สมถภาวนา


อุบายในการฝึกและพัฒนาจิต ทั้งในพุทธศาสนาและนอกพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ วิธีเท่านั้น คือ การฝึกจิตให้เกิดสมาธิ (สมถภาวนา หรือสมถกรรมฐาน) กับการฝึกจิตให้เกิดสติและปัญญา (วิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนากรรมฐาน)

ขอพูดถึงการฝึกจิตให้เกิดสมาธิ (สมถภาวนา หรือสมถกรรมฐาน) ก่อน การฝึกสมาธิมีมาก่อนจะเกิด พุทธศาสนา (ในปัจจุบันก็มีอยู่ ทั้งในพุทธศาสนาและนอกพุทธศาสนา) พระพุทธเจ้าได้เรียนการทำสมาธิกับอาฬารดาบส จนได้รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๓ และเรียนการทำสมาธิกับอุทกดาบส จนได้อรูปฌาน ๔ แต่ก็ทรงพิจารณาเห็นว่าไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลสและพ้นทุกข์ได้ จึงทรงศึกษาค้นคว้า ด้วยการทดลอง แบบลองผิดลองถูก ด้วยพระองค์เอง จนทรงค้นพบสติปัฏฐานสื่ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นอุบายที่จะฝึกพัฒนาจิตให้เกิดสติและปัญญา

การทำสมาธิจะต้องมีอุบายที่จะทำให้จิตสงบนิ่งหรือสงบระงับ และอยู่ในอารมณ์เดียว (คำว่า อารมณ์ ในที่นี้มีสองความหมาย คือ ความรู้สึก และสิ่งที่จิตรับรู้หรือสิ่งที่จิตจดจ่อ)

วิธีทำสมาธิที่คนไทยชอบและคุ้นเคยกันมากสองวิธี คือ การภาวนาคำว่าพุทโธ และอานาปานสติ สองวิธีนี้อาจจะจัดอยู่ในอนุสติ

การภาวนาคำว่าพุทโธ สอนโดยพระอาจารย์ทางสายอิสาน ส่วนอานาปานสติสอนโดยพระอาจารย์หลายท่าน โดยเฉพาะท่านพุทธทาสภิกขุและพระอาจารย์ในสายส่วนโมกข์

การทำสมาธิ (สมถภาวนา) ตามตำรามี ๔๐ วิธี คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อรูป ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถาน ๑

ขอกล่าวถึงเรื่องรูปฌานและอรูปหน่อย

เมื่อทำสมาธิภาวนา จนจิตสงบระงับมีอารมณ์เป็นหนึ่ง บางท่านก็มีจิตสงบนิ่งดิ่งลึกเข้า ปฐมฌาน ซึ่งมีองค์ประกอบของจิต คือ การนึก (วิตก) การคิด (วิจาร) ความอิ่มใจ (ปิติ) ความสุข (สุข) และจิตอยู่ในอารมณ์เดียว (เอกัคคตา)

ในปฐมฌานยังมีการนึกและคิดอยู่ ซึ่งยังหยาบ เมื่อผู้ทำสมถภาวนาอยากทิ้งความนึกและคิด จึงทำจิตให้สงบนิ่งลึกลงอีก เข้าทุติยฌาน ละการนึกและคิดเสีย แต่ต่อมายังรู้สึกว่าความอิ่มเอิบใจก็ยังหยาบจึงละเสียเข้าสู่ตติยฌาน เหลือแต่สุขและจิตที่เป็นหนึ่ง และต่อไปจึงเปลี่ยนจากความสุขเป็นการวางเฉยและอารมณ์ที่เป็นหนึ่งเข้าสู่จตุตฌาน ซึ่งทังหมดนี้ใช้รูปเป็นอารมณ์ จึงเรียกว่ารูปฌาน

ต่อมาเมื่อพิจารณาว่าการใช้รูปเป็นอารมณ์ยังหยาบอยู่จึงทิ้งรูปเสียและใช้ภาวะที่ไม่มีรูป (อรูป) เป็นอารมณ์ ซึ่งใช้ได้สี่อย่าง คือ ๑. กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ ๒. กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ ๓. กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ ๔. ภาวะมีความจำ (สัญญา) ก็ไม่ใช่ ไม่มีความจำ (สัญญา) ก็ไม่ใช่ เป็นอารมณ์

หมายเลขบันทึก: 585759เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท