ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๔๕. ช้าลง ช้าลง



ช่วงปิดยาวปีใหม่ ๒๕๕๘ ผมได้อยู่บ้านอ่านหนังสือและเขียน บล็อก อย่างเต็มอิ่ม หนังสือที่อ่านคือ Transformative Learning in Practice : Insights from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ที่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ผมก็พบว่าเป็นหนังสือว่าด้วยการเรียนรู้ และมีความคล้ายคลึงกับหลักการจัดการความรู้อย่างยิ่ง

และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้เน้นที่การเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างลึก ที่เรียกว่า transformation มันจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลไกการเรียนรู้ของมนุษย์ อย่างแยกกันไม่ออก

ผมยังอ่านไม่จบ แต่ยิ่งอ่านลึกเข้าไปในบทกลางๆ ของเล่ม ผมก็ตระหนักว่า "ภูเขาแห่งวิถีการเรียนรู้" คือธรรมชาติของสมองมนุษย์นี่เอง สมองมนุษย์ทำงานเร็วเกินไป จนไม่เกิดมิติด้านการเรียนรู้

จริงๆ แล้ว สมองมนุษย์มีความเลิศเลออย่างยิ่ง ที่สามารถทำงานรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายทาง หลายชั้น เอามาประมวลและตัดสินใจเป็นการกระทำได้อย่างรวดเร็ว ทันกาลและทันการณ์ ซึ่งในวิถีชีวิต บางแบบต้องเร็ว ไม่เร็วก็ตาย หรือเสียหาย

แต่มนุษย์เราอายุยาว และยาวขึ้นเรื่อยๆ ต้องการการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้ตามทัน การเปลี่ยนแปลงของสังคม ของโลก ที่นับวันก็จะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และมากขึ้น

สมองทำงานเพื่อการดำรงชีวิตในขณะปัจจุบันไม่พอ ต้องทำงานเพื่อชีวิตอนาคตด้วย สั่งสมความรู้ไว้ใช้ในปัจจุบันไม่พอ ต้องสั่งสมไว้ใช้ในอนาคตด้วย

การสั่งสมของสมอง เพื่ออนาคต คือสั่งสมสมรรถนะในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง คือสั่งสมความสามารถเปลี่ยนแปลงการคิด/โลกทัศน์/mental model/paradigm ของตนเอง

เครื่องมือเพื่อการนี้คือ การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างลึก (critical reflection) ซึ่งเป็นการฝึกสมองให้ทำงานในอีก mode หนึ่ง คือ mode ช้า ละเลียด/เคี้ยวเอื้อง ข้อมูลจากประสบการณ์ ของตนเอง เพื่อมองหามุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม เสริมด้วยการรับฟัง (หรืออ่าน) มุมมองใหม่ๆ

ศัตรูตัวร้าย คือการตัดสิน (judgement) แบบด่วนตัดสิน แล้วปิดบัญชีเลย จบ

สิ่งที่ต้องฝึกคือฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่ตนไม่เชื่อ ไม่คุ้นเคย ภายใต้หลักการว่า โลกมันซับซ้อน และเลื่อนไหล แม้เราจะเป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จเรื่อยมาจนแก่ แต่โลกทัศน์/mental model/paradigm ในเรื่องต่างๆ มันผุดบังเกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ไม่มีวันหยุด มันผุดบังเกิด/รอการผุดบังเกิดขึ้นในท่ามกลางความซับซ้อน หากเราฝึกสมองให้มี slow mode รับฟัง สังเกต ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ สะท้อนคิด ไม่ด่วนตัดสิน ทั้งโดยการ ทำคนเดียว และโดยการทำเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น

เพื่อเข้าใจ "สมมติ" ชุดเก่า และเปิดช่องให้แก่ "สมมติ" ชุดใหม่ ไม่หลงยึดติดว่าสมมติเหล่านั้นเป็น "ความจริง"

เหตุการณ์การทำงานประจำวัน การดำรงชีวิตประจำวัน จะเป็น " ห้องเรียน" เกิดการเรียนรู้ในมิติ ใหม่ๆ ได้มาก และมีความเชื่อมโยงลึกซึ้งขึ้น อย่างไม่น่าเชื่อ

ฝึกชีวิต/สมอง ที่ช้าลง เพื่อชีวิต/สมองที่ดียิ่งขึ้น

เอามาโฆษณาบันทึกชุด เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ใน บล็อก council ที่จะเริ่มลงตั้งแต่วันที่ ๑๗ เดือนหน้าเป็นต้นไป



วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 585427เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2015 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท