ทำบุญให้ได้บุญ



การทำบุญ การสร้างกุศล หรือการทำความดีในพระพุทธศาสนา สำหรับชาวบ้านทำได้สามทางด้วยกัน คือ ทาน ศีล ภาวนา เราถนัดเรื่องให้ทานกันมากกว่า เข้าใจว่าเพราะมีรูปธรรม ทำได้ง่าย และสะดวกที่สามารถใช้เงินเป็นตัวกลางได้ แต่อาจชวนให้เผลอคิดว่าใช้หลักการเดียวกับการลงทุนคือทำมากก็ได้มาก ซึ่งไม่ใช่

ในทักขิณาวิภังคสูตร มีพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "...ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉานหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลหวังผลทักษิณาได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลพึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามพึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้..."

น่าจะสรุปได้เป็น หลักการข้อที่หนึ่ง การทำบุญด้วยการให้ทานนั้นได้บุญเสมอ แต่ได้มากน้อยต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับประเภทผู้รับ จำเป็นต้องเลือกผู้รับให้ดีจึงจะได้บุญมาก

การให้ทานที่ได้ผลอย่างสมบูรณ์นั้นมีกล่าวไว้ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เสขปริหานิยวรรค ทานสูตร ว่าต้องประกอบด้วยองค์ ๖ ประการคือ องค์ ๓ เป็นของทายก (ผู้ให้) ได้แก่ ก่อนให้ทานเป็นผู้ดีใจ ๑ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ๑ ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ ๑ องค์ ๓ ของปฏิคาหก (ผู้รับ) ได้แก่ เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ๑ เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ๑ เป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ๑ โดยมีพระพุทธพจน์ว่า "...ประมาณบุญแห่งทักษิณาทานที่ประกอบด้วย องค์ ๖ ประการอย่างนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย..." เกี่ยวกับทายก (ผู้ให้) มีแถมอีกนิดว่า "... ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมาก..."

เป็นการย้ำหลักการข้อที่หนึ่งในเรื่องการเลือกผู้รับให้เหมาะสม และให้หลักการข้อที่สอง ผู้ให้ต้องทำใจของตนเองให้ดี ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และให้ทานแล้ว คือดีใจเลื่อมใสปลื้มใจ และตามมาด้วยหลักการข้อที่สาม ต้องคำนึงถึงวิธีการให้ด้วย ได้แก่ การต้อนรับ ผู้รับด้วยความเคารพ และการให้ด้วยมือตนเอง ประเด็นหลังนี้ มีแสดงไว้ในปายาสิราชัญญสูตร ด้วยว่า เจ้าปายาสิให้ทาน แต่มิได้ ให้ทานโดยเคารพ มิได้ให้ทานด้วยมือของตน มิได้ให้ทานโดยความนอบน้อม ให้ทานอย่างทิ้งให้ ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช แต่อุตตรมาณพที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในการให้ทาน แต่ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม มิได้ให้ทานอย่างทิ้งให้ ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งสูงกว่าเจ้าของทุนเสียอีก

หลายท่านคงอยากรู้ว่าให้ทานแล้วจะได้อะไร มีพระพุทธพจน์ ในอังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต มหายัญญวรรค ทานสูตร ว่า "...ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้ เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราช...ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่คิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์..."(ซึ่งสูงกว่าชั้นจาตุมหาราช) สนใจจะให้ทานเพื่อไปสวรรค์ชั้นใดมีรายการให้เลือกได้ ซึ่งยาวเกินกว่าที่จะนำมาเสนอในที่นี้ แต่ตรวจดูได้จากพระสูตรที่อ้างถึงข้างต้น

หลักการข้อที่สี่ ผลของทานแตกต่างกันตามเจตนาของการให้ทาน แต่โดยหลักการแล้วอยากน้อยจะได้มาก

สรุปว่า การให้ทานเพื่อให้ได้บุญนั้น ผู้ให้สามารถกำหนดได้โดย หนึ่งเลือกผู้รับให้เหมาะสม ถ้าเลือกได้ตั้งแต่ระดับผู้มีศีลขึ้นไปน่าจะดี สองทำใจให้เหมาะสมตั้งแต่ก่อนให้ขณะให้และให้แล้ว สามวิธีให้ต้องให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยมือของตน และให้ด้วยความนอบน้อม สี่ตั้งเจตนาให้ถูกต้องว่าจะให้เพื่ออะไรก็จะได้ตามนั้น (ถ้าทำข้อหนึ่งถึงข้อสามได้ถูกต้องด้วย)

ถ้าท่านเห็นว่าการทำบุญด้วยการให้ทานเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป ก็น่าจะพิจารณาการทำบุญด้วยวิธีอื่นที่อาจจะง่ายกว่าและมีผลมากกว่า เช่น มีพระพุทธพจน์ในโอกขาสูตรว่า "....ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยง โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่งนั้น...."

(พระสูตรที่อ้างถึง สามารถค้นมาอ่านได้ที่ www.84000.org)



หมายเลขบันทึก: 584759เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2015 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท