KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๒๓. KM ในชุมชน


          วันนี้ขอชี้ให้เห็นบทบาทของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ต่อ KM   จากผลงานวิจัยตีพิมพ์ของ รศ. ดร. ศิริพร แย้มนิล แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Siriporn Yamnil and Gary N. McLean. Knowledge management in a community setting using action research : a case study of Lumpaya community, Nakorn Pathom Province, Thailand. Human Resource Development International 2010; 13 (5), 541-556.

          บทความวิจัยนี้ช่วยให้ผมทราบว่าพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลำพญาเป็นผลผลิตของโครงการจัดการความรู้โครงการนี้  

          ผมเดาว่าบทความวิจัยนี้เป็นรายงานผลการวิจัยการประยุกต์ใช้ KM เพื่อการพัฒนาชุมชนเรื่องแรกๆ ที่ตีพิมพ์ในในวารสารวิชาการของโลก   เพราะค้นใน อินเทอร์เน็ต ไม่พบบทความอื่น   แต่ในประเทศไทยเรามีการใช้กันดาษดื่นทีเดียว เช่นบันทึกนี้,  วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของคุณธันยพร วณิชฤทธา ซึ่งอ่านได้ที่นี่, การจัดการความรู้ชุมชนบ้านนาบัว  อ. นครไทย  จ. พิษณุโลก, การจัดการความรู้ชุมชนบ้านจำรุง  จ. ระยอง เป็นต้น  ผมภูมิใจมากที่ได้มีส่วนส่งเสริมการนำเอา KM ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนเมื่อหลายปีมาแล้ว  

          ผมจึงดีใจมาก ที่ ดร. ศิริพร ได้ทำหน้าที่นำเอา KM ในชุมชนของไทยไปให้วงการวิชาการของโลกรู้จัก  และนำออกไปในมาด HRD  คือชี้ให้เห็นว่า KM เป็นเครื่องมือของการพัฒนาคน   และในกรณีของบทความนี้ เป็นการพัฒนาคนในชุมชนชนบท คือชุมชนลำพญา อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม   ตรงที่เป็นตลาดน้ำลำพญาที่มีชื่อเสียง   

          จะเห็นว่า ในประเทศไทยมีการใช้ KM ในการพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนกันมากมาย  แต่ผู้ดำเนินการไม่ได้เก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และนำเสนออย่างเป็นระบบ และเป็นวิชาการ   การดำเนินการของ รศ. ดร. ศิริพร จึงถือได้ว่าเป็นการริเริ่มนำเอา KM เข้าสู่วงการวิชาการ HRD ในบริบทของชุมชน  รวมทั้งเข้าสู่วิชาการพัฒนาชุมชน ในระดับนานาชาติ

          ระหว่างอ่านรายงานการวิจัยนี้ ผมเกิดความคิดว่า ทีมวิจัยน่าจะเข้าไปติดตามผลระยะยาว ว่าการเรียนรู้ของคนในชุมชนลำพญา ที่เป็นการรวมตัวกันเรียนรู้ (collaborative learning) นั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องยั่งยืน และมีพัฒนาการต่อเนื่อง หรือไม่   แต่พออ่านถึงหน้า ๕๕๕ ก็พบว่าผู้รายงานได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะเข้าไปอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๕๓ 

          ผมมีความเชื่อว่า KM ชุมชนหรือ KM ชาวบ้าน เป็นคำตอบหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง และของการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะในชนบท  โดยที่กิจกรรมรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัติของชาวบ้านนี้ ต้องทำต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง   ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี  ดังนั้น อปท. จึงพึงถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องลงทุนจัดระบบสนับสนุนการเรียนรู้ของชาวบ้าน   โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำที่สมัยก่อนอาจเรียกว่าพัฒนากร   แต่ในสมัยใหม่อาจเรียกว่า “นักจัดการความรู้ชุมชน”   ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” หรือ facilitator ของการจัดการความรู้ของชาวบ้าน  หรือในภาษาของ ดร. ศิริพร ทำหน้าที่ HRD ชุมชน นั่นเอง

          ผลงานที่นำมาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติชิ้นนี้ ใช้เงินทุนวิจัยเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท และใช้เวลาเพียง ๔ เดือน   เข้าไปกระตุ้นหรือ facilitate ให้เกิด KM ชาวบ้าน ที่นำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในชุมชน  แล้วยังได้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติอีกด้วย   นับเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่อง

          ผมมีข้อเสนอให้เก็บข้อมูลและเขียนรายงานคล้ายๆ กัน ที่เป็น KM ในชุมชน   ที่ผู้คนในชุมชนเขาคิดริเริ่มและดำเนินการกันเอง   ไปดูว่ามันก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร   กระบวนการ KM นั้นมันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในชุมชนด้วยตัวของชาวบ้านเองได้อย่างไร   อะไรคือปัจจัยหลักของการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และความต่อเนื่องยั่งยืน  KM ในชุมชนแบบนี้ที่ผมรู้จักคือที่ อ. ดอนเจดีย์  จ. สุพรรณบุรี มีคุณเบี้ยว ไทยลา เป็น “นักจัดการความรู้โรงเรียนชาวนา”   คือจัดการความรู้เพื่อสัมมาชีพชาวนานั่นเอง อ่านเรื่องราวของคุณเบี้ยวได้ที่นี่

          ผมจ้องอ่านในภาค Discussion แต่ไม่มีภาคนี้ มีแต่หัวข้อ Results of Implementation ซึ่งเขียนเชิง discussion ไปในตัว   ผมจ้องอ่านว่านักสังคมศาสตร์มองบทบาทของกระบวนการ KM ต่อชาวบ้านอย่างไร   ไม่พบสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของ KM ชุมชนหรือ KM ชาวบ้าน   คือมันช่วยเพิ่มความรู้สึกมั่นใจตนเอง (self-confidence) ในการคิด การลองปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงมั่นใจที่จะสร้างความรู้ขึ้นลองใช้เองในบริบทของตน  ผมเชื่อว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับศักยภาพนี้   แต่คนในชนบทถูกครอบงำด้วยวัตรปฏิบัติ วัฒนธรรมประเพณี ท่าทีของผู้คน จนความมั่นใจตนเองของเขาหดลีบไป   KM ช่วยปลดปล่อยความครอบงำนั้น  และปลดปล่อยมิติของความเป็นมนุษย์ออกมา ทำกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์ในวิถีการดำรงชีวิตของตนได้  โดยความมั่นใจนั้นจะหลุดออกมาจากการครอบงำได้ ต้องมีกระบวนการ KM ที่ถูกต้อง  และมี “คุณอำนวย” ที่เก่ง  

          ผลงานวิชาการชิ้นนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทยได้ด้วย  และประสบการณ์จากการทำงานชิ้นนี้ น่าจะนำไปใช้ในการออกแบบการจัดการสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคมไทย หรือโครงการ ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย 

          เนื่องจาก ดร. ศิริพร มีความสามารถในการเขียน   และเธอมาบอกผมว่าทางแผนงาน Happy Workplace ของ สสส. ต้องการให้ไปเขียนหนังสือเชิงวิชาการว่าด้วย Happy Workplace  ผมจึงขอเสนอว่า น่าจะศึกษาเรื่อง KM กับการพัฒนาจิตวิญญาณ   เพราะ นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ดำเนินการโครงการแผนพัฒนาจิตของ สสส. ที่จบไปแล้ว เสนอว่ากระบวนการ KM ลปรร. กระบวนการทำงานที่มีการทำ reflection (AAR) ด้านจิตใจ   จะช่วยให้ความสุขทางจิตวิญญาณ  อ่านบันทึกเรื่องนี้ได้ที่นี่

          เรื่อง KM กับ Happy Workplace นี้ น่าจะเขียนเป็นรายงานในวารสารวิชาการได้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวที่เน้นบริบทของสังคมวัฒนธรรมตะวันออก

          ท่านที่ต้องการติดต่อ รศ. ดร. ศิริพร เพื่อขอบทความวิจัยฉบับเต็ม ติดต่อได้ที่นี่    

 

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ม.ค. ๕๔
  
         
                     

หมายเลขบันทึก: 440753เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

        กระผมขอขอบพระคุณสำหรับบอร์ดนี้ของท่านอาจารย์หมอครับผม เมื่ออ่านเสร็จกระผมก็เมลล์ไปติดต่อ ท่านอาจารย์ ศิริพร และได้เอกสารดังกล่าวมาแล้วด้วยครับผม ดังเมลล์ตอบมาข้างล่างนี้ ขอบพระคุณครับ

ด้วยความเคารพครับผม

    นิสิต

--------------------------------------

นิสิต

เรียนท่านอาจารย์ ศิริพร แย้มนิล

กระผมอาจารย์ นิสิต คำหล้า อาจารย์ประจำหลักสูตรเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์
ม.ขอนแก่น กระผมมีความประสงค์ต้องการ งานวิจัยที่คณะอาจารย์ได้ตีพิมพ์เรื่อง "
Knowledge management in a community setting using action research: a case study of Lumpaya community, Nakorn Pathom Province, Thailand"
เพื่อนำมาศึกษาแนวทางงานวิจัยเชิงชุมชน
สืบเนื่องจากกระผมได้เจอบทความนี้ผ่านเว็บไซด์ gotoknow.org ที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช (http://www.gotoknow.org/blog/thaikm/440753)
ได้กล่าวอ้างถึงบทความตีพิมพ์ดังกล่าว กระผมสนใจในงานลักษณะนี้จึงเรียนท่านอาจารย์มาเพื่อขอไฟล์ดังกล่าวด้วยครับ
และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ในความกรุณาไว้ล่วงหน้า ณ โอกาสนี้ครับผม

ด้วยความเคารพ

นิสิต คำหล้า

------------------------------------

เรียน อ. นิสิต คำหล้า

ขอบคุณที่สนใจบทความนะคะ ได้ส่งมาให้แล้วหวังว่าจะได้ใช้ประโยชน์ ตามสมควรค่ะ
(เพิ่งกลับมาจาก ตปท. จึงตอบมาช้า)

รศ.ดร. ศิริพร แย้มนิล


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท