มหาวิทยาลัยผูกพันสังคม ตัวอย่างวิธีทำงานที่ได้หลายผลในงานเดียว



ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติเรื่อง A follow-up of village development at Lumpaya village, Thailand : can change process initiated through action research be sustained? คือตัวอย่างของการทำงาน university engagement ที่ได้ผลงานหลายด้าน จากการทำงานชิ้นเดียว ที่เป็นงาน action research / KM

เป็นตัวอย่างการทำงานที่ผมชื่นชมมาก หัวหน้าทีมคือ รศ. ดร. ศิริพร แย้มนิล แห่งคณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผมได้เขียนชื่นชมผลงานเดียวกัน แต่เป็นผลงานช่วงแรก ที่นี่

คราวนี้เป็นผลงานต่อเนื่อง ไปศึกษาติดตามผล ว่ากิจกรรมวิจัย/KM พัฒนาชุมชนตลาดน้ำลำพญา มีความต่อเนื่องยั่งยืนหรือไม่ ชาวบ้านยังดำเนินการเรียนรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันในชุมชน หรือไม่ หลังโครงการจบไปแล้ว ๕ ปี เป็นการสื่อด้วยการปฏิบัติ ให้ชาวบ้านเห็นว่า ทีมวิจัยนี้ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผูกพันกับชุมชนลำพญา อย่างต่อเนื่องระยะยาว

ผลการวิจัยบอกว่า ชาวบ้านยังคงดำรง "การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ" อย่างต่อเนื่อง แกนนำชาวบ้านมีทักษะในการทำหน้าที่ "คุณอำนวย" และมีการฝึกแกนนำแถวสองขึ้นมาด้วย แสดงให้เห็นว่า action research แบบที่ชาวบ้านฝึกดำเนินการกันเอง มีนักวิจัยทำหน้าที่ "คุณอำนวย" นั้น มีผลสร้างทักษะ (และฉันทะ) การเรียนรู้ ให้แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำ

โครงการนี้เป็นโครงการย่อยเล็กๆ ทุนวิจัยเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท ของโครงการขนาดใหญ่มาก ชื่อเครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ซึ่งในภาษาวิชาการปัจจุบัน ก็คือโครงการมหาวิทยาลัย ผูกพันสังคม (University – Community Engagement) นั่นเอง

โครงการใหญ่จบไปแล้ว แต่ความผูกพันเล็กๆ กับชุมชนลำพญายังไม่เสื่อมคลาย ยังสืบเนื่องกัน ด้วยกิจกรรมวิจัยประเมินความสามารถของชุมชน ในการดำรงการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง อย่างต่อเนื่อง เป็นชุมชนจัดการตนเอง ได้

ผมมองว่าคุณค่าของงานวิจัยชิ้นที่สองนี้ มีประโยชน์ต่อชุมชนลำพญาอย่างยิ่ง ในด้านการยืนยัน ให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจว่า การดำเนินการพัฒนาชุมชนด้วยตนเองตามที่ได้ดำเนินการมาตลอดเวลา ๕ ปีนั้น มาถูกทางแล้ว ในทางหลักการเรียนรู้ เรียกว่า ได้รับ reinforcement ต่อสิ่งที่ตนทำ ผมถือเป็นบริการวิชาการ อย่างหนึ่ง และมีค่ามาก ในลักษณะของการให้ empowerment ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ชาวบ้านเป็นตัวของตัวเอง ร่วมแรงร่วมใจร่วมกันตัดสินใจเอง ไม่ใช่นักวิชาการ หรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปบงการ

สรุปว่า งานที่ทำเสร็จเมื่อปี ๒๕๔๙ บัดนี้ถึงปี ๒๕๕๘ แล้ว ผลกระทบต่อเนื่องยังคงอยู่ เพราะใช้วิธีการไปหนุนให้ชาวบ้านเรียนรู้จากการปฏิบัติของตนเอง เป็น สมรรถนะในการเรียนรู้ร่วมกัน จากการปฏิบัติ เป็นเงื่อนไขของชุมชนจัดการตนเอง



วิจารณ์ พานิช

๒ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 585434เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท