nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​หนัง The Imitation Game : ชีวิตรันทดของ อลัน ทัวริ่ง ผู้ริเริ่มประดิษฐ์คอมพิวเตอร์


The Imitation Game สร้างจากเรื่องจริงของนักคณิตศาสตร์ผู้ริเริมประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ชื่อ Alan Mathison Turing (1912-1954) กำกับการแสดงโดย Morten Tyldum

สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยอรมันถือว่าเป็นสุดยอดของโลก เยอรมันส่งคำสั่งทางทหารเป็นรหัสผ่านเครื่อง อินิกม่า (Enigma) ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยอังกฤษพยายามถอดรหัสโดยใช้นักคณิตศาสตร์ระดับหัวกระทิมาช่วยแต่ไม่สำเร็จ

อลัน ทัวริ่ง (รับบทโดย Benedict Cumberbatch) หนึ่งในทีม Hut 8 เสนอโครงการสร้างเครื่องถอดรหัสแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน เขาเขียนจดหมายถึงเซอรวินสตัน เชอร์ชิล และได้รับงบประมาณให้ดำเนินการ ทัวริ่งปลดคนในทีมที่จะเป็นอุปสรรคการทำงานออก และเดินหน้าทำงานทันที

ลูกทีมคนสำคัญที่ช่วยให้งานสำเร็จเป็นสตรีชื่อ Joan Clarke (รับบทโดย Keira Knightley) ในภาพข้างบนนี้ ซ้ายมือคือ Joan Clarke ตัวจริงค่ะ

หนังเดินเรื่องตัดสลับไปมาระหว่างการสอบสวนทัวริ่งหลังสงครามจบแล้วหลายปี กับ การทำงานพัฒนาเครื่องถอดรหัส และชีวิตวัยเด็กที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างทัวริ่งกับเพื่อนชายรุ่นพี่ชื่อ คริสโตเฟอร์ มอร์คอม (Christopher Morcom) ในหนังเขาตั้งชื่อเครื่องจักรของเขาตามชื่อเพื่อนคนนี้ (ในภาพ บน-เครื่องถอดรหัสของจริง กับ ล่าง-เครื่องในหนัง)

คนที่เป็นอัจฉริยะมากๆ อย่างทัวริ่งมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ทั้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เพราะเขามุ่งทำงานจนลืมกินลืมนอน และไม่สามารถสื่อสารความคิดที่ล้ำหน้าให้ผู้อื่นเข้าใจได้

มีฉากน่ารักๆ ของทัวริ่ง ๒ ฉาก ตอนที่โจนให้ข้อคิดเขาว่า เขาไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยตัวคนเดียว ผู้ร่วมงานทุกคนมีความสำคัญ เที่ยงวันนั้นทัวริ่งซื้อแอปเปิ้ลไปส่งให้เพื่อนในทีมแบบประดักประเดิก แต่น่ารักจริงใจ และเพื่อนในทีมของเขานี่ละที่ออกมายืนเคียงข้างเขาในวันที่ทหารเข้ามาบอกว่าโครงการของเขาต้องยุติและต้องทำลายเครื่องจักร "คริสโตเฟอร์" ทิ้งทันที กับฉากที่ทัวริ่งบอกรักโจน

ด้วยความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย คำพูดประโยคหนึ่งของโจนช่วยไขปริศนา ทัวริ่งและเพื่อนในทีมวิ่งกลับไปที่ห้องทดลอง ทำงานกันตลอดคืน พวกเขาถอดรหัสอินิกม่าได้สำเร็จในคืนนั้น เขาสามารถล่วงรู้แผนการรบและคำสั่งทางทหารของเยอรมันทั้งหมด

แต่การนำสิ่งที่เขาค้นพบไปใช้กลับไม่ตรงไปตรงมา ทัวริ่งเสนอให้ใช้ค่าสถิติความน่าจะเป็นกำหนดแผนการสู้รบกับเยอรมัน เพื่อมิให้เยอรมันล่วงรู้ว่าสัมพันธมิตรสามารถถอดรหัสได้แล้ว การนั่งทำงานของทัวริ่งและคณะถูกเก็บเป็นความลับสุดยอดที่อยู่เบื้องหลังการชนะสงคราม

มีการวิเคราะห์และสรุปว่า ผลงานของทัวริ่งสามารถลดการสูญเสียชีวิตของคนหลายสิบล้านคน และช่วยให้สงครามยุติเร็วขึ้น ๒ ปี

....................................

บันทึกเพิ่มเติม

หลังสงครามยุติ ทัวริ่งทำงานสำคัญชิ้นหนึ่งคือ การประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบ และมีการพัฒนาเป็นคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน

ในปี ๑๙๕๒ ทัวริ่งถูกจับดำเนินคดีข้อหามีเพศสัมพันธ์กับเด็กชาย เขาถูกตัดสินว่าผิดและมีทางเลือกระหว่างจำคุก ๒ ปีหรือ กินฮอร์โมนเพื่อการรักษา เขาเลือกข้อหลังและในปี ๑๙๕๔ เขาฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษ เมื่ออายุ ๔๒ ปี หลังสงครามยุติ ๑๐ ปี

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน คศ. ๒๐๐๙ นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์แห่งอังกฤษได้กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อการกระทำของรัฐบาลอังกฤษในอดีต

.............................

นักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานอันยิ่งใหญ่แต่มีชีวิตรันทด เมื่อนำมาสร้างเป็นหนังรายละเอียดชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ของทัวริ่งถูกดัดแปลง แต่เนื้อหาหลักๆ อยู่ครบถ้วน เป็นหนังดีที่ควรค่าแก่การดูอีกเรื่อง ทั้งผลงานการสร้าง และการแสดงของนักแสดงนำ

เช้าของวันที่ ๒๓ กพ. ๒๕๕๘ ที่จะถึงนี้ ฉันต้องรอลุ้นให้ดารานำสองคนนี้ ได้รับรางวัลดารานำยอดเยี่ยม กว่าจะถึงเวลาประกาศรางวัลสำคัญน่าจะเป็นเที่ยงๆ

สำหรับรางวัลหนังยอดเยี่ยม (Best Picture) ฉันได้ดูหนังที่เสนอชิงหนังยอดเยี่ยมไปแล้ว ๔ เรื่อง คือ Boyhood , American Sniper , The Imitation Game และ The Theory of Everything ฉันเทใจและรอลุ้นให้ The Imitation Game, เป็นหนังยอดเยี่ยมปีนี้ ชอบมากค่ะ

หนังยังคงฉายในโรงภาพยนตร์ ควรค่าแก่การออกจากบ้านไปดูอย่างยิ่ง.


ศุกร์ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 585433เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีสาย ๆ ของวันเสาร์จ้ะพี่นุ้ย

สวัสดีสายๆ ของวันอาทิตย์ค่ะน้องครู คุณมะเดื่อ

เพราะเพิ่งเข้าระบบได้วันนี้ อิ..อิ...คุณครูมีปัญหานี้หรือเปล่าคะ

ขอบพระคุณพี่ Nui มากครับ เมื่อวานเพิ่งได้ชมหนังเรื่องนี้และรู้สึกได้แรงบันดาลใจมากมายจึงอยากลงบันทึก ขออนุญาตนำไปต่อยอดในบันทึกผมนะครับ

ดูแล้วรัก Joan Clarke มาก เป็นคนที่จิตใจดีเหลือเกินนอกจากจะเป็นคนเก่งพอที่จะอยู่ในทีมของทัวริ่งได้แล้ว โจน คลาก ในหนังสวย น่ารัก แบบสาวอังกฤษ เหมือนเจ้าหญิงไดอานามาก ๆ รวมทั้งเสียงสำเนียงการพูด ส่วน ทัวริงตัวจริงก็สง่าและดูฉลาด(ดูหน้าผากโหนกมาก) ดูในหนัง แปลกแยกจริง ๆค่ะ

น่าเศร้านะคะที่อัจฉริยะอย่างทัวริงมาจบชิวิตด้วยการฆ่าตัวตายด้วยวัยเพียง 42 ปีเท่านั้นหลังจากพ้นโทษไม่นาน เขา ต้องติดคุกด้วยเหตุผลของการเป็น Homosexual และถูกบำบัดด้วยฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งผิดกฏหมายในอังกฤษ ในปัจจุบันบางประเทศก็ยังถือว่าผิดกฏหมาย เช่นมาเลเซีย (นักการเมืองคาวเด่นคนหนึ่งก็ติดคุกเพราะเรื่องนี ไม่แน่ใจว่าพ้นโทษหรือยัง) อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเขายังมี Joan Clarke อยู่ใกล้ ๆ เป็นเพื่อนคู่คิดที่แสนดี บางทีจะช่วยให้เขาผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆไปได้ และคงสร้างนวัตกรรม/เทคโนโลยีให้แก่โลกอีกมาก

ไปดูหนังครั้งนี้หลังจากที่ดูเรื่องสุดท้ายหลายปีมาแล้วคือเรื่อง A Beautiful Mind เป็นเรื่องของ John Nash นักคณิตศาสตร์ที่ ค้นพบ Game Theory นักคณิตศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ คนนี้ก็เหมือนกันเป็นโรคจิตหลอน และมีภรรยาที่แสนดีเช่นกันที่คอยร่วมทุกข์ร่วมสุขดูแลอยู่..เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของบุรุษคือสตรี(ที่ยิ่งใหญ๋)ค่ะ มีความรู้สึกที่ทำให้น้ำตาเกือบไหลอยู่นิดนึงตอนยืนทำความเคารพในหลวงก่อนหนังฉาย ขณะที่เพลงเปิดสรรเสริญพระบารมีพร้อมภาพยนต์พระกรณียกิจค่ะ ภาพต่าง ๆของพระองค์ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาพที่พระองค์เสด็จกลับวังไกลกังวลโดยรถยนต์ พระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ มีพระราชินีอีกฟากหนึ่งแบบเบลอ ๆ เป็นความรู้สึกผสมกัน ซาบซึ้งในพระกรณียกิจ สงสาร เศร้า และปลงกับอนิจจังของชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตายค่ะ

ด้วยความยินดีค่ะอาจารย์ Dr. Pop

อยากแนะนำให้อาจารย์ไปดู The Theory of Everything ด้วยนะคะ อาจารย์น่าจะชอบ เป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก สัปดาห์นี้ฉายรอบปกติแล้วค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ ดร.กัลยา GD มากค่ะที่มาเติมเต็ม

โจนในหนังกับตัวจริง บุคลิกใกล้เคียงกันค่ะ ชอบนะคะผู้หญิงเก่งและสดใสแบบนี้

ในชีวิตจริงโจนทำงานอีกแผนกค่ะแต่ได้มาร่วมงานกัน ไม่ได้มาสมัครทำงานกับทัวริ่ง แต่สองคนก็เป็นคู่หมั้นกันจริงๆ นะคะ

A Beautiful Mind เป็นหนังในดวงใจอีกเรื่องค่ะ หลังจากดูจบแล้วออกมาหาซื้อหนังสืออ่าน เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจในความรักของภรรยาที่ยืนเคียงข้างสามีไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ฮอลลีวูดนำชีวิตคนจริงๆ มาสร้างได้ดีมากหลายๆ เรื่องทีเดียว

อย่างนี้ถ้าอาจารย์ได้ดู The Theory of Everything จะยิ่งชอบ เจน ฮอว์กิ้ง เชียร์ให้ไปดู เชียงใหม่น่าจะเข้าฉายเร็วๆ นี้ เพราะที่ กทม.เพิ่งฉายสัปดาห์นี้ค่ะ

เรามีความรู้สึกตรงกันในหลายๆ เรื่องนะคะ ขอบคุณที่มาแบ่งปันค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณมากครับพี่ Nui ผมได้บันทึกไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/585550 และจะลองติดตาม The Theory of Everything ด้วยครับผม

เดี๋ยวตามไปอ่านนะคะ อาจารย์ Dr. Pop

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท