นิยามของคำว่า "จิตสาธารณะ"


ผมกำลังจะเขียนข้อเสนอสำหรับปลูกฝัง "จิตสาธารณะ" หรือ Public Minds โดยใช้การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัย ผมสืบค้นหา "นิยาม" ของคำว่า "จิตสาธารณะ" โดยใช้คำสำคัญว่า "จิตสาธารณะ หมายถึง" ทางอินเตอร์เน็ต เจอบทความอันหนึ่งเป็นไฟล์ microsoft word ที่นี่ ซึ่งเป็นการทบทวนที่ดีมาก แต่ไม่มีเจ้าของผู้รวบรวม ผมเกรงว่าจะหายไป และเพื่อความสะดวกของตนเองต่อการอ้างถึงต่อไป จึงขอคัดลอกมาวางไว้ที่นี่ครับ

จิตสาธารณะ

ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมากจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาตนเองเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ซึ่งกระแสการเร่งพัฒนา และเศรษฐกิจที่บีบรัด ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยให้เกิดการแข่งขัน มีค่านิยมทางวัตถุสูง เกิดการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองมากกว่าส่วนรวม ขาดการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะขาดสมดุลทั้งทางจิตใจและวัตถุ ดังนั้น ความสำนึกต่อส่วนรวมจึงลดน้อยลงทุกวันความเจริญทางด้านวัตถุปัจจุบัน ทำให้สังคมมีค่านิยม ให้ความสำคัญและแสวงหาเงินทองอำนาจ มากกว่าให้ความสำคัญด้านจิตใจ สังคมจึงกลับเสื่อมโทรมลง ปัญหามากมาย การปลูกฝังจิตใจให้บุคคลมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมจึงควรเกิดขึ้นในสังคม ด้วยเหตุนี้จึงมีการกล่าวถึงคำว่า "จิตสาธารณะ" มากขึ้นเพื่อประโยชน์ที่จะเป็นแนวคิดต่อตนเอง อันจะสร้างประโยชน์ ก่อให้เกิดการพัฒนาแก่สังคมการปลูกฝังจิตใจให้บุคคลมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เป็นการสร้างคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดจากภายใน "จิตสาธารณะ" เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้คนรู้จักเสียสละ ร่วมแรงร่วมใจ มีความร่วมมือในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นหลักการในการดำเนินชีวิต ช่วยแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

ความหมายของจิตสาธารณะ

ความหมายของจิตสาธารณะมีผู้ที่ให้ความหมายไว้มากมายดังนี้

อาจารย์จันทิราธนสงวนวงศ์ได้ให้ความหมายว่าจิตสารธารณะ (Public mind) หมายถึง จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เพราะคำว่า "สาธารณะ" คือ สิ่งที่มิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด จิตสาธารณะจึงเป็นความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งทีเป็นสาธารณะ ในสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแลและบำรุงรักษาร่วมกัน เช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทิ้ง ขยะลงในแหล่งน้ำ
การดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ เช่นโทรศัพท์สาธารณะ หลอดไฟที่ให้แสงสว่างตามถนนหนทาง แม้แต่การประหยัดน้ำประปา หรือไฟฟ้า ที่เป็นของส่วนรวม โดยให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าตลอดจนช่วยดูแลรักษาให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ได้ยาก หรือผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนร่วมมือกระทำเพื่อให้เกิดปัญหาหรือช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนร่วม

จิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม

จิตสำนึกเพื่อสวนรวมนั้นสามารถกระทำได้ โดยมีแนวทางเป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑. โดยการกระทำตนเอง ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

๒. มีบทบาทต่อสังคมในการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหา สร้างสรรค์สังคม ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม



ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคม หรือจิตสำนึกสาธารณะว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมายว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

นวรินทร์ ตาก้อนทองได้ให้ความหมายว่าจิตสาธารณะ คือ การแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (ยุทธนา วรุณปิติกุล. ๒๕๔๒: ๑๘๑-๑๘๓) พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (บรรทม มณีโชติ. ๒๕๓๐: ๒๕) มีความปรารถนาที่จะช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้อื่นหรือสังคม (หฤทัย อาจปรุ. ๒๕๔๔: ๑๐๓-๑๐๔) ด้วยความเต็มใจ โดยพิจารณาจากความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับผิดชอบต่อสาธารณะสมบัติ และทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เข้าร่วมในเรื่องส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม ด้านการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมร่วมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า จิตสาธารณะเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับจิตใจของมนุษย์ ให้หันมามองถึงประโยชน์ส่วนรวมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งร่วมมือกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ให้มีความสงบสุข และความพยายามในการปลูกฝังจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานที่ ๑ คุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ ทั้งในฐานะพลเมืองและพลโลก โดยคนไทยต้องเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ตัวบ่งชี้ คือ กำลังกาย กำลังใจที่สมบูรณ์ ความรู้และทักษะที่จำเป็นและเพียงพอในการดำรงชีวิต และการพัฒนาสังคม ทักษะการเรียนรู้และการปรับตัว ทักษะทางสังคม คุณธรรม จิตสาธารณะและจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก โดยมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน รวมถึงการรู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และของประเทศชาติ (พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. ๒๕๔๒) และเพื่อความมั่นใจว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในระดับสถานศึกษา จึงกำหนดไว้ในมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษา หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ความสำคัญกับการมีจิตสาธารณะ ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การรู้จักดูแลของส่วนรวม รวมถึงรู้จักการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ ถ้าบุคคลมีจิตสาธารณะบกพร่อง มีน้อยหรือขาดไป จะส่งผลกระทบต่อหลายระดับ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว องค์กร ชุมชนประเทศชาติ และมีผลต่อระดับโลกตามมา (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม. ๒๕๔๓: ๒๑-๒๙ ; วิรุณ ตั้งเจริญ. ๒๕๔๗: ๒)

คำว่าจิตสาธารณะในภาษาไทย เป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมา เป็นคำที่ใช้แปลจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Public consciousness/public mind/public minds/public serveice/service mind, ส่วนคำแปลในภาษาไทย นอกจากใช้ว่าจิตสาธารณะแล้ว มีคำที่ใช้ในความหมายเดียวกันคำอื่นๆคือ สำนักสาธารณะ/จิตสำนึกสาธารณะ/จิตบริการ/จิตอาสา/จิตสำนึกทางสังคม เป็นต้น

ความหมายของจิตสาธารณะหรือ Public consciousness มีผู้ให้ความหมายหลากหลายกันไป โดยภาพรวมอาจสรุปความหมายของ จิตสาธารณะโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจ ได้ดังนี้

๑.จิตสาธารณะคือ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม (จิตสำนึก ในปทานุกรม ราชบัณฑิตสถาน ๒๕๓๘ ให้ความหมายไว้ว่า เป็นภาวะที่จิตตื่นและรู้สึกตัว สามารถตอบสนองสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งสัมผัสได้ การกตระหนักรู้ และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน/การคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน

๒. จิตสาธารณะ คือจิตอาสา ที่แสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจเพื่อส่วนรวม โดยการแสดงออกด้วยการอาสาไม่มีใครบังคับ

๓. จิตสาธารณะ คือ การสำนึกสาธารณะ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลตระหนักรู้และคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมและสังคม เห็นคุณค่าของการเอาใจใส่ดูแลรักษาสิ่งต่างๆที่เป็นของส่วนรวม

๔. จิตสาธารณะคือ จิตบริการที่เกี่ยวกับการคิดและการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการประพฤติปฏิบัติที่มุ่งความสุขของผู้อื่นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจดีและเจตนาดี

๕. จิตสาธารณะคือจิตสำนึกทางสังคมที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้อธิบายว่าเป็นการรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิดเน้นความเรียบร้อย ประหยัด และมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

จากความหมายของจิตสาธารณะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นความคิดว่าแล้วเราจะประยุกต์ การสร้างจิตสาธารณะให้กับสังคมได้อย่างไร และสร้างแล้วสังคมจะได้อะไร จะเป็นอะไร และสาเหตุใดจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น ต่อประเด็นต่างๆเหล่านี้ สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ ตรวจดูว่าสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมไทย มีสภาพการเป็นอย่างไรบ้างจึงจะต้องนำเอาจิตสาธารณะมาเกี่ยวข้อง ประเด็นต่างๆที่ควรหยิบยกมาพิจารณาถึงสภาพของสังคมปัจจุบันจะมีที่สำคัญๆ คือ

๑. สังคมปัจจุบัน เป็นสังคมแห่งบริโภคนิยม ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของวัตถุเป็นหลัก ให้ความสำคัญแก่มูลค่ามากกว่าคุณค่า มุ่งการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ตน เป็นสังคมที่ไหลไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ของความเป็นวัตถุนิยมเป็นสังคมที่เชื่อในลัทธิเอาอย่าง และการแข่งขันเพื่อสร้างปริมาณมากกว่าคุณภาพเป็นสังคมที่วัดกันที่ความมั่งคั่งแห่งการมีผลผลิตทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เหนือกว่ากัน

๒. ในด้านสุขภาพ เป็นสังคมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่รุดหน้า ทำให้อัตราผู้สูงอายุมีจำนวนมากและในอนาคตจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ของโลก ตัวอย่างในประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. ๒๐๓๓ ประชากรผู้สูงอายุ ๕๘ ปี ขึ้นไปจะเพิ่มขึ้น ๒๓% เป็นต้น อย่างไรก็ตามถึงแม้การแพทย์จะเจริญก้าวหน้าแต่ก็ไม่สามารถจะรักษาโรคได้ทั้งหมด ทั้งโรคติดต่อ เช่น หวัดนก หวัด ๒๐๐๙ และโรคไม่ติดต่อเช่น มะเร็ง เป็นต้น จากข้อมูลอัตราการตายของประชากรโลก ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ มีอัตราการตาย ๘.๒ คนต่อ ๑,๐๐๐ คน ซึ่งอัตราการตายนอกจากจะเกิดจากโรคระบาดโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังเกิดจากภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ

๓. สภาพแวดล้อมของสังคมในปัจจุบัน เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ที่สำคัญคือเกิดมลพิษของระบบนิเวศ อันเนื่องมาจากการทำลายและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่ทดแทนได้เช่น ป่าไม้ หรือทดแทนไม่ได้ เช่น พลังงาน เป็นต้น ทำให้หลายพื้นที่ของโลกต้องประสบภัยแล้ง ไฟป่า ที่ทำให้ชีวิตและทรัพย์สินสูญหายไปเป็นจำนวนมาก

๔. สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้านการคมนาคม ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทำให้โลกมีความใกล้ชิด และไปมาหาสู่กันสะดวก ติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ด้วยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่นำมาสร้าง/ประดิษฐ์ เป็นนวัตกรรมต่างๆ ที่อำนวยความสะดวก สบายให้กับการดำรงชีวิต แต่ก็ทำให้มนุษย์ต้องเร่งแรงกาย ในการเสาะแสวงหาวัตถุต่างๆเหล่านั้นมาบำรุงตน จนต้องยึดระบบเงินตราเป็นเครื่องวัดความเป็นอยู่ และไม่ว่าจะเป็นฐานะทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง

จากสภาวการณ์ต่างๆที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน ทำให้มีผลต่อสภาพจิตใจของคนในสังคม จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ของสมาชิกสังคมโลกจะวนเวียนอยู่ในวงจรของสภาพจิตใจที่คล้ายคลึงกันในประเด็นต่างๆที่สำคัญคือ

๑. เป็นสังคมที่จิตใจของคนมีความทะเยอทะยานฟุ้งเฟ้อ ด้วยมุ่งแต่การแสวงหาวัตถุมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินชีวิต จึงเป็นจิตใจที่มุ่งทำลายธรรมชาติ มุ่งทำลายล้างซึ่งกันและกัน เพื่อเอาชนะแข่งขัน ทางเศรษฐกิจ การผลิตอาวุธสงครามที่ร้ายแรง จึงเป็นสินค้าที่แข่งขันกันในตลาดโลก

๒. จิตใจที่ติดยึดกับความเชื่อในประสิทธิภาพของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงเป็นสังคมที่มุ่งแสวงหาความพยายามเอาชนะเวลาของธรรมชาติ มีความหลงในวัตถุที่เชื่อว่าจะทำให้อยู่นิรันดร ด้วยคติที่ว่าเงินตราจะบันดาลให้ทุกอย่าง

๓. สภาพจิตใจของสมาชิกในสังคมที่เต็มไปด้วย ความวิตกกังวล ความเครียดจากการบีบบังคับของสภาพแวดล้อม ที่เป็นผลจากการประยุกต์ระบบบริโภคนิยมให้กับการดำเนินชีวิต อัตราของคนป่วยเป็นโรคทางประสาทจึงมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

๔. จิตใจของคนในสังคมปัจจุบัน มีความเป็นส่วนตัวสูง เนื่องจากการคิดยึดอยู่กับเทคโนโลยีขั้นสูง คือคอมพิวเตอร์ ด้วยความเชื่อว่าเป็นเครื่องมือในการดำชีวิตในทุกๆด้าน การใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จึงถือว่าเป็นการวัดความสามารถเพราะไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ มีความเป็นโลกส่วนตัวสูง และมุ่งแข่งขันในด้านวัตถุมากกว่าการสร้างคุณภาพให้แก่ชีวิต

จากสภาพจิตใจของคนในสังคมปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆทั้งด้านคุณและโทษอยู่หลายประการด้วยกัน ผลกระทบที่เกิดจากการทำให้เกิดเป็นสภาพสังคมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจของคน อาจจะสรุปให้เห็นประเด็นต่างๆของผลกระทบดังนี้คือ

๑. การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากมีการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของการแปรรูปและการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างกว้างของ สำหรับการนำไปสร้างนวัตกรรม ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากการขาดแคลนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือ เกิดการแก่งแย่งชิงดีทรัพยากร เกิดปัญหาอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆทั้งภายในพื้นที่และข้ามพื้นที่เพื่อแย่งชิงทรัพยากร

๒. การเปลี่ยนแปลงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดลดและตายของวัยทารกมีสูง ทำให้ส่งผลถึงปัญหาการลดประชากรวัยทำงานวัยเจริญพันธุ์ และจะส่งผลถึงการสูญพันธ์ของมนุษย์ในที่สุด

๓. ความเป็นอัตลักษณ์ถดถอย เนื่องจากความยินดีในกระแสโลกาภิวัตน์สูงการดำรงชีวิตที่อยู่บนพื้นฐานของปัจจัย ๔ และความเป็นตัวตน ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์หมดไป เช่นความพยายามในการกำหนดภาษากลางๆ กำหนดค่าของเงินกลาง ฯลฯ

๔. สถาบันในสังคมอ่อนแอ จากการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเทคโนโลยีขั้นสูงที่คนต้องมุ่งแสวงหาเครื่องมือมาบำรุงคนและดำรงสถานะในสังคมจากการวัดตรงวัตถุ ทำให้สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันการเมือง และประเทศอ่อนแอ

๕. การอพยพย้ายถิ่น ลัทธิข้ามชาตินิยม ทั้งในด้านการแต่งงาน การดำเนินธุรกิจ เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบ ต่อการกำหนดลักษณะของสังคม ทั้งนี้เนื่องด้วยอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ และการแลกเปลี่ยนประชากร เป็นที่นิยม บางพื้นที่ของโลก จึงกลายเป็นที่รองรับเทคโนโลยีที่ตกรุ่น และประชากรที่บางประเทศต้องการส่งให้ไปอยู่ถิ่นอื่นเป็นต้น

จากผลกระทบเหล่านี้ จะเห็นได้ว่ามีผลกระทบทั้งทางดีและไม่ดีและอาจจะเรียกได้ว่า ผลกระทบเป็นปัญหามากกว่าเป็นการพัฒนา ดังนั้นจึงเป็นภาระของสมาชิกในสังคม ที่จะต้องช่วยกันหาทางแก้ไข ที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องช่วยกันสร้างความมีจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น ในใจของทุกคน จึงจะทำให้มีผลต่อการหาหนทางแก้ไขปัญหาได้

สรุป จิตสาธารณะ หมายถึง การตระหนักรู้ตน ที่จะทำสิ่งใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การคิดที่สร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำกรรมดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม•คิดสร้างสรรค์ คือ คิดในทางที่ดี ไม่ทำลายบุคคล สังคม วัฒนธรรม ประเทศชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งการกระทำ และคำพูดที่มาจากความคิดที่ดี

ความสำคัญของจิตสาธารณะ

การที่คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากัน การที่คนในสังคมขาดจิตสาธารณะนั่น จะมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก จิตสาธารณะเป็นความรับผิดชอบที่เกิดจากภายใน คือ ความรู้สึกนึกคิด จิตใต้สำนึกตลอดจนคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งอยู่ในจิตใจ และส่งผลมาสู่การกระทำภายนอกปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าเกิดจากการขาดจิตสำนึกของคนส่วนรวมในสังคมเป็นสำคัญ เช่น

๑. ปัญหายาเสพติด ซึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวของผู้ชาย ไม่นึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไปกับสังคม

๒. ปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากความไม่รับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก

จิตสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญในสังคม เยาวชนต้องให้ความสำคัญและตระหนักในสิ่งนี้

ความรับผิดชอบต่อตนเองจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเอง นับว่าเป็นพื้นฐานต่อความรับผิดชอบ ต่อดังนี้

1.ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหาความรู้

2.รู้จักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้แข็งแรงสมบรูณ์

3.มีความประหยัดรู้จักความพอดี

4.ประพฤติตัวให้เหมาะสม ละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย

5.ทำงานที่รับมอบหมายให้สำเร็จ

6.มีความรับผิดชอบ ตรงเวลา สามารถพึ่งพาตนเองได้

ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นการช่วยเหลือสังคม ไม่ทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อนได้รับความ เสียหายเช่น

๑. มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น เชื่อฟังพ่อแม่ ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ

๒. มีความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ครูอาจารย์ เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของโรงเรียน ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของโรงเรียน

๓. มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นเช่นให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำไม่เอาเปรียบเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

๔. มีความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง เช่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาสมบัติของส่วนรวม ให้ความร่วมมือต่อสังคมในฐานะพลเมืองดี ให้ความช่วยเหลือ

สร้างจิตสาธารณะ

การสร้างจิตสาธารณะ เป็นความรับผิดชอบในตนเอง แม้ว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนถ้าใจตนเองไม่ยอมรับ จิตสาธารณะก็ไม่เกิด ฉะนั้นคำว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" จึงมีความสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสาธารณะถ้าตนเองไม่เห็นความสำคัญแล้วคงไม่มีใครบังคับได้
นอกจากใจของตนเองแล้ว แนวทางที่สำคัญในการจิตสาธารณะยังมีอีกหลายประการถ้าปฏิบัติได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ดังนี้

. สร้างวินัยในตนเอง ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย รู้ถึงขอบเขตของสิทธิ เสรีภาพหน้าที่ ความรับผิดชอบ ต่อตนเองและสังคม
๒. ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ตระหนักเสมอว่าตนเอง คือส่วนหนึ่งของสังคมต้องมีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวม ทั้งต่อประเทศชาติ และโลกใบนี้

. ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม ให้ถือว่าเป็นปัญหาของตนเอง เช่นกันอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ ต้องช่วยกันแก้ไข เช่น ช่วยกันดำเนินการให้โรงงานอุตสาหกรรมสร้างบ่อพักน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

. ยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะหลักธรรมหรือคำสั่งสอนในทุกศาสนาที่นับถือ สอนให้คนทำความดีทั้งสิ้น ถ้าปฏิบัติได้จะทำให้ตนเองมีความสุข นอกจานี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วยทำให้เราสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

จากการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น หากทำได้ในสังคมส่วนใหญ่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นนั้น นับว่ามีประโยชน์อย่างมากที่ส่งผลต่อ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร สามารถทำให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน มีความสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จะมีแต่การก่อให้เกิดความปรารถนาดีต่อกัน อันจะส่งผลให้ช่วยเหลือกันให้กิจการก้าวหน้า และท้ายสุดจะส่งผลให้โลกทั้งโลกมีความสงบสุข

การพัฒนาจิตสาธารณะ

จิตสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดจากการฝึกอบรมตั้งแต่วัยเด็ก และจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงวัยรุ่น และจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก คอยแนะนำส่งเสริมในสิ่งที่ถูกที่ควร คอยชี้แนะ และปลูกฝังจิตสาธารณะให้แก่เด็ก นอกจากนี้ เด็กยังต้องมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบตามธรรมชาติอันเกิดขึ้นได้เอง อีกทั้งเด็กยังมีการเรียนรู้ด้านวินัยจากวัฒนธรรม โดยอาศัยการสั่งสอน ฝึกฝน จากบุคคล สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม การมีกิจกรรม และใช้สิ่งของร่วมกันในสังคม การพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กในการใช้สิ่งของร่วมกัน ดูแลทรัพย์สมบัติส่วนรวม และมีน้ำใจแบ่งปันสิ่งของให้แก่กันและกัน

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาจิตสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องปลูกฝังหรือเสริมสร้างไว้ตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์ที่เพียงพอเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาตนเอง โดยในการปลูกฝังนั้น ควรให้เด็กได้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของจิตสาธารณะ รวมทั้งมีการฝึกฝนให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กเกิดการกระทำที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตสาธารณะอย่างแท้จริงจนเกิดเป็นลักษณะนิสัย และควรทำให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย และเกิดการพัฒนาตามลำดับ ซึ่งในการฝึกอบรม ปลูกฝัง หรือพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กนั้น ควรมีครูหรือผู้ใหญ่คอยดูแลชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เด็กจะได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม

สถาบันที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาจิตสาธารณะ

รัญจวน อินทรกำแหง (บุญทัน ภูบาล. ๒๕๔๙: ๑๙-๒๐; อ้างอิงจาก รัญจวน อินทรกำแหง ๒๕๒๘: ๑๑๐-๑๑๙) ชี้ถึงแนวทางในการเสริมสร้างจิตสาธารณะของคนในสังคม ว่าจะต้องเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้อง การปลูกฝัง อบรม การฝึกปฏิบัติ การได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ ปัจจัยเหล่านี้จะค่อย ๆ โน้มนำใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นจำต้องอาศัยสถาบันทางสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกัน อาทิ

. สถาบันการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาเป็นสิ่งที่ปฏิเสธกันไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบใด จำต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาจนมีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตน ที่จะสามารถปฏิบัติงานหรือดำเนินชีวิตไปสู่ทิศทางที่ประสงค์ การกำหนดเป้าหมายของการศึกษาให้ถูกต้องโดยธรรมชาติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มีผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาพึงพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้ถ่องแท้ ให้รอบคอบ ให้ถูกต้องด้วยทัศนะที่กว้างไกล โดยมีจุดหมายรวบยอดว่า ต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเป็นมนุษย์ที่เต็มที่การจัดการศึกษาควรมุ่งเน้นที่การสร้างจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตใจที่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ไม่ควรเน้นที่การพัฒนาเพื่อความสำเร็จในวิชาชีพที่ปราศจากพื้นฐานทางจริยธรรม เพราะอาจจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลออกไปประกอบวิชาชีพด้วยจิตสำนึกผิดพลาดแล้วก็ไปสร้างระบบการทำงานที่ผิดมีการเอาเปรียบผู้อื่น กอบโกย ความหลงตัวเอง ความมัวเมาวนเวียนแต่ในวังวนวัตถุ ที่อาจก่อให้เกิดการประหัตประหารกันในทุกวงการ

การให้การศึกษาแก่เยาวชน ควรหยุดสร้างจิตสำนึกที่นิยมในวัตถุ แต่เน้นการสร้างจิตสำนึกในทางจริยธรรมให้หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นทุกระดับการศึกษาตั้งแต่อนุบาลศึกษาจนถึง อุดมศึกษา เพื่อให้เป็นจิตที่สามารถช่วยสร้างระบบถูกต้อง เพื่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยธรรม โดยเฉพาะการดำรงเน้นการฝึกอบรมให้รู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างดีที่สุดฝีมือในทุกหน้าที่ในฐานะ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยความสำนึกว่าทุกหน้าที่มีคุณค่าและความสำคัญเท่าเทียมกัน

. สถาบันศาสนา สถาบันทางศาสนาต้องเป็นผู้นำในการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น ต้องนำประชาชนกลับไปสู่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงเน้นให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมเป็นใหญ่ ไม่บริโภคเกินความจำเป็น หรือ เพราะความอยาก มีความสันโดษ พอใจที่จะมีกินมีอยู่ มีใช้เท่าที่จำเป็นรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น มีความเมตตาอาทรต่อกัน เห็นแก่ผู้อื่นเสมือนเห็นแก่ตนเองรู้จักหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง

สถาบันทางศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพบูชาแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อจิตใจของประชาชน เพราะต่างได้ยึดถือสถาบันนี้เป็นที่พึ่งทางใจมาอย่างเนิ่นนาน ฉะนั้น สถาบันทางศาสนาจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจของคนในสังคมให้หันเข้ามาอยู่ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและวิธีการพัฒนาจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด ก็คือการสอนด้วยตัวเอง อันหมายถึง การที่ผู้อยู่ในสถาบัน องค์การทางศาสนา พึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนในสังคมในด้านการช่วยเหลือส่วนรวม

. สถาบันครอบครัว ความอบอุ่นของสถาบันครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เด็กเกิดจิตสำนึกเห็นความสำคัญของส่วนรวม ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่กับลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงอบรมลูก เพราะความใกล้ชิดจะเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และกลายเป็นเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน

สถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมีแต่ความคลอนแคลนสังคมก็พลอยคลอนแคลนไปด้วย และเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่คลอนแคลนจะมีจิตสำนึกที่คลาดเคลื่อน การสอนและการอบรมของสถาบันครอบครัวควรดำเนินการให้สอดคล้องประสานไปในจุดหมายเดียวกันกับการสอนการอบรมของสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา เพื่อปูพื้นฐาน หรือฝังรากให้เด็กมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิเสียตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้เป็นกำลังในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข

. สื่อมวลชน สื่อมวลชนเป็นถาบันที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการกระจายความคิดความรู้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสู่การรับรู้ของประชาชน ความร่วมมือจากสื่อมวลชนจะช่วยสร้างความเข้าใจช่วยสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคม เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นมีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างการรับรู้ที่จะสั่งสมกลายเป็นจิตสำนึกของคนในสังคม

การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะช่วยให้คนในสังคมมีจิตสาธารณะที่จะนำไปสู่การก่อตัวของประชาสังคม การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองนี้มิได้หมายถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนสำหรับประชากรวัยเรียน หรือการจัดการศึกษาแบบเป็นทางการในรูปแบบอื่น ๆ แต่ยังหมายถึงกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ทางตรงอย่างไม่เป็นทางการในชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสถาบัน และกระบวนการทางสังคมทีหลากหลายและต่อเนื่องทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว องค์การเอกชน และองค์กรประชาสังคม ฯลฯ


บรรณานุกรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน . (๒๕๔๖). พระนคร: ราชบัณฑิตยสถาน.

โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ. (๒๕๔๓). ระเบียบโรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่ง

ประเทศไทยอุทิศ ว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรแกนกลาง

การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๕๑พ.ศ. ๒๕๕๓. เอกสารอัดสำเนา. โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ

โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ. (๒๕๔๓). ระเบียบโรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่ง

ประเทศไทยอุทิศ ว่าด้วยแนวการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลาง

การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๕๑พ.ศ. ๒๕๕๓. เอกสารอัดสำเนา. โรงเรียนสมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทยอุทิศ

นวรินทร์ ตาก้อนทอง. (ม.ป.ป.). จิตสาธารณะ : คุณลักษณะของเด็กไทยที่พึงประสงค์ . ค้นเมื่อ

๒๐มีนาคม ๒๕๕๔, จาก http://learners.in.th/blog/krujo2007/390763

Sathaporn k. (ม.ป.ป.). จิตสาธารณะ เป็นจิตแบบไหนแน่?. ค้นเมื่อ ๒๐มีนาคม ๒๕๕๔,

จาก http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20090514204726AAzTq2x

สะตอดอง. (ม.ป.ป.). จิตสาธารณะหรือจิตสำนึกสาธารณะ(Public Consciousness). ค้นเมื่อ๒๐

มีนาคม ๒๕๕๔, จาก http://gotoknow.org/blog/articlerrpol/215483

จันทิราธนสงวนวงศ์. (ม.ป.ป.). ). จิตสาธารณะ. ค้นเมื่อ ๒๐มีนาคม ๒๕๕๔, จาก

http://mos.e-tech.ac.th/mdec/learning/s1301/unit08.html#s02

มหาวิทยาลัยนเรศวร, นเรศวรวิชาการ. (ม.ป.ป.). จิตสาธารณะ. ค้นเมื่อ ๒๐มีนาคม ๒๕๕๔,

จาก http://www.academic.nu.ac.th/content_view.php?n_id...

jarunee009 . (ม.ป.ป.). จิตสาธารณะคืออะไร. ค้นเมื่อ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔, จาก

http://jarunee009.blogspot.com/2009/11/blog-post.h...

คำสำคัญ (Tags): #จิตสาธารณะ
หมายเลขบันทึก: 584017เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2015 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2015 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท