สอนอย่างมือชั้นครู :๒๗. สอนด้วยสื่อสายตา



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๗ นี้ ตีความจาก Part Five : Making Learning Easier มี ๕ บท ตอนที่ ๒๗ ตีความจากบทที่ 26. Using Visuals to Teach

สรุปได้ว่า สื่อสายตาช่วยการเรียนรู้และการสอน ในหลากหลายด้าน ช่วยให้การเรียนรู้ มีลักษณะเป็นการเรียนรู้แบบนักศึกษาสร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นภายในตน ช่วยให้อาจารย์สามารถประเมิน ความรู้ความเข้าใจของศิษย์ และแก้ความเข้าใจผิดของศิษย์ได้อย่างอัตโนมัติ โดยการมอบหมายให้นักศึกษา เขียนสื่อสายตาจากการอ่านเอกสารประกอบการสอน หรืออ่านตำรา หรือดูวีดิทัศน์ ประกอบการเรียนรู้ เป็นชิ้นงานเฉพาะคน หรือทำเป็นทีม

มนุษย์เราอาศัยจักษุประสาทเพื่อการอยู่รอด มากกว่าประสาทการรับรู้ใดๆ ในขณะที่สัตว์สี่เท้าใช้จมูก และหูมากกว่ามนุษย์ ในวิวัฒนาการของมนุษย์ เกิดความสามารถในการสื่อสารด้วยการพูด ต่อมาเมื่อเกิด การเขียน และการพิมพ์ มนุษย์ก็หันมาสื่อสารผ่านสายตามากขึ้น เป็นที่รู้กันว่า "หนึ่งภาพทดแทนพันคำ" การสื่อสารด้วยภาพสื่อสาระได้ตรง เร็ว และมีประสิทธิภาพ

สื่อสายตา จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการเรียนการสอนได้อย่างดี โดยอาจเป็น flowchart, ไดอะแกรม, กราฟ, ตาราง, matrix, ภาพถ่าย, ภาพวาด, ตัวเลข, และการ์ตูน แอนิเมชั่น อาจสื่อผ่านคอมพิวเตอร์ หรือวาดด้วยมือเดี๋ยวนั้น หรือเขียนบน ฟลิปชาร์ต

อาจกล่าวได้ว่า สื่อสายตาที่จะกล่าวถึงต่อไป ทำหน้าที่ scaffolding เพื่อให้เข้าใจและจดจำสาระ ที่จะเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น


สื่อสายตาส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร

มีผลงานวิจัยมากมาย ที่ศึกษาผลของการใช้สื่อสายตาช่วยการเรียนรู้ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน และอธิบายว่าสื่อสายตาส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร สรุปโดยย่อที่สุดได้ว่า มีผลเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้มากมาย โดยหนังสือนำทฤษฎีที่อธิบายผลลัพธ์ มาเสนอ ๓ ทฤษฎี


ทฤษฎี Dual-Coding เพื่อรับรู้ซ้ำ และเสริมแรงกัน

เป็นทฤษฎีว่าด้วยการใช้สื่อสายตา ร่วมกับตัวหนังสือ เสนอสมมติฐานว่า คนเรามีความจำ ๒ แบบ คือจำจากถ้อยคำ (semantic) และจำจากระบบสายตาและท่าทาง (episodic) โดยมีหลักฐานจากผลการวิจัยสมอง ว่าสมองเก็บสารสนเทศจากถ้อยคำ กับสารสนเทศจากสายตาและท่าทาง ในระบบการเรียนรู้ต่างระบบกัน ดังนั้นเมื่อนำเสนอสาระทั้งด้วยถ้อยคำ และด้วยภาพ สมองของผู้เรียนจะประมวลข้อมูลสองครั้ง ผ่านระบบเรียนรู้สองระบบในเวลาเดียวกัน โดยไม่เป็นภาระต่อความจำใช้งาน (working memory) เพิ่มขึ้น คือเกิดการเรียนรู้สองต่อ โดยสมองเหนื่อยเท่าเดิม

คำอธิบายอีกแนวหนึ่งคือ สมองซีกซ้ายประมวลสารสนเทศเชิงถ้อยคำ สมองซีกขวาประมวลสารสนเทศที่เป็นภาพ เมื่อเรียนผ่านสื่อทั้งสองแบบ ทำให้สมองทั้งสองซีกถูกกระตุ้น จำนวนเซลล์สมองที่ถูกกระตุ้นจึงเป็นสองเท่า และการเชื่อมต่อใยประสาทก็เพิ่มเป็นสองเท่าด้วย

เงื่อนไขสำคัญคือ สารสนเทศทั้งที่เป็นถ้อยคำ และที่เป็นภาพ ต้องสอดคล้องกัน และนักศึกษาได้รับในเวลาเดียวกัน


The Visual Argument Theory การเรียนรู้ผ่านสายตามีประสิทธิภาพสูงกว่า

ทฤษฎีนี้บอกว่า สารสนเทศทางสายตา ต้องการ "ความจำใช้งาน" (Working Memory) น้อยกว่า และใช้ขั้นตอนความคิดน้อยกว่า คือการเรียนรู้แบบ เรียนจากภาพ สมองเหนื่อยน้อยกว่าการเรียนรู้จากถ้อยคำ

นอกจากนั้น ภาพยังช่วยให้ (๑) มองเห็นความสัมพันธ์เชิงหลักการ (Conceptual Relationship), (๒) ช่วยให้เห็นแบบแผน (Pattern) ในกลุ่มหลักการ, (๓ ช่วยการพัฒนา "โครงสร้างความรู้" (Cognitive Schemata) จากการเห็นภาพความสัมพันธ์ใหม่ๆ และ (๔) ช่วยการบูรณาการความรู้ใหม่เข้าไปในโครงสร้างความรู้เดิม

ภาพ ช่วยขยายการรับรู้ เนื่องจากได้รับสารสนเทศทั้งที่เป็นส่วนย่อย และที่เป็นภาพรวมในเวลาเดียวกัน ทำให้เห็นมิติสัมพันธ์ (Spatial Relationship) ระหว่างส่วนย่อย พร้อมกันกับการเห็นภาพรวม

ในขณะที่ตัวหนังสือเสนอสารสนเทศเรียงตามลำดับ ทีละส่วน สมองต้องทำหน้าที่เชื่อมโยง แต่ละส่วนเข้าด้วยกัน ในการทำหน้าที่นั้น สมองจะต้องหาชิ้นส่วนสำคัญเอามาเชื่อมต่อความหมายกัน เป็นภาระหนักของ "ความจำใช้งาน" และเป็นภาระในการดึงเอาความรู้เดิม หรือความรู้ใน "ความจำระยะยาว" (Longterm Memory) มาทำความเข้าใจแต่ละส่วนของตัวหนังสือ การเรียนรู้จากตัวหนังสือจึงเป็นภาระหนัก ต่อสมอง มากกว่าการเรียนรู้จากภาพ อย่างมากมาย


ทฤษฎีการเรียนรู้ (The Cognitive Theory) : ความสำคัญของภาพรวม

โครงสร้างช่วยเพิ่มการเรียนรู้ หมายความว่า การเรียนรู้ที่ดีนั้น ผู้เรียนต้องรับเอาความรู้ใหม่ บรรจุเข้าไปในแต่ละส่วนของโครงสร้างภาพใหญ่ที่เรามีอยู่แล้ว ค่อยๆ สั่งสม เกิดเป็นคลังความรู้มหาศาล ภายในสมอง เก็บไว้ในสภาพ "แผนที่กรอบความคิด" (Concept Map) เป็นโครงสร้างความรู้เดิม สำหรับรับเอาความรู้ใหม่บูรณาการเข้าไป นี่คือสภาพของระบบ "แฟ้มความรู้" ของผู้เชี่ยวชาญ

แต่นักศึกษาเป็น "มือใหม่" (Novice) ของวิชานั้น ยังไม่มี "แฟ้มความรู้" หรือ "โครงสร้างความรู้" สำหรับบรรจุความรู้ใหม่ให้ถูกที่ถูกทาง การช่วยเหลือด้วยภาพ จึงมีประโยชน์ต่อมือใหม่เหล่านี้อย่างยิ่ง ถือเป็นการทำ scaffolding ให้แก่การเรียนรู้ของนักเรียน

คนที่มีสไตล์การเรียนแบบเน้นมองภาพใหญ่ (global learners) ต้องการโครงสร้างความรู้ เพื่อช่วยการเรียนรู้มากกว่าคนที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบอื่น และมีผลการวิจัยบอกว่า เมื่อคนเราค่อยๆ เรียนรู้เรื่องนั้นมากขึ้นๆ จนเข้าสู่ระดับ "ผู้เชี่ยวชาญ" ก็จะใช้สไตล์การเรียนรู้แบบเน้นมองภาพใหญ่เหมือนกัน ทุกคน

การเรียนรู้จึงเป็นการสร้าง "โครงสร้างการเรียนรู้" (cognitive schemata) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา และสั่งสม และการช่วยเหลือของครู ในการทำหน้าที่ "สร้างโครง" (scaffolding) มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการบรรจุความรู้ใหม่ให้ถูกต้อง จนในที่สุดนักเรียนเกิดความชำนาญในการสร้างโครงสร้างการเรียนรู้เอง หลังจากมีความรู้เดิม (prior knowledge) มากเพียงพอ

หน้าที่สำคัญของครูอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยให้ศิษย์ตระหนักในความรู้ความเข้าใจ หรือกระบวนทัศน์ ผิดๆ ของตน และแก้เสีย ส่วนนี้ผมเรียกว่าเป็นกระบวนการ "เลิกเชื่อ" (unlearn / delearn) ทดแทนด้วยความรู้ หรือความเชื่อใหม่ (relearn) ที่สำคัญคือ การสร้างโครงสร้างความรู้ใหม่ที่ถูกต้อง กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ จะติดตัวไปอย่างถาวร แตกต่างจากการสอนแบบมุ่งให้ศิษย์จดจำสาระ ซึ่งจะจำได้เพียงในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เรามักพูดกันว่า จำได้ก่อนสอบ สอบเสร็จก็คืนครูไป

แต่ละวิชา มีโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับความรู้ (mental structure of knowledge) ที่สามารถเขียนออกมา เป็นสื่อสายตา หลากหลายรูปแบบ เรียกว่าเป็น disciplinary schemata ดังแสดงในตอนต่อไป


ชนิดของสื่อสายตาเพื่อการเรียนรู้

สื่อสายตาเพื่อช่วยการเรียนรู้ หรือความเข้าใจ มีผู้ให้ชื่อว่า advanced organizers (เครื่องช่วยจัดระบบความรู้) ใช้ช่วยให้เข้าใจภาพใหญ่หรือภาพทั้งหมดของเรื่องที่กำลังจะเรียน อาจเป็น flowchart, diagram, chart, table, matrix, web, map, figure หรืออื่นๆ แต่ในที่นี้ หนังสือเสนอสื่อสายตา เน้นเฉพาะชนิดที่ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์เชิงมิติสัมพันธ์ (spatial relationship) ระหว่างแนวความคิด หรือข้อเท็จจริง ช่วย (๑) การจัดระบบความรู้ (๒) ใช้เป็นชิ้นงานที่มอบหมายให้นักศึกษารายคน หรือรายกลุ่มทำ เพื่อการเรียนรู้แบบสร้างความรู้ (constructivism) ซึ่งอาจให้เป็นการบ้านก็ได้ (๓) ใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการทำชิ้นงานสร้างสรรค์ ซึ่งรวมทั้งการทำโครงงาน การแก้ปัญหา การทำหน้าที่ดำเนินการประชุม การเตรียมทำ presentation รวมทั้งการเตรียมเขียนบทความ

สื่อสายตาเหล่านี้ ทั้งช่วยความเข้าใจ และช่วยให้จำแม่น และเมื่อมอบหมายให้นักศึกษาทำ ก็จะเป็นตัวช่วยให้ตรวจพบความเข้าใจผิดของนักศึกษาได้ รวมทั้งเป็นการฝึกฝนวิธีเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา คือเป็นการเรียนวิธีเรียนรู้ (Learning how to learn) รูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดทักษะ ในระดับ จับหลักการ (conceptual skills), วิเคราะห์ (analysis), และสังเคราะห์ (synthesis)

เขายกสื่อสายตามา ๔ ชนิด และแนะนำวิธีใช้ ดังต่อไปนี้


Concept Map (แผนที่หลักการ)

เขานิยามแผนที่หลักการว่า เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ในเรื่อง สิ่งของ (objects), เหตุการณ์ (events), และคุณสมบัติ (properties)

ที่จัดเป็นสิ่งของ รวมถึง แรง แสง อาหาร ประชากร ลมฟ้าอากาศ แรงดัน และพลังงาน

ที่จัดเป็นเหตุการณ์ รวมถึง ฝน การสังเคราะห์แสง ออสโมสิส conversion, fission, และการแต่งงาน

ที่จัดเป็นคุณสมบัติ รวมถึง รส ความหนาแน่น ก่อเกิดชีวิต ปริมาตร และ texture

concept map เขียนโดยเอาหลักการมาเรียงกันเข้าจากบนลงล่าง เพื่อบอกระดับศักย์ (hierarchy) ของหลักการ ดังตัวอย่าง concept map เรื่องประชากร ที่มีทั้งหมด 9 concept





concept map อาจง่ายๆ มีเพียงชั้นเดียว หรือสองชั้น ไปจนถึงมีความซับซ้อนสูง อาจมีถึง ๒๐ ชั้น และมีเส้นโยงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

อาจารย์อาจใช้ concept map เป็นเครื่องมือทดสอบความรู้ความเข้าใจของนักศึกษาเป็นรายคน และของชั้นเรียน รวมทั้งอาจมีวิธีการใช้ที่หลากหลาย เป็นการเปิดช่องการสร้างสรรค์วิธีทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" (facilitator) ของการเรียนรู้ของศิษย์

วิธีเขียน concept map ที่ง่าย ทำโดยใช้ card technique


Mind Map

Mind map ก็คล้าย concept map แต่มีรายละเอียดมากกว่า และสามารถใส่ลูกเล่นสีสันได้มากกว่า รวมทั้งวิธีวางตัวหลักการต่างกัน คือ mind map เอาตัวหัวข้อ หรือหลักการใหญ่ ไว้ตรงกลาง หลักการย่อยชั้นที่ หนึ่ง แยกออกไปตามเส้นหนาทึบ หลักการย่อยชั้นที่สอง แยกออกจากหลักการย่อยชั้นที่หนึ่งด้วยเส้นบางลง ตามลำดับ โดยอาจมีได้หลายชั้น แต่ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า หากมีหลายชั้นเกินไปจะดูยาก

เนื่องจาก mind map เป็นสิ่งที่คุ้นเคย และใช้กันแพร่หลายในสังคมไทย จึงขอละเว้น ไม่กล่าวรายละเอียด แต่จะขอเน้นว่า ใน mind map มีการใช้ความหนาของเส้น สัญลักษณ์ และสี ในการสะท้อนลำดับความสำคัญของแนวความคิด

นอกจากนั้น การจัดทำเอกสารรายละเอียดรายวิชา และเอกสารบอกผลลัพธ์การเรียนรู้ ก็อาจจัดทำในรูปของ mind map


Concept Circle Diagram

เป็นสื่อสายตาที่เราไม่คุ้นเคย ใช้วงกลมหรือวงรีแทนหลักการ หลักการใหญ่วงใหญ่ หลักการเล็กวงเล็ก ส่วนที่ซ้อนทับกันถือว่าหลักการตรงกัน วงกลมเล็กที่อยู่ในวงกลมใหญ่ทั้งหมด ถือว่าเป็นส่วนย่อยของหลักการใหญ่ วงกลมที่แยกกัน ไม่ซ้อนทับกันเลย ถือว่าเป็นหลักการที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และอาจใช้เทคนิค telescoping เพื่อขยายรายละเอียดบางหลักการ อาจใช้สีช่วยแยกแยะระหว่างวงกลม

concept circle diagram ที่เราคุ้นเคยคือ Wenn Diagram กับ Context Map


Matrix

Matrix คือตารางเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างเหตุการณ์ เรื่องราว หรือหลักการ ถือเป็นสื่อสายตาที่มีพลังน้อยที่สุด ดังตัวอย่าง Matrix เปรียบเทียบประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๒ ประเทศ

อนาคตของสื่อสายตาเพื่อการสอนและการเรียน

ยิ่งนับวัน การรับรู้ด้วยสายตาก็ยิ่งกลายเป็นช่องทางหลักมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากวงการสื่อสาร เพื่อความบันเทิง ลามมาสู่วงวิชาการ ยิ่งคนในยุค millennial ยิ่งคุ้นเคยกับสื่อสายตามากกว่าตัวหนังสือ และต่อไปสื่อจะมีลักษณะเป็นสื่อผสม (multimedia) มากยิ่งขึ้น อาจารย์สามารถนำมาใช้ในการสอนทางไกล และเครื่องมือสอนแบบไฮเทค ข้อดีอย่างหนึ่งของสื่อสายตาคือ เป็นภาษาสากล ที่เรียนรู้หรือเข้าใจได้ง่ายกว่า ภาษาตัวหนังสือมาก

เครื่องมือสอน/เรียนรู้ แบบไฮเทค เป็นเรื่องในตอนต่อไป


วิจารณ์ พานิช

๒๙ ต.ค. ๕๗

บนเครื่องบินจาก แฟรงค์เฟิร์ตกลับกรุงเทพ


หมายเลขบันทึก: 584015เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2015 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2015 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบคารวะ ครู KM ครับ


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท