เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง
วันนี้ (1 ส.ค.48) ผมเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ “โครงการประสานงานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการ เครือข่ายการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง” มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี
โครงการวิจัยบูรณาการลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลอง เป็นโครงการ 18 เดือน ระหว่างตุลาคม 2546 – มีนาคม 2548 การประชุมวันนี้คล้าย ๆ เป็นการประเมินผลงาน ซึ่งเป็นรายงานหนามาก กว่า 200 หน้า 2 เล่ม รายงานที่ไม่หนานักประมาณ 40 – 50 หน้า 3 เล่ม ได้แก่
1. รายงานด้านกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทีม
2. รายงานด้านการวิจัยเชิงพื้นที่
3. รายงานด้านการบริหารจัดการ
4. รายงานบอกเล่าเรื่องราว โครงการเพื่อลูกหลานไทย
5. รายงานบทสังเคราะห์
ในความรู้สึกของผม โครงการนี้มีลักษณะคล้ายเป็นการวิจัยพื้นฐาน คือพยายามค้นหาทฤษฎีจากการเข้าไปทำงานเชิงพัฒนาในพื้นที่ โดย “ประชากร” เพื่อการศึกษา เน้นที่ตัวนักวิจัยเองด้วย และที่คนหรือชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลองด้วย แต่จากการนำเสนอ “ประชากร” หลักดูจะเป็นกลุ่มนักวิจัยเอง ทำให้ อ.โสฬส ศิริไสย์ กล่าวว่ามีคนสงสัยว่าทำไมนักวิจัยจึงหมกมุ่นอยู่กับตัวเองมากนัก
ฟังไปฟังมา ผมตีความได้ว่าเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้ คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมของนักวิจัย ให้หันมาทำวิจัยเชิงบูรณาการ หรือมีเจตคติและทักษะในการวิจัยแบบบูรณาการหลายสาขาวิชา
โครงการวิจัยนี้ได้ผลิตความรู้ขึ้นมากมายครับ ผู้สนใจเข้าไปดูได้ที่ www.transteam.org
ผมจะนำบางตอนของข้อค้นพบมาเล่าในวันหน้าครับ
วิจารณ์ พานิช
1 ส.ค.48