ความพอเพียง..ต้องเรียน..จึงจะรู้


การได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพระคุณเจ้าเพียงหนึ่งชั่วโมง ทำให้ผมได้ข้อคิดและประสบการณ์ไปปรับใช้ในโรงเรียน และรู้สึกมีความเชื่อมั่นศรัทธาในงานที่ทำอยู่ ตลอดจนมั่นใจในงานที่จะพัฒนาต่อไป.....

ผมไปหาท่านพระครู ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ และเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาวัง เพื่อนิมนต์ท่านให้มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในงานทอดผ้าป่าการศึกษาที่โรงเรียน ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ท่านกำลังควบคุมงานขุดสระน้ำขนาดใหญ่ สำหรับรองรับน้ำในฤดูฝน ไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง

พระคุณเจ้าดูสดใสแข็งแรง ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง ๕๐ ปี มีการศึกษาถึงระดับปริญญาโท เปรียญ ๕ ท่านพัฒนาวัดเล็กๆในชนบทกันดาร จนดูยิ่งใหญ่อลังการได้ ภายใน ๕ ปี

ยิ่งใหญ่..ในที่นี้ มิได้หมายถึง โบสถ์ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ แต่ยิ่งใหญ่ด้วยระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม รายล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่น สวยงาม จัดวางอย่างถูกที่ถูกทาง บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์และความรู้ความสามารถ ตลอดจนการดำเนินงานที่จริงจังของพระคุณเจ้า

ปัจจุบัน..วัดเขาวัง เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ศึกษาดูงานของชุมชน และสถานศึกษาต่างๆ ทั้งใกล้และไกลมาเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสารพิษ พืชสมุนไพร ไม้ผลต่างๆ รวมทั้งการทำปุ๋ยหมักแบบครบวงจร

ฟังดูแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ไหนๆเขาก็ทำกัน แต่ที่วัดเขาวัง มีความแตกต่าง ที่พิเศษกว่าที่อื่น คือกว่าจะเป็นต้นแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในด้านเกษตรอินทรีย์ ต้องมีหลักคิด มีความมุ่งมั่นพยายาม ทำจริงอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่ของวัดทั้งหมด เป็นดินลูกรัง อยู่บนเนินและมีภูเขาสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของศาสนสถาน ซึ่ง ณ เวลานี้ เขียวขจีด้วยพืชผักนานาชนิด

พระคุณเจ้าท่านกรุณาผมเป็นอย่างมาก ท่านบอกให้เมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ ที่บรรจุซอง ต้นกล้าไม้ มะนาว มะกรูด และไม้ยืนต้น แต่ผมปฏิเสธท่านทั้งหมด เพราะมีความรู้สึกที่อยากจะพอเพียงเหมือนกัน

การได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพระคุณเจ้าเพียงหนึ่งชั่วโมง ทำให้ผมได้ข้อคิดและประสบการณ์ไปปรับใช้ในโรงเรียน และรู้สึกมีความเชื่อมั่นศรัทธาในงานที่ทำอยู่ ตลอดจนมั่นใจในงานที่จะพัฒนาต่อไป

ในช่วงท้ายของการสนทนา ท่านแนะนำว่า "ถ้ารักที่จะทำเกษตรแบบพอเพียง ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจเสียก่อน เข้าใจในบริบทของสถานที่ที่เราอยู่ จากนั้นต้องวางแผนให้ดี อย่ารีบร้อน ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราทุนน้อย คนน้อย ถ้าไม่สำเร็จจะแก้ไขได้ยาก ที่สำคัญที่สุด ต้องจัดวางโครงสร้างให้เป็นระบบ เช่น จะปลูกอะไร ที่ไหน อย่างไร ระบบน้ำเป็นอย่างไร ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และบริเวณนั้นมีอะไรที่เกื้อหนุนกัน หรือสามารถบูรณาการอะไรลงไปได้บ้าง..จึงจะเรียกว่า..ทำแบบพอเพียง"

ก่อนกราบลาท่าน ผมบอกพระคุณเจ้าว่า ผมกำลังทำอย่างที่ท่านพูดอยู่ และทำได้บ้างในระดับหนึ่ง ซึ่งยังต้องเรียนรู้ต่อไป จะอาศัยเพียงทักษะและประสบการณเดิมๆคงไม่พอ " ผมคงต้องอ่าน ต้องรับฟัง และศึกษาดูงานมากขึ้น" ประโยคหลังนี้ ผมไม่ได้พูด แต่ผมคิดในใจ และจะทำให้ได้จริงๆ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓๐ มกราคม ๒๕๕๘

</span></strong>

หมายเลขบันทึก: 584819เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2015 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2015 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรื่องเล่าเร้าพลังจริงๆค่ะ

ชื่นชมผลงานของ่ท่านจริง ๆ .... เดินหน้าต่อไปอย่าท้อเหมือนคนแถว ๆ นี้เด๊อท่าน

I have a split thought: one is to applaud the monk for 'the work in making examples for lay people ; another is a question about a monk's main endeavour -- to study dhammas.

I do salte you for your intention to make another example for your students and other schools.

สวนสวยมากๆๆค่ะ ...


คิดถึงนะคะ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท