ภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันจากประเทศสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันจากประเทศสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันจากประเทศสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

จากกระแสกรณี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก Panadda Diskul เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ ว่า พบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่งใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยเหมือนกับเป็นเงินของครอบครัวตนเอง [1] ซึ่งได้มีการตอบโต้ไปมาจากบรรดานักการเมืองท้องถิ่น และสื่อสังคมออนไลน์พอสมควร ถึงข้อเท็จจริงในการกล่าวหา ทำให้สังคมมีภาพลักษณ์เชิงลบต่ออปท. แต่แล้วกระแสดังกล่าวก็เป็นการรอมชอม ยุติการกล่าวหาโจมตีด้วยการกล่าวขอโทษของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขอโทษ อบจ. ปัดเหมารวม ยันโพสต์ติงใช้จ่ายเงิน อปท.ด้วยใจบริสุทธิ์ หวังการทำงานส่วนภูมิภาค-ท้องถิ่นตรวจสอบกันได้ ยินดีพูดคุยทุกฝ่ายหากไม่สบายใจ [2]

ในท่ามกลางกระแสการเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และการปฏิรูปประเทศไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามคำปรารภในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ว่า "...และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ..." ที่ต้องการเพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย (อาทิ ลดความเหลื่อมล้ำ และการทุจริตคอร์รัปชันในทุกมิติ) [3] จึงเป็นประเด็นของการปฏิรูปท้องถิ่นขึ้นมาทันที

ผลการสอบสวนและศึกษาเรื่องการทุจริตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี ๒๕๔๕ ได้สรุปกรณีทุจริตคอร์รัปชันออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ [4] (๑) การทุจริตเชิงนโยบาย (๒) การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (๓) การทุจริตในการให้สัมปทาน (๔) การทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐ (๕) การขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือประโยชน์ทับซ้อน

การทุจริตคอร์รัปชันที่เรียกว่า "การทุจริตเชิงนโยบาย" หรือ การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย" (Policy Corruption) ตามความหมายที่เข้าใจกันก็คือ "พูดง่าย ๆ คือเป็นการ จัดนโยบายตามอำนาจหน้าที่ แต่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพรรคพวกเพื่อนฝูง หรือต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ได้มีการโกงกินกันเป็นหลักฐาน หรือมีใบเสร็จแสดงว่า กินไปเท่านั้น โกงไปเท่านี้ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะอธิบาย" [5] จึงเป็นการทุจริตรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เพราะเป็นการทุจริตที่ทำได้ทุกรูปแบบภายใต้สถานการณ์ที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรม และเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การปฏิรูปการปกครองเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็คือ "การทุจริตเชิงนโยบาย" อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาล ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจ คือ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงมีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น อันได้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทนที่คณะกรรมการ ป.ป.ป. แต่หลังจากปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มแข็งมาได้เพียง ๓ ปีเศษ ในปี ๒๕๔๔ รัฐบาลก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าพยายามผูกขาดอำนาจทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงทำให้การทุจริต คอร์รัปชันดำเนินไปอย่างกว้างขวางและล้ำลึกจนยากที่จะแก้ไขเปรียบได้ดังมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมจนมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของชาติดังที่ปรากฏ [6]

แม้ว่าต่อมามีการตรา "พรบ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๕๑" ขึ้น แต่ก็มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่น้อยเกินกว่าที่จะทำหน้าที่สอดส่องดูแลพนักงานของรัฐกว่า ๔ ล้านคนทั่วประเทศ ให้ปราศจากการคอร์รัปชัน ปริมาณงานจึงมาก การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพราะต้องสนธิกำลังหรือบูรณาการกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม และการที่ ป.ป.ท. ไม่ใช่องค์กรอิสระ จึงมีความเป็นไปได้ที่การเมืองอาจเข้ามาแทรกแซงได้เหมือนเช่นหน่วยงานราชการทั่วไป ที่ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของทางเมือง อีกทั้งในส่วนองค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ กว่า ๙,๐๐๐ แห่งนั้น เป็นการยากที่จะเข้าดูแลได้อย่างทั่วถึง [7]

ลองมาตรวจสอบข้อมูลการทุจริตของ อปท. ในรอบปีที่ผ่านมา สรุปข้อมูลสังเขปได้ว่า

ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทย จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีเครือข่ายใน ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัย Gottingen ประเทศเยอรมัน จัดอันดับ "ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน" (Corruption Perception Index : CPI) ในประเทศต่างๆทั่วโลกขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา

ดูสถิติย้อนหลังของประเทศไทย ดังนี้ [8]

๒๕๕๗ อันดับ๘๕(๑๗๕ ประเทศ) คะแนน ๓.๘

๒๕๕๖ อันดับ๑๐๒(๑๗๗ ประเทศ) คะแนน ๓.๕

๒๕๕๕ อันดับ๘๘(๑๗๖ ประเทศ) คะแนน ๓.๗

๒๕๕๔ อันดับ๘๐(๑๘๓ ประเทศ) คะแนน ๓.๔

๒๕๕๓ อันดับ๗๘(๑๗๘ ประเทศ) คะแนน ๓.๕

๒๕๕๒ อันดับ๘๔(๑๘๐ ประเทศ) คะแนน ๓.๔

๒๕๕๑ อันดับ๘๐(๑๘๐ ประเทศ) คะแนน ๓.๕

๒๕๕๐ อันดับ๘๔(๑๗๙ ประเทศ) คะแนน ๓.๓

๒๕๔๙ อันดับ๖๓(๑๖๓ ประเทศ) คะแนน ๓.๖

ในการควบคุมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะท้องถิ่นนั้น สุรชาติแสนทวีสุข (๒๕๔๘) [9] ตามรายงานขององค์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UNDP, 2004 : 1-33 ) ว่า องค์กรหากไม่มีการควบคุมภายในที่ดีพอจะทำให้เกิดการทุจริต ในหลายรูปแบบได้แก่ การติดสินบน (Bribery) การรีดไถ (Extortion) การใช้อิทธิพลมืด (Influence Peddling) การช่วยเหลือเครือญาติ (Nepotism) การฉ้อโกง (Fraud) การใช้เงินเร่งความเร็ว (Speed Money) การบังหลวง (Embezzlement)ตลอดจนการกระทำที่ขาดหลักศีลธรรม Klitguard & Baser (อ้างจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน , ๒๕๔๗ : ๓๔) ให้สูตรของการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนี้ C=M+D-Aโดยที่ C=Corruption ( การทุจริต) M=Monopoly(การผูกขาดอำนาจ) D=Discretion(การใช้ดุลยพินิจ) และ A=Accountability (ความรับผิดชอบ) นอกจากนี้จากการรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๕ เกือบร้อยละ ๙๐ ของ อปท. การบริหารงานไม่โปร่งใส เพราะระบบ หรือ คน ซึ่งสุรชาติ ได้สรุปอย่างตรงประเด็นว่า อปท. มีการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายใน (Internal Audit) บกพร่อง

จากรายงานการศึกษาของ รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม (๒๕๕๐) จากข้อมูลสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (๒๕๔๗) การทุจริตที่ประชาชนพบเห็น มากที่สุด ได้แก่ การฮั้วประมูลในการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ (ร้อยละ ๔๔.๓) ปานกลาง ได้แก่ การเลือกตั้ง (ร้อยละ ๔๔.๒) กินตามน้ำ ค่าน้ำร้อน น้ำชา (ร้อยละ ๔๐.๐) นักการเมืองขาดคุณธรรม (ร้อยละ ๔๒.๕) กลุ่มผู้กระทำการทุจริต มากที่สุด ได้แก่ ข้าราชการ (ร้อยละ ๔๗.๘) ร้อยละ ๕๓.๒ มีความเอนเอียงที่จะยอมรับได้ "หากรัฐบาลชุดใดโกงกินแล้ว ทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข" [10]

ข้อมูลจากสำนักงาน ปปช. ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓–๒๕๔๘ รวม ๖ ปี พบว่า มีการกล่าวหาร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตเกือบทุกกระทรวง ถูกกล่าวหามากที่สุด ลำดับที่ ๑ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ๙,๓๑๗ เรื่อง [11]

สำหรับการทุจริตใน อปท. มีข้อมูลดังนี้

ข้อมูลจากสำนักงาน ปปช. ปี ๒๕๔๓-๒๕๕๐ รวม ๘ ปีพบว่า บุคลากรของ อปท. หมายถึง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น พนักงานท้องถิ่น ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต รวมทั้งสิ้น ๕,๕๐๘ เรื่อง มีผู้ถูกกล่าวหา ๙,๔๖๗ ราย ถูกกล่าวหาว่าทุจริตมากที่สุด ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต อบต. ๓,๒๓๕ เรื่อง เทศบาล ๑,๗๐๕ เรื่อง ผู้ถูกกล่าวหา อบต. ๕,๗๗๘ ราย เทศบาล ๒,๗๖๖ ราย แบ่งสภาพหรือลักษณะปัญหาการทุจริตใน อปท. ได้ดังนี้ (๑) สภาพหรือลักษณะปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการทุจริตด้านงบประมาณ การทำบัญชี การจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลัง (๒) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดจากตัวบุคคล ข้อมูลตัวเลขจากการสำรวจพบว่า การทุจริตเกิดจากตัวบุคคล โดยเฉพาะ ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นบางส่วน (๓) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดจากช่องว่างของระเบียบและกฎหมาย (๔) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดการขาดความรู้ความเข้าใจและขาดคุณธรรม จริยธรรม (๕) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดจากขาดการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบ (๖) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดจากการตรวจสอบขาดความหลากหลายในการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สตง. เพียงหน่วยงานเดียวมีกำลังคนไม่เพียงพอ ในส่วนระบบการตรวจสอบภายในของ อปท. มักพบว่าผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท. ไม่ควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และฝ่ายสภาท้องถิ่นของ อปท. เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่นได้น้อย (๗) สภาพหรือลักษณะปัญหาของการทุจริตที่เกิดจากอำนาจ บารมี อิทธิพล ที่ส่งผลให้เกิดการทุจริตได้ โดยเฉพาะอิทธิพลและอำนาจของฝ่ายการเมืองที่ครอบงำหรือสามารถให้คุณให้โทษต่อเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการท้องถิ่น [12]

รศ.ดร.โกวิทย์ สรุปว่า ปัญหาที่มีในท้องถิ่น คือ ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างนักการเมืองทั้งในระดับประเทศกับนักการเมืองระดับท้องถิ่น นักธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ ข้าราชการ มีความเข้มแข็งมากกว่าพลังในการตรวจสอบของภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ได้นำเสนอมาตรการและกลไกส่งเสริมการป้องกันการทุจริตใน อปท. โดย (๑) การส่งเสริมกลไกหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย (๒) กลไกส่งเสริมสภาท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ทั้งในรูปของคณะกรรมการกิจการสภาสามัญและวิสามัญ (๓) ส่งเสริมกลไกภาคประชาสังคม (ประชาคม) ให้มีส่วนร่วมกับ อปท. อย่าง แข็งขัน (๔) ส่งเสริมกลไกสถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาข้าราชการ /บุคลากรท้องถิ่นและศูนย์เรียนรู้ของ อปท. เพื่อให้เป็นสถานที่ส่งเสริมการเรียนรู้แก่บุคลากรของ อปท. และภาคประชาสังคม (๕) การส่งเสริมให้มีกลไก สื่อและประชาสัมพันธ์ ใน อปท. (๖) เสริมสร้างกลไกภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง อปท. และภาคีส่วนอื่นๆ (๗) เสนอ อปท. ต้นแบบ และได้เสนอแนวทางส่งเสริมการป้องกันการทุจริต ใน อปท. ดังนี้ (๑) จัดให้มีเวทีประชุมแบบมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการ A-I-C (Appreciation-Influence-Control) (๒) ส่งเสริมการใช้กฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดและทั่วถึง (๓) ให้ความรู้ความเข้าใจที่ตรงเป้าหมาย และมีเนื้อหาสาระ (๔) ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (๕) ส่งเสริมให้ อปท. เปิดเผยข้อมูลเพื่อตรวจสอบได้ (๖) ส่งเสริมให้ อปท. มีผู้นำ/ผู้บริหารท้องถิ่นที่โปร่งใสและให้รางวัลจูงใจ ยกย่องเชิดชูเกียรติผู้กระทำความดี (๗) ปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต / จรรยาบรรณนักการเมือง (๘) จัดให้มีระบบตรวจสอบควบคุมภายในของ อปท. [13]

นอกจากนี้ รศ.ดร.โกวิทย์ ได้เสนอแนะให้พัฒนากลไกและเสริมสร้างกลไกและแนวทางการป้องกันการทุจริตใน อปท. ควบคู่กันไป ในระดับนโยบาย โดย (๑) ปรับกลไกหน่วยงานภาครัฐและองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบ อปท. ให้มีประสิทธิภาพ (๒) สร้างกลไก อปท. ต้นแบบ (๓) ให้สถาบันการศึกษา สถาบันพัฒนาข้าราชการท้องถิ่น และศูนย์เรียนรู้ของ อปท. เป็นกลไกส่งเสริมให้ความรู้แก่บุคลากรของ อปท. และภาคประชาชน (๔) จัดให้มีสื่อและการประชาสัมพันธ์ใน อปท. ให้เป็นกลไกในการป้องกันการทุจริต (๕) ให้สภาท้องถิ่นเป็นกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหารท้องถิ่นที่เข้มแข็งและส่งเสริมกลไกสภาท้องถิ่นที่เข้มแข็ง(๖) ให้มีภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง อปท. และภาคีอื่น ๆ เป็นกลไกการป้องกันการทุจริตใน อปท. (๗) ให้จัดตั้งคณะกรรมการกลางของจังหวัดและศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในระดับจังหวัด เพื่อเสริมการทำงานของท้องถิ่นให้คล่องขึ้น และลดอัตราเสี่ยงในการทำงานของพนักงานท้องถิ่น (๘) ให้มีรางวัลส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ อปท. หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำชุมชนท้องถิ่น ที่มีแนวทางการป้องกันการทุจริตก่อให้เกิดความโปร่งใสขึ้นใน อปท. (๙) ให้มีการจัดทำจรรยาบรรณของนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองท้องถิ่น (๑๐) ให้ อปท. แต่ละแห่ง จัดให้มีการประชุมสัมมนาโดยประยุกต์ใช้กระบวนการ A-I-C [14]

ข้อมูลล่าสุดจาก ปปช. (๒๕๕๗) สรุปผลงาน ๘ ปีว่า แค่ ๒ ปีพบโกง ๓ แสนล้าน "รับสินบน-ยักยอกทรัพย์" นำโด่ง พบว่าคดีที่เกี่ยวกับอปท.สูงสุด จำนวน ๓๔,๕๒๘ เรื่อง โดยคิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของเรื่องทุจริตทั้งหมด [15]

จากการนำเสนอข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันของท้องถิ่น หรือของ อปท. ดังกล่าวข้างต้น พบสาเหตุของปัญหาประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ขาดการตรวจสอบจากภาคประชาชน

ล่าสุดได้มีข้อเสนอในกระบวนการประชาสังคม (Civil Society) รวมถึง สภาพลเมือง (Civil Juries or Citizen Juries or Civic Assembly) และสมัชชาประชาชน (Popular Assembly or Forum) ในท้องถิ่นเพื่อเป็นกลไกตรวจสอบควบคุมนักการเมืองท้องถิ่นรวมถึงข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชัน อาทิ ไพบูลย์ นิติตะวัน (๒๕๕๗) [16] ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ ๘ ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เสนอ "สภาตรวจสอบภาคประชาชน" เพื่อบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน จริยธรรม การเลือกตั้ง

C R : Admin, 12 Dec 2557.

อ้างอิง
ณัฐกร วิทิตานนท์, "10 ปี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น(พ.ศ.2543-2552): ฤาการเดินทางเพื่อกลับมา "หยุด" ตรงจุดเดิม", 4 ตุลาคม 2553,
http://www.prachatai.com/journal/2010/10/31342


"ภาพลักษณ์ทางลบ"

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นค่อนข้างถูกตีตราจากสังคมว่าเป็น ผู้ร้าย มากกว่าจะเป็น พระเอก อันเนื่องมาจากข่าวคราวในทางลบที่ปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องซื้อ–ขายเสียง การทุจริตคอรัปชั่น<23> การใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามอำเภอใจ ปัญหาส่วนตัวทำนองชู้สาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข่าวความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ (จากการประมูลงาน–ตรวจการจ้าง) ความขัดแย้งภายในองค์กร (ระหว่างผู้บริหารกับฝ่ายสภา หรือระหว่างนักการเมืองกับฝ่ายประจำ ฯลฯ) และความรุนแรงที่เกิดกับเหล่านักการเมืองท้องถิ่น<24> ด้วยเหตุนี้การเมืองท้องถิ่นจึง อันตราย ยิ่งนักในสายตาใครต่อใคร<25>

แต่ดังที่ได้อธิบายไว้ในข้อก่อนหน้านี้ ปัญหาต่างๆ ข้างต้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับ อปท.ทุกที่เสมอไป หากแต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังมีปัญหาทำนองนี้เกิดขึ้น อปท.ล้วนมีดีแย่ปะปนกันไม่ต่างจากสรรพสิ่งอื่นบนโลกนี้ ฉะนั้น ควรแยกพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป เช่นที่ อบต.เกาะหมาก จ.พัทลุง ในรอบ 2 ปีกลับมีการเลือกตั้งโดยตรงถึง 3 ครั้ง เพราะอดีตนายกฯ 3 คนล้วนถูก 'ยิงตาย' ทั้งหมด เชื่อกันว่ามาจากการขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจรังนกนางแอ่น

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกรณีสำคัญนั่นคือ เหตุการณ์การลอบสังหาร นายแพทย์ชาญชัย ศิลปะอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ซึ่งถูกมือปืนกระหน่ำยิงจนเสียชีวิต ขณะวิ่งออกกำลังกายอยู่ภายในสนามกีฬากลางเมืองแพร่ เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2550 นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของแวดวงท้องถิ่นไทยที่สมควรระลึกถึงอย่างยิ่ง

ซึ่งต่อมาตำรวจสามารถจับกุมคนร้าย รวม 5 คน ไล่ตั้งแต่มือปืน คนขี่รถจักรยานยนต์ คนชี้เป้า รวมทั้งตัวผู้จ้างวานได้ สืบทราบว่ามีชนวนเหตุมาจากความขัดแย้งโครงการกู้เงิน 120 ล้านที่ผู้ตายพยายามผลักดัน แต่ข้างประธานสภาฯ (ซึ่งเป็นญาติกับผู้จ้างวาน และเป็นน้องชายของนักการเมืองหญิงคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์) ไม่เอาด้วย จนนำไปสู่การปลดประธานสภาฯ ในที่สุด<26> ขณะนี้คดียังคงอยู่ในชั้นศาล

คำตอบของปัญหาข้างต้น จึงไม่ใช่แค่โทษท้องถิ่น (หรือต่อว่าการกระจายอำนาจ) ว่าเป็น 'ต้น เหตุ' แล้วทุกอย่างจักจบสิ้น หากแต่ต้องตั้งคำถามไปถึงกระบวนการยุติธรรม (แบบส่วนกลาง) ว่าทำไมคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ถึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ รวมถึงรัฐบาลด้วยว่า เหตุใดจึงเพิกเฉยและปล่อยให้อาชญากรรมรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

++++++++++++++++++++++++++++++

<23>ดังตัวอย่างพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ต่อไปนี้ นายกฯ อาย อปท.ทุจริต จี้แก้ กม.ท้องถิ่นกันโกง [ไทยโพสต์], แฉทุจริตปี'52 อปท.แชมป์โกง สูญร่วม2พันล. [ไทยโพสต์], เตรียมตั้ง ป.ป.ช.จังหวัด เชือด อปท.ทุจริต[คมชัดลึก], ป.ป.ช.-สตง.ล่าทุจริตองค์การปกครองท้องถิ่น ผลาญงบแสนล้าน [ผู้จัดการ] เป็นต้น

<24>อ่าน หลากมุมมอง 'คนท้องถิ่น' ทำไมสนามนี้... ไม่สิ้นเสียงปืน!!, มติชน (29 ธันวาคม 2548), หน้า 8.

<25>ถึงขนาดว่าบริษัทประกันชีวิต จะไม่พิจารณารับประกันชีวิตให้แก่ผู้ที่เป็นนักการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนักการเมืองท้องถิ่น) เพราะจัดเป็นอาชีพเสี่ยงตามกฎเกณฑ์ของทางบริษัทฯ เช่นเดียวกับบางอาชีพอย่างตำรวจ และตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

<26>อ่านความเป็นมา-เป็นไป พร้อมบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้โดยละเอียดได้จาก ธเนศวร์ เจริญเมือง, "คุณธรรมกับการบริหารจัดการท้องถิ่น," ใน ทฤษฎีและแนวคิด: การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น (ภาคแรก), (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2551), หน้า 128-154.

++++++++++++++++++++

[1] "ปนัดดา" แฉพฤติกรรมนักการเมืองท้องถิ่นยุคนี้ฟอนเฟะ "บินเฟิร์สคลาส-กินไวน์ขวดละแสน", ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000096536 , "'ปนัดดา' ย้ำ 'อปท.'ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จี้ 'สปช.-ป.ป.ช.'จัดการ", ไทยรัฐ, ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗,

http://www.thairath.co.th/content/445430

[2] "'ปนัดดา'ขอโทษ'อบจ.'ปัดเหมารวม", คมชัดลึก, ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗,

http://www.komchadluek.net/detail/20140825/190783.html และ "ปลัดสำนักนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กขอโทษ อบจ. ย้ำไม่มีเจตนาทำให้เสื่อมเสีย", ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗, http://mcot-web.mcot.net/9ent/site/view/id/53fafa20be047040858b4590

[3] "...เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย..." ดูใน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ดู มาตรา ๒๗ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ "…เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม"

[4] สถาพร เริงธรรม, "มาตรการต่อต้าน การคอร์รัปชัน กับการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย", วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี ๒๕๔๖ เล่มที่ ๒, http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/มาตรการต่อต้าน_การคอร์รัปชัน_กับการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

[5] สถาพร เริงธรรม, อ้างแล้ว.

[6] "มะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทย", วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๐,ดูใน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ : เอกสารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ๒๕๕๐ http://tepe11.wordpress.com/การทุจริต-คอร์รัปชั่น/

[7] พันตำรวจตรีหญิง ศิพร โกวิท, "การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐตามพรบ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๕๑", โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๕, http://www.gotoknow.org/posts/498046

[8] CPI. 2557 กับความท้าทายด้านความซื่อสัตย์ (Integrity) ของสังคมไทย, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗, http://www.anticorruption.in.th/cpi-2557/ และ พันตำรวจตรีหญิง ศิพร โกวิท, "ดัชนีการคอร์รัปชันของไทยกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ"(ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๔), ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔, https://www.gotoknow.org/posts/502798 & สถิติปี ๒๕๓๘-๒๕๕๖http://cebf.utcc.ac.th/upload/index_file/file_th_76d16y2014.pdf

[9] สุรชาติ แสนทวีสุข, "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารไม่โปร่งใส เพราะการควบคุมภายในบกพร่อง", ๒๕๔๗, [Online]., Available URL : www.local.moi.go.th/2009/article/article1.doc

[10] รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม, หัวหน้าโครงการวิจัย, "การทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: มาตรการและกลไกการป้องกัน", จากบทความรายงานการวิจัย เรื่อง "แนวทางการพัฒนาและเสริมสร้างกลไกการป้องกันทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น", ได้รับทุนสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปี ๒๕๔๙, http://www.kpi.ac.th/kpith/pdf/วารสาร/50/03/50-03%2007.การทุจริตในอปท.-รศ.ดร.โกวิทย์%20พวงงาม.pdf

& สำหรับปี 2557 มีเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช. รับมาใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 จำนวน 1,191 เรื่อง โดยเป็นเรื่องร้องเรียนเก่าจากปีที่ผ่านมา 5,069 เรื่อง ตัวเลขในมือ ป.ป.ช. สะท้อนให้เห็นถึงอัตราความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. กว่า 7,000 เรื่อง ดูใน "สถิติร้องเรียนทุจริตองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในมือ ป.ป.ช. 6,200 เรื่อง ย้อนหลัง 5 ปี ชี้มูล 66 สำนวน", 1 กันยายน 2557, http://thaipublica.org/2014/09/statistics-local-government-fraud/

[11] รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม,อ้างแล้ว. & ข้อมูล ป.ป.ช. ปี 2550 ระบุว่า สถิติทุจริตกว่าร้อยละ 40 มาจากท้องถิ่น ดูใน "ท้องถิ่น-คู่สมรส 4 หมื่น เคลียร์ผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนม.100 บังคับใช้", สำนักข่าวอิศรา, 23 กรกฎาคม 2555, http://www.isranews.org/isranews-news/item/7839--4-100-.html

[12] รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม,อ้างแล้ว.

[13] รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม,อ้างแล้ว.

[14] รศ.ดร. โกวิทย์ พวงงาม,อ้างแล้ว.

[15] "แฉ๒ปีโกง๓แสนล. รับสินบน-ยักยอกทรัพย์ ป.ป.ช.เผยอปท.ฉาวสุด", คมชัดลึก, ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ และ อุดร ตันติสุนทร, "ท้องถิ่นกับการทุจริต", มติชน, ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, http://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/sukunywo/november2014/2-11-57/002.pdf

[16] "ไพบูลย์" จ่อผุดสภาตรวจสอบภาค ปชช.-สภาจริยธรรม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000135434

หมายเลขบันทึก: 582504เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท