ครูผอ. ไพฑูรย์ แวววงศ์ (๑) : การพัฒนาการเรียนรู้ของครูด้วยระบบ "แม่ครู"


วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ทีม CADL ร่วมกับ ศน.ทิพยวิมล ดวงเวียงคำ (สพป.มค.๓) เดินทางไปศึกษาดูงานการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของ "ครูผอ." (อ่านว่า ครู-ผอ-ออ) ไพฑูรย์ แวววงศ์ โรงเรียนมีสุข อ.กระนวน จ.ขอนแก่น หลังจากที่ติดตามผลงานของท่านผ่าน facebook ไพฑูรย์ แวววงศ์ มาระยะหนึ่ง เห็นความสำเร็จและความมั่นใจของท่าน จึงอยากจะไป "ถอดบทเรียน" กระบวนการที่สามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน ๒ เดือน แล้วนำมาเล่าแบ่งปันสำหรับครูที่กำลังแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่

ผมเรียกท่านว่า "ครูผอ." เพราะแต่ก่อนท่านเป็นครูภาษาไทยในโรงเรียนของรัฐมาก่อน ต่อมาพอมาสร้างโรงเรียนมีสุขตามอุดมการณ์ของตนเอง ท่านก็ทำหน้าที่ทั้ง ผอ.และครู และจากความสำเร็จของท่านในวันนี้ ท่านน่าจะเป็นครูของ ผอ.โรงเรียนได้ด้วย จึงเรียกท่านว่า "ครู ผอ." เราสนทนาสลับกับการสาธิตของท่านทั้งวัน ทำให้ทั้งเข้าใจเห็นวิธิการและเทคนิคหลายๆ อย่าง ... อย่างไรก็ดี ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง เพราะยังไม่ได้ลงมือทำตามท่าน ดังนั้นหากผู้อ่านสนใจ สามารถติดต่อท่านทางเฟสบุ๊คนะครับ

ครูผอ.ไพฑูรย์ เชี่ยวชาญเรื่องการสอนภาษาไทยตั้งแต่ตอนสมัยเป็นครูของรัฐ (โรงเรียนบ้านวังโพน สพป.ขอนแก่น เขต ๔ ) ท่านเป็นวิทยากรฝึกอบรมครูภาษาไทยในโรงเรียนต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เคยเดินทางไปฝึกอบรมครูเทคนิคการอ่านออกเขียนได้บ่อยๆ ประสบความสำเร็จในการสร้างเด็กเพื่อไปแข่งขันตามระบบที่ สพฐ. ทำกันตลอดมา มาตรฐานการตัดสินที่ยากยิ่งจะแม่นตรงให้ยอมรับและวิธีการแข่งขันที่ไม่วัดกันที่คุณภาพของเด็กเท่านั้น ทำให้ครูผอ.ไพฑูรย์ ต้องอดทนและผลกระทบต่อนักเรียนที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในระบบ คิดว่าทำไมโรงเรียนเอกชนหลายๆ แห่งในตอนนั้น เขาไม่มีความรู้เหมือนเรา ทำไมเขาทำได้ กอปรกับความมั่นใจในตนเองว่า "ฉันจะสร้างโรงเรียนเองได้" จึงอยากจะหนีจากระบบ มาสร้างโรงเรียนตามแนวทางของตนเองที่ไม่ต้องแข่งขัน มุ่งไปที่การฝึกให้อ่านออก เขียนได้ และนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ จนกลายมาเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนมีสุขในทุกวันนี้ แต่ขณะนั้นสหกรณ์ครูให้ยอดปล่อยกู้เพียงแค่ ๒๐,๐๐๐ บาท จึงทำไม่ได้ จึงเริ่มด้วยการสร้างค่ายฝึกอบรมเพื่อเอื้อให้นักเรียนอื่นๆ เข้ามาพัฒนาทักษะที่ต้องการ แล้วค่อยๆพัฒนาจนกลายมาเป็นโรงเรียนมีสุขในทุกวันนี้




วิธีคิดของครูผอ. ไพฑูรย์ แวววงศ์

ครูผอ.ไพฑูรย์ เป็นคนพูดเสียงดัง อารมณ์ดี คุยสนุก ชอบคุยภาษาอีสานสลับกับเสียงหัวเราะเสียงดังๆ ขณะคุยไปจะชวนว่า "ไปดูมั้ย" หรือท้าให้ไปพิสูจน์เป็นระยะๆ การสนทนาหลายตอนสะท้อนแนวคิดของท่านให้เห็นชัดเจนยิ่ง เช่น

" ...สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองเอาลูกมาเรียน แสดงว่าโรงเรียนเรามีมาตรฐาน เราแคร์ผู้ปกครอง แม้ว่าคะแนน O-net, A-net สูงๆ แต่ถ้ายังมีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จะมีความหมายอะไร...ผู้ปกครองสำคัญที่สุด เพราะผู้ปกครองจะเห็นพัฒนาการของเด็กชัดเจนเมื่อส่งมาเรียนที่นี่..."

นี่เป็นจุดแข็งของโรงเรียนเอกชน ที่มุ่งตรงไปยังความต้องการที่แท้จริงของสังคม การขาดคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ ทำให้มีปัญหาพื้นฐานระดับวิกฤตด้านการอ่าน การเขียน อันเป็นทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในเบื้องต้นที่ทุกคนต้องมี ผู้ปกครองที่ตื่นตัวเรื่องนี้ จึงยอมที่จะหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูก ครูผอ. ไพฑูรย์ มี "ฉันทะ" และ "ถนัด" กับการแก้ปัญหานี้พอดี และเป็นโชคดีของผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียนที่นี่ เพราะนอกจากจะอ่านออกเขียนได้อย่างดีแล้ว ค่าเทอมยังถูกกว่าโรงเรียนเอกชนทั่วไปหลายเท่า ไม่ได้หวังเอาผลกำไรจนเกินควร ท่านบอกว่าเก็บค่าเทอมสองพันกว่าบาทบวกกับงบอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาลหัวละหมื่นกว่าบาท ประมาณนี้ก็พออยู่ได้

เป้าหมายในการสร้างนักเรียนที่โรงเรียนมีสุขเมื่อเทียบเอาเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลาง เรื่อง อ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา..... ท่านตัดบททันทีว่า

" ...เอาเรื่องอ่านออกเขียนได้ก่อน เอาตรงนี้ก่อน ขอให้ได้ตรงนี้ อย่างอื่นเดี๋ยวดีตามมาเอง..."

สะท้อนชัดว่าโรงเรียนมีสุขให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้ด้วยการผ่านประสบการณ์ตรง ที่ทำแล้วได้ผล ส่วนเรื่องวิชาอื่นๆ ได้ล้อเอาตามหลักสูตรแกนกลาง กล่าวให้ได้ใจความสำคัญคือ การอ่านออก เขียนได้ และคิดขยายอย่างสร้างสรรค์ คือเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลาง

กระบวนการพัฒนาครู

ปัจจุบันโรงเรียนมีสุขมีนักเรียนประถม (๓๔๐) อนุบาล (๒๔๕) รวมเกือบ ๖๐๐ คน มีครูที่เรียนสาขาวิชาชีพครูมาเพียง ๒ คน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่โรงเรียนใช้เอื้อให้ทุกคนได้พัฒนาและเรียนรู้สู่มาตรฐานเดียวกันผ่านระบบที่นักการศึกษาคุ้นชิน คือ ระบบการจัดการเรียนการสอนย้อนกลับ (ฺBackward Design)

เริ่มที่การวิเคราะห์ตัวชี้วัด (ตชว.) ของหลักสูตรแกนกลาง เมื่อเข้าใจตัวชี้วัดตรงกันดีแล้ว ครูผอ.ไพฑูรย์ จะมอบหมายให้ครูทุกคนไปออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุตาม ตชว. ที่กำหนดนั้นๆ แล้วนำมาส่งก่อน แผนการสอนที่ครูผอ.ไพฑูรย์อนุมัติเท่านั้นที่จะสามารถนำไปสอนได้ ในแผนภาพจะใช้คำว่า "โอเค" ถ้าไม่โอเค อาจจะให้ไปทำใหม่โดยแนะให้ไปปรับปรุง หรือหากจำเป็น ครูผอ. จะไปช่วยสอนแบบ "พาทำ" หรือก็คือฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จนเข้าใจ สามารถจะออกแบบได้




เมื่อ "โอเค" แล้วครูทุกคนจะต้องมีการบันทึกการสอน และส่งบันทึกการสอนนั้นๆ ของตนเองมาให้ดูใน ๓ ประเด็น คือ ตัวชี้วัดคืออะไร จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไรโดยต้องแสดงให้เห็นด้วยภาพ และผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นอย่างไร กระบวนการนี้น่าจะเป็นหัวใจของการพัฒนาครู ที่ทุกคนได้เรียนรู้จาการสะท้อนตนเอง (self reflection) อย่างสม่ำเสมอทุกๆ สัปดาห์

อีกปัจจัยสำคัญคือการสะท้อนป้อนกลับ (feedback) จากผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และสดใหม่ จึงทำให้กระบวนการพัฒนาครู ตื่นตัวอยู่ตลอดสัปดาห์ ครูผอ.ไพฑูรย์บอกว่า ท่านใช้เวลากับการให้การสะท้อนป้อนกลับนี้เป็นประจำทุกคืน ... เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องให้ความสำคัญกับการสะท้อนป้อนกลับให้กับครู โรงเรียนถึงจะมีคุณภาพได้ ...

ผมตีความว่า ความสำเร็จของ ครูผอ.ไพฑูรย์ อยู่ที่กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้และการทำงานของครูตามแผนภาพข้างบนนี้ ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่

๑) วิธีการแบบนี้ ทำให้ทุกคนมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน ชัดเจน นั่นคือ ผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางที่กำหนด

๒) วิธีการแบบนี้ มีการตรวจสอบและติดตามจากผู้เชี่ยวชาญที่รู้จริงทุกขั้นตอน จะเห็นว่านอกจากครูผอ.จะตรวจสอบและกำกับเป้าหมายและทิศทางการสอนแล้ว ยังมีการป้อนกลับ (feedback) ที่ต่อเนื่อง สดใหม่ โดยใช้โปรแกรม LINE และเป็นประจำ

๓) มีกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ หลายระดับ .... เสียดายที่ผมยังไม่มีโอกาสได้คุยกับครู จึงไม่รู้ว่าบรรยายกาศการแลกเปลี่ยนเป็นแบบไหน คงต้องเป็นโอกาสต่อไป หรือต้องให้ครูผอ.เล่าให้ฟังเอง

ถ้าให้ผมสรุปและตั้งชื่อรูปแบบการพัฒนาครูในโรงเรียนมีสุข ผมขอเรียกว่า "การบริหารจัดการครูด้วยระบบแม่ครู" ไม่ใช่เพราะครูผอ.ไพฑูรย์เรียกตนเองว่า "แม่" และให้ความรักดูแลครูทุกคนเหมือนลูกหลาน แต่เพราะ ผมคิดว่า วิธีการฝึกครู (teacher training) ของครูผอ. ไพฑูรย์ เหมือน "แม่ครู" หรือ "แม่เหล็ก" ที่ค่อยๆ เปลี่ยนตะปูที่อยู่ใกล้ๆ ให้เป็นแม่เหล็ก ซึ่งหมายถึงเหล็กที่สมบูรณ์ เหมือนที่ค่อยๆ ฝึกครูที่อยู่ใกล้ๆ ให้เป็นครูที่สมบูรณ์

บันทึกหน้า มาว่ากันเรื่อง BP ของโรงเรียนมีสุขครับ ...



ดูภาพทั้งหมดได้ ที่นี่



หมายเลขบันทึก: 584825เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2015 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณนะคะ ทั้งผู้ถอดบทเรียนและผู้ยินดีให้ถอด ที่มาของบันทึกดีๆ นี้ค่ะ

"แม้ว่าคะแนน O-net, A-net สูงๆ แต่ถ้ายังมีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จะมีความหมายอะไร"

ถูกต้องที่สุดค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท