อานาปานสติ


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้"

อานาปานสติ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจ เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติและนำมาสอน และทรงสรรเสริญว่า มีอานิสงส์มาก ดังที่ยกมาตอนต้น

อานาปานสติเป็นวิธีปฏิบัติมีอยู่ทั้งในการทำสมาธิภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

การกำหนดลมหายใจมีเทคนิคในรายละเอียดหลายแบบ เช่น การกำหนดลมหายใจเข้าและออกที่จมูก เรียกว่า ต้นลม (อาจจะนับลมประกอบไปด้วย หรือไม่ก็ได้) การกำหนดการเคลื่อนไหวของหน้าอก เรียกว่า กลางลม หรือการกำหนดการเคลื่อนไหวของท้อง เรียกว่า ปลายลม หรืออาจจะติดตามดูลมเข้าและลมออกตลอดสายก็ได้ (แต่เมื่อจิตมีสมาธิควรจดจ่ออยู่เพียงที่เดียว)

การทำสมาธิโดยอานาปานสติ คือ การทำให้มีจิตมีสมาธิจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับลมใจ เมื่อจิตหลุดหรือเผลอไปคิดเรื่องใดๆ ก็ดึงจิตให้กลับมามีสมาธิอยู่กับลมหายใจ แรกๆ เมื่อยังไม่ค่อยมีสมาธิ ลมหายก็จะไม่ค่อยสงบและหยาบ เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ หรือบ่อยๆ เนืองๆ ลมหายใจก็จะสงบ ละเอียด และแผ่วเบาลง ยิ่งเกิดสมาธิมาก ลมหายใจก็จะแผ่วเบาและละเอียดมากขึ้นๆ จนสงบนิ่งเหมือนหยุดหรือไม่มีลมหายใจ จิตจะสงบนิ่งอยู่ในสมาธิ หยุดคิดเรื่องต่างๆ ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน มีความสุขและอิ่มเอิบใจ หากปล่อยให้จิตดิ่งลึกลงไปในสมาธิจนทิ้งความรู้สึกและการรับรู้ ต่างๆ ได้ เป็นฌานในสมถภาวนา

สมาธิที่เกิดจากอานาปานสติจะทำให้นิวรณ์ สงบระงับลงชั่วคราว หากปฏิบัติและพอใจอยู่ในความสงบและสุขของสมาธิก็จะติดอยู่ในอารณ์ของสมถภาวนา (ความสงบและความสุขจากสมาธิ) แม้ว่ากิเลสระดับกลางจะสงบระงับ แต่เป็นการสงบและระงับลงชั่วคราว ยังไม่ได้ถูกทำลาย และอนุสัยกิเลสก็ยังอยู่ กิเลสจึงถูกข่มไว้ด้วยสมาธิ เหมือนหินทับหญ้า เมื่อใดเอาหินออก หรือสมาธิลดหรือหมดไป กิเลสก็จะกลับมากำเริบได้อีก และอาจจะมากกว่าเดิมได้

อานาปานสติอาจจะทำแบบวิปึสสนาภาวนาก็ได้ คือ ทำให้มีสติกำกับอยู่ตลอด แม้เมื่อมีจิตสงบมีสมาธิ ก็ยังมีสติรู้ตัวอยู่ ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของอานาปานสติแบบสมถภาวนาและแบบวิปัสสนาภาวนา คือ ถ้าไม่มีสติรู้ตัวก็เป็นสมถภาวนา ถ้ามีสติรู้ตัวก็เป็นวิปัสสนาภาวนา

หากใช้วิธีกำหนดรู้ลมหายใจที่จมูก เป็นการอานาปานสติแบบต้นลม (กลางลมคือที่หน้าอก และปลายลมคือที่ท้อง) การกำหนดรู้ลมหายใจ (อานาปานสติ) เป็นการเจริญสติ (หรือวิปัสสนาภาวนา) โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องไม่ทิ้งความรู้ตัว คือ มีสติประกอบกับสมาธิ แม้ว่าลมจะแผ่วมากเพียงใด หรือแม้แต่ลมหายใจหายไป ก็จะต้องไม่ทิ้งสติหรือความรู้ตัว หากลมหายใจหายไป แสดงว่ามีสมาธิมาก จะต้องสร้างความรู้ตัวไว้ หากไม่มีอะไรให้กำหนดรู้ ก็ให้บริกรรมว่ารู้หนอ รู้หนอๆ ไปเรื่อยๆ เอาไว้ หากทำเช่นนี้แล้ว ก็จะมีสติอยู่ตลอดเวลา จึงเท่ากับเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่ตลอด

แต่หากลมหายใจแผ่ว หรือไม่มีลมหายใจ แล้วทิ้งความรู้สึกตัว (สติ) ก็จะมีแต่สมาธิอย่างเดียว เท่ากับจิตตกอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน อาจจะมีความสงบ ความปีติ และความสุข จิตอาจจะชอบและยึดติดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ เวลานั่งครั้งใดก็อยากจะให้จิตมีแต่สมาธิและความสงบสุข นี่ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะจิตยึดติด ไม่มีการเกิดขึ้นของวิปัสสนาปัญญา (หรือภาวนามยปัญญา) และไม่มีการพัฒนาของปัญญาต่อไป

เมื่อจิตสงบและเกิดสมาธิในระดับกลาง เรียกว่าเกิดอุปจารสมาธิ (สมาธิชั่วขณะเรียกว่าขณิกสมาธิ สมาธิระดับลึกคือในระดับฌานเรียกว่าอัปปนาสมาธิ) และเมี่อเผลอทิ้งความรู้ตัว ก็จะเกิดนิมิตขึ้น นิมิตที่มักจะเกิดขึ้นในขณะนั่งสมาธิก็คือนิมิตทางตา (ที่เกิดในขณะหลับตา) คือ มักจะเห็นเป็นภาพต่างๆ (เช่น เห็นภาพคน ภาพสัตว์ ภาพสถานที่ สิ่งของ ฯลฯ) หรืออาจจะเห็นแสง (เช่น แสงสว่าง เห็นแสงเป็นดวง แสงระยิบระยับ) หรือสีต่างๆ (เช่น สีขาว สีแดง สีเขียว สีดำ ฯลฯ) ในการทำวิปัสสนาภาวนานั้น เมื่อเกิดนิมิตจะต้องกำหนดรู้ เพื่อทำลายนิมิต ไม่หลงตามดู หรือยึดติดนิมิต จึงจะเกิดกาพัฒนาของสติและปัญญาต่อไป

สมาธินั้นมีประโยชน์แต่ก็มีโทษด้วย สมาธิเป็นพลัง แต่สมาธิเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะปราบกิเลสได้ กิเลสไม่ได้กลัวสมาธิ สมาธิอาจจะข่มกิเลสไว้ได้ชั่วคราว แต่กิเลสก็สามารถจะใช้ประโยชน์จากสมาธิ หรือเอาสมาธิเป็นพวกด้วยได้ ทำให้กิเลสมีพลังแรงขึ้นด้วย โทษหรืออันตรายของสมาธิมีดังนี้

๑. ความยึดติด เพราะสมาธิทำให้จิตสงบ เกิดความสุขและความอิ่มเอบใจ (ปีติ) หากทำสมาธิแบบสมถภาวนา คนทำจะมีความสงบสุขและปีติ นั่งทีไรก็จะเอาแต่ความสงบสุขและปีติ ก็จะไม่ไปถึงไหน เพราะจิตจะพัฒนาต่อไปได้จะต้องเจริญสติ (วิปัสสนาภาวนา) จึงจะเกิดวิปัสสนาปัญญาและพัฒนาต่อไป คนที่เจริญวิปัสสนาภาวนา จิตจะสงบหรือไม่สงบ ไม่ใช่ปัญหา เพระจะใช้สติรับรู้ (หรือกำหนดรู้) ได้ทั้งหมด

๒. เมื่อจิตสงบในขั้นอุปจารสมาธิแล้ว มักจะเกิดนิมิตขึ้น นิมิตมีหลายแบบ หากเป็นนิมิตที่สวยงาม และพึงพอใจ ก็จะยึดติด การทำสมถภาวนาต้องการจะให้เกิดนิมิต และใช้นิมิตเป็นเครื่องมือเพื่อทำสมาธิต่อไป ตรงกันข้ามการเจริญสติ (วิปัสสนาภาวนา) จะต้องทำลายนิมิต เพราะนิมิตไม่ใช่ของจริง เป็นแต่สิ่งที่จิตสร้างหรือปรุงแต่งขึ้น (หลวงปู่ดุลย์ ท่านกล่าวว่า การเห็นนั้นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง) วิปัสสนาภาวนาจะต้องฝึกสติให้ว่องไวจนเท่าทันนิมิต เมื่อเกิดนิมิตขึ้น สติจะต้องกำหนดรู้ทันจนนิมิตถูกทำลาย จนไม่สามารถจะเกิดได้ วิปัสสนาปัญญาจริงจะเกิด จึงจะทำให้เห็นรูป-นาม (หรือขันธ์ห้า) หากสติยังไม่ไวพอก็ยังจะไม่ก้าวหน้าต่อไป

๓. สมาธิที่รวมกับกิเลส อาจจะทำเกิดความยึดติดอย่างหนักและรุนแรง จนทำให้หลงเป็น "มิจฉาสมาธิ" (ไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิจะต้องประกอบดัวยสติและปัญญา) อย่างในกรณีการทำสมาธิ (สมถกรรมฐานเพียงอย่างเดียว) ของพระเทวทัตและกรณีธรรมกาย เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 585760เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท