกขึ้นมารักษาไม่ให้เสียสมดุล...


ตั้งคำถามแบบ "๒ ทางคิด เหมือนไม่มีถูกผิด ก่อนจะเฉลยผลการพิสูจน์"

ความจริงก่อนที่ท่านจะเล่าถึง Michael J Sandel ท่านตั้งคำถามเกี่ยวกับมนุษย์คนแรกของโลกหรือที่รู้จักกันดีก็คือ Lucy ที่มีอายุกว่า ๕ ล้านปีที่แล้ว คำถามคือ Lucy ลุกขึ้นเดินเพราะสมองโตขึ้น หรือ สมองโตขึ้นเพราะ Lucy ลุกขึ้นเดิน ... น่าสนใจมากๆ ครับ เชิญท่านที่เข้าร่วมอบรมเปิดคลิปวีดีโอนี้ดูอีกครั้งนะครับ


ผมเปิดคลิปนี้ซ้ำไปซ้ำมา ดูแล้วดูอีก ด้วยความประทับใจและค้นหาว่าอะไรคือปัจจัยของความสำเร็จอย่างยิ่งของการยกตัวอย่างนี้ ผมสรุปกับตนเองตอนนี้ว่า หากผมจะตั้งคำถามให้ได้อย่างนี้ ผมต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  • ต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยจนได้ข้อยุติแล้ว
  • เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคนฟัง คนฟังจะรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตนเอง จึงสนใจ
  • ผมต้องท่องชื่อ หรือ คำ ยากๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังรู้ว่า ผมเตรียมตัวมาดี มีความรูจริง ถ้าผู้ฟังเห็นว่าผมเก่งจริงเรื่องนี้ เขาก็จะตั้งใจฟังอย่างยิ่ง
  • ต้องเสนอข้อมูลที่เชื่อมโยงให้เห็นภาพในมิติของเวลา (ประวัติศาสตร์)

โดยสรุปการตั้งคำถามแบบนี้ ต้องทำให้รู้สึกว่าได้ความรู้ใหม่นั่นเองครับ

เทคนิคและวิธีในการตั้งคำถามยังไม่จบครับ แต่ผมขอจบบันทึกนี้เท่านี้ก่อน บันทึกต่อไป มาว่ากันต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 586714เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2015 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท