ข้อเสนอกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม


ข้อเสนอกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม

ข้อเสนอกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรม

สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ [1]

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอว่า เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ถือเป็นมะเร็งร้ายของสังคมที่ต้องช่วยกันขจัดให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว แม้นักคิด นักวิชาการต่างๆ จะได้ศึกษาเสนอแนะแนวทางหาวิธีการแก้ไขต่าง ๆ นานัปการ แต่ส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ยังเน้นอยู่ที่การแก้ไขปัญหาเชิง "นามธรรม" (Abstract) กล่าวคือไม่เป็น "รูปธรรม" (Concrete) ที่มีผลทางปฏิบัติได้จริง

ฉะนั้น บรรดาข้อเสนอการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมาจึงค่อนข้างเป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมไม่ค่อยมี

ความสำคัญของการทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมาพบว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจได้อ้างสาเหตุของการยึดอำนาจเพราะ "การทุจริตคอร์รัปชัน" มาแล้วอย่างน้อยจำนวน ๒ ครั้ง คือ (๑) การยึดอำนาจของ รสช. เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ (พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕) [2] มี ๕ ข้อ สองข้อแรกก็คือ รัฐบาลมีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการใช้อำนาจกดขี่ข้าราชการประจำ และ (๒) การปฏิรูปการปกครองเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ [3] เพราะมีการผูกขาดอำนาจโดยรัฐ บริหารราชการไปเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้อง รวมถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึง "การทุจริตเชิงนโยบาย" ซึ่งเป็นรูปแบบการทุจริตที่เลวร้ายที่สุด

จึงต้องหันมาทบทวนกลไกหรือแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันที่ผ่านมา และที่จำดำเนินการต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๒๗ วรรคสอง [4] ได้กำหนดให้มี "กลไกขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และขจัดความเหลื่อมล้ำฯ" ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักในการปฏิรูปประเทศไทยประการหนึ่ง ที่สมาชิกสภาปฏิรูปและผู้เกี่ยวข้องจะต้องยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันทฤษฏีหนึ่งที่นักวิชาการยอมรับกัน คือ Klitguard & Baser (2004) [5] เห็นว่า "มูลเหตุหรือต้นเหตุของการ "ทุจริตหรือการทุจริตคอร์รัปชั่น" (Corruption) นั้นเกิดจาก "การผูกขาดอำนาจ" (Monopoly) ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ที่บุคคลหนึ่งคนใดแต่เพียงผู้เดียว รวมกับ "การใช้ดุลยพินิจ" (Discretion) ของตนโดยพลการที่ "ขาดการควบคุมกำกับ" (Control&Audit) จากผู้อื่น ทำการนั้นเพื่อเกิดผลประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง โดย "ขาดความรับผิดชอบ" (Accountability) ในสิ่งที่กระทำนั้นว่าจะเกิดการสูญเสียหรือเสียหายแก่ผู้อื่น"

ข้อเสนอการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย

ในที่นี้ขอเสนอตรงประเด็นในเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม ก็คือ "Open data" [6] หรือ "การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร" เป็นการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน ทุกอย่าง ตามแบบอย่าง EU หรือ สหภาพยุโรป (European Union) โดยมีข้อตกลงในระหว่างประเทศสมาชิก คือ "Open Government Data" โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ในกรณีสำหรับประเทศไทยหลักการนี้ก็คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓/๑ [7] ตามหลัก "การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" หรือ "Good Governance" เป็นหลัก โดยมีกฎหมายที่กำกับการปฏิบัติ ได้แก่ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ นั่นเอง เช่น ป.ป.ช. มีมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมตรวจสอบนักการเมือง และข้าราชการเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐ ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นต้น

ในปี 2007 (พ.ศ. ๒๕๕๐) จำนวน ๓๐ กลุ่มสนับสนุน Open data ของ EU ได้ประชุมกันที่เมือง Sebastopol ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมกันประกาศหลัก ๘ ข้อ ของ Open Government Data [8] ในกรณีตัวอย่าง EU มีผลช่วยลดการทุจริตได้มาก สามารถนำแนวทางนี้มาใช้ใน "กระบวนการยุติธรรมแบบ Open data ได้ด้วยเช่นกัน"

ตัวอย่างการนำ open data มาปรับใช้ในการบริหารงานเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนี้

(๑) open data ที่เป็นปัจจัยต่อการป้องกันการทุจริตที่จะต้องกระทำในลำดับแรกคือ การ open data ในงานบริหารงานบุคคลภาครัฐ เพราะหากค่าของคนอยู่ที่คนของใคร ผลก็คือปัจจัยแรกที่จะนำไปสู่การทุจริต

(๒) เมื่อการบริหารงานบุคคลภาครัฐโปร่งใส ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน การทุจริตก็จะกระทำได้ยากยิ่งขึ้น

(๓) ลำดับต่อมาของ open data ที่จะป้องการทุจริตได้ก็คือ การ open data ในเรื่องการเงิน, การงบประมาณ และสุดท้าย ถ้าไม่มี open data ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่า กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง กระบวนการยุติในคดีอาญา ทั้งชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และชั้นศาล กล่าวคือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในชั้นสุดท้ายของกระบวนการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม แล้ว open data อื่นๆ ก็ไร้ผล ขาดประสิทธิภาพด้วย

เห็นได้ว่า open data ถือเป็นมาตรฐานสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับ การนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ อาจได้ผลมากกว่าหรือเป็นมาตรการเสริมแนวทางอื่นตามที่นักคิดนักวิชาการได้นำเสนอแนวทางไว้แล้ว อาทิเช่น รศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม (๒๕๕๐) [9] เสนอใช้ "ประชาสังคม" (Civil society) และนำเทคนิคการกระบวนการการมีส่วนร่วม AIC (Appreciation-Influence-Control) หรือที่เรียกว่า "เทคนิคกระบวนวางแผนแบบการมีส่วนร่วม หรือ ศ.นพ.ประเวศ วะสี (๒๕๕๖) [10] เสนอแนวทาง "ประชาสังคม" เช่นกันว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล คนไทยควรร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่เป็น "เนื้อหา" ของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย อันจะนำไปสู่ศานติสุขได้อย่างแท้จริง ควรปฏิรูป "โครงสร้างอำนาจ" โดยเห็นว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องยากต้องอาศัยพลังพลเมืองที่เข้มแข็ง "การปฏิรูปและการสร้างพลังพลเมืองที่เข้มแข็งจึงต้องควบคู่กันไป" เป็นต้น

ข้อเสนอแนะแนวทางรูปธรรมการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ โดยการยึดถือปฏิบัติ ดังนี้

(๑) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓/๑ ในสาระสำคัญ ๒ ประการหลัก คือ

(๑.๑) การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐฯ

(๑.๒) การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน

(๒) กระแสพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ดำรัสว่า

"ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" นั่นหมายความว่า เราต้อง "ส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจ ควบคุมคนไม่ดี อย่าให้กำแหง" [11]

ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดนี้เพื่อเป็นกลไกที่เป็น "รูปธรรม" ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแก่สังคมไทย แต่คงไม่เป็นสูตรตายตัวเฉพาะ อาจมีการประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย อย่างน้อยที่สุดเป็นการปรับเสริมแต่งแนวคิดในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันให้ชัดเจนในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เจ้านายลูกน้อง มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ความเป็นญาติกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะหาวิธีการแก้ไขขจัดปัญหาให้ออกหรือให้สำเร็จภายในระยะเวลาสั้น ๆ

อ้างอิง

ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์, กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, "การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรา ๑๐๐ พ.ร.บ. ป.ป.ช.", พิมพ์ครั้งที่ ๒, ตุลาคม ๒๕๕๕.

"ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน" (Corruption Situation Index : CSI), ๑๖ มกราคม ๒๕๕๗, http://cebf.utcc.ac.th/upload/index_file/file_th_76d16y2014.pdf

ถวิล ไพรสณฑ์ , คอลัมน์: บทความพิเศษ: วิเคราะห์วิจารณ์ บทสัมภาษณ์ของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล, ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พุธที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗, http://www.ryt9.com/s/tpd/1987296

สรณะ เทพเนาว์, "กลไกการป้องกันการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ในข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๑๕ วันศุกร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ถึง วันพฤหัสบดีที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ หน้า ๘๐, คอลัมน์‎เจาะประเด็นร้อนอปท. https://www.gotoknow.org/posts/582809

สรณะ เทพเนาว์, "ทัศนะต่อบทบาทของนิติกรในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗, https://www.gotoknow.org/posts/582503

"ภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันจากประเทศสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗, https://www.gotoknow.org/posts/582504


[1] สรณะ เทพเนาว์,สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย , บทความพิเศษ, ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ <หน้า ๑๐ คอลัมน์ การเมืองท้องถิ่น> บทความทางวิชาการ

[2] "รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2534

[3] สาเหตุของรัฐประหารยึดอำนาจ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพและการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ดู "รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2549

[4] มาตรา ๒๗ วรรคสอง "ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม"http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

[5] สุรชาติ แสนทวีสุข, "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายในบกพร่อง", ๒๕๔๗, www.local.moi.go.th/2009/article/article1.doc อ้างจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน , ๒๕๔๗ : ๓๔ ดู Klitguard & Baser ให้สูตรของการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้

C=M+D-Aโดยที่

C=Corruption ( การทุจริต)

M=Monopoly(การผูกขาดอำนาจ)

D=Discretion(การใช้ดุลยพินิจ) และ

A=Accountability (ความรับผิดชอบ)

นอกจากนี้จากการรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ เกือบร้อยละ ๙๐ ของ อปท. การบริหารงานไม่โปร่งใส เพราะระบบ หรือ คน ซึ่งสุรชาติ ได้สรุปอย่างตรงประเด็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายใน (Internal Audit) บกพร่อง

[6] วรากรณ์ สามโกเศศ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, "ใช้ Open Data ปราบคอร์รัปชัน", ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗, ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "อาหารสมอง", นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ฉบับอังคาร ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗,http://thaipublica.org/2014/12/varakorn-36/

[7] ดู ดร.อรทัยก๊กผล และ รศ.ไตรรัตน์โภคพลากรณ์ (บรรณาธิการ), "การปฏิรูประบบราชการ : หลากหลายมุมมอง", ธันวาคม ๒๕๔๖,

ดูมาตรา ๓/๑ "การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน

การจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการตามวรรคหนึ่ง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้"

(มาตรา ๓/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕)

[8] วรากรณ์ สามโกเศศ, อ้างแล้ว.

[9] ดูใน รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, หัวหน้าโครงการวิจัย, "การทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: มาตรการและกลไกการป้องกัน", จากบทความรายงานการวิจัย เรื่อง "แนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกการป้องกันทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ได้รับทุนสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี ๒๕๔๙, http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/วารสาร/50/03/50-03%2007.การทุจริตในอปท.-รศ.ดร.โกวิทย์%20พวงงาม.pdf

[10] น.พ.ประเวศวะสี, "ปฏิรูปประเทศไทย ๘ เรื่อง", ธันวาคม ๒๕๕๖.

[11] พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี, วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ และ ดูใน อุดมพรอมรธรรม, "พระเจ้าอยู่หัวกับการเมือง", ๒๕๕๐, หน้า ๗๔. http://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/General/Kings%20Proverbs.htm

หมายเลขบันทึก: 584012เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2015 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท