วิปัสสนาภาวนา (ตอนที่ ๒)


วิปัสสนาภาวนาแตกต่างจากสมถภาวนา คือ วิปัสสนาภาวนาเป็นอุบายที่จะทำให้เกิดสติและสัมปชัญญะ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของปัญญา

ส่วนสมถภาวนาเป็นอุบายที่จะทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งสมาธิที่ลึกเรียกว่าฌาน (หรืออัปปนาสมาธิ)

ปัญญา คือ การรู้ การเห็น หรือการเข้าใจความจริงตามธรรมชาติ ปัญญามี ๓ อย่าง คือ ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน (สุตมยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการคิด (จินตามยปัญญา) และปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนา (ภาวนามยปัญญา)

ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนา นอกจากจะเรียกว่าภาวนามยปัญญาแล้ว อาจจะเรียกว่าวิปัสสนาปัญญาก็ได้ วิปัสสนาญานก็ได้ หรือจะเรียกว่า "วิปัสสนา" หรือ "ญาน" เฉยๆ ก็ได้

วิปัสสนาปัญญาหรือวิปัสสนาญาน (หรือญาน) นี้มีความล้ำลึกและพิศดารมาก เป็นปัญญาที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นหรือเข้าใจในเรื่องของรูปและนาม (ขันธ์ห้า) และกฎพระไตรลักษณ์ (คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) โดยลักษณะอาการต่างๆ ไปตามลำดับขั้น (๑๖ ขั้น)

เรื่องของสมถภาวนา ได้กล่าวในรายละเอียดไว้ก่อนหน้านี้ พอสมควรแล้ว ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงวิปัสสนาภาวนา ให้ละเอียดขึ้น

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า วิปัสสนาภาวนา คือ อุบายเพื่อให้เกิดสติและสัมปชัญญะ ซึ่งจะทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญา หลักปฏิบัติของวิปัสสนาภาวนา คือ สติปัฏฐานสี่ ซึ่งก็คือการเจริญสติโดยใช้ฐานสี่อย่าง ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม เรียกชื่อเต็มๆ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การเจริญสติโดยใช้ฐานกาย)

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การเจริญสติโดยใช้ฐานเวทนา)

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การเจริญสติโดยใช้ฐานจิต)

๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การเจริญสติโดยใช้ฐานธรรม)

ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร อ่านแล้วอาจจะเข้าใจยากหน่อย ดังนี้

"ภิกษุในพุทธศาสนา เธอย่อม

๑. พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ (กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ)

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ (เวทนาสุ เวทนุปสฺสีวิหรติ)

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ (จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ)

๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ (ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ)

มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำความยินดีและยินร้ายในโลกเสียให้พินาศ (อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺยโลกเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ)"

มีความหมายว่า ภิกษุหรือผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา พึงจะต้องเจริญสติและสัมปชัญญะ ด้วยความเพียร โดยใช้กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นฐานหรือที่ตั้งของสติ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน สัตว์บุคคล และเราเขา คือ เห็นกายสรรพแต่ว่าเป็นกาย เห็นเวทนาสรรพแต่ว่าเป็นเวทนา เห็นจิตสรรพแต่ว่าเป็นจิต และเห็นธรรมสรรพแต่ว่าเป็นธรรม

ที่เขียนมานี้ค่อนข้างจะเป็นทฤษฎีสักหน่อย ในทางปฏิบัติ (ซึ่งก็ยังเป็นทฤษฎีของการปฏิบัติอยู่ดี เพราะผู้อ่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง) จะเป็นอย่างไร คงจะต้องติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 585762เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท