ทัศนะต่อศักยภาพด้านแรงงานของประเทศไทย


ทัศนะต่อศักยภาพด้านแรงงานของประเทศไทย

16 ธันวาคม 2557

แรงงานและการจ้างงาน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต เพื่อก่อให้เกิดสินค้าและบริการ อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่าง ๆ ของประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญของ "การปฏิรูปประเทศ" ในครั้งนี้แต่จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ต้องการ "ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม" ให้เกิดแก่สังคมไทยในทุกมิติ เนื่องจากปัญหาด้านการแรงงานในเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงาน อาจมีความไม่เป็นธรรมในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่า เรื่องสวัสดิการการประกันตน ค่าจ้างที่เป็นธรรม การกีดกันการจ้างงาน การกดขี่แรงงาน การใช้แรงงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การคุ้มครองแรงทักษะฝีมือ รวมถึงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพฯ แก่แรงงานไทยที่สำคัญก็คือ ต้องมุ่งคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันการจ้างงานระหว่างชาติ AEC

การพิจารณาด้านแรงงานและการจ้างงาน ขอนำเสนอการพิจารณาใน ๒ ด้าน คือ (๑) แรงงานในฐานะผู้ประกอบการเองในลักษณะการประกอบอาชีพอิสระ (๒) แรงงานผู้รับจ้าง ทั้งแรงงานไทย และต่างด้าว

ในประเด็นปัญหาการจ้างงานของแรงงานไทย มีประเด็นที่น่าพิจารณา ในหัวข้อนี้ก็คือ

(๑) แรงงานไทยมีการว่างงานเพียงใด

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ตัวเลขการว่างงานของไทยในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ มีกำลังแรงงานประมาณ ๓๘.๓๗ ล้านคน (ประชากรไทยจำนวน ๖๔,๗๘๕,๙๐๙ คน ข้อมูล ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) เป็นผู้มีงานทำแล้ว ๓๗.๗๖ ล้านคน และมีผู้ว่างงานอยู่ ๓.๖๒ แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ ๐.๙ จากข้อมูลพบว่า ปี ๒๕๕๗ บัณฑิตจบใหม่ตกงาน ๑.๕ แสน รวมว่างงานสะสมเป็น ๔.๙ แสนคน สาขาที่ตกงานมากที่สุดมีสายงาน "คอมพิวเตอร์-วิศวกรรม" คู่มากับสายสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ เจ้าหน้าที่กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางานระบุ "สายช่าง" เป็นสายอาชีพที่ขาดแคลนหนัก-รายได้สูง แต่คนไม่อยากทำเพราะอยากได้ปริญญาบัตร [1]

สอดรับกับข้อมูลของบริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี ที่ล่าสุดเพิ่งมีรายงานระบุว่า ปี ๒๕๕๗ นี้ทั้งปี คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่รวม ๔ แสนคน แบ่งเป็น ระดับปวช. ปวส. ๑ แสนคน และปริญญาตรีประมาณ ๓ แสนคน ในจำนวน ๔ แสนคนนี้ คาดจะมีคนตกงานประมาณ ๑.๕ แสนคน ปีนี้เมื่อนำไปรวมกับตัวเลขการตกงานที่ค้างอยู่เดิมจะมีตัวเลขคนตกงานสะสมประมาณ ๔๙๐,๐๐๐ คน [2]

ปัญหาภาคแรงงานไทย มิเพียงแต่มีปัญหาแรงงานในระดับแรงงานระดับล่างที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาค้ามนุษย์ และคสช.กำลังมีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง แต่ปัญหาภาคแรงงานไทยกลับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเชื่อมกับปัญหาการศึกษาของไทยที่เป็นปัญหาหยั่งรากลึกที่ต้องแก้ทั้งระบบ [3]

สํานักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยล่าสุด เดือนกันยายน ๒๕๕๖ พบยอดคนไทยว่างงาน ๒.๖๔ แสนคน และเพิ่มมากขึ้น เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากร้อยละ ๐.๖ เป็น ๐.๗ โดยภาคอีสานมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่กรุงเทพฯและภาคใต้ครองอันดับอัตราคนว่างงานสูงสุดเท่ากัน ร้อยละ ๐.๘ ส่วนอาชีพที่มีการจำนวนคนทำงานลดลง ในสาขาบริหารราชการ ป้องกันประเทศ ประกันสังคมภาคบังคับ ที่ลดลงถึง ๒ แสนคน ขณะที่ปริญญาตรียังครองแชมป์ตกงานเหมือนเดิม ข้อมูลสรุปผลที่สําคัญ พบว่าจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ๕๕.๑๓ ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน ๓๙.๓๒ ล้านคน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำ ๓๙.๐๐ ล้านคน ผู้ว่างงาน ๒.๖๔ แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล๖.๕ หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน หรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน ๑๕.๘๑ ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น [4]

ดังนั้น ในประเด็นนี้ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการวางแผนการผลิตแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและงานจ้าง รวมทั้งมีแผนการแก้ไขปัญหาการว่างงาน การขาดแคลนแรงงาน อย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอนตั้งแต่แรงงานระดับล่าง ไปจนถึงแรงงานระดับ หรือตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานฝีมือ

(๒) แรงงานไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะ AEC ในปี ๒๕๕๘ เพียงใด

มีการวิเคราะห์กันว่า แรงงานไทยจะเสียเปรียบด้านการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ในภาษาที่สอง และภาษาที่สาม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

อาชีพสงวน ๓๙ อาชีพ ตาม พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๖ บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒ งานใดที่ห้ามคนต่างด้าวทำในท้องที่ใด เมื่อใด โดยห้ามเด็ดขาด หรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดเพียงใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา" [5]

แต่ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘ มีการเปิด AEC เสรีด้านวิชาชีพและการศึกษา มีอาชีพอยู่ ๘ สาขาวิชาชีพที่ ที่สามารถทำงานแลกเปลี่ยนกันได้ในอาเซียนนั่นคือ หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิกการโรงแรม และอาหาร ธุรกิจสปา นักสำรวจสร้างถนน [6]

การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี (Free Flow of Skilled Labour) ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ที่จะมีการจัดตั้งอย่างสมบูรณ์ในปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ และเป็นห่วงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานในประเทศ ทั้งในด้านการย้ายออกของแรงงานฝีมือของไทยโดยเฉพาะแรงงานที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อไปทำงานในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความกังวลต่อการย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานต่างชาติจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานของไทยรุนแรงขึ้น จากการศึกษาของ OECD ถึงประสบการณ์ในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในยุโรปพบว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศคือ ความแตกต่างด้านภาษา อาเซียนที่ประกอบด้วย ๑๐ ชาติ ๑๐ ภาษา ก็คงต้องเผชิญกับปัญหาความแตกต่างด้านภาษาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยโดยเฉลี่ยจากคะแนน TOEFL iBT กับประเทศอื่นในอาเซียน (ยกเว้นบรูไน) พบว่าคะแนน TOEFL iBT เฉลี่ยของไทยในปี ๒๕๕๓อยู่ที่ ๗๕ คะแนน จากคะแนนเต็ม ๑๒๐ คะแนน สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย สะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา ระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษให้สูงขึ้น เพราะการที่แรงงานไทยมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษสูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแรงงานจากชาติอาเซียนอื่นท่ามกลางการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้ AEC เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย [7]

มีผลการศึกษาด้านการท่องเที่ยว (๒๕๕๕) ที่ประสบประเด็นปัญหาที่สำคัญได้แก่ การขาดข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นและการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ อุปสรรคด้านความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของบุคลากรและแรงงานไทย ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาด้านบริการท่องเที่ยว ปัญหาด้านการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และปัญหาเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว [8]

ประกอบกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ไม่ชอบงาน 3D คือ งานจ้างที่ "สกปรก-ยาก-อันตราย" (Dirty-Difficult-Danger) หรืองานเสี่ยง งานหนัก งานสกปรก จึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา

เมื่อพิจารณาระดับของโครงสร้างแรงงานใน ๒ ระดับ คือแรงงานระดับล่าง และระดับสูง ระดับบน หรือแรงงานที่เป็นนักศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาระดับปริญญาตรี พบว่า ทั้งแรงงานไทยในระดับล่าง และ ระดับบนประสบปัญหาการจ้างงานจากนายจ้าง ทั้งสองระดับ

ดังนั้น ในประเด็นนี้ ควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้มีมาตรฐานและทัดเทียมกับแรงงานต่างชาติด้วย ในขณะเดียวกันต้องคุ้มครองอาชีพสงวนให้กับคนท้องถิ่น โดยเฉพาะต้องมีการพัฒนาบุคลากรแรงงานใน ๓ ด้าน คือ ด้านทักษะ(Skill) ความรู้ (Knowledge) และทัศนคติ (Attitude) แก่แรงงานไทย

วิธีการพัฒนาศักยภาพ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย , การให้โอกาสรวมทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานจ้าง, การพัฒนาทักษะอาชีพให้ยั่งยืนถาวร รวมทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพ

และในขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการส่งเสริมอาชีพอิสระควบคู่กันไปในอาชีพอิสระ อาทิ อาชีพขับแท็กซี่งานฝีมืองานช่างงานค้าขายงานรับจ้างทั่วไป

(๓) ประเด็นการส่งเสริมสนับสนุนแรงงานไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ AEC

มีประเด็นการส่งเสริมสนับสนุนด้านกฎหมาย คือ การควบคุมอาชีพสงวนแก่คนไทย ๓๙ อาชีพ เมื่อมีการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน พบว่ามี ๘ สาขาอาชีพ ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ ในงานอาชีพใน ๓ ลักษณะ ได้แก่ (๑) งานกรรมกร (๒) งานในวิชาชีพวิศวกรรม (๓) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทำให้เห็นความจำเป็นบางประการที่ต้องพิจารณาเพื่อมิให้แรงงานไทยประสบปัญหาเรื่องการจ้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในงานลักษณะ 3D หรืองานก่อสร้างขนาดใหญ่ภายในประเทศ เป็นต้น

ประเด็นอาชีพเกษตรกร แม้จะไม่เปิดโอกาสให้ต่างด้าวสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ก็สามารถจ้างแรงงานได้ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี นอกจากนี้การแข่งขันการผลิตในรูปแบบของ "เกษตรพันธสัญญา" (Contract Farming) โดยนายทุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้ทุนแก่เกษตรกรรายย่อยในการผลิตสินค้าการเกษตรให้แก่ธุรกิจของตน ซึ่งอาจมีการใช้แรงงานต่างด้าวในการประกอบธุรกิจดังกล่าวกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในประเด็นนี้ควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองและสนับสนุนแรงงานไทยให้มีศักยภาพด้วย ทั้งด้านสิทธิ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ อัตราค่าจ้าง ฯลฯ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรถือเป็นอาชีพของคนไทยมาแต่เดิม สมควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองและสนับสนุน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ "เกษตรพันธสัญญา" ที่เข้ามามีบทบาทต่อเกษตรไทยมากยิ่งขึ้น

(๔) ประเด็นการลงทะเบียนและบริหารแรงงาน

ในประเด็นตามข้อ (๓) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย แรงงานต่างด้าว หากเป็นแรงงานไทย อาจดำเนินการในรูปแบบของคลังข้อมูลการแรงงาน เรียกว่า "ธนาคารแรงงาน" เพื่อเป็นข้อมูลจัดเก็บว่ามีแรงงานจำนวนเท่าไร นายจ้างต้องการแรงงานในกลุ่มลักษณะใด ปริมาณเท่าใด เพื่อให้สามารถจับคู่ความต้องการได้ตรงความต้องการของสองฝ่าย และต้องดูว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศจำนวนนับแสนและกลับมาไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่ใด เพื่อเป็นฐานข้อมูลจับคู่แรงงานกับตำแหน่งงานว่าง

สำหรับแรงงานต่างด้าว มีความจำเป็นต้องจัดให้มีการลงทะเบียน และการควบคุมการจ้างงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อต่อต้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายหรือการค้ามนุษย์

ในด้าน "คลังข้อมูลแรงงาน" เพื่อการควบคุมแรงงานรวมถึงการจ้างงาน การประกอบอาชีพต่าง ๆ ทั้งการประกอบอาชีพอิสระโดยตรง และ การประกอบอาชีพอิสระที่ต้องมีการจ้างแรงงานอื่นเพิ่ม รวมการจ้างทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวด้วย จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว จึงต้องมีฐานข้อมูลแรงงาน โดยมีหน่วยงานหรือบุคลากรในการควบคุมที่ปฏิบัติงานอยู่ในระดับพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว คือ "การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ" ที่เรียกว่า "One stop service" โดยเฉพาะเทศบาลที่มีหน้าที่ในการรับจดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว

ดังนั้น ในประเด็นนี้ เห็นควรมอบหมายและส่งเสริมให้ อปท. มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านแรงงาน โดยปฏิบัติหน้าที่ในด้านการทะเบียนแรงงานดังกล่าว ซึ่งจะสอดคล้องกับการกระจายมอบหมายภารกิจในพื้นที่ให้แก่ อปท. ตามนโยบายการกระจายอำนาจต่อไป เพราะ อปท. มีศักยภาพและขีดความสามารถในการดำเนินการดังกล่าวได้


[1]รายงานพิเศษ: ว่างงานปี 57 บัณฑิตจบใหม่ตกงาน1.5แสน- "คอมพิวเตอร์-วิศวกรรม" ติดอันดับ!, ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗, http://news.thaipbs.or.th/

[2] รายงานพิเศษ: ว่างงานปี 57 บัณฑิตจบใหม่ตกงาน1.5แสน- "คอมพิวเตอร์-วิศวกรรม" ติดอันดับ!, อ้างแล้ว.

[3] รายงานพิเศษ: ว่างงานปี 57 บัณฑิตจบใหม่ตกงาน1.5แสน- "คอมพิวเตอร์-วิศวกรรม" ติดอันดับ!, อ้างแล้ว.

[4] "เปิดสถิติคนว่างงานเพิ่มเป็น 2.64 แสนคน ป.ตรีแชมป์เตะฝุ่น-เหตุผลิตเกินต้องการ", ศูนย์ข่าว TCIJ, ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖, http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3403

[5] "39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย จะได้นานแค่ไหนเมื่อไทยเปิดเสรี AEC", ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕,

http://www.oknation.net/blog/rinrudee/2012/07/25/entry-1

[6] "39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย จะได้นานแค่ไหนเมื่อไทยเปิดเสรี AEC", อ้างแล้ว.

[7] ขวัญใจ เตชเสนสกุล, ผอ.ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.), "ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะที่แรงงานไทยยังต้องพัฒนา", ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕,

http://www.thai-aec.com/458#ixzz3LmIR9Bri

[8] บทที่ ๔ การวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และโอกาสจากการเปิดเสรีบริการท่องเที่ยว, หน้า ๑๒๐, ใน รายงานฉบับสมบูรณ์ "โครงการจัดทำแผนพัฒนาบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดเสรีบริการท่องเที่ยว", Professor Dr. Walter Jamieson หัวหน้าคณะที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มกราคม ๒๕๕๕, http://www.atta.or.th/upload/news/228/chapter_4.pdf&http://www.atta.or.th/Upload/News/228/Chapter_1.pdf

ดู แนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและ กีฬา เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) ๑. Where are we ? ๒. Where do we want to Go? ๓. How to do it? ๔. How to do it successfully? ใน ม.ล. ชาญโชติ ชมพูนุท, โครงการวิจัย "การพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว และการกีฬา", ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕, https://www.gotoknow.org/posts/494876

หมายเลขบันทึก: 582501เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท