มาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในระดับพื้นที่


มาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในระดับพื้นที่

มาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในระดับพื้นที่

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

27 มกราคม 2558 [1]

สืบเนื่องมาจากประเด็นหัวข้อการอภิปรายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ในการพิจารณารายงานการออกแบบประเทศไทย การพิจารณากลไกในการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันและขจัดความทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวาระปฏิรูป จำนวน 32 ประเด็น และวาระพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน จำนวน 7 ประเด็น

จากหนึ่งในสองวาระในประเด็นการเมือง การป้องกันการทุจริต การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล มีวาระที่สำคัญวาระหนึ่ง คือ "การป้องกันการทุจริต ด้วยการสร้างกลไกในการจัดการปัญหาทุจริต, การเอาผิดผู้ทุจริตที่จริงจัง"

ที่ผ่านมาแม้จะมีนักวิชาการได้ศึกษาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของท้องถิ่นพร้อมมีข้อเสนอแนะไว้บ้างแล้วก็ตาม [2] ในที่นี้ผู้เขียนขอเสนอมาตรการเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่คิดว่าน่าจะเป็น "รูปธรรม" อยู่บ้างตามสมควร รวม 3 มาตรการหลัก ดังนี้

(1) มาตรการควบคุมภายใน

(1.1) การควบคุมบังคับใช้กฎหมายภายใน อปท. ให้มีประสิทธิภาพ โดยให้นิติกร อปท.มีบทบาทในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น กำหนดให้ นิติกรร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบมูลการทุจริตเบื้องต้นรวมทั้งการแจ้งเบาะแส เป็นพยานและได้รับการคุ้มครองพยานฯ หรือให้ข้อมูลทุจริตต่าง ๆ ด้วย, กำหนดให้นิติกรมีความเป็นอิสระในการตรวจสอบการทุจริต, การแต่งตั้งให้เป็นพนักงานผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. หรือหน่วยงานตรวจสอบอื่น เช่น DSI คณะกรรมการการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เป็นต้น นอกจากนี้ การมอบหมายภารกิจให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน อปท. ได้มีความเป็นอิสระในการวางระบบการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในของ อปท. โดยเฉพาะมาตรการการคุ้มครองความเป็นอิสระ หรือการคุ้มครองพยานฯ ที่ควบคู่กันไป ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จำเป็น

(1.2) การสร้างจิตสำนึกให้บุคลากรของ อปท. ทั้งหมด ได้แก่ บุคลากรฝ่ายการเมือง อันประกอบด้วยฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภา และบุคลากรฝ่ายประจำ อันประกอบด้วยข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างส่วนท้องถิ่น ให้เป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ มี "คุณธรรม จริยธรรม" มีสำนึกรับผิดชอบต่อองค์กรและต่อสาธารณะ ซึ่งนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (2556) กล่าวว่า [3] การคอร์รัปชันในประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีแต่ทรงกับทรุด และกำลังก้าวเข้าสู่มหาวิกฤตคอร์รัปชัน เพราะสังคมขาดจิตสำนึกในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน

มีข้อพิจารณาว่า กลไกการป้องกันการทุจริตที่น่าจะได้ผลก็คือ องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ หากพิจารณาการทุจริตในบริบทของท้องถิ่นแล้ว จะเห็นได้ว่า การทุจริตในหลาย ๆ กรณี เกิดจากการสมยอมกันระหว่างผู้ให้ และผู้รับประโยชน์ โดยมีพวกพ้องและบริวารให้ความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นทุจริตในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง รวมไปถึงการทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ฉะนั้น หากตัดวงจรการทุจริตดังกล่าวได้ คือ ตัดวงจรผู้ที่กระทำการทุจริต กับ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้าง ผู้ขายวัสดุ หรือ ประชาชนผู้สมยอมรับเงิน สิ่งของจากการซื้อเสียง ฯลฯ เป็นต้น โดยมีการสอดส่อง ควบคุม ดูแล จาก "ภาคประชาสังคมในพื้นที่" ด้วยความร่วมมือในการป้องกันป้องปรามขององค์กรประชาสังคมดังกล่าวข้างต้น ก็จะทำให้การกระทำการทุจริตดังกล่าวซึ่งมีแพร่หลายทั่วไปสามารถลดลง และ ขจัดได้ในที่สุด ด้วยเหตุผล ดังนี้

(1.2.1) ภาคประชาสังคมในพื้นที่มีหลายกลุ่ม หากมีการแบ่งกลุ่ม แล้วจัดสรรภาคประชาสังคมเหล่านี้ให้เข้ามาเป็น "องค์กร" (ต้องมีความหลากหลายในสาขาอาชีพ การศึกษา เพศ และวัย เช่น ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมฯ) เช่น ประธานองค์กรชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ อดีตข้าราชการ อดีตผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ ที่มีหน้าที่ในการสอดส่อง ควบคุม ดูแล การทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการซื้อเสียงในการเลือกตั้งในพื้นที่ด้วย จะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นบุคคลในท้องถิ่น ได้รู้ ได้เห็นข้อเท็จจริงในพื้นที่เป็นอย่างดี ย่อมสามารถป้องปราม ป้องกัน ได้ดีกว่าบุคคลอื่น ซึ่งองค์กรนี้จะสามารถพัฒนาไปเป็น "องค์กรสภาคุณธรรม หรือ สภาจริยธรรม" [4] ในพื้นที่ได้

(1.2.2) การใช้มาตรการทางกฎหมายระเบียบมาใช้บังคับ ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะ กลุ่มผู้กระทำผิด ซึ่งรวมทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการท้องถิ่น อาจรู้ช่องทางหลบเลี่ยงระเบียบ โดยอาศัยช่องว่างของกฎ ระเบียบต่าง ๆ ดำเนินการงานในหน้าที่ ทั้ง ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่น ฉะนั้น โอกาสที่ประชาชน หรือ ภาคประชาสังคมอื่น จะรู้หรือแก้ไขโดยระเบียบกฎหมายจึงเป็นเรื่องยาก เพราะ ระเบียบกฎหมายอยู่ในมือของผู้กระทำการทุจริตและหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการกระทำการทุจริตดังกล่าว

(1.2.3) สำหรับในส่วนของราชการ โดยเฉพาะกลุ่มฝ่ายการเมือง และข้าราชการท้องถิ่น ต้องสร้างจิตสำนึกให้เป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ มี "คุณธรรม จริยธรรม" ต่อไป

(1.2.4) สำหรับในส่วนของบุคคลอื่น ๆ ต้องสร้างจิตสำนึกให้เป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ มี "คุณธรรม จริยธรรม" ด้วย เช่น ประชาชนโดยทั่วไป หรือ ประชาชนอื่นใด ที่เป็นผู้สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจ หรือสมคบคิด ไม่สนใจ ทำให้เป็นช่องทางของกลุ่มฝ่ายการเมือง และข้าราชการท้องถิ่น ได้กระทำการทุจริตฯ ได้ง่าย

(2) มาตรการควบคุมภายนอก

(2.1) สร้างองค์กรตรวจสอบภาคประชาสังคม และภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ที่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2.2) ปรับบทบาทหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขจัดข้อจำกัดอุปสรรคอื่นใด ได้แก่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. เพื่อให้องค์กรดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

(2.3) การติดตามรายงานผลและการให้รางวัลของหน่วยเหนือ เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างหรือการดำเนินโครงการของหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ต้องส่งให้คณะธรรมาภิบาลจังหวัด หรือ สภาองค์กรคุณธรรมและจริยธรรมในพื้นที่แทนที่จะเป็นหน้าที่ของ สตง. เช่นในปัจจุบัน, ระบบการให้รางวัลหน่วยงานที่มีความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่

(2.4) ตรากฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการปรับปรุงระเบียบกฎหมายอื่นให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ เช่น กฎระเบียบที่บกพร่อง จำกัดอำนาจหน้าที่ หรือมีช่องว่าง หรือเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจดุลพินิจเกินสมควร หรือ ไม่มีกฎหมายกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไว้

ด้วยข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับปัญหาทางปฏิบัติประการอื่นใด จึงเห็นสมควรตรากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นกฎหมายในระดับ "พระราชบัญญัติ" [5] ขึ้น เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ปฏิบัติปัจจุบันเป็นเพียง "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ" รวมถึง "ระเบียบของกระทรวง ทบวงกรม อื่นฯ" เท่านั้น การตรากฎหมายเป็น "พระราชบัญญัติ" จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในทาง "อาญา" มีผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้การบังคับใช้ในหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรมหาชน และหน่วยงานอิสระของรัฐ มีประสิทธิภาพ เป็นมาตรฐานเดียวกัน และยังเป็นหลักประกันในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส บังเกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตามมีข้อพิจารณาว่า ในการตรากฎหมายจัดซื้อจัดจ้างขึ้นนั้น อาจมีข้อบกพร่องหากการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายนั้นมี "เนื้อหากฎหมาย" และ "การบังคับใช้" ไม่ดีพอ ก็อาจเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดปัญหาทุจริตคอรัปชันได้อีก

ข้อเสนอให้มี "มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด เข้มแข็ง ไม่เลือกปฏิบัติ" เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง เพราะหากมีการดำเนินการดังกล่าวทั้งการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานภายนอก หรือมาตรการภายในตามข้อ ตามข้อ 1.2.1 – 1.2.4 อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะส่งผลให้ "มาตรการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป" ของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามมีผลในทางปฏิบัติ ได้แก่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. รวมทั้ง สตง. และองค์กรอื่นใดที่มีหน้าที่ เช่น DSI ป.ป.ง. หรือ ตำรวจ ฯ จะทำให้สามารถจับกุม หรือดำเนินการแก่ผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

(3) มาตรการอื่น

(3.1) การนำหลักการ "การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร" ที่มีประสิทธิภาพ หรือ "Open Data" [6] ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างได้ผลในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (European Union) เพื่อตราหรือปรับบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ความโปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้

มาตรการการ "เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร" (Open Data) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติเชิง "รูปธรรม" แม้ตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 และระเบียบกฎหมายเฉพาะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะได้กำหนดแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการไว้บ้างก็ตาม อาทิ ระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง การปิดประกาศข่าวสารของทางราชการตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ การแจ้งรายงานบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการ หรือมีบทลงโทษการไม่ปฏิบัติหรือการละว้นการปฏิบัติตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ตาม "Open Data" อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างด้วย [7]

มีตัวอย่างว่าในทางปฏิบัติหรือในข้อเท็จจริงกลับมีปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบกฎหมายในหลาย ๆ ประการ ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีสำนึกรับผิดชอบในคุณธรรม จริยธรรมของบุคคลากรผู้เกี่ยวข้อง ในตัวอย่างของการจัดซื้อจัดจ้าง มักพบว่า เจ้าหน้าที่อาศัยช่องว่างของระเบียบกฎหมาย หรือการละเว้นการดำเนินการตามระเบียบฯ มีการปิดบังข้อมูลข่าวสาร แต่ในการตรวจสอบของหน่วยเหนือปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้จัดทำเอกสารดำเนินการไว้อ้างอิงถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบฯ เช่น การปิดประกาศการสอบราคา การประกวดราคา ตามระเบียบพัสดุฯ กำหนดให้ต้องปิดประกาศตามระยะเวลาที่กำหนด แม้ต่อมาจะมีการกำหนดให้ต้องลงประกาศเผยแพร่ในเวบไซต์ก็ตาม ก็หาได้ทำให้การกระทำของผู้ที่มีเจตนาทุจริตฯ ดังกล่าวลดลงแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากอาจมีการกีดกัน ข่มขู่ เสนอให้เงิน ให้ผลประโยชน์ ฯ แก่ผู้เสนอราคาฯ เพื่อให้มีการสมยอม หรือเพื่อมิให้ผู้เสนอราคาเข้ารับการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นต้น

(3.2) มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (27 มกราคม 2558) [8] ให้มีการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไม่ให้เกิดการ ทับซ้อนกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับราชการ ด้วยภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่า อปท. มีการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า มีการกระทำการผิดระเบียบทางราชการและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่อถึงการทุจริตและทำให้ราชการเสียประโยชน์เป็นจำนวนมาก อปท. บางแห่งเป็นที่หาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มการเมืองและเป็นแหล่งอิทธิพล ทำให้เกิดการทุจริตในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำบัญชีและการเงินการคลัง

(3.3) มีประเด็นการทุจริตหนึ่งเป็น "การทุจริตโดยชอบ" อาจถือเป็น การทุจริตเชิงนโยบายประเภทหนึ่ง (Policy Corruption) [9] กล่าวคือ การทุจริตที่ผู้มีอำนาจแสวงประโยชน์จากการที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่ กระทำการใดในกรอบอำนาจแต่ทำให้ตนเองหรือพวกพ้องหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม อาทิเช่น การจัดจ้างบุคคลเพื่อทำการศึกษาวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอำนาจหน้าที่ แต่มีผลประโยชน์ หรือ ความไม่คุ้มค่าสมประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่มีข่าวปรากฏอยู่ตามหน่วยงานราชการ ฉะนั้น "การทุจริตโดยชอบ" จึงถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการทุจริตที่ทุกองค์กรควรตระหนักและมีมาตรการพิเศษเฉพาะในการกำกับควบคุมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการกำหนดเป็นแนวทางไว้แล้วตาม พรบ.การตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 [10] สรุป 3 ประการ คือ

(1) มาตรา 44 ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า "มีข้อบกพร่องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี"

(2) มาตรา 45 ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบแล้วปรากฏว่า "มีข้อบกพร่องของหน่วยรับตรวจ เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดให้หน่วยรับตรวจต้องปฏิบัติ"

(3) มาตรา 46 ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบแล้วปรากฏว่า "มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการทุจริตหรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการ"

ผู้เขียนเห็นว่า มาตรการแนวทางที่เสนอข้างต้นจะเป็นมาตรการเสริมที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแนวทางตามกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดินข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


[1] สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558 หน้า 10 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22557 คอลัมน์ <การเมืองท้องถิ่น> #มาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับพื้นที่ #บทความพิเศษ

[2] ดูใน รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, หัวหน้าโครงการวิจัย, "การทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: มาตรการและกลไกการป้องกัน", จากบทความรายงานการวิจัย เรื่อง "แนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกการป้องกันทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ได้รับทุนสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี 2549, http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/วารสาร/50/03/50-03%2007.การทุจริตในอปท.-รศ.ดร.โกวิทย์%20พวงงาม.pdf

[3] "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันชี้ไทยเข้าสู่ยุค "มหาวิกฤตโคตรโกง" ถ้าไม่รีบแก้ประเทศล่มสลายแน่", ASTผู้จัดการออนไลน์, 6 กันยายน 2556, http://www.manager.co.th/ibizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000112317

[4] "ไพบูลย์" (นายไพบูลย์ นิติตะวัน, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) จ่อผุดสภาตรวจสอบภาค ปชช.-สภาจริยธรรม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 24 พฤศจิกายน 2557, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000135434

[5] "เร่งดันกม.จัดซื้อจัดจ้างแก้ทุจริต", ในเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 8 มกราคม 2558,

http://tdri.or.th/tdri-insight/%E0%B8%B4%E0%B8%B4bbn2015-01-08/ & เดิมเมื่อปี 2550 เคยเสนอเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุดที่ นร 0503/19669 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2550 ดูใน "ร่าง พรฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....", http://www.kroobannok.com/news_file/p76205920853.pdf

[6] วรากรณ์ สามโกเศศ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, "ใช้ Open Data ปราบคอร์รัปชัน", 18 ธันวาคม 2557, ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "อาหารสมอง", นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ฉบับอังคาร 16 ธันวาคม 2557, http://thaipublica.org/2014/12/varakorn-36/

[7] "ร้องผู้ตรวจการฯเอาผิดป.ป.ช. ไม่ประกาศรายงานประจำปี ชี้ขัดรธน.ความผิดสำเร็จแล้ว", 27 มกราคม 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1422329901

[8] "ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นฯ เรียกร้อง กมธ.สปช.ยุบรวม อปท.", 27 มกราคม 2558,

http://www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=3625#.VMdvXCzl-fF

[9] "จาก Conflict of Interest สู่ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย", 19 ตุลาคม 2552, http://www.oknation.net/blog/hesse004/2009/10/19/entry-1

[10] ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 115 ก ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542, http://web.krisdika.go.th/data/lawabout/lawdetail/lawdetail_078.htm

หมายเลขบันทึก: 584827เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2015 02:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท